โรคปากนกกระจอก
ปากนกกระจอก หรือ แผลที่มุมปาก (Angular cheilitis – AC, Angular stomatitis, Commissural cheilitis) คือ อาการแผลเปื่อยที่มุมปากทั้ง 2 ข้าง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากภาวะการขาดวิตามินบี 2 ธาตุเหล็ก โปรตีน โรคเชื้อรา การติดเชื้อแบคทีเรีย โรคผื่นแพ้กรรมพันธุ์ ฯลฯ เป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย แม้จะไม่มีอันตรายร้ายแรงและไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ก็มักสร้างความรำคาญ ความวิตกกังวล และความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก เพราะทำให้มีอุปสรรคต่อการรับประทานอาหารหรือการพูดคุย อีกทั้งโรคนี้ก็เป็นโรคที่สามารถเกิดซ้ำได้อีกถ้าแก้ปัญหาไม่ถูกจุด แต่รอยโรคก็มักหายไปได้เองภายใน 7-10 วัน
สาเหตุโรคปากนกกระจอก
ส่วนใหญ่แล้วคนมักเข้าใจว่าโรคปากนกกระจอกเกิดได้จากการขาดวิตามินบี 2 เพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคปากกระจอกได้อีกมาก และสาเหตุที่พบได้บ่อย ๆ ก็มีดังนี้
- ปัญหาจากโรคผิวหนัง เช่น เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis) โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปากนกกระจอกที่พบได้บ่อยที่สุด
- การขาดสารอาหาร โรคปากนกกระจอกมักเกิดจากการขาดวิตามินบี 2 หรือ ไรโบฟลาวิน (Riboflavin) การขาดธาตุเหล็ก วิตามินซี และโปรตีน (เป็นกรณีที่พบได้น้อย แต่มักพบได้ในเด็กที่เป็นโรคขาดสารอาหาร หรือรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 2 น้อยเกินไป)
- การติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อรา (Candida albicans) เชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส เช่น เชื้อเริมที่ริมฝีปาก (Herpes simplex) ที่มักพบตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นที่บริเวณริมฝีปาก
- ผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่มีฟัน จึงมีรูปปากที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการกดทับที่มุมปากและกลายเป็นจุดอับชื้น เมื่อน้ำลายหรือเหงื่อมาอยู่บริเวณนั้นมากขึ้นก็จะทำให้เกิดเป็นแผลระคายเคืองที่มุมปากได้ ต่อมาอาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียตามมาได้อีก ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อย
- ภาวะน้ำลายออกมากกว่าปกติ (Hypersalivation) เช่น ในคนที่นอนหลับแล้วน้ำลายไหลเป็นประจำ คนที่พูดแล้วมักมีน้ำลายเอ่อที่มุมปาก หรือในเด็กบางคนที่มีน้ำลายมากและน้ำลายไหลตลอด ทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังที่มุมปากจนเกิดเป็นแผลได้ง่ายยิ่งขึ้น
- การแพ้หรือระคายเคือง เช่น การแพ้อาหาร แพ้ลิปสติก หรือยาสีฟัน (แต่ในกรณีนี้มักเป็นทั้งริมฝีปาก)
- เกิดจากการที่ริมฝีปากแห้ง จากนิสัยส่วนตัวที่ชอบเลียปากหรือจากการที่อากาศหนาวเย็นที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากินรักษาสิวประเภทกรดวิตามินเอ (Isotretinoin) ที่มีผลทำให้ผิวแห้งลงและเกิดแผลที่มุมปากได้ง่ายขึ้น
- ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่าโรคปากนกกระจอกอาจเกิดปัญหาของระบบภูมิคุ้มกัน หรืออาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเครียด การสูบบุหรี่ ฯลฯ หรือเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- นอกจากนี้ยังอาจพบได้ในผู้ป่วยโรคพิษสุรา โรคตับ หรือท้องเดินเรื้อรัง ผู้ที่มีอาการเบื่ออาหาร หรือมีความผิดปกติของการดูดซึมของลำไส้
อาการของปากนกกระจอก
ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นแผลเปื่อย โดยแผลจะมีลักษณะแตกเป็นร่องที่มุมปากทั้ง 2 ข้าง ลักษณะเป็นสีเหลือง ๆ ขาว ๆ เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบร้อนที่ริมฝีปากและลิ้น ต่อมาจะมีรอยแผลแตกที่มุมปาก ทำให้ในขณะที่พูดหรืออ้าปากผู้ป่วยจะรู้สึกตึงและเจ็บ ถ้าใช้ลิ้นเลียบริเวณแผลก็จะยิ่งทำให้แผลแห้งและตึงมากขึ้น เมื่ออ้าปากอาจทำให้มีเลือดออกได้ (ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีเลือดออกด้วย และถ้าเป็นซ้ำซากเวลาหายแล้วจะกลายเป็นแผลเป็น)
ในบางรายอาจพบการอักเสบของเยื่อบุริมฝีปาก (ริมฝีปากจะมีลักษณะแดง แห้ง หยาบบาง และแตกเป็นร่องตื้น ๆ) และลิ้น (ลิ้นจะมีลักษณะเป็นสีม่วงแดง)
นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจมีภาวะซีด กระจกตาอักเสบ (ตาแดง น้ำตาไหล กลัวแสง) ผิวหนังอักเสบ (Seborrheic dermatitis) ซึ่งผิวหนังในบริเวณหู ตา จมูก อัณฑะ ปากช่องคลอด จะมีลักษณะเป็นมัน เป็นผื่นแดง และมีสะเก็ดเป็นมัน
วิธีรักษาปากนกกระจอก
ผู้ป่วยที่เป็นโรคปากนกกระจอกไม่จำเป็นต้องมีสาเหตุมาจากการขาดสารอาหารเสมอไป และการขาดสารอาหารนี้ก็เป็นสาเหตุการเกิดโรคที่พบได้น้อยมากในปัจจุบัน ฉะนั้น ผู้ป่วยควรหาสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงแล้วทำการรักษาที่ต้นเหตุ ซึ่งจะทำให้อาการดังกล่าวหายไปโดยไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก แต่โดยทั่วไปแล้วแนวทางการดูแลรักษาตัวเองแพทย์จะแนะนำให้ปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
- ถ้าสาเหตุเกิดจากการขาดวิตามินบี 2 (Riboflavin) ให้รักษาด้วยการรับประทานวิตามินบี 2 หรือวิตามินบีรวมวันละ 1-3 เม็ด จนกว่าจะหาย หรือรับประทานอาหารประเภทข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง ผักและผลไม้ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินบี 2 อยู่เป็นประจำ
- โรคปากนกกระจอกที่มีสาเหตุมาจากเชื้อเริม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเป็นแผลเปื่อยแบบเป็น ๆ หาย ๆ ในกรณีนี้ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อยามาทาหรือซื้อวิตามินมากินครับ เพียงแต่ขอให้รักษาความสะอาดของริมฝีปากและช่องปากให้ดี ควรแปรงฟันและบ้วนปากให้สะอาดหลังการรับประทานอาหาร แล้วแผลเปื่อยที่มุมปากก็จะหายไปเองในที่สุด
- ถ้าโรคปากนกกระจอกมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักเกิดหลังจากการหลุดลอกของเซลล์หนังกำพร้าที่มุมปาก แล้วต่อมาเกิดเป็นแผลทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เกิดการอักเสบและปวดเจ็บ ในกรณีแบบนี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ และงดการดื่มแอลกอฮอล์และชา เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะไปรบกวนการดูดซึมวิตามิน
- ควรเช็ดมุมปากให้แห้งอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอับชื้น (แนะนำให้พกผ้าเช็ดหน้าสะอาด ๆ ติดตัวไว้เสมอเพื่อใช้ซับน้ำลาย)
- เลิกเลียริมฝีปากและมุมปาก เพราะการทำเช่นนี้จะก่อให้เกิดการอักเสบของแผลและการติดเชื้อแบคทีเรียได้ ทำให้แผลไม่หายและอาจมีอาการแย่ลงกว่าเดิม
- หมั่นทำความสะอาดช่องปากด้วยการแปรงฟันและบ้วนปากให้สะอาดหลังการรับประทานอาหารอยู่เสมอ
- ควรรักษาความสะอาดของเครื่องนอน เช่น ผ้าห่ม ปลอกหมอน รวมไปถึงผ้าเช็ดหน้าที่ใช้เป็นประจำ
- ในกรณีที่ไม่ได้ใส่ฟัน ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
- หากแผลที่มุมปากมีอาการเจ็บและตึง ให้ทาปากด้วยครีมทาปาก ปิโตรเลี่ยมเจลลี่ ลิปบาล์ม หรือขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของวิตามินอีอยู่เสมอ ก็จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บได้ (วิตามินอีจะมีประโยชน์ในการช่วยสมานแผลให้หายเร็วยิ่งขึ้น ช่วยทำให้ผิวมีความชุ่มชื้น และเพิ่มความยืดหยุ่นตัวของผิวได้ดีขึ้น)
- ใช้ยาป้ายแผลในปาก เช่น Kenalog in Orabase (ขี้ผึ้งป้ายปาก) เพื่อช่วยบรรเทาอาการอักเสบหรือแผลเปื่อยในปาก ซึ่งยาชนิดนี้จะได้ผลดีกับแผลที่เกิดจากภาวะอักเสบจากภูมิแพ้
- งดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง เช่น ลิปสติก ยาสีฟัน
- สมุนไพรบางชนิดก็สามารถช่วยรักษาแผลโรคปากนกกระจอกให้หายได้เร็วขึ้นได้ เช่น
- การใช้น้ำยางจากยอดอ่อนของต้นตองแตก (Baliospermum solanifolium (Burm.) Suresh) มาทาบริเวณที่เป็นแผล
- ใช้ใบสดของต้นอัคคีทวาร (Rotheca serrata (L.) Steane & Mabb.) นำมาอังไฟแล้วขยี้ใส่แผล
- ยางสดจากต้นน้ำนมราชสีห์ใหญ่ (Euphorbia hirta L.) ใช้ทาบริเวณที่เป็นแผล
- ใช้ยางจากก้านใบของต้นสบู่ดำ (Jatropha curcas L.) นำมาป้ายบริเวณที่เป็นแผล
- ใช้เปลือกต้นมะขามเทศ (Pithecellobium dulce (Roxb.) Benth.) ให้ลอกเปลือกชั้นนอกออกแล้วเอาแต่เปลือกชั้นใน 15 กรัม เกลือป่น 1 ช้อนชา แล้วนำมาต้มกับน้ำกะปริมาณพอท่วมยาเล็กน้อยจนน้ำเดือด รอจนน้ำอุ่นแล้วนำมาอมหลังจากแปรงฟันทุกครั้งจะช่วยทำให้แผลในปากค่อย ๆ บรรเทา ทุเลาลง
- ให้ใช้ฟองข้าวสีขาวที่ได้จากข้าวที่กำลังสุกมาใช้ทาบริเวณที่เป็นแผลวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น วิธีนี้จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้นได้
- ต้นสายน้ำผึ้ง (Lonicera japonica Thunb.) โดยให้ใช้ทั้งต้นเป็นยา (ตามตำราไม่ได้ระบุวิธีการใช้เอาไว้)
- ใบของต้นกระเจี๊ยบเขียว (Abelmoschus esculentus (L.) Moench) มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคปากนกกระจอก (ไม่ได้ระบุวิธีใช้)
- ถ้ายังไม่ได้ผลหรืออาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นที่แท้จริงที่ก่อให้เกิดโรคปากนกกระจอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยกลางคนขึ้นไปที่อาจเกิดจากโรคเชื้อราในช่องปาก
วิธีป้องกันโรคปากนกกระจอก
- โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 2 เช่น ปลา ตับ ไต ถั่ว นม ไข่แดง ผักใบเขียว ผักหวานป่า โยเกิร์ต ชีส ฯลฯ และรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อแดง ตับ หอย ไข่แดง หน่อไม้ฝรั่ง ผักกูด ผักแว่น ถั่วฝักยาว ใบแมงลัก ใบกะเพรา เห็ดฟาง ธัญพืช ถั่วชนิดต่าง ๆ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เป็นประจำทุกวัน
- เลิกนิสัยการชอบเลียมุมปาก แล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดแผลที่มุมปากได้
- ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองที่ริมฝีปาก เช่น ลิปสติก ยาสีฟัน หากใช้แล้วแพ้ควรหยุดใช้แล้วเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่นทันที
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ (หากร่างกายแข็งแรงก็จะห่างไกลจากการเป็นโรคปากนกกระจอก เพราะโรคนี้มักพบได้ในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ปากนกกระจอก (Angular stomatitis/Angular cheilitis)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 560.
- เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ. “โรคปากนกกระจอก…ทำอย่างไรดี?”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : drug.pharmacy.psu.ac.th. [27 มี.ค. 2016].
ภาพประกอบ : medicalpicturesinfo.com, www.newhealthguide.org, simpleremedies.net, www.dermquest.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)