ผักขมใบแดง
ผักขมใบแดง ชื่อสามัญ Love-lies-bleeding[1]
ผักขมใบแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus caudatus L. จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)[1]
สมุนไพรผักขมใบแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กำมะหยี่ (ภาคกลาง) ส่วนในกรุงเทพฯ เรียกว่า “ผักขมใบแดง” หรือ “ผักโขมใบแดง“[1]
ลักษณะของผักขมใบแดง
- ต้นผักขมใบแดง จัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุเพียงฤดูเดียว ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงสูงได้ถึง 1 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นสีแดงเข้ม บริเวณปลายกิ่งมีขนขึ้น[1]
- ใบผักขมใบแดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ตามตำราว่าแผ่นใบเป็นสีแดง[1] แต่จากการสืบค้นข้อมูลในต่างประเทศพบว่าแผ่นใบเป็นสีเขียว
- ดอกผักขมใบแดง ออกดอกเป็นช่อเชิงลด โดยจะออกบริเวณซอกใบและที่ปลายกิ่ง ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก เรียงตัวอัดกันเป็นช่อแน่น ๆ ดอกเป็นแบบแยกเพศมีขนาดเล็ก เหนียวคล้ายแผ่นหนังสีม่วง[1]
- ผลผักขมใบแดง เป็นผลแห้งและแตกได้ ภายในมีเมล็ดสีดำถึงสีน้ำตาลเข้ม สีแดง หรือสีเหลืองอ่อน ผิวเมล็ดเป็นมัน[1]
สรรพคุณของผักขมใบแดง
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบผักขมใบแดง 3 ใบ นำมาตำผสมกับใบมันเทศ 3 ใบ ใช้เป็นยาพอกรักษาฝี (ใบ)[1]
ประโยชน์ของผักขมใบแดง
- ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานได้[3]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เพราะดอกออกเป็นช่อใหญ่ดูสวยงาม[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ผักขมใบแดง”. หน้า 34.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 198 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า. (เดชา ศิริภัทร). “ผักขม : ความขมที่เป็นทั้งผักและยา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [22 พ.ย. 2014].
- รายงานการประชุม ความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้และสัตว์ป่า “ความก้าวหน้าของผลงานวิจัยและกิจกรรมปี 2548” ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ เพชรบุรี วันที่ 21-24 สิงหาคม 2548. (ธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ). “พรรณพืชกินได้บริเวณภูเขาหินปูน (Edible Plants on Limestone Areas)”. หน้า 178.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Lewes Scenes, John and Anni Winings, Ruud de Block, rayyaro, flips99, cuplantdiversity, Susanne Wiik)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)