ผักปลาบ
ผักปลาบ ชื่อสามัญ Benghal dayflower, Dayflower, Tropical spiderwort, Wondering jew[3]
ผักปลาบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Commelina benghalensis L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Commelina prostrata Regel) จัดอยู่ในวงศ์ผักปลาบ (COMMELINACEAE)[1],[3]
สมุนไพรผักปลาบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักกาบปลี (คนเมือง), ผักงอง (ขมุ), สะพาน (เมี่ยน), ผักขาบ (ไทลื้อ), ผักปลาบใบกว้าง, ผักปราบ เป็นต้น[2],[3]
ลักษณะของผักปลาบ
- ต้นผักปลาบ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นมีลักษณะทอดเลื้อยแต่ชูขึ้น ชูได้สูงประมาณ 65-85 ลำต้นเป็นสีเขียวอวบน้ำ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.1-3.5 มิลลิเมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ตามกิ่งก้านมีขนอ่อน ๆ ขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งจำพวกวัชพืช มักขึ้นทั่วไปตามที่ว่างเปล่าและไม่เลือกดิน พบทั่วไปในภูมิภาคเขตศูนย์สูตร ตามริมน้ำ ทุ่งหญ้า และขึ้นในที่ลุ่มชื้นแฉะทั่วไป เช่น จังหวัดนครราชสีมา แม่ฮ่องสอน ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 330-357 เมตร[1],[2],[3]
- ใบผักปลาบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันไปตามข้อของต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่มนหรือรูปรี ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบมีขนครุย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.7-8 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว มีขนขึ้นปกคลุมทั่วทั้งใบทั้งสองด้านและหลังใบประดับจะมีขนละเอียดสั้น ๆ ปกคลุมอย่างหนาแน่น โคนใบแผ่เป็นกาบหุ้มละต้นยาวประมาณ 0.9-1.6 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกผักปลาบ ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบหรือออกตามปลายกิ่ง ดอกจะอยู่ภายในกาบรองดอก ดอกเป็นสีฟ้าอ่อน มีกลีบดอก 3 กลีบ แต่ละกลีบดอกจะมีขนาดไม่เท่ากัน โดยกลีบกลางจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบด้านข้าง ส่วนกลีบรองกลีบดอกเป็นสีเขียวอ่อนใส มี 3 กลีบ อับเกสรเพศผู้มี 6 อัน มี 4 อันที่เป็นหมันมีสีเหลืองสด ส่วนอีก 2 อันที่เหลือไม่เป็นหมัน แต่จะเป็นสีม่วงเข้ม ยอดและก้านเกสรเพศเมียและก้านชูอับเรณูเป็นสีม่วงอ่อน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน[1],[2]
- ผลผักปลาบ ลักษณะของผลเป็นรูปรี ปลายตัด มีขนาดยาวประมาณ 5.5 มิลลิเมตร ผลจะแบ่งออกเป็น 3 ช่อง ช่องหนึ่งถ้าแก่แล้วจะไม่แตก แต่อีก 2 ช่องนั้นจะแตก มองเห็นเมล็ดภายใน 2 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปขอบขนาน ผิวขรุขระ สีเทาเข้ม[1]
สรรพคุณของผักปลาบ
- ทั้งต้นมีสรพคุณเป็นยาช่วยทำให้เจริญอาหาร (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยาระบาย (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้โรคเรื้อน แก้อาการระคายเคืองที่ผิวหนัง (ทั้งต้น)[1]
- ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวด (ทั้งต้น)[1]
- ชาวเมี่ยนจะใช้ใบผักปลาบนำมาต้มกับน้ำอาบสำหรับรักษาคนที่ป่วยกระเสาะกระแสะ เป็น ๆ หาย ๆ ช่วยทำให้หายป่วย (ใบ)[2]
- บางข้อมูลระบุสรรพคุณนอกเหนือจากที่กล่าวมาว่า ทั้งต้นมีรสเฝื่อน เป็นยาแก้ปวดขัดปัสสาวะ ช่วยในการย่อย และแก้ผื่นคัน (ข้อมูลต้นฉบับไม่มีแหล่งอ้างอิง)
ประโยชน์ของผักปลาบ
- ยอดอ่อนนำมานึ่งหรือลวกเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกหรือนำมาใช้ใส่ในแกงส้ม[2]
- ใช้เป็นอาหารสัตว์จำพวกโค กระบือ โดยคุณค่าทางอาหารของผักปลาบ จะประกอบไปด้วย โปรตีน 20%, แคลเซียม 1.1%, ธาตุเหล็ก 573 ppm, ฟอสฟอรัส 0.3%, โพแทสเซียม 3.9%, ADF 41%, NDF 50%, ไนเตรท 645 ppm และไม่พบไนไตรท์และออกซาลิกแอซิด[3] หรือจะใช้ยอดและใบนำมาสับแบบหยาบ ๆ ผสมกับรำใช้เป็นอาหารหมู[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักปลาบ”. หน้า 501-502.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ผักปลาบ”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [16 พ.ย. 2014].
- ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา, กรมปศุสัตว์. “ผักปลาบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ncna-nak.dld.go.th. [16 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, peter, Dinesh Valke, Shubhada Nikharge), lucidcentral.org
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)