ปอแดง
ปอแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Sterculia guttata Roxb. ex G.Don[2] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย STERCULIOIDEAE
สมุนไพรปอแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปอพาน ปอฟาน (เชียงใหม่), ปอขนุน (ภาคกลาง, ภาคใต้), หมากนก (ภาคใต้) ส่วนทางภาคใต้เรียก “ปอแดง” เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของปอแดง
- ต้นปอแดง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง มีความสูงได้ประมาณ 8-15 เมตร เปลือกต้นเรียบ[1] มีเขตการกระจายพันธุ์จากอินเดีย ศรีลังกาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ที่ความสูงประมาณ 100-500 เมตร จากระดับน้ำทะเล[2]
- ใบปอแดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรียาวหรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนมีติ่งแหลม โคนใบสอบเข้าหาก้านใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-18 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นคลื่นเล็กน้อย[1]
- ดอกปอแดง ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง แกนช่อดอกยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร มีขนขึ้นทั่วไป ดอกเป็นสีเหลืองถึงสีแสด มีขนขึ้นทั่วไป กลีบรองดอกเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ ส่วนกลีบดอกไม่มี ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 อัน ก้านดอกยาวประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร[1]
- ผลปอแดง ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวยโค้ง มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-8 เซนติเมตร ผิวเปลือกด้านนอกเป็นสีน้ำตาลก่อนแล้วจึงจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแสดคล้ายกำมะหยี่ เมื่อแก่จัดเปลือกจะแตกและอ้าออก ทำให้เห็นเมล็ดสีดำเป็นมันที่ติดอยู่ตามแนวขอบด้านใน ซึ่งจะมีเมล็ดประมาณ 4-6 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี[1]
สรรพคุณของปอแดง
- เปลือกใช้ผสมเป็นยาแก้ลม สวิงสวายใจสั่น ร่างกายอ่อนเพลีย (เปลือก)[1]
ประโยชน์ของปอแดง
- เนื้อไม้ปอแดงมีความเหนียว ตอกตะปูได้ง่าย สามารถนำมาใช้ทำไม้แบบหล่อคอนกรีต ทำลังใส่ของได้ดี[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “ปอแดง”. หน้า 110.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ปอแดง”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [26 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Jayesh Pati, Medha Rao), www.biotik.org
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)