ปุดใหญ่
ปุดใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Etlingera coccinea (Blume) S.Sakai & Nagam. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Achasma macrocheilos Griff.)[1] จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1]
สมุนไพรปุดใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปุด (ไทย), จะปูบะซา ตะบุ๊บะซา(มลายู-ปัตตานี) เป็นต้น[4]
ลักษณะของปุดใหญ่
- ต้นปุดใหญ่ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดใหญ่ มีอายุได้หลายปี ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงได้ประมาณ 1.5-3 เมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะของเหง้าเป็นแท่งรูปทรงกระบอกยาว มีกลิ่นหอม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ พบขึ้นตามป่าดิบชื้น[1],[2],[3],[4]
- ใบปุดใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบแคบเป็นติ่งแหลม โคนใบมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 40-60 เซนติเมตร ผิวใบเรียบเป็นมัน ก้านใบยาว โคนก้านใบแผ่ออกเป็นกาบหุ้ม[1],[3]
- ดอกปุดใหญ่ ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ใกล้กับโคนต้น ซึ่งจะแทงขึ้นมาจากเหง้าเหนือพื้นดิน ดอกย่อยมีหลายดอก (ช่อหนึ่งมีดอกย่อยประมาณ 4-10 ดอกย่อย) ออกเรียงตัวอัดกันแน่น มีใบประดับ กลีบดอกเป็นสีแดงสด ส่วนขอบกลีบเป็นสีเหลืองอ่อน ออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[2]
- ผลปุดใหญ่ ผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม[1]
สรรพคุณของปุดใหญ่
- เหง้ามีสรรพคุณช่วยให้เจริญอาหาร (เหง้า)[4]
- ชาวเขาเผ่าเย้าจะใช้รากปุดใหญ่ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม (ราก, เหง้า)[1],[4]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง แก้โรคกระเพาะอาหาร อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ (ราก)[1]
- ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้ปิดแผลเป็นยาห้ามเลือดได้ (ใบ)[4]
- เหง้านำมาตำให้แหลกใช้ปิดแผลสดและแผลไฟไหม้ (เหง้า)[4]
ประโยชน์ของปุดใหญ่
- ต้นปุดอ่อนนำมาลอกกาบนอกออก เหลือไว้เฉพาะไส้ใน นำมารับประทานเป็นผักสดหรือลวกจิ้มกับน้ำพริก[2],[4] ส่วนดอกอ่อนก็สามารถนำมาต้มรับประทานเป็นผักได้เช่นกัน[3]
- เหง้า หน่ออ่อน และไส้ของปุด จะมีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อน สามารถนำมาใช้ในการปรุงรสอาหารเพื่อดับกลิ่นคาวเป็นเครื่องเทศใส่ในแกงชนิดต่าง ๆ ได้[2],[4]
- กาบหุ้มลำต้นนำมาใช้สานเป็นภาชนะใส่ของชั่วคราว[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ปุดใหญ่”. หน้า 107.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ปุดใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [25 พ.ย. 2014].
- ไทยเกษตรศาสตร์. “ปุดใหญ่”. อ้างอิงใน : หนังสือวัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [25 พ.ย. 2014].
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานีน้อมรับพระราชดำริ, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ปุด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : rspg.svc.ac.th. [25 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by algodong), www.bansuanporpeang.com (by แจ้ว)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)