ปอผี
ปอผี ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydrolea zeylanica (L.) Vahl (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Nama zeylanica L.)[2] จัดอยู่ในวงศ์ HYDROLEACEAE
สมุนไพรปอผี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักกะเดียง (อุบลราชธานี), บีปลาไหล ไส้เอี่ยน บีเอี่ยน (สกลนคร), ปอผี (บุรีรัมย์), ผักกระเดียง, ดีปลาไหล, สะเดาดิน เป็นต้น[1],[3],[4]
ลักษณะของปอผี
- ต้นปอผี หรือ ผักกะเดียง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน แตกแขนงมาก ชูยอดตั้งขึ้น สูงได้ประมาณ 10-100 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะกลมและแข็ง มีรากออกตามข้อ ลำต้นเรียบหรือมีขนนุ่ม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดียถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในเขตร้อนของทวีปออสเตรเลีย ชอบขึ้นบริเวณที่ชื้นแฉะ บนดินชื้นและมีน้ำขัง ตามนาข้าว หนองน้ำ ริมหนองน้ำ หรือขึ้นแผ่คลุมผิวน้ำ สามารถพบได้ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลไปจนถึงที่ความสูงประมาณ 1,000 เมตร[1],[2],[3],[4]
- ใบปอผี ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียน ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกถึงรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร ไม่มีหูใบ[1]
- ดอกปอผี ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะแยกแขนงหรือออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบและที่ปลายยอด ช่อดอกยาวได้ถึง 5 เซนติเมตร มีดอกย่อยสมบูรณ์เพศจำนวนมาก ดอกย่อยนั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว ลักษณะเป็นรูปหอก มีขนนุ่ม วงกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ปลายกลีบแหลมด้านนอกมีขนขึ้นปกคลุม ขนาดประมาณ 4.5-8 มิลลิเมตร เรียงสลับกับกลีบดอก ส่วนกลีบดอกนั้นมีลักษณะเป็นรูปไข่ มี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีน้ำเงินอมม่วงหรือสีม่วงอมเขียว กลางดอกเป็นสีขาว ขนาดประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน เรียงสลับกับกลีบดอก ก้านชูเกสรเพศเมียมี 2 อัน อับเรณูเป็นสีแดงเข้ม ออกดอกในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1]
- ผลปอผี ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรี มีขนาดกว้างประมาณ 2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ห่อด้วยกลีบรองดอก มีกลีบเลี้ยงติดคงทน ภายในมีเมล็ดสีดำจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน มีขนาดประมาณ 0.3-0.4 มิลลิเมตร จะติดผลในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน[1]
สรรพคุณของปอผี
- ยาพื้นบ้านอีสานจะใช้ทั้งต้นปอผี นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ตาฟาง (ทั้งต้น)[1]
- ตำรายาไทยจะใช้ต้นปอผีเป็นยาบำรุงหัวใจ ตับ แก้ไข้มาลาเรีย และแก้เบาหวาน โดยการใช้ต้มสด 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่ม แต่สำหรับสตรีที่คลอดบุตรใหม่ ไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้น้ำนมขม (ต้น)[1],[3]
- ในประเทศกัมพูชาจะใช้ใบปอผีเป็นยารักษาอาการเกี่ยวกับลำไส้ผิดปกติ และใช้เป็นยาสมานแผล ฆ่าเชื้อ (ใบ)[1]
- ในประเทศอินเดียจะใช้ปอผีเป็นยาพอกสำหรับฆ่าเชื้อและสมานแผลพุพอง แผลอักเสบ (ใบ)[1]
ประโยชน์ของปอผี
- ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดหรือลวก ต้ม รับประทานกับน้ำพริก โดยจะมีรสขมอ่อน ๆ (สตรีคลอดบุตรใหม่ ไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้น้ำนมขม)[1],[3],[4]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักกะเดียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [24 ก.ย. 2015].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ปอผี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [23 ก.ย. 2015].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักกระเดียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [23 ก.ย. 2015].
- กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “ดีปลาไหล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.fisheries.go.th. [23 ก.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (Blair Chen, Dinesh Valke, Russell Cumming, Navida2011)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)