ปัสสาวะขุ่น
ปัสสาวะขุ่น (ภาษาอังกฤษ : Urine Turbidity) คือ อาการที่สีของปัสสาวะมีลักษณะขุ่นเป็นตะกอน ไม่เป็นสีใสหรือสีเหลืองอ่อนตามปกติ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การใช้ยา การกินอาหารบางชนิด หรือเกิดจากสาเหตุอื่นที่ทำให้ปัสสาวะมีลักษณะดังกล่าวอย่างโปรตีนหรือผลึกสารเจือปนในปัสสาวะ ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ การติดเชื้อภายในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
สาเหตุของปัสสาวะขุ่น
ปัสสาวะที่ขุ่นเมื่อถ่ายเสร็จใหม่ ๆ คือ ปัสสาวะที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- ร่างกายมีภาวะขาดน้ำอย่างมาก
- มีเม็ดเลือดแดงอยู่ในปัสสาวะหรือปัสสาวะเป็นเลือด
- มีเม็ดเลือดขาวอยู่ในปัสสาวะจากการอักเสบของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือปัสสาวะเป็นหนองจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- นิ่วในไต หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- ปัสสาวะอาจถูกปะปนด้วยตัวอสุจิ แบคทีเรีย พยาธิ หรือยีสต์
- มีโมเลกุลสารเคมีต่าง ๆ รั่วออกมาในปัสสาวะ เช่น โปรตีนไข่ขาว สารคีโตน
- ปัสสาวะอาจมีผลึกของสารบางชนิด เช่น ผลึกฟอสเฟต, ผลึกยูเรตจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง หรือมีสารออกซาเลตในปัสสาวะสูงเกินไป
- ปัสสาวะปนเปื้อนกับอุจจาระในกรณีที่มีรูทะลุระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับลำไส้ใหญ่
- ช่องคลอดอักเสบ
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน
- ปัสสาวะมีลักษณะขาวขุ่นคล้ายน้ำนม (Chyluria) เป็นปัสสาวะที่มีน้ำเหลืองหรือไขมันปน เช่นในโรคเท้าช้าง จากการผ่าตัดไตเพียงบางส่วน (Partial nephrectomy) หรือจากการจี้ไตด้วยไฟฟ้าหรือคลื่นเสียง (Ablative) เพื่อการรักษาโรคบางชนิด เช่น เนื้องอก หรืออุบัติเหตุของไต
นอกจากสาเหตุที่กล่าวไปแล้ว ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อระดับสารเคมีต่าง ๆ หรือระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายและนำไปสู่อาการปัสสาวะขุ่นหรือมีสีผิดปกติได้ เช่น
- อาหารบางชนิด การรับประทานอาหารบางชนิดในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้สีของปัสสาวะเปลี่ยนแปลงได้ เช่น บีทรูท แบล็คเบอร์รี่
- ยาบางชนิด การใช้ยารักษาโรคบางชนิดอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีปัสสาวะได้ แต่จะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ป่วย
- เพศ ในผู้ชายมักป่วยด้วยนิ่วในไตหรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ในขณะที่ผู้หญิงมักป่วยจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และอาจมีอาการตกขาวหรือมีการติดเชื้อในช่องคลอด
- อายุ ผู้สูงอายุในบางกรณีก็มีแนวโน้มที่จะป่วยด้วยโรคต่าง ๆ อันเป็นที่มาของการเกิดปัสสาวะขุ่นได้มากกว่า เช่น โรคไต โรคเบาหวาน
- ประวัติคนในครอบครัว ผู้ที่มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไตหรือนิ่วในไต อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บป่วยแบบเดียวกันนี้ขึ้นกับตนเองได้
- การออกกำลังกาย การออกกำลังหรือการใช้แรงงานอย่างหนักอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อระบบปัสสาวะได้
การวินิจฉัยปัสสาวะขุ่น
ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติการเจ็บป่วยประวัติการใช้ยาของผู้ป่วย รวมไปถึงการสอบถามถึงอาการที่เป็นอยู่ เช่น ปัสสาวะมีลักษณะขุ่น มีสี มีกลิ่น หรือมีลักษณะอย่างไร มีหยดเลือดหรือลิ่มเลือดปะปนอยู่ด้วยหรือไม่ มีอาการเจ็บปวดในขณะที่ปัสสาวะหรือไม่ ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือถ่ายปัสสาวะบ่อยเพียงใด มีการเปลี่ยนการรับประทานอาหารหรือไม่ ความผิดปกติที่เป็นอยู่เป็นมานานแล้วยัง เคยมีอาการดังกล่าวมาก่อนหน้านี้หรือไม่ มีโรคประจำตัวหรือมีอาการเจ็บป่วยอื่นใดอีกหรือไม่ และกำลังใช้ยาตัวใดรักษาอยู่ จากนั้นแพทย์อาจทำการตรวจร่างกายตามบริเวณที่สงสัยว่าอาจมีการเจ็บป่วย ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ปัสสาวะขุ่นหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ หรืออาจส่งตรวจเพิ่มเติมหาสาเหตุที่แน่ชัด เช่น
- การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) เป็นการตรวจหาเซลล์เม็ดเลือดแดง ระดับโปรตีน แร่ธาตุที่ถูกขับออกมา รวมถึงแบคทีเรียที่อาจมีอยู่ในปัสสาวะเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่
- การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต (Kidney function tests) เป็นการตรวจหาระดับครีอะตินีน (Creatinine) และระดับไนโตรเจน (BUN) เพื่อดูการทำงานของไต
- การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับ (Liver function tests) เป็นการตรวจดูระดับ AST (SGOT), ALT (SGPT), ALP (Alkaline phosphatase), Total bilirubin, Direct bilirubin, Albumin, Globulin เพื่อตรวจดูว่าตับทำงานเป็นปกติหรือไม่
การรักษาปัสสาวะขุ่น
ในเบื้องต้นนอกจากอาการปัสสาวะขุ่นแล้ว ยังควรสังเกตอาการหรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาการปัสสาวะบ่อยแต่ได้ทีละน้อย ปัสสาวะแสบขัด หรือปวดปัสสาวะขึ้นมาอย่างกะทันหัน, อาการปัสสาวะที่มีเลือดปน (ถ้ามีอาการเจ็บปวดในขณะปัสสาวะร่วมด้วย อาจเกิดโรคนิ่วในไตหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ แต่ถ้าไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วยอาจเกิดจากโรคมะเร็ง), ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีส้ม ร่วมกับมีอาการตัวเหลืองตเหลือง อุจจาระมีสีซีด (ตับอาจมีปัญหาหรือกำลังทำงานผิดปกติ), ปัสสาวะขุ่นหรือมีเลือดปนแล้วมีกลิ่นเหม็นร่วมกับมีอาการไข้ หนาวสั่น หรือปวดเอว (ระบบทางเดินปัสสาวะอาจเกิดการติดเชื้อ) หากพบอาการเหล่านี้เกิดขึ้นก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการตรวจรักษาต่อไป ส่วนปัสสาวะที่ขุ่นหรือมีสีที่ต่างไปจากปกติแต่ไม่เป็นอันตราย เช่น จากการกินอาหารบางชนิด หรือเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา ก็ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่หากปัสสาวะที่ขุ่นนั้นเกิดจากการมีโรคหรืออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ แพทย์จะให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) การรักษาอาจใช้วิธีการดื่มน้ำมาก ๆ ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสารละลายอิเล็กโทรไลต์หรือคาร์โบไฮเดรต กินผงละลายเกลือแร่ หรือให้น้ำเกลือรักษาในรายที่มีภาวะขาดน้ำรุนแรง ทั้งนี้วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง สาเหตุของการขาดน้ำ และอายุของผู้ป่วย
- การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (UTI) การรักษาจะใช้เป็นการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ ซึ่งจะมีทั้งชนิดกินและชนิดฉีดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยและลักษณะอาการป่วย
- นิ่วในไต (Kidney stone) การรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของนิ่ว ถ้านิ่วมีขนาดเล็กและผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย การรักษาจะประกอบไปด้วยการดื่มน้ำเปล่าให้มาก ๆ เพื่อช่วยขับปัสสาวะ กินยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอล (Paracetamol) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือนาพรอกเซนโซเดียม (Naproxen sodium) เมื่อมีอาการปวด หรือใช้ยาแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blockers) เพื่อคลายกล้ามเนื้อบริเวณท่อปัสสาวะและช่วยสลายก้อนนิ่วออกไป เป็นต้น แต่หากนิ่วมีขนาดใหญ่และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ การรักษาอาจจะเป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงส่งพลังผ่านผิวหนังไปสู่ก้อนนิ่ว (ESWL) เพื่อให้ร่างกายสามารถขับนิ่วออกมาทางปัสสาวะได้, การใช้กล้อง Nephroscope ส่องเข้าไปที่ไตแล้วใช้เครื่องมือช่วยเพื่อเอานิ่วออก ฯลฯ รวมถึงการผ่าตัดซึ่งมีหลายวิธีโดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของนิ่ว เช่น Anatrophic nephrolithotomy (ANL), Pyelolithotomy, Ureterolithotomy (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ “นิ่วในไต”)
การป้องกันปัสสาวะขุ่น
โดยทั่วไปการป้องกันการเกิดปัสสาวะที่มีลักษณะขุ่นและอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะมีดังนี้
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อสุขภาพที่ดีและป้องกันภาวะขาดน้ำ นอกจากนี้การดื่มน้ำในปริมาณมากยังช่วยขับของเสียต่าง ๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ ช่วยลดโอกาสเกิดนิ่วในไต รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ด้วย (สีของน้ำปัสสาวะที่เป็นสีเหลืองเข้ม แสดงถึงภาวะที่ร่างกายกำลังต้องการน้ำมากขึ้น)
- ดื่มน้ำเปล่าที่สะอาด น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน โซดา หรือน้ำอัดลมในปริมาณมาก เพราะอาจทำปฏิกิริยาต่อกระเพาะปัสสาวะจนเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมาได้
- ไม่กลั้นปัสสาวะ ให้รีบปัสสาวะเมื่อรู้สึกปวด
- ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพษด้วยสบู่อ่อน ๆ หรือน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง พร้อมกับเช็ดให้แห้งเพื่อป้องกันการอับชื้นและการติดเชื้อ
- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อป้องกันอาการท้องผูก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออาการอื่น ๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะได้
- หากมีโรคประจำตัวหรือกำลังเจ็บป่วยด้วยโรคใด ๆ ที่ต้องจำกัดปริมาณของเหลวในร่างกายควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณน้ำดื่มที่เหมาะสมในแต่ละวัน เช่น โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)