ปอดอักเสบ
ปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม (Pneumonia) หมายถึง การอักเสบของเนื้อปอด* ซึ่งประกอบไปด้วยถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ ทำให้ปอดทำหน้าที่ได้น้อยลง เกิดอาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก ซึ่งจัดเป็นภาวะร้ายแรงและผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ฯลฯ อย่างไรก็ตามถ้าตรวจพบในระยะแรกเริ่มก็มีทางเยียวยารักษาให้หายได้
ปอดอักเสบ (Pneumonitis – นิวโมนิติส) เป็นคำทั่วไปที่หมายถึงการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด ในขณะที่ปอดบวม (Pneumonia – นิวโมเนีย) เป็นประเภทของการติดเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบของปอด โรคปอดอักเสบและปอดบวมจึงมีความหมายคล้ายคลึงกันมากจนใช้เรียกแทนกันได้ แต่ในปัจจุบันนิยมเรียกโรคปอดอักเสบมากกว่าเพราะมีความหมายตรงกว่า
โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทั่วไปและคนทุกวัย มีโอกาสพบได้มากขึ้นในบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง พบได้ประมาณ 8-10% ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเฉียบพลันทางระบบหายใจ และนับเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก คือ ปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ (พบได้เป็นส่วนใหญ่) และปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ผู้ป่วยจึงมีอาการแสดงและความรุนแรงของโรคในลักษณะแตกต่างกันไป และบางครั้งอาจพบปอดอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ ด้วย
หมายเหตุ : ปอด (Lung) เป็นอวัยวะในระบบการหายใจที่อยู่ภายในทรวงอกทั้ง 2 ข้าง มีลักษณะเป็นเนื้อหยุ่น ๆ มีสีออกชมพู มีหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซจากอากาศที่เราหายใจเข้าไป คือ ในช่วงที่เราหายใจเข้าปอดจะทำหน้าที่นำก๊าซออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกาย และในขณะเดียวกันปอดก็จะขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการออกมากับลมหายใจ ปกติเนื้อปอดนี้จะเป็นอวัยวะที่ปราศจากเชื้อโรค เมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ เข้าไปถึงเนื้อปอด จะส่งผลให้เนื้อปอดมีการอักเสบและมีการบวมเกิดขึ้น แต่ในคนที่มีสุขภาพดีร่างกายจะมีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ดีที่จะช่วยขจัดเชื้อโรคและของเสียในทางเดินหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันลดลง หากปอดติดเชื้อก็จะเกิดปอดอักเสบหรือปอดบวมได้ง่ายขึ้น และหากเกิดปอดอักเสบแล้วก็จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ง่ายอีกด้วย
สาเหตุของโรคปอดอักเสบ
- สาเหตุ : ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ (โดยเฉพาะจากเชื้อแบคทีเรีย) มีเพียงส่วนน้อยเกิดจากสารเคมี ซึ่งการติดเชื้อที่สำคัญ มีดังนี้
- การติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุของปอดอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุดในคนทุกวัย ได้แก่ เชื้อปอดบวม ที่มีชื่อว่า “สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี” (Streptococcus pneumoniae) หรือมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “นิวโมค็อกคัส” (Pneumococcus) ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบเฉียบพลันและรุนแรง
- นอกจากนี้อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ เช่น สแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดปอดอักเสบชนิดร้ายแรง พบได้บ่อยในผู้ที่ฉีดยาเสพติดด้วยเข็มที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อและอาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่, เชื้อเคลบเซลลา นิวโมเนียอี (Klebsiella pneumoniae) ซึ่งทำให้เป็นปอดอักเสบชนิดร้ายแรงในผู้ป่วยที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด, ฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae) ซึ่งเป็นสาเหตุของปอดอักเสบในทารกและผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเรื้อรัง, เชื้อลีเจียนเนลลา (Legionella) ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปตามระบบปรับอากาศ เช่น โรงพยาบาล ห้องพักในโรงแรม เป็นต้น, เชื้อคลามัยเดีย นิวโมเนียอี (Chlamydia pneumoniae) ที่พบได้บ่อยในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว, เชื้อเมลิออยโดซิส (Melioidosis) ซึ่งพบได้บ่อยมากทางภาคอีสาน, เชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มบี (group B streptococcus), เชื้ออีโคไล (Escherichia coli), เชื้อคลามัยเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis), กลุ่มแบคทีเรียที่ไม่พึ่งออกซิเจน-แอนแอโรบส์ (Anaerobes) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปอดอักเสบจากการสำลัก เป็นต้น
- การติดเชื้อไมโคพลาสมา นิวโมเนียอี (Mycoplasma pneumoniae) ซึ่งเป็นเชื้อคล้ายแบคทีเรียแต่ไม่มีผนังเซลล์ จัดว่าอยู่ก้ำกึ่งระหว่างเชื้อไวรัสกับแบคทีเรีย มักทำให้เกิดปอดอักเสบที่มีอาการไม่ชัดเจน ทำให้มีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อย คล้ายโรคไข้หวัดใหญ่หรือหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน โดยไม่มีอาการหอบรุนแรง การตรวจฟังปอดในระยะแรกมักไม่พบเสียงผิดปกติ มักพบได้ในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว ถ้าพบในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ อาจมีอาการรุนแรง และบางครั้งอาจพบมีการระบาดได้
- การติดเชื้อไวรัส ที่พบบ่อยได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus), ไวรัสหัด (Measles virus), อีสุกอีใส-งูสวัด (Varicella-Zoster virus – VZV), ไวรัสเริม (Herpes simplex virus – HSV), ไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus – RSV), ไวรัสค็อกแซกกี (Coxsackie virus), ไวรัสซาร์ส (SARS coronavirus) เป็นต้น
- การติดเชื้อรา ที่สำคัญได้แก่ นิวโมซิสติส จิโรเวซิไอ (Pneumocystis jiroveci pneumonia – PCP) ซึ่งเป็นสาเหตุของปอดอักเสบในผู้ป่วยเอดส์ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากเชื้อราอื่น ๆ เช่น แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus), บลาสโตมัยเซส เดอร์มาไตติดิส (Blastomyces dermatitidis), ค็อกซิดิออยเดส อิมมิติส (Coccidioides immitis), คริปโตค็อกโคซิส (Cryptococcosis), ฮิสโตพลาสมา แคปซูเลทัม (Histoplasma capsulatum) เป็นต้น
- การติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุของปอดอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุดในคนทุกวัย ได้แก่ เชื้อปอดบวม ที่มีชื่อว่า “สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี” (Streptococcus pneumoniae) หรือมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “นิวโมค็อกคัส” (Pneumococcus) ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบเฉียบพลันและรุนแรง
- เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบ : ที่พบบ่อยตามกลุ่มอายุมีดังนี้
- เด็กแรกเกิด – 3 เดือน ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae), เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus), เชื้ออีโคไล (Escherichia coli), เชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มบี (group B streptococcus), เชื้อคลามัยเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis)
- อายุ 3 เดือน – 5 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus – RSV), เชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) และเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae)
- อายุมากกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่เกิดการติดเชื้อไมโคพลาสมา นิวโมเนียอี (Mycoplasma pneumoniae), เชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) อาจพบเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus – RSV) หรือเชื้อแบคทีเรียคลามัยเดีย นิวโมเนียอี (Chlamydia pneumoniae)
- กลุ่มเสี่ยง : ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ ได้แก่
- อายุ ในทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ เพราะร่างกายมีความบกพร่องในการป้องกันและกำจัดเชื้อโรค (ในผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากปอดอักเสบได้สูงมาก เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือภาวะการหายใจล้มเหลว ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงอายุที่เป็นโรคนี้เสียชีวิตได้สูงถึง 50%)
- การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยาเคมีบำบัดเป็นประจำ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคและการกำจัดเชื้อโรค
- การมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคเอดส์ โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหืดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคพิษสุราเรื้อรัง ฟันผุ เหงือกเป็นหนอง ฯลฯ รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกแฝด ทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย เป็นต้น
- การไม่รักษาสุขภาพและอนามัย เช่น การขาดสารอาหาร การมีสุขภาพทรุดโทรม การอยู่อาศัยในสถานที่ที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศดีพอ การอยู่ที่ที่มีมลภาวะที่ต้องหายใจและสูดเอามลภาวะนั้นเข้าไปในปอด
- การติดต่อ : เชื้อโรคและสารก่อโรคสามารถเข้าสู่ปอดได้โดยทางใดทางหนึ่ง ดังนี้
- การหายใจนำเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง โดยการสูดเอาเชื้อโรคที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยขนาดเล็ก (จากการไอหรือจามใส่) หรือเชื้อที่อยู่เป็นปกติวิสัย (Normal flora) ในช่องปากและคอหอยลงไปในปอด เช่น สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae), ฮีโมฟิลัส อินฟลูเอนเซ (Haemophilus influenzae) กลุ่มแบคทีเรียที่ไม่พึ่งออกซิเจน-แอนแอโรบส์ (Anaerobes) เป็นต้น
- การสำลัก เป็นกรณีที่เกิดจากการสำลักเอาน้ำและสิ่งปนเปื้อน (ในผู้ป่วยจมน้ำ), น้ำย่อยในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน, สารเคมี (เช่น น้ำมันก๊าด เบนซิน) หรือเศษอาหารเข้าไปในปอด ซึ่งมักพบได้ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอัมพาต ลมชัก หมดสติ หรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด จึงทำให้ปอดอักเสบจากการระคายเคืองของสารเคมีหรือการติดเชื้อ เรียกว่า “ปอดอักเสบจากการสำลัก” (Aspiration Pneumonia) ซึ่งการอักเสบนอกจากจะเกิดจากสารระคายเคืองแล้ว ยังอาจเกิดจากเชื้อโรคที่มีอยู่ในช่องปากและคอหอยที่ถูกสำลักลงไปในปอดด้วย (ปอดอักเสบที่เกิดจากการสำลักมักเป็นที่ปอดข้างขวามากกว่าข้างซ้าย เนื่องจากหลอดลมข้างขวาหักมุมน้อยกว่าข้างซ้าย)
- การแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด ได้แก่ การฉีดยาหรือให้น้ำเกลือที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือมีการแปดเปื้อนเชื้อ, การใส่สายสวนปัสสาวะหรือใส่สายเข้าหลอดเลือดดำใหญ่เป็นเวลานาน ๆ ทำให้มีการปนเปื้อนเชื้อเข้าไปในกระแสเลือด หรือการติดเชื้อในอวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น สครับไทฟัส, เล็ปโตสไปโรซิส (โรคฉี่หนู), ภาวะโลหิตเป็นพิษ เป็นต้น แล้วทำให้เชื้อแพร่จากอวัยวะส่วนอื่นที่มีการติดเชื้อเข้าไปตามกระแสเลือด
- การลุกลามโดยตรงจากการติดเชื้อที่อวัยวะใกล้ปอด เช่น เป็นฝีในตับแตกเข้าสู่เนื้อปอด
- การแพร่เชื้อจากมือของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เชื้อจากผู้ป่วยคนหนึ่งสามารถแพร่ไปยังอีกคนหนึ่งได้ทางมือที่ไม่ได้ล้างให้สะอาด จึงทำให้เกิดโรคปอดอักเสบในโรงพยาบาลได้
- การทำหัตถการบางอย่าง เช่น การดูดเสมหะที่ไม่ระวังการปนเปื้อน การส่องกล้องตรวจหลอดลม (Bronchoscopy), การใช้เครื่องมือช่วยหายใจหรือเครื่องมือทดสอบสมรรถภาพปอดที่มีเชื้อปนเปื้อน
- การได้รับเชื้อผ่านทางละอองฝอยของอุปกรณ์ Nebulizer ที่ไม่สะอาด หรือมีน้ำขังอยู่ในท่อของเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเชื้อที่สะสมอยู่จะเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้น เมื่อเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างก็สามารถทำให้เกิดโรคปอดอักเสบในโรงพยาบาลได้
- มีบางครั้ง (แต่น้อยมาก) ที่เชื้อเข้าสู่ปอดได้โดยตรงจากการถูกวัตถุมีคมแทงเข้าปอด
- ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนแสดงอาการ) : ไม่แน่ชัดขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ อาจสั้นเพียง 1-3 วัน หรืออาจนาน 1-4 สัปดาห์
- ระยะติดต่อ : สามารถแพร่เชื้อได้จนกว่าเสมหะจากปากและจมูกจะมีเชื้อไม่รุนแรงและมีปริมาณไม่มากพอ ส่วนเด็กที่เป็นพาหะของเชื้อโดยไม่แสดงอาการซึ่งพบได้ในสถานเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนก็สามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน
โรคนี้บางครั้งอาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคหวัด, ไข้หวัดใหญ่, ทอนซิลอักเสบ, หัด, อีสุกอีใส, มือเท้าปาก, ไอกรน, ครู้ป, หลอดลมอักเสบ, หลอดลมพอง, หลอดลมฝอยอักเสบ และโรคติดเชื้อของระบบอื่น ๆ ได้ (เช่น ไทฟอยด์ สครับไทฟัส โรคฉี่หนู เป็นต้น) เพราะฉะนั้นผู้ที่ป่วยเป็นโรคเหล่านี้จึงมีโอกาสเป็นโรคปอดอักเสบได้ด้วย
อาการของโรคปอดอักเสบ
- ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย เป็นสำคัญ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจมีไม่ครบทุกอย่างก็ได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยทุพพลภาพที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองและสื่อสารได้จำกัด เช่น ในผู้สูงอายุอาจมีเพียงไข้หรือตัวอุ่น ๆ และซึมลงเท่านั้น อาจมีอาการไอเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่มีอาการไอ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวหรือกล้ามเนื้อไม่มีแรงพอที่จะไอได้ ซึ่งแพทย์จะให้ความสนใจและสงสัยผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากอาการอาจแสดงไม่ชัดเจน
- อาการไข้ มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน อาจมีลักษณะไอเป็นพัก ๆ หรือมีไข้ตัวร้อนตลอดเวลา บางรายก่อนมีไข้ขึ้น (อาจมีอาการหนาวสั่นมาก ซึ่งมักจะเป็นเพียงครั้งเดียวในช่วงแรก ๆ)
- อาการไอ ในระยะแรกอาจมีอาการไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ แล้วต่อมาจะมีเสมหะขาวหรือขุ่นข้นออกเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือบางรายอาจเป็นสีสนิมเหล็กหรือมีเลือดปน
- อาการเจ็บหน้าอก บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก แบบเจ็บแปลบเวลาหายใจเข้าหรือเวลาที่ไอแรง ๆ ตรงบริเวณที่มีการอักเสบของปอด ซึ่งบางครั้งอาจปวดร้าวไปที่หัวไหล่ สีข้าง หรือท้อง แล้วต่อมาจะมีอาการหายใจหอบเร็ว
- อาการหอบเหนื่อย ผู้ป่วยมักมีอาการหอบเหนื่อย หายใจเร็ว ถ้าเป็นมากอาจมีอาการปากเขียว ตัวเขียว ส่วนในรายที่เป็นไม่มากอาจไม่มีอาการหอบเหนื่อยชัดเจน
- ส่วนใหญ่มักมีอาการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้นหรือโรคหวัดนำก่อน แล้วจึงมีอาการไอและหายใจหอบตามมา โดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) หรือฮีโมฟิลัส อินฟลูเอนเซ (Haemophilus influenzae)
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเดิน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ร่วมด้วย
- ในผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม สับสน และไม่มีไข้
- ในเด็กทารกหรือเด็กเล็ก อาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ซึม ร้องกวน ไม่ดูดนม ร่วมด้วย และบางรายอาจมีอาการชักจากไข้
- ในเด็กเล็กที่เป็นมากจะมีอาการหายใจหอบเร็วมากกว่า 30-40 ครั้ง/นาที (ในเด็กอายุ 0-2 เดือน หายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที, อายุ 2 เดือนถึง 1 ปี หายใจมากกว่า 50 ครั้ง/นาที, อายุ 1-5 ปี หายใจมากกว่า 40 ครั้ง/นาที) รูจมูกบาน ซี่โครงบุ๋ม อาจมีอาการตัวเขียว (ริมฝีปาก ลิ้น และเล็บเขียว) และภาวะขาดน้ำ
- ในรายที่เป็นปอดอักเสบจากภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้ออื่น ๆ จะมีอาการของโรคติดเชื้อนั้น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้หวัดใหญ่, หัด, อีสุกอีใส, ไอกรน, สครับไทฟัส, โรคฉี่หนู เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคปอดอักเสบ
- อาจทำให้เป็นฝีในปอด (Lung abscess), ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion), ภาวะมีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Empyema), หลอดลมพอง (Bronchiectasis), ปอดแฟบ (Atelectasis)
- เชื้ออาจแพร่เข้าสู่กระแสเลือด กลายเป็นโลหิตเป็นพิษ (Septicemia/Bacteremia), สมองอักเสบ (Encephalitis) และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis), เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis), เยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis), เยื่อหุ้มช่องท้องอักเสบ (Peritonitis), ข้ออักเสบติดเชื้อชนิดเฉียบพลัน (Acute pyogenic arthritis)
- ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ได้แก่ กลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute respiratory distress syndrome), ภาวะการหายใจล้มเหลว (Respiratory failure), ภาวะไตวาย (Renal failure), ภาวะช็อกจากโรคติดเชื้อ (Septic shock)
อันตรายจากโรคปอดอักเสบ
อันตรายจากโรคนี้จะขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงข้างต้นหรือไม่ และในกรณีที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหลายกลุ่ม ก็ย่อมมีอันตรายมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และขึ้นอยู่กับว่าปอดอักเสบที่เป็นนั้นรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 ประการนี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญและมีผลต่อการรักษา เช่น ถ้าผู้ป่วยเป็นคนวัยหนุ่มสาวที่มีสุขภาพแข็งแรง เมื่อเกิดปอดอักเสบ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะกลับไปรับประทานเองที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ถ้าโรคนี้เกิดกับผู้สูงอายุหรือมีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้วก็มักจะมีอาการแทรกซ้อนตามมาและอาจต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หรือยิ่งไปกว่านั้น ถ้าผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคเบาหวานที่ไม่มีการควบคุมให้ดีมาก่อน หรือมีโรคไตเรื้อรัง มาพบแพทย์ล่าช้า อาการแทรกซ้อนนั้นก็จะมากขึ้นตามส่วน ซึ่งอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิต และอาจต้องรับตัวไว้ในห้องไอซียู (ICU) แทนที่จะรักษาในห้องพักผู้ป่วยทั่วไป
สรุป อันตรายจากปอดอักเสบและการมีภาวะแทรกซ้อนจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพ และความรุนแรงของโรคปอดอักเสบว่าเป็นมากน้อยเพียงใด ดังนั้นการไม่รักษาสุขภาพ การมีโรคประจำตัว การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และรับประทานยาที่มีผลกระทบต่อภูมิต้านทานโรค ฯลฯ จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อความรุนแรงของโรคปอดอักเสบ
ระดับความรุนแรงของโรคปอดอักเสบ
ความรุนแรงของโรคนี้อาจมีเพียงเล็กน้อยหรือถึงขั้นรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้ โดยสามารถแยกได้เป็นกรณีดังนี้
- อาการรุนแรงเพียงเล็กน้อย ปอดอักเสบที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง ป่วยไม่หนัก สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยประเภทนี้มักเป็นผู้ป่วยที่มีอายุไม่มาก มีสุขภาพและอนามัยดีอยู่ก่อนแล้ว
- อาการรุนแรงปานกลาง เช่น ในผู้ป่วยสูบบุหรี่และดื่มสุราเป็นประจำ ไม่ได้รับการวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ และมาพบแพทย์หลังจากมีอาการได้หลายวันแล้ว ในกรณีนี้จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลและฉีดยาปฏิชีวนะเข้าหลอดเลือด นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีอาการหอบเหนื่อยกว่าปกติและเบื่ออาหาร จึงจำเป็นต้องให้ออกซิเจนและให้สารน้ำทางหลอดเลือดหากรับประทานอาหารไม่ได้หรือไม่เพียงพอ และหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น อาจใช้เวลารักษาในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่วัน เมื่ออาการทุเลาลง ไม่มีไข้ และผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้และรักษาต่อเนื่องแบบผู้ป่วยนอก แต่ถ้าเกิดขึ้นในผู้สูงอายุที่ไม่รักษาสุขภาพและอนามัย ไม่ได้มาพบแพทย์ และไม่ได้รับการวินิจฉัยแต่แรก จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลและฉีดยาปฏิชีวนะเข้าหลอดเลือด หากไม่มีอาการแทรกซ้อนอาจใช้เวลารักษาในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่วัน เมื่ออาการทุเลาลง ไม่มีไข้ และผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น แพทย์อาจอนุญาตให้กลับบ้านได้และรักษาต่อเนื่องแบบผู้ป่วยนอกเช่นกัน แต่หากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น ความดันโลหิตต่ำ ก็จำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดนานขึ้น และหากยังเบื่ออาหาร ไม่สามารถรับประทานอาหารได้เพียงพอ แพทย์จะพิจารณาให้อาหารเหลวทางสายลงกระเพาะอาหาร หรือหากมีอาการหายใจหอบเหนื่อยมากขึ้นกว่าเดิม การให้ออกซิเจนไม่เพียงพอ อาจต้องใส่ท่อเข้าหลอดลมและช่วยการหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย
- อาการรุนแรง จะเป็นการรักษาต่อเนื่องจากการรักษาข้างต้น เช่น ในผู้ป่วยสูงอายุ เป็นโรคเบาหวาน และมีโรคหัวใจ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ผลการวินิจฉัยมักพบว่าเป็นปอดบวมและมีน้ำท่วมปอด การรักษาในกรณีนี้นอกจากต้องรับไว้รักษาในห้องไอซียู (ICU) แทนการรักษาในห้องพักผู้ป่วยทั่วไปแล้ว ยังต้องได้รับการเจาะน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดออกมาวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้วย และหากพบว่าเป็นหนอง แพทย์จะต้องใส่ท่อระบายเอาของเหลวเข้าไปเพื่อระบายเอาหนองออก ถ้าหากยังไม่สามารถระบายหนองออกมาได้หมด ก็จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเข้าช่องอกเพื่อเอาหนองที่เกิดขึ้นนั้นออกมาให้หมด
- อาการรุนแรงมาก เช่น ในผู้ป่วยสูงอายุ เป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไตเรื้อรัง รับประทานอาหารได้น้อย เป็นปอดอักเสบ มีอาการซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว เมื่อมาถึงโรงพยาบาลจะพบว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำ ไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถดื่มน้ำและกลืนอาหารได้ ผลการวิเคราะห์ก๊าซในเลือดแดงบ่งชี้ว่ามีออกซิเจนในเลือดต่ำ ผลการตรวจเอกซเรย์ปอดพบว่าปอดบวมรุนแรงและเป็นบริเวณกว้าง หัวใจมีขนาดโตขึ้น ผลการเพาะเชื้อจากเลือดพบว่ามีเชื้อในกระแสเลือด ส่วนผลการตรวจเลือดพบว่าไตบกพร่องมาก และน้ำตาลในเลือดสูงมาก ในกรณีนี้จำเป็นต้องรักษาในห้องไอซียู (ICU) โดยให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด ใส่ท่อเข้าหลอดลม และใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้อาหารเหลวทางสายลงกระเพาะอาหาร ให้ยาเพิ่มความดันโลหิต ให้ยาอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล และอาจต้องทำการฟอกไต
การวินิจฉัยโรคปอดอักเสบ
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากอาการที่แสดง คือ มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย ซึ่งเป็นอาการสำคัญของโรคนี้ และจากการตรวจร่างกาย การใช้เครื่องตรวจฟังเสียงปอด (ซึ่งจะพบว่ามีเสียงดังกรอบแกรบหรือมีเสียงหายใจค่อยกว่าปกติ) การถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด (เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยในผู้ป่วยที่ประวัติและการตรวจร่างกายไม่ชัดเจน) รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคและเป็นแนวทางในการแยกเชื้อที่เป็นสาเหตุ) ซึ่งแพทย์จะเลือกตรวจตามความเหมาะสม ตามความจำเป็น และตามดุลยพินิจของแพทย์ ได้แก่
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เป็นการตรวจนับเม็ดเลือดขาวในเลือดที่แพทย์มักทำในผู้ป่วยทุกราย แม้จะไม่สามารถใช้แยกสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสได้อย่างชัดเจน ซึ่งในกรณีที่พบ Neutrophil สูงมาก และมี Toxic granules จะช่วยสนับสนุนว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย
- การย้อมเสมหะ (Sputum) เป็นวิธีที่มีความไวแต่ไม่จำเพาะต่อเชื้อที่เป็นสาเหตุ อาจเป็นเพียงแนวทางคร่าว ๆ ถึงเชื้อก่อโรค
- การตรวจเสมหะเพาะเชื้อ มีความไวและความจำเพาะต่ำ
- การเพาะเชื้อจากเลือด (Hemoculture) ซึ่งแพทย์จะตรวจเฉพาะในรายที่เป็นรุนแรง เชื้อที่มักก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ได้แก่ เชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) หรือฮีโมฟิลัส อินฟลูเอนเซ (Haemophilus influenzae)
สิ่งที่ตรวจพบในผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ
- มักตรวจพบไข้ประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้เลยก็ได้
- ในรายที่เป็นมากจะมีอาการหายใจหอบเร็วเกินเกณฑ์ตามอายุ รูจมูกบาน ซี่โครงบุ๋ม อาจมีอาการตัวเขียว (ริมฝีปาก ลิ้น และเล็บเขียว) และภาวะขาดน้ำ
- การใช้เครื่องฟังตรวจปอดมักมีเสียงกรอบแกรบ (Crepitation) หรือเสียงวี้ด (Wheezing) เฉพาะในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ในบางรายอาจพบอาการเคาะทึบ (Dullness) และใช้เครื่องฟังตรวจได้ยินเสียงหายใจค่อย (Diminished breath sound) ที่ปอดข้างใดข้างหนึ่ง
- บางรายอาจพบอาการของโรคติดเชื้ออื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เริมที่ริมฝีปาก ผื่นของอีสุกอีใส หัด หรือโรคมือเท้าปาก เป็นต้น
- ในรายที่เกิดจากการติดเชื้อไมโคพลาสมา นิวโมเนียอี (Mycoplasma pneumoniae) หรือเชื้อคลามัยเดีย นิวโมเนียอี (Chlamydia pneumoniae) อาจมีผื่นตามผิวหนังร่วมด้วย ส่วนการตรวจฟังปอดในระยะแรกอาจไม่พบเสียงผิดปกติก็ได้
การแยกโรค
- ในระยะแรกที่มีอาการไข้ร่วมกับไอ อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
- โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยจะมีไข้ ไอ มีน้ำมูกใส โดยไม่มีอาการหายใจหอบ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะมีไข้อยู่ประมาณ 2-4 วัน แล้วอาการจะทุเลาไปได้เอง
- หลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอมีเสมหะ อาจเป็นสีขาว เหลือง หรือเขียว โดยไม่มีอาการหายใจหอบ
- วัณโรคปอด ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ ไอมีเสมหะ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง บางรายอาจมีอาการไอมีเลือดปน ซึ่งอาการมักจะเป็นแบบเรื้อรังนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นแรมเดือน
- ในระยะที่มีอาการหายใจหอบ อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
- ภาวะมีน้ำหรือหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด ผู้ป่วยจะมีไข้ แน่นหน้าอก หายใจหอบ อาจมีอาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือไอแรง ๆ
- คอตีบ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ไอมีเสียงแหบห้าว หายใจหอบ คอบุ๋ม กระสับกระส่าย
- โรคหืดจากหลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอมีเสมหะ หายใจหอบ หายใจมีเสียงวี้ด ๆ แบบโรคหืด
- มะเร็งปอด วัณโรคปอดระยะรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ไอเรื้อรังนำมาก่อน แล้วต่อมาจะมีอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หายใจหอบ และผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงร่วมด้วย
วิธีรักษาโรคปอดอักเสบ
- ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเร็วที่สุดในทันทีที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนในรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส จะไม่มียารักษาที่จำเพาะ ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการ และบำบัดรักษาทางระบบหายใจที่เหมาะสม
- แนวทางการรักษาปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ประกอบด้วย
- การให้ยาปฏิชีวนะ หากในรายที่เป็นไม่มากและไม่มีอาการแทรกซ้อน แพทย์อาจให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกด้วยการให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V), อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เป็นต้น (สำหรับกลุ่มวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว ควรใช้ยาอิริโทรมัยซิน เพื่อให้ครอบคลุมเชื้อไมโคพลาสมา นิวโมเนียอี และเชื้อคลามัยเดีย นิวโมเนียอี) หรืออาจให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดแบบผู้ป่วยใน
- การรักษาประคับประคองตามอาการ/การรักษาอาการแทรกซ้อน เช่น การให้ยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) ร่วมกับการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวอยู่บ่อย ๆ และให้ดื่มน้ำมาก ๆ, การให้สารน้ำทางหลอดเลือดหรือให้อาหารเหลวทางสายลงกระเพาะอาหาร (ในรายที่รับประทานอาหารไม่ได้หรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย), การให้ออกซิเจน (ในรายที่มีอาการหายใจหอบเหนื่อย ตัวเขียว ซี่โครงบุ๋ม กระวนกระวาย หรือซึม), การให้ยาเพิ่มความดันโลหิต (ในรายที่มีความดันโลหิตลดต่ำลง), ให้ยาขยายหลอดลม (ในรายที่ได้ยินเสียงวี้ดหรือเสียงอึ๊ด และมีการตอบสนองต่อยาขยายหลอดลม), ให้ยาขับเสมหะหรือยาละลายเสมหะ (ในรายที่ให้สารน้ำเต็มที่แล้วแต่เสมหะยังคงเหนียวอยู่), การทำกายภาพบำบัดทรวงอก (เพื่อช่วยให้เสมหะถูกขับออกจากปอดและหลอดลมได้ดีขึ้น), อาจต้องการใส่ท่อเข้าหลอดลมและช่วยการหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ (ในรายที่มีอาการหอบเหนื่อยและการให้ออกซิเจนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ หรือมีภาวะหายใจล้มเหลวหรือหยุดหายใจ) เป็นต้น
- ติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยนัดมาตรวจดูอาการเป็นระยะ ๆ
- การดูแลตนเองในเบื้องต้นเมื่ออยู่ที่บ้าน เมื่อสงสัยว่าจะเป็นปอดอักเสบ (มีอาการไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย) ควรรีบมาพบแพทย์ภายใน 1-2 วัน เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ผู้ป่วยไม่ควรรักษาด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม การดูแลตนเองเมื่อเป็นปอดอักเสบน่าจะมี 2 กรณี คือ เป็นปอดอักเสบเล็กน้อยแล้วแพทย์ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก (ให้กลับบ้าน) และในกรณีที่เป็นปอดอักเสบและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วและแพทย์พิจารณาให้กลับบ้านเพื่อรักษาและพักฟื้นตัวอยู่ที่บ้าน โดยทั้ง 2 กรณี ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
- รับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการรับประทานยาปฏิชีวนะที่ต้องรับประทานให้ครบ และไม่ควรหยุดยาเอง (ถ้าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นภายใน 3 วัน ควรรับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันนาน 10-14 วัน แต่ถ้าไม่ดีขึ้น หรือมีอาการหอบมาก ตัวเขียว ควรรีบไปพบแพทย์)
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายต้องการพลังงานในการต่อสู้กับโรคและซ่อมแซมร่างกายให้ฟื้นตัว
- ผู้ป่วยควรเฝ้าสังเกตอาการแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างใกล้ชิด เช่น มีไข้นานเกิน 4 วัน (ถ้าเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาการไข้มักจะทุเลาได้ภายใน 4 วัน), มีไข้เกิดขึ้นใหม่หลังจากไข้ลงแล้ว 1-2 วัน, ไอมีเสมหะเป็นสีเหลือง เขียว สีสนิม หรือมีเลือดปน, มีอาการเจ็บแปลบหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือไอแรง ๆ, มีอาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบากไม่ค่อยสะดวก, รับประทานอาหารได้น้อย มีน้ำหนักตัวลดลง หรือสงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนกำหนดโดยเร็ว
- ถ้าพบในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่ก่อนและมีอาการในระยะแรกเริ่ม คือ หายใจเร็วกว่าปกติเล็กน้อย ไม่มีอาการซี่โครงบุ๋ม หรือตัวเขียว แพทย์จะให้การรักษาเบื้องต้นด้วยยาปฏิชีวนะ (ถ้ามีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย) ให้การรักษาไปตามอาการ และติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด แต่ถ้าพบโรคนี้ในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง (เช่น ทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคทางปอดหรือโรคหัวใจมาก่อน ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ฯลฯ) หรือมีอาการหอบรุนแรง ซี่โครงบุ๋ม ตัวเขียว สับสนหรือซึม ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน (ถ้ามีภาวะขาดน้ำรุนแรงควรให้น้ำเกลือในระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาลด้วย) ซึ่งแพทย์มักจะต้องรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์ปอด ตรวจหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ ตรวจระดับอิเล็กโทรไลต์และออกซิเจนในเลือด และให้การรักษาผู้ป่วยด้วยการให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ออกซิเจน ให้ยาลดไข้ ฯลฯ และเลือกให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่ตรวจพบ เช่น
- เชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) แพทย์จะให้ยาเพนิซิลลินวี (Penicillin V) หรือเพนิซิลลินจี (Penicillin G) ฉีดเข้ากล้ามหรือเข้าหลอดเลือดดำ
- เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) หรือเชื้อเคลบเซลลา นิวโมเนียอี (Klebsiella pneumoniae) แพทย์จะให้ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
- เชื้อไมโคพลาสมา นิวโมเนียอี (Mycoplasma pneumoniae) หรือเชื้อคลามัยเดีย นิวโมเนียอี (Chlamydia pneumoniae) แพทย์จะให้รับประทานยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin), เตตราไซคลีน (Tetracycline) หรือดอกซีไซคลีน (Doxycycline)
- เชื้อนิวโมซิสติส จิโรเวซิไอ (Pneumocystis jiroveci pneumonia) แพทย์จะให้รับประทานยาโคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole)
- เชื้อไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) แพทย์จะให้รับประทานยาอะแมนทาดีน (Amantadine)
- เชื้อเริม (Herpes simplex virus) หรืออีสุกอีใส-งูสวัด (Varicella-Zoster virus) แพทย์จะให้รับประทานยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir)
- สำหรับผลการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและความรุนแรงของโรค ในรายที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก ส่วนใหญ่มักจะหายได้เป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนตามมา แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการรุนแรงหรือติดเชื้อร้ายแรง เช่น เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส, เชื้อเคลบเซลลา นิวโมเนียอี เป็นต้น หรือพบในทารก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ก็มักจะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง
- คำแนะนำเกี่ยวกับโรคปอดอักเสบ
- โดยทั่วไปหลังให้ยาปฏิชีวนะ 2-3 วัน อาการมักจะทุเลาลง (แต่ยังต้องรับประทานยาต่อไปจนครบตามที่กำหนด) แต่ถ้าให้ยาแล้วอาการยังไม่ทุเลาอาจต้องตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น วัณโรคปอด มะเร็งปอด ภาวะมีน้ำหรือหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด
- ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ และหอบ มักมีสาเหตุมาจากโรคปอดอักเสบ แต่ก็อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ได้ เช่น หืด ครู้ป ถุงลมปอดโป่งพอง เป็นต้น
- ผู้ที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไมโคพลาสมา นิวโมเนียอี (Mycoplasma pneumoniae) ซึ่งพบได้บ่อยในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอแห้ง ๆ เจ็บคอ หรือมีเสมหะ ผู้ป่วยมักจะไอรุนแรง แต่ไม่มีอาการหายใจหอบรุนแรง (มีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการหายใจหอบรุนแรง) จึงทำให้ดูคล้ายอาการของโรคไข้หวัดใหญ่และหลอดลมอักเสบ โดยอาการจะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป มักเป็นอยู่นาน 1-2 สัปดาห์ และมักตอบสนองต่อการรักษาได้ดี ในบางรายอาจหายได้เองโดยไม่ได้รับการรักษา แต่หลังจากหายจากไข้แล้ว อาจมีอาการไอและอ่อนเพลียต่อไปอีกหลายสัปดาห์ถึง 3 เดือน
- โรคนี้แม้ว่าจะมีอันตรายร้ายแรง แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็มักจะหายขาดได้ ดังนั้น หากสงสัยว่าป่วยเป็นโรคนี้ควรรีบไปพบแพทย์และรับประทานยาปฏิชีวนะ พร้อมกับติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด แต่ถ้ามีอาการหอบรุนแรง พบในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หรือไม่มั่นใจ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
วิธีป้องกันโรคปอดอักเสบ
- เด็กทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine), วัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR), วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส (Varicella vaccine) หรือจะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน และอีสุกอีใส (MMRV) ที่รวมอยู่ในเข็มเดียวกันก็ได้ ส่วนผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) และฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Pneumococcal vaccine) เพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบเพิ่มเติมด้วย
- สำหรับวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine) ควรแนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี, ในผู้มีอายุ 19-64 ปีที่สูบบุหรี่หรือเป็นโรคหืด และในผู้มีอายุ 2-65 ปีที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำหรือมีโรคเรื้อรัง โดยการฉีดจะฉีดเข้ากล้าม 1 เข็ม และในบางรายอาจพิจารณาให้ฉีดซ้ำหลังครั้งแรก 5 ปี (เช่น ในรายที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ) หรือหากการฉีดครั้งแรกที่ก่อนอายุ 65 ปี และได้รับการฉีดมานานกว่า 5 ปีแล้วก็อาจพิจารณาฉีดกระตุ้น 1 ครั้ง หลังจากครั้งที่ 2 ไปแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดซ้ำอีกแต่อย่างใด (การฉีดวัคซีนนอกจากจะช่วยป้องกันโรคปอดอักเสบแล้ว ยังช่วยลดความรุนแรงของโรคได้อีกด้วย หากพบว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้นในภายหลัง)
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด ภาวะทุพโภชนา ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น
- อย่านอนอมน้ำมันก๊าดเล่น และควรเก็บน้ำมันก๊าดให้ห่างจากมือเด็ก อย่าให้เด็กฉวยไปอมเล่น
- อย่าฉีดยาด้วยเข็มและกระบอกฉีดยาที่ไม่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ เพราะมีโอกาสติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส กลายเป็นโรคปอดอักเสบชนิดร้ายแรงได้
- งดการสูบบุหรี่ เพื่อป้องกันมิให้เป็นโรคทางปอดเรื้อรัง เช่น หลอดลมอักเสบ ถุงลมปอดโป่งพอง
- หากมีโรคประจำตัว หรือเมื่อเป็นโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส เป็นต้น ควรดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
- หมั่นดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าตรากตรำทำงานหนักมากเกินไป
- ในช่วงที่มีการระบาดของโรคต่าง ๆ หรือมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรค เช่น คนในบ้าน โรงเรียน หรือในที่ทำงาน ควรปฏิบัติดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ งานมหรสพ เป็นต้น แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาด หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมาจากการสัมผัสถูกเสมหะของผู้ป่วย และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูกถ้ายังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด
- ไม่ควรให้เด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีและผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงคลุกคลีกับผู้ป่วย
- อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย แต่ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ
- ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ ของเล่น เครื่องใช้ต่าง ๆ ฯลฯ ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือกับผู้ป่วยโดยตรง
- สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อต่าง ๆ ควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น ไม่นอนปะปนหรืออยู่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก ส่วนเวลาที่เข้าไปในสถานที่ที่มีคนอยู่กันมาก ๆ ควรสวมหน้ากากอนามัยด้วยทุกครั้ง
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ปอดอักเสบ/ปอดบวม (Pneumonia)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 441-445.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 306 คอลัมน์ : สารานุกรมทันโรค. “ปอดอักเสบ”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [01 ส.ค. 2016].
- สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. “ปอดอักเสบ (Pneumonia)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.boe.moph.go.th. [01 ส.ค. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)”. (นพ.เฉลียว พูลศิริปัญญา ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [02 ส.ค. 2016].
- โรงพยาบาลกรุงเทพ. “โรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhospital.com. [02 ส.ค. 2016].
ภาพประกอบ : www.epainassist.com, www.wikimedia.org (by CDC), www.newhealthadvisor.com, diseasespictures.com, www.med-ed.virginia.edu, www.mayoclinic.org, emedicine.medscape.com, www.trbimg.com, conditions.healthguru.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)