ผักกาดหอม
ผักกาดหอม ชื่อสามัญ Lettuce
ผักกาดหอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Lactuca sativa L. จัดอยู่ในจัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
สมุนไพรผักกาดหอม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักกาดยี (ภาคเหนือ), สลัด สลัดผัก ผักสลัด (ภาคกลาง), ผักกาดปี, พังฉาย พังฉ่าย พังฉ้าย (จีน) เป็นต้น โดยเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียและทวีปยุโรป สำหรับในประเทศไทยมีการปลูกผักกาดหอมมาช้านานแล้ว[1],[5]
ลักษณะของผักกาดหอม
- ต้นผักกาดหอม ลักษณะของลำต้นในระยะแรกมักจะมองไม่เห็น เพราะใบมักปกคลุมไว้ แต่จะเห็นได้ชัดเมื่อถึงระยะแทงช่อดอก ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อสั้น โดยแต่ละข้อจะเป็นที่เกิดของใบ ลักษณะของลำต้นจะค่อนข้างอวบอ้วนและตั้งตรงสูงชะลูดขึ้นจนสามารถมองเห็นได้ชัดเจน หากปลูกในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ๆ ลำต้นอาจมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง 2 นิ้ว[1]
- รากผักกาดหอม มีรากเป็นระบบรากแก้วที่แข็งแรงและอวบอ้วน รากแก้วสามารถหยั่งลึกลงดินได้ถึง 5 ฟุต หรือมากกว่านั้น แต่การย้ายไปปลูกจะทำให้รากแก้วเสียหายได้ (แต่การย้ายปลูกจะมีผลดีช่วยทำให้ผักกาดหอมประเภทหัว ห่อหัวได้ดีขึ้น) และรากที่เหลือจะเป็นรากแขนง แผ่กระจายอยู่ใต้ผิวดินประมาณ 1-2 ฟุต โดยรากจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มอย่างหนาแน่น ไม่ค่อยแพร่กระจายมากนัก โดยเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วเมื่อปลูกในดินร่วนปนทรายที่มีความชื้นเพียงพอ[1]
- ใบผักกาดหอม ใบมีสีตั้งแต่เขียวอ่อน สีเขียวปนเปลือง ไปจนถึงสีเขียวแก่ แต่สำหรับบางสายพันธุ์จะมีสีแดงหรือมีสีน้ำตาลปนอยู่ ทำให้มีสีแดง สีบรอนซ์ หรือสีน้ำตาลปนเขียว ใบจะแตกออกมาจากลำต้นโดยรอบ โดยพันธุ์ที่ห่อเป็นหัวจะมีใบหนา และมีเนื้อใบอ่อนนุ่ม ใบห่อหัวอัดกันแน่นคล้ายกับกะหล่ำปลี ส่วนใบที่ห่ออยู่ข้างในจะเป็นมัน ส่วนบางชนิดจะเป็นใบม้วนงอเปราะ เห็นเส้นใบได้ชัดเจน ขอบใบมีลักษณะเป็นหยัก โดยขนาดและรูปร่างของใบนั้นจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ชนิด[1]
- ดอกผักกาดหอม ออกดอกเป็นช่อดอกรวม ประกอบไปด้วยกลุ่มของดอกที่อยู่กันเป็นกระจุกตรงส่วนยอด ในแต่ละกระจุกจะประกอบไปด้วยดอกย่อยประมาณ 15-25 ดอกหรือมากกว่านั้น ก้านช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 2 ฟุต ส่วนช่อดอกอันแรกจะเกิดบริเวณยอดอ่อน หลังจากนั้นจะเกิดบริเวณมุมใบ โดยช่อดอกที่เกิดบริเวณยอดจะมีอายุมากที่สุด ดอกผักกาดหอมเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกมีสีเหลือง ตรงโคนเชื่อมติดกัน มีรังไข่ 1 ห้อง เกสรตัวเมีย 1 ก้าน มีลักษณะเป็น 2 แฉก ส่วนเกสรตัวผู้จะมี 5 ก้าน อยู่รวมกันเป็นยอดยาวห่อหุ้มก้านเกสรตัวเมียและยอดเกสรตัวเมียไว้[1]
- เมล็ดผักกากหอม หรือ เมล็ดผักสลัด เมล็ดเป็นชนิดเมล็ดเดียวที่เจริญมาจากรังไข่อันเดียว เมล็ดมีลักษณะแบนยาว หัวท้ายแหลมคล้ายรูปหอก และมีเส้นเล็ก ๆ ลาดยาวไปตามด้านยาวของเมล็ดบนเปลือกหุ้มเมล็ด เมล็ดมีเปลือกหุ้มเมล็ด บาง เปลือกจะไม่แตกเมื่อเมล็ดแห้ง เมล็ดมีสีเทาปนสีครีม มีความยาวประมาณ 4 มิลลิเมตรและกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร[1]
สายพันธุ์ผักกาดหอม
ในปัจจุบันมีการปลูกผักกาดหอมเพื่อใช้ในการบริโภคอยู่ 3 ชนิดใหญ่ ๆ ซึ่งได้แก่
ผักกาดหอมใบ (Leaf lettuce) ในประเทศไทย ผักกาดหอมใบจะเป็นที่นิยมปลูกและบริโภคกันมากกว่าผักกาดหอมชนิดอื่น ๆ โดยเป็นผักกาดที่ใบไม่ห่อเป็นหัว ใบมีขนาดกว้างใหญ่และหยิก ลักษณะลำต้นเป็นพุ่มเตี้ย โดยผักกาดหอมใบจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีสีเขียวทั้งต้นและชนิดที่มีสีน้ำตาลทั้งต้น[1]
- ชนิดห่อหัวแน่น (Crisp head) ลักษณะของใบจะบาง กรอบ และเปราะง่าย สามารถเห็นเส้นกลางใบได้ชัดเจน ใบจะห่อเป็นหัวแน่นคล้ายกับหัวกะหล่ำปลี และเป็นชนิดที่นิยมปลูกกันมากในทางการค้าเพราะขนส่งได้สะดวก[1]
- ชนิดห่อหัวไม่แน่น (Butter head) ลักษณะของใบจะห่อเป็นหัวแบบหลวม ๆ ใบอ่อนนุ่ม ผิวใบมัน ใบไม่กรอบ โดยใบที่ซ้อนกันอยู่ข้างในจะมีลักษณะเหมือนถูกเคลือบไว้ด้วยเนยหรือน้ำมัน เพราะมีลักษณะอ่อนนุ่มและเป็นเมือกลื่น ๆ และใบข้างในจะซ้อนทับกันพอประมาณ มีสีเหลืองอ่อน ๆ คล้ายกับเนย[1]
- ชนิดห่อหัวหลวมค่อนข้างยาว ลักษณะของใบจะห่อเป็นรูปกลมยาวหรือเป็นรูปกรวย คล้ายกันผักกาดขาวปลี ใบจะมีลักษณะยาวและแคบ ใบแข็ง ชนิดนี้จะนิยมปลูกกันมากในทวีปยุโรป และยังแบ่งแยกย่อยออกเป็น 2 ชนิด คือ พันธุ์ที่มีหัวขนาดใหญ่ และพันธุ์ที่หัวขนาดเล็ก[1]
ผักกาดหอมต้น (Stem lettuce) ลักษณะของลำต้นจะอวบ มีลำต้นสูง ใบจะเกิดขึ้นต่อกันไปจนถึงยอดหรือช่อดอก ลักษณะของใบคล้ายกับผักกาดหอมใบ แต่ใบจะเล็กกว่า มีความหนาและมีสีเข้มกว่า โดยมีทั้งชนิดกลมและยาว ไม่ห่อหัว โดยผักกาดหอมต้นนี้จะปลูกไว้เพื่อรับประทานต้นเท่านั้น[1]
สรรพคุณของผักกาดหอม
- ผักกาดหอมมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด จึงช่วยในการป้องกันและต่อต้านมะเร็งได้ (ใบ)[2]
- น้ำคั้นจากทั้งต้นนำมาใช้ปรุงเป็นยาบำรุงร่างกายได้ (ทั้งต้น)[4
- ช่วยในการนอนหลับ ทำให้จิตใจสงบและผ่อนคลาย แก้อารมณ์เสียง่าย โดย ดร.ดันแคน (แพทย์ยุคกลางชาวอังกฤษ) ระบุว่าในใบหรือก้านของผักกาดหอมจะมีสารรสขมที่มีชื่อว่า “แลกทูคาเรียม” (Lactucarium) ซึ่งสารนี้มีคุณสมบัติทำให้เกิดอาการง่วงนอน ทำให้จิตใจสงบและผ่อนคลาย การรับประทานผักกาดหอมแบบสด ๆ ก่อนนอนหรือรับประทานเป็นอาหารมื้อเย็น จึงช่วยทำให้เรานอนหลับได้สบายยิ่งขึ้นนั่นเอง[2],[5
- ผักกาดหอมมีน้ำเป็นองค์ประกอบโดยส่วนมาก จึงเป็นผักที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน[3]
- ผักกาดหอมอุดมไปด้วยธาตุเหล็กที่ช่วยเสริมการสร้างเม็ดเลือดหรือฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) จึงเหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคโลหิตจาง และยังช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย หรือมีสมาธิสั้น การเรียนรู้ลดลง[3]
- น้ำคั้นจากใบช่วยแก้ไข้ได้ (ใบ)[2],[5]
- น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาแก้ไอได้เป็นอย่างดี (ใบ)[2],[5]
- เมล็ดผักกาดหอมตากแห้งประมาณ 5 กรัมนำมาชงกับน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น ถ้าหากใช้ต้นให้ใช้เพียงครึ่งต้นรับประทานเพื่อช่วยขับเสมหะและแก้อาการไอ และไม่ควรใช้มากเกินไป (เมล็ด, ต้น)[5]
- น้ำคั้นจากใบมีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ (น้ำคั้นจากใบ)[2],[5]
- ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (น้ำคั้นจากทั้งต้น)[4]
- การรับประทานผักกาดหอมจะช่วยในการขับถ่าย ช่วยป้องกันและบรรเทาอาการท้องผูกได้ (ทั้งต้น)[4]
- น้ำคั้นจากทั้งต้นใช้เป็นยาระบายได้ (ทั้งต้น)[4]
- ช่วยขับลมในลำไส้ (น้ำคั้นจากทั้งต้น)[4]
- ช่วยขับพยาธิ (น้ำคั้นจากทั้งต้น)[4]
- ช่วยขับปัสสาวะ (น้ำคั้นจากใบ, เมล็ด)[2],[5]
- ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร (เมล็ด)[5]
- เมล็ดผักกาดหอมใช้รักษาโรคตับ (เมล็ด)[5]
- น้ำคั้นจากทั้งต้นใช้ทาฝีมะม่วงที่รีดเอาหนองออกแล้วได้ (ทั้งต้น)[4]
- ช่วยระงับอาการปวด (เมล็ด)[5]
- ช่วยแก้อาการปวดเอว (เมล็ด)[5]
- เมล็ดผักกาดหอมช่วยขับน้ำนมของสตรีหลังคลอดบุตร (เมล็ด)[2],[5]
ประโยชน์ของผักกาดหอม
- ผักกาดหอมเป็นผักที่มีแคลอรีต่ำ จึงเหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก[6]
- การรับประทานผักกาดหอมร่วมกับแคร์รอตและผักโขมจะช่วยบำรุงสีของเส้นผมให้สวยงามได้[6]
- ผักกาดหอมเป็นผักที่นิยมบริโภคใบ เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูง เป็นผักที่นิยมบริโภคมากที่สุดในบรรดาผักสลัด และยังนิยมนำมารับประทานสด ๆ หรือนำมาประกอบอาหารได้อย่างหลากหลาย สำหรับคนไทยแล้วจะนิยมใช้รับประทานกับอาหารจำพวกยำต่าง ๆ เช่น ข้าวเกรียบปากหม้อ สาคูไส้หมู เป็นต้น[1]
- นอกจากจะมีคุณค่าทางอาหารที่ดีแล้ว ยังนิยมนำมาใช้ตกแต่งอาหารเพื่อให้มีสีสันสวยงามน่ารับประทานยิ่งขึ้น[1]
- ปัจจุบันมีการใช้ยาง (Latex) ที่สกัดจากผักกาดหอมออกมาจำหน่ายในรูปแบบยา มีทั้งชนิดน้ำและแบบชนิดเม็ด[5]
คุณค่าทางโภชนาการของผักกาดหอม (ชนิดใบสีเขียว) ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 15 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 2.87 กรัม
- น้ำ 94.98 กรัม
- น้ำตาล 0.78 กรัม
- เส้นใย 1.3 กรัม
- ไขมัน 0.15 กรัม
- โปรตีน 1.36 กรัม
- วิตามินเอ 7,405 หน่วยสากล
- วิตามินบี 1 0.07 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.08 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.375 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 6 0.09 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 9 38 ไมโครกรัม
- วิตามินซี 9.2 มิลลิกรัม
- วิตามินอี 0.22 มิลลิกรัม
- วิตามินเค 126.3 ไมโครกรัม
- ธาตุแคลเซียม 36 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.86 มิลลิกรัม
- ธาตุแมกนีเซียม 13 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 29 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 194 มิลลิกรัม
- ธาตุโซเดียม 28 มิลลิกรัม
- ธาตุสังกะสี 0.18 มิลลิกรัม
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
คุณค่าทางโภชนาการของผักกาดหอม (ชนิดใบสีแดง) ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 16 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 2.26 กรัม
- น้ำ 95.64 กรัม
- น้ำตาล 0.48 กรัม
- เส้นใย 0.9 กรัม
- ไขมัน 0.22 กรัม
- โปรตีน 1.33 กรัม
- วิตามินเอ 7,492 หน่วยสากล
- วิตามินบี 1 0.064 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.077 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 5 0.321 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 6 0.1 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 3.7 มิลลิกรัม
- วิตามินอี 0.15 มิลลิกรัม
- วิตามินเค 140.3 ไมโครกรัม
- ธาตุแคลเซียม 33 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม
- ธาตุแมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 28 มิลลิกรัม
- ธาตุโพแทสเซียม 187 มิลลิกรัม
- ธาตุโซเดียม 25 มิลลิกรัม
- ธาตุสังกะสี 0.2 มิลลิกรัม
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
คุณค่าทางโภชนาการของผักกาดหอม (ชนิดห่อหัวไม่แน่น) ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 13 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 2.23 กรัม
- น้ำ 95.63 กรัม
- น้ำตาล 0.94 กรัม
- เส้นใย 1.1 กรัม
- ไขมัน 0.22 กรัม
- โปรตีน 1.35 กรัม
- วิตามินเอ 3,312 หน่วยสากล 21%
- เบตาแคโรทีน 1,987 ไมโครกรัม 18%
- ลูทีนและซีแซนทีน 1,223 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 1 0.057 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินบี 2 0.062 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินบี 5 0.15 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 6 0.082 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี 9 73 ไมโครกรัม 18%
- วิตามินซี 3.7 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินอี 0.18 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินเค 102.3 ไมโครกรัม 97%
- ธาตุแคลเซียม 35 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุเหล็ก 1.24 มิลลิกรัม 10%
- ธาตุแมกนีเซียม 13 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุแมงกานีส 0.179 มิลลิกรัม 9%
- ธาตุฟอสฟอรัส 33 มิลลิกรัม 5%
- โพแทสเซียม 238 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุโซเดียม 5 มิลลิกรัม 0%
- ธาตุสังกะสี 0.2 มิลลิกรัม 2%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
เอกสารอ้างอิง
- กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doae.go.th. [30 ต.ค. 2013].
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th. [30 ต.ค. 2013].
- มูลนิธิโครงการหลวง. “ผักกาดหอมใบแดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.royalprojectthailand.com. [30 ต.ค. 2013].
- พจนานุกรมโรคและสมุนไพรไทย. (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
- บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร (วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546). ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “พืชผักผลไม้ไทยมีคุณค่าเป็นทั้งอาหารและยา ตอนผักกาดหอม“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [30 ต.ค. 2013].
- สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ. “ผัดกาดหอมอุดมไปด้วยวิตามินบีรักษาฝีมะม่วงได้“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.hiso.or.th. [27 ต.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Hey! Sam !!, Ruth and Dave, Trinity)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)