2 สรรพคุณของต้นผักปลาบช้าง ! (ผักปลาบดอย)

ผักปลาบช้าง

ผักปลาบช้าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Floscopa scandens Lour. จัดอยู่ในวงศ์ผักปลาบ (COMMELINACEAE)[1]

สมุนไพรผักปลาบช้าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักปลาบดอย (เชียงใหม่), ผักเบี๋ยว (เชียงราย), ผักปลาบดง หญ้าปล้องขน (นครราชสีมา), ผักปลาบ (ภาคกลาง), รูปุกาเต๊มูแร (มาเลย์-ปัตตานี) เป็นต้น[1]

ลักษณะของผักปลาบช้าง

  • ต้นผักปลาบช้าง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ที่มีลำต้นตั้งตรง ส่วนโคนของลำต้นจะทอดราบกับพื้นก่อน แล้วจึงชูตั้งขึ้น สูงได้ประมาณ 30-100 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อปล้อง ลำต้นอ่อนเป็นสีเขียวเมื่อแก่เป็นสีม่วงอ่อน ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่ชอบความชุ่มชื้น ดินที่ปลูกจึงควรมีความชื้นให้มาก มีถิ่นกำเนิดและแพร่กระจายพันธุ์ในทวีปเอเชีย พบได้ตั้งแต่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ลาว เกาหลี เวียดนาม ญี่ปุ่น ส่วนในประเทศไทยพบได้ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมักพบขึ้นตามที่ชุ่มชื้นหรือลุ่มน้ำขังบริเวณชายป่าดิบที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,000-1,800 เมตร[1]

ต้นผักปลาบช้าง

รูปผักปลาบช้าง

  • ใบผักปลาบช้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือเรียวแคบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.5 นิ้ว และยาวประมาณ 1.5-4 นิ้ว แผ่นใบเป็นสีเขียว ผิวใบมีขนขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน หลังใบมีขนเล็กน้อย ส่วนท้องใบมีขนหนาสั้น ก้านใบเป็นกาบห่อหุ้มลำต้นซึ่งจะพองออกเป็นข้อ[1]

ใบผักปลาบช้าง

  • ดอกผักปลาบช้าง ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือตรงส่วนของลำต้น ก้านช่อดอกมีขนขึ้นปกคลุมและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกเป็นสีม่วงหรือสีชมพู กลีบดอกมี 3 กลีบ มีขนาดไม่เท่ากัน กลีบรองกลีบดอกเป็นสีเขียวมี 3 กลีบ ดอกมีเกสร 6 อัน ยื่นยาวพ้นออกมา มีขนอ่อนปกคลุมทั่วทั้งดอกออกดอกตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน[1]

ดอกผักปลาบช้าง

  • ผลผักปลาบช้าง ลักษณะของผลเป็นรูปยาวรีหรือรูปกลม ยาวได้ประมาณ 2.5 มิลลิเมตร แบ่งออกเป็น 2 ช่อง ในแต่ละช่องจะเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด เมื่อแก่จะแตกออกผลจะแห้ง[1]

สรรพคุณของผักปลาบช้าง

  • ทั้งต้นใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นเพื่อใช้เป็นยารับประทานสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตรแล้ว (ทั้งต้น)[1]
  • น้ำคั้นจากต้นใช้หยอดตาแก้เจ็บตา (ต้น)[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักปลาบช้าง

  • สารออกฤทธิ์ที่พบ ได้แก่ โปรตีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส โพแทสเซียมและสารแอนโทไซยานินที่มีความเสถียรเป็นพิเศษ (Brouillard, 1981; Teh and Francis, 1988)
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ผักปลาบช้าง”.  หน้า 502-503.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Alan Yip, judymonkey17, Tony Rodd), biodiversity.forest.go.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด