ผักกะโฉม
ผักกะโฉม ชื่อสามัญ Marsh weed
ผักกะโฉม ชื่อวิทยาศาสตร์ Limnophila rugosa (Roth) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Herpestis rugosa Roth, Limnophila roxburghii G.Don)[1] จัดอยู่ในวงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE)
สมุนไพรผักกะโฉม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า อ้มกบ (เชียงใหม่), ผักกะโสม (ภาคกลาง), จุ้ยห่วยเฮียง (จีนแต้จิ๋ว), สุ่ยหุยเซียง (จีนกลาง), ผักแมงดา, โหระพาน้ำ เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของผักกะโฉม
- ต้นผักกะโฉม จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุเพียงปีเดียว ลำต้นต้นแตกแขนงออกไป ต้นที่ยังเล็กอยู่จะมีขนขึ้นปกคลุม แต่เมื่อโตแล้วหรือแก่ขนจะหลุดร่วงไปเอง ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 1-2 ฟุต มีกลิ่นหอม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบขึ้นอยู่ตามริมคูและชอบดินชื้นแฉะ[1]
- ใบผักกะโฉม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบมนหรือแหลม ขอบใบหนา ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 นิ้ว และยาวประมาณ 2-3 นิ้ว แผ่นใบเป็นสีเขียวสด หลังใบมีขนปกคลุมและมีรอยย่น ก้านใบสั้น[1]
- ดอกผักกะโฉม ออกดอกเป็นช่อกระจุกบริเวณส่วนยอดของลำต้นและตามซอกใบ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร มีขน ดอกเป็นสีน้ำเงินอมม่วง กลางดอกแต้มไปด้วยสีเหลือง ลักษณะของดอกเป็นรูปคล้ายปาก กลีบดอกเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น 2 ปาก ปากล่างมี 3 กลีบ ส่วนปากบนมี 2 กลีบ ดอกมีขนาดเล็กประมาณ 8 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ เกสรเพศเมีย 1 อัน ไม่มีก้านดอก[1]
- ผลผักกะโฉม ผลเป็นผลแห้งรูปไข่ แบน แตกได้ มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร เมล็ดมีลักษณะกลมขนาดเล็ก สีน้ำตาล มีขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร[2]
สรรพคุณของผักกะโฉม
- ใบใช้ปรุงเป็นยาธาตุช่วยเจริญอาหาร (ใบ)[1]
- ช่วยระงับความร้อน (ต้นและใบ)[2]
- ต้นใช้รับประทานเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ (ต้น)[1]
- ช่วยแก้อาการแน่นท้อง แน่นหน้าอก (ต้น)[1]
- ต้นใช้เป็นยาแก้ปวดท้องโรคกระเพาะอาหาร (ต้น)[1]
- หากมีอาการผิดปกติในทางเดินอาหารหรือเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ให้ใช้ใบผักกะโฉมแห้ง 6-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ใบ)[1]
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ)[1]
- ต้นมีสรรพคุณช่วยลดอาการบวมน้ำ (ต้น)[1]
- ต้นและใบใช้ตำพอกรักษาบาดแผล (ต้นและใบ)[2]
- ใช้รักษาแผลพุพอง ด้วยการนำต้นสดปริมาณพอสมควร นำมาต้มกับน้ำใช้ล้างแผล หรือนำมาตำพอกหรือทาบริเวณที่เป็น (ต้น)[1]
- ต้นและใบมีรสหอมเย็น ใช้ปรุงเป็นยาเขียวกระทุ้งพิษเหือด หัด สุกใส ดำแดง ฝีดาษ (ต้นและใบ)[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักกะโฉม
- ในต้นมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งน้ำมันนี้จะเป็นสารประกอบของ phenylpropane และ sesquiterpene[1]
ประโยชน์ของผักกะโฉม
- ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบก้อย น้ำพริก (ต้นยิ่งอ่อนยิ่งมีกลิ่นแรง)[2]
- ใบผักกะโฉมมีกลิ่นคล้ายกับใบโหระพา ซึ่งสามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหารหรือทำเป็นน้ำหอมได้[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักกะโฉม”. หน้า 461-462.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ผักกะโฉม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [23 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Chen Hung-Jou)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)