ผักตบ
ผักตบไทย ชื่อสามัญ Monochria[1], Monochoria arrowleaf falsepickerelweed[4]
ผักตบไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Monochoria hastata (L.) Solms จัดอยู่ในจัดอยู่ในวงศ์ผักตบ (PONTEDERIACEAE)[1]
สมุนไพรผักตบไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักสิ้น (สงขลา), ผักตบ ผักโป่ง (ภาคกลาง), ผักตบเขียด เป็นต้น[1],[2],[4]
ลักษณะของผักตบไทย
- ต้นผักตบไทย มีถิ่นกำเนิดในแถบเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี อาศัยอยู่ในน้ำ มีเหง้าใหญ่ แตกลำต้นเป็นกอ มีความสูงได้ประมาณ 50-100 เซนติเมตร ลำต้นอยู่ใต้ดิน ชูก้านใบเหนือระดับน้ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือแยกต้นอ่อนไปปลูกในบริเวณที่ต้องการ มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่อินเดีย เนปาล ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นตามแหล่งน้ำจืด ริมหนองน้ำ คลองบึง ที่ชื้นแฉะ โคลนตม และตามท้องนาทั่วไป[1],[2],[3]
- ใบผักตบไทย ใบเป็นใบเดี่ยว แทงออกมาจากลำต้นใต้ดิน ก้านใบส่วนล่างมีลักษณะเป็นกาบหุ้มซ้อน ๆ กัน ส่วนก้านใบส่วนบนมีลักษณะกลมยาวและอวบน้ำ แผ่นใบเป็นรูปหัวใจหรือรูปสามเหลี่ยมคล้ายหัวลูกศร ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้า ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.9-1.9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-8 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยง ก้านใบยาวอวบ ส่วนโคนของก้านใบแผ่ออกเป็นกาบ[1],[2]
- ดอกผักตบไทย ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ โดยจะออกจากโคนก้านใบหรือใกล้แผ่นใบ ดอกแทงมาจากราก สูงประมาณ 2 ใน 3 ของความยาวก้านใบ มีแผ่นใบประดับสีเขียวรองรับดอกย่อย 15-16 ดอก แต่ละดอกจะมีก้านดอกย่อยยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร กลีบรวมมีจำนวน 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงละ 3 กลีบ กลีบดอกเป็นสีน้ำเงินปนม่วง สีฟ้าปนม่วงหรือมีสีขาวแต้มบ้างเล็กน้อย กลีบดอกค่อนข้างบอบบาง ดอกย่อยเป็นสีม่วงหรือสีขาวแต้มบ้างเล็กน้อย ดอกมีเกสรเพสผู้ 6 อัน ติดอยู่บนวงกลีบรวม แบ่งเป็นขนาดสั้น 5 อัน และขนาดยาว 1 อัน เมื่อดอกได้รับการผสม กลีบรวมจะรัดห่อหุ้มผล ส่วนปลายกลีบบิดพันเป็นเกลียว บานแล้วกลีบจะบิดพันกันเป็นเกลียว ออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน[2],[3]
- ผลผักตบไทย ผลเป็นแบบแคปซูล ลักษณะเป็นรูปรี แห้งและแตกได้ ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาล[1],[2],[3]
สรรพคุณของผักตบไทย
- ทั้งต้นมีรสจืด มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษในร่างกาย (ทั้งต้น)[1],[2]
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาขับพิษร้อน (ใบ)[2],[4]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาขับลม (ทั้งต้น)[1],[2]
- ใบนำมาตำผสมกับผักกระเฉด ตำคั้นเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้พิษเบื่อเมา (ใบ)[2],[4]
- ใบใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ)[2],[4]
- ต้นสดใช้ตำพอกแก้แผลอักเสบ หรือใช้เป็นยาทาหรือพอกถอนพิษ แก้อาการปวดแสบปวดร้อน (ทั้งต้น)[1],[2]
- ใบใช้เป็นยาทาแก้ฝี (ใบ)[2]
- ชาวเกาะจะใช้เหง้าผักตบไทย นำมาบดกับถ่านใช้ทาแก้รังแค (เหง้า)[2]
ประโยชน์ของผักตบไทย
- ยอดอ่อน ก้านใบอ่อน และช่อดอก ใช้รับประทานเป็นผักสดผักตบไทยสดจะนิ่มกรอบ นิยมนำมารับประทานสดร่วมกับน้ำพริก น้ำพริกปลา ส้มตำ หรือลวกจิ้มกับน้ำพริก ส่วนยอดอ่อนและดอกอ่อนนำไปปรุงเป็นแกงส้ม แกงเลียง หรือนำมาผัดก็ได้ โดยคุณค่าทางโภชนาการของผักตบไทย ต่อ 100 กรัม จะให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่, ใยอาหาร 0.7 กรัม, แคลเซียม 31 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.1 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 28 มิลลิกรัม, เบต้าแคโรทีน 1,961 ไมโครกรัม, วิตามินเอ 324 ไมโคกรัมของเรตินอล, วิตามินบี1 0.01 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.30 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 3.1 มิลลิกรัม, วิตามินซี 5 มิลลิกรัม[2],[4]
- ทุกส่วนของต้นนำมาหั่นเป็นฝอยใช้เลี้ยงหมูหรือทำเป็นปุ๋ยหมักได้[3]
- ลำต้นนำมาตากแห้งใช้ทำเป็นเครื่องจักสานต่าง
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ผักตบไทย (Phak Top Thai)”. หน้า 177.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักตบไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [18 พ.ย. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ผักตบไทย”. อ้างอิงใน : หนังสือ พรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [18 พ.ย. 2014].
- ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (นพพล เกตุประสาท). “ผักตบไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : clgc.rdi.ku.ac.th. [18 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Arif Iqbal (Ronok), Hai Le, Vijayasankar Raman, Thunderbolt_TW, Ashis Das, Cerlin Ng, Botanizing & Scenaries)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)