ปอลมปม
ปอลมปม ชื่อสามัญ Common Mallow[2]
ปอลมปม ชื่อวิทยาศาสตร์ Thespesia lampas (Cav.) Dalzell (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hibiscus lampas Cav.) จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)[1] และอยู่ในวงศ์ย่อย MALVOIDEAE
สมุนไพรปอลมปม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปอเอี้ยว (เชียงใหม่), ลมปม (ชัยภูมิ), ปอกะเจา (สระบุรี), คว้ายกวาง (ชุมพร), โพป่า (ภาคกลาง) ส่วนที่อุบลราชธานีและปราจีนบุรีเรียก “ปอลมปม” เป็นต้น[1]
ลักษณะของปอลมปม
- ต้นปอลมปม จัดเป็นไม้พุ่มที่มีความสูงได้ประมาณ 0.5-3 เมตร แตกกิ่งก้านต่ำใกล้กับพื้นดิน ตามกิ่งอ่อน ก้านใบ ก้านดอก กลีบเลี้ยง กลีบดอกด้านนอก และยอดอ่อนมีขนรูปดาวสั้นสีน้ำตาล มีเขตการกระจายพันธุ์ในแอฟริกา อินเดีย เนปาล พม่า ลาว เวียดนาม จีนตอนใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นตามชายป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าสน จนถึงระดับความสูง 1,300 เมตร[1],[2]
- ใบปอลมปม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบตอนบนจะมีขนาดเล็กกว่าใบตอนล่าง ลักษณะของใบค่อนข้างกลมเป็นรูปไข่หรือรูปฝ่ามือ หยักเป็น 3-5 แฉก ปลายใบแหลมหรือแหลมยาว โคนใบเว้า กลม หรือเป็นรูปหัวใจตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างได้ถึง 25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-22 เซนติเมตร แผ่นใบหนา ผิวใบมีขนขึ้นทั้งสองด้าน เส้นโคนใบ 5-7 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 1-7 เซนติเมตร มีหูใบเป็นรูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร[1],[2]
- ดอกปอลมปม ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ตามซอกใบหรือใกล้กับปลายกิ่ง ดอกเป็นสีเหลือง กลางดอกเป็นสีม่วง กลีบดอกมี 5 กลีบ ด้านนอกมีขน กลีบดอกเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีเหลือง มีสีม่วงอมแดงที่โคนด้านใน แผ่นกลีบเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ด้านนอกมีขน สูงประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร ปลายจักตื้น ๆ 5 จัก ปลายจักเป็นรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ 1-8 มิลลิเมตร มีริ้วประดับ 4-6 แฉก ลักษณะเป็นรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ติดตลอดความยาวหลอดเกสร มีต่อมกระจาย หลอดเกสรยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร อยู่ภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร อับเรณูมีลักษณะเป็นรูปเกือกม้า รังไข่เป็นรูปกรวย มี 5 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุลจำนวนมาก ส่วนก้านเกสรเพศเมียเป็นแท่งยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยอดเกสรมีลักษณะคล้ายกระบอง ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร เป็นร่อง 3-5 ร่อง ก้านช่อยาวประมาณ 1-8 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มักออกดอกในช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[2]
- ผลปอลมปม ผลเป็นผลแห้ง เป็นผลแบบแคปซูลทรงรีหรือเกือบกลม มีขนาดกว้างประมาณ 1.8-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.8-3 เซนติเมตร ผนังผลหนาและเป็นเหลี่ยม แตกตามยาว มีขนรูปดาวละเอียด ภายในมีเมล็ดรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร เกลี้ยง มีขนเป็นวงใกล้กับขั้วเมล็ด[1],[2]
สรรพคุณของปอลมปม
- รากมีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ (ราก)[2]
- รากและผลปอลมปม ใช้ปรุงเป็นยากินแก้กามโรคทุกชนิด (รากและผล)[1]
ประโยชน์ของปอลมปม
- เปลือกในสามารถนำมาใช้ทำเชือกได้[2]
- เส้นใยจากเมล็ดใช้ทอเป็นผ้าได้[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ปอลมปม”. หน้า 134.
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ปอลมปม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [26 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Keoki Stender, Tony Rodd, Dinesh Valke, Indianature s2)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)