36 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นปอกระสา ! (ปอสา)

ปอกระสา

ปอกระสา ชื่อสามัญ Paper mulberry[1]

ปอกระสา ชื่อวิทยาศาสตร์ Broussonetia papyrifera (L.) L’Hér. ex Vent. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)[1]

สมุนไพรปอกระสา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ฉำฉา ชำสา (นครสวรรค์), ปอกะสา (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), หมอมี หมูพี (ภาคกลาง), ปอฝ้าย (ภาคใต้), ส่าแหล่เจ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เซงซะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ชะดะโค ชะตาโค (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร), สายแล (เงี้ยว-ภาคเหนือ), ป๋อสา (คนเมือง), ไม้ฉายเล (ไทใหญ่), ไม้สา (ไทลื้อ), ลำสา (ลั้วะ), หนั้ง (เมี่ยน), เตาเจ (ม้ง), ตุ๊ดซาแล (ขมุ), ตู๋ซิก จูซิก (จีนแต้จิ๋ว), โกวสู้ ชู่สือ (จีนกลาง), ปอสา เป็นต้น[1],[4],[5],[6],[8]

ลักษณะของปอกระสา

  • ต้นปอกระสา จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 6-10 เมตร แตกกิ่งก้านโปร่งกว้าง กิ่งเปราะหักง่าย เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนเรียบบางเป็นเส้นใย ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีขาว เมื่อกรีดลำต้นจะมีน้ำยางสีขาวคล้ายนมไหลออกมา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและญี่ปุ่น ทางตอนเหนือของประเทศพม่าและไทย ชอบขึ้นในบริเวณที่มีความชุ่มชื้น ตามริมน้ำและที่ชื้น ในป่าที่ค่อนข้างโปร่ง ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ความสูงประมาณ 50-800 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1],[2],[4],[5],[7],[9]

ต้นปอสา

ต้นปอกระสา

  • ใบปอกระสา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีกว้างหรือรูปไข่กว้าง ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าเล็กน้อยหรือเว้าลึกคล้ายรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันตลอดทั้งขอบใบ มีแตกเป็น 3-5 แฉกบ้าง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตร แผ่นใบบางนิ่ม หลังใบเรียบเป็นสีเขียวแก่สากระคายมือ ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อนออกเทามีขนหนานุ่มขึ้นปกคลุม ก้านใบยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร และมีขน (ปอกระสาจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ติด ชนิดใบหยัก (3-4 แฉก) และชนิดใบมน แต่โดยปกติแล้วทั้ง 2 ชนิดจะแยกต้นกันอยู่ แต่มีบ้างที่พบว่าใบมีทั้ง 2 ลักษณะในต้นเดียวกัน แต่จากการสังเกตจะพบว่าใบปอกระสาที่มีอายุมากขึ้นจะมีใบมนมากกว่าใบหยัก)[1],[2],[4],[9]

ใบปอสา

ใบปอกะสา

  • ดอกปอกระสา ดอกเป็นแบบแยกเพศกันอยู่คนละต้น ช่อดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อห้อยลงมา ยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร มีดอกย่อยจำนวนมากเรียงตัวอัดกันหนาแน่น โดยจะออกตามปลายกิ่งหรือออกตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีขาว กลีบรองดอกเป็นกาบ มี 4 กลีบ ส่วนช่อดอกเพศเมียจะออกเป็นช่อกลม มีดอกย่อยจำนวนมาก โดยจะออกตามซอกใบ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.2-1.8 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเขียวอัดกันแน่นเป็นรูปทรงกลม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ก้านเกสรเป็นเส้นฝอยยาวสีม่วง และมีหลอดรังไข่อยู่กลางดอก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[4],[5]

ดอกปอสา

ดอกปอกระสา

ปอกระสา

ดอกปอกะสา

  • ผลปอกระสา ผลเป็นผลรวม ออกตามบริเวณซอกใบ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมสีส้มอมแดง ฉ่ำน้ำ มีเนื้อผลมาก เนื้อนิ่ม ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่บนก้านยาว เมล็ดมีลักษณะแบน ออกผลในช่วงประมาณเดือนเมษายน[1],[2],[4]

ปอกะสา

ผลปอสา

สรรพคุณของปอกระสา

  1. ผลมีสรรพคุณเป็นยาชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือบดเป็นผงผสมกับเหล้าทำเป็นยาเม็ดรับประทาน (ผล)[4],[5],[9]
  2. ผลมีรสหวานชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับ ม้าม และไต มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงสายตา ช่วยทำให้ตาสว่าง (ผล)[4]
  3. เปลือกลำต้นนำมาเผาไฟให้เป็นเถ้าแล้วบดให้ละเอียดใช้แต้มตา แก้ตาเป็นต้อ หรือจะใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือบดเป็นผงผสมกับเหล้าทำเป็นยาเม็ดรับประทานก็ได้เช่นกัน (เปลือก, ผล)[4],[5]
  4. ใช้รักษาอาการหูอื้อ ตามัว หรือตาไม่สว่าง ด้วยการนำใบมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วทำเป็นยาเม็ดรับประทาน (ใบ)[4],[5]
  5. น้ำคั้นจากเปลือกกิ่งก้านอ่อนใช้รับประทานเป็นยาแก้โรคตาแดง (กิ่งก้านอ่อน)[5]
  1. เปลือกกิ่งก้านอ่อน นำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำรับประทานแก้ก้างปลาหรือกระดูกติดคอ (กิ่งก้านอ่อน)[5]
  2. ใบใช้เป็นยาแก้ร้อนในตับ ในกระเพาะ (ใบ)[4]
  3. รากและเปลือกมีรสหวานฝาด เป็นยาสุขุม ใช้เป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียดหรือทำเป็นยาก้อนเล็ก ๆ หรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไอ หรือจะใช้รากและเปลือกรากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไอ แก้ไข้ก็ได้เช่น (รากและเปลือก)[4],[5]
  4. เปลือกมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาเจียน (เปลือก)[9]
  5. ใช้เป็นยาขับลมชื้นในร่างกาย (รากและเปลือก)[4]
  6. ช่วยแก้เลือดกำเดาไหลไม่หยุด แก้อาเจียนออกมาเป็นเลือด กระอักเลือด ตกเลือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มแล้วคั้นเอาน้ำรับประทาน (ใบ)[4],[5]
  7. ใช้เป็นยาแก้บิด บิดเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด สตรีตกเลือด สามารถห้ามเลือดได้ ด้วยการใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียดหรือทำเป็นยาก้อนเล็ก ๆ หรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทาน (รากและเปลือก)[4],[5]
  8. ผล รากและเปลือก มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ ด้วยการใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียดหรือทำเป็นยาก้อนเล็ก ๆ หรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทาน หรือจะใช้รากและเปลือกรากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทาน (ผล, รากและเปลือก)[2],[3],[4],[5]
  9. ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะเป็นมีหนอง ด้วยการนำใบมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วทำเป็นยาเม็ดรับประทาน (ใบ)[4],[5]
  10. ราก ต้น และใบ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวาร (ราก, ต้น, ใบ)[1],[2],[3]
  11. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มแล้วคั้นเอาน้ำรับประทาน หรือจะใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียดหรือทำเป็นยาก้อนเล็ก ๆ หรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทาน หรือจะใช้รากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทาน ส่วนอีกวิธีใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาลดอาการบวมน้ำ (ใบ, รากและเปลือก, ผล)[4],[5]
  12. ผลใช้เป็นยาบำรุงตับและไต ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือบดเป็นผงผสมกับเหล้าทำเป็นยาเม็ดรับประทานก็ได้ (ผล)[4],[5] ส่วนรากและเปลือกก็มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงไตเช่นกัน (รากและเปลือก)[2]
  13. ใบนำมาตำคั้นเอาน้ำ หรือเอากากมาพอกบริเวณที่เป็นบาดแผลมีเลือด จะเป็นยารักษาแผลสด ช่วยห้ามเลือด หรือจะใช้เปลือกกิ่งก้านอ่อนที่นำมาตำให้ละเอียด เอากากมาพอกบาดแผลที่มีเลือดออก (กิ่งก้านอ่อน, ใบ)[4],[5] ส่วนรากและเปลือกใช้ภายนอกก็มีสรรพคุณเป็นยาสมานแผลสดเช่นกัน ด้วยการใช้รากแห้งนำมาหั่นและบดให้เป็นผงละเอียด ใช้ใส่บริเวณที่เป็นแผลสด แผลฟกช้ำ (รากและเปลือก)[4],[5]
  14. ยางนำมาใช้ภายนอกเป็นยาทาแก้กลากเกลื้อน หรือจะใช้ยางสด 10 ส่วน ผสมกับแอลกอฮอล์หรือวาสลิน 90 ส่วน ผสมให้เข้ากัน แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น (ยาง)[4],[5] ส่วนใบใช้เป็นยา
  15. แก้กลากเกลื้อนหรือประสาทผิวหนังอักเสบ แก้ผื่นคัน ด้วยการนำใบมาตำคั้นเอาน้ำ หรือเอากากมาพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[4],[5]
  16. ใช้เปลือกกิ่งก้านอ่อนที่นำมาตำให้ละเอียด เอากากมาพอกบริเวณที่เป็นผื่นคัน (กิ่งก้านอ่อน)[5]
  17. ผลนำมาตำแล้วใช้พอกบริเวณที่มีฝีหนอง (ผล)[4],[5]
  18. ใช้รากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้ปวดฝี (รากและเปลือก)[4],[5]
  19. ใบใช้ตำพอกรักษาแผลจากตะขาบ งู แมงป่อง และแมลงที่มีพิษกัดต่อย ด้วยการนำใบมาตำคั้นเอาน้ำ หรือเอากากมาพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[1],[2],[3],[4],[5]
  20. ยางก็ใช้เป็นยาทาแก้พิษงู แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ยาง)[4],[5]
  21. ผลมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงเส้นเอ็นและกระดูก (ผล)[4]
  22. นอกจากนี้หากมีอาการปวดเวียนศีรษะบ่อย ๆ กระหายน้ำ ปากขม ท้องผูก มีอาการการหลั่งน้ำอสุจิยามนอนหลับ หรือมีอาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย ก็ให้ใช้ถั่วดำประมาณ 1 ถ้วยชา นำมาต้มเอาแต่น้ำ ใช้แช่ผลปอกระสาที่แห้งแล้ว จากนั้นนำมาตากให้น้ำถั่วแห้งสนิท ใส่เมล็ดเก๋ากี้ แล้วคั่วรวมกันให้เกรียม บดให้เป็นผงละเอียด ใช้รับประทานวันละ 15 กรัม (ผล)[5]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [4] ราก เปลือก และใบ ให้นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ครั้งละ 10-18 กรัม ส่วนรากสดและใบ ใช้ต้มน้ำประมาณ 30-70 กรัม ส่วนผลให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม (ยาจีนส่วนมากจะใช้ผลเป็นยามากกว่า)[4]

ข้อควรระวัง : ไม่ควรรับประทานผลปอกระสาในปริมาณมากเกินไป เพราะจะทำให้กระดูกอ่อน อีกทั้งยังทำให้ท้องร่วงได้อีกด้วย[4],[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของปอกระสา

  • ในผลปอกระสามีวิตามินบีและมีน้ำมัน ประมาณ 31.7% และในน้ำมันยังพบสาร Saponin อีกด้วย นอกจากนี้ยังพบสาร Oleic acid, Linoleic acid, Fructose ส่วนใบและเปลือกปอกระสา พบสาร Flavonoid Glycoside, Phenols, Carboxylicaid และมีสาร Tannin[4]
  • จากการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง จำนวน 233 คน โดยการใช้เปลือกสด หลังจากที่ขูดเอาผิวนอกออกแล้วประมาณ 30 กรัม นำมาต้มรวมกับพลูคาวสด 15 กรัม และต้นเสี้ยวหนี่อั้ง (Oldenlandia lancea (Thunb.) O.Ktze) สด 15 กรัม แล้วกรองเอาแต่น้ำกินวันละ 3 ครั้ง พบว่าหายขาดคิดเป็น 17.6% และมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คิดเป็น 27.4%[5]
  • จากการรักษาผู้ที่เป็นโรคกลากเกลื้อน จำนวน 9 ราย โดยใช้น้ำยางสดมาทาบริเวณที่เป็น วันละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกัน 15 วัน พบว่ามีผู้หายทันทีจำนวน 4 ราย ส่วนที่เหลือจะหายขาดในเวลาต่อมา[5]
  • จากการทดสอบกับผู้ที่ถูกผึ้งต่อยจนอักเสบ จำนวน 22 ราย โดยใช้ใบปอกระสาแห้ง นำมาบดให้ละเอียด จากนั้นก็ใช้น้ำตาลทรายและน้ำข้าว นำมาทาบริเวณแผล ผลการทดสอบพบว่าได้ผล แก้อาการบวมอักเสบได้ทุกราย[5]

ประโยชน์ของปอกระสา

  1. เปลือกใช้ทำกระดาษสา ทอผ้า เส้นใย ใช้ในงานศิลปะต่าง ๆ เส้นใยจากเปลือกใช้ทำผ้าตาปาซึ่งใช้ในฟิจิ ตองกา ซามัว และตาฮิติ (กระดาษสาที่ได้จะมีคุณสมบัติทนทานไม่กรอบและไม่เปื่อยยุ่ยง่าย สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน โดยกระดาษสาสามารถนำมาทำเป็นสิ่งประดิษฐ์และของใช้ได้มากมาย เช่น กระดาษห่อของขวัญ กระดาษห่อของกันแตก ร่ม ว่าว พัด ดอกไม้ โคมไฟ ตุ๊กตา ของชำร่วย บัตรอวยพรต่าง ๆ เป็นต้น)[7],[9] ทางภาคเหนือจะใช้เส้นใยจากเปลือกลำต้นปอกระสา นำมาทำเป็นกระดาษหรือกระดาษทำร่ม โดยมีกรรมวิธีในการทำคือ ให้นำเปลือกสดมาทุบให้อ่อน แล้วนำไปแช่ในน้ำปูนขาว จากนั้นก็นำมาต้มน้ำให้เดือดจนได้เส้นใยออกมา แล้วนำมาล้างด่างออกให้หมด จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง ก็จะได้กระดาษชนิดหยาบ ถ้าเอามาเผาบนพื้นแก้วหรือนำมารีดให้เรียบก็จะได้เป็นกระดาษ ใช้ทาน้ำมันทำเป็นกระดาษทำร่มกันฝน กันแดดได้ นอกจากนี้เปลือกต้นยังสามารถนำมาทำเป็นเชือกหรือใช้ทอผ้าได้อีกด้วย[5]
  2. แกนของลำต้นที่เหลือจากการลอกเปลือกออกไปแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ทำเยื่อกระดาษได้ โดยใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ซึ่งจะมีปริมาณเยื่อกระดาษอยู่ในระดับสูงประมาณร้อยละ 50 และ 70 ในการผลิตเยื่อโซดาและเยื่อนิวทรัลซัลไฟต์เซมิเคมิคัล ตามลำดับ[9]
  3. เปลือกต้นใช้ทำเชือกหรือนำมาลอกออกแล้วนำไปขายได้ประมาณกิโลกรัมละ 10-20 บาท[6]
  4. ใบหรือยอดอ่อนนำมาหั่นหยาบ ๆ ใช้เป็นอาหารหมู หรือต้มให้หมูกิน หรือนำมาหั่นแล้วต้มผสมรำเป็นอาหารหมู หรือใช้ใบเป็นอาหารเลี้ยงวัว เลี้ยงปลา[6],[9]
  5. ผลสุกหรือเมล็ดใช้เป็นอาหารของนกและกระรอก[7],[9]
  6. น้ำมันจากเมล็ดใช้สำหรับทำเครื่องเขิน สบู่[7]
  7. ใช้เป็นแหล่งสีธรรมชาติ โดยการนำใบมาสกัดจะได้สีเหลือง[9]
  8. เนื้อไม้ใช้ทำตะเกียบและไม้จิ้มฟัน[8]
  9. ต้นปอกระสาจัดเป็นไม้เนื้ออ่อนเจริญเติบโตได้รวดเร็ว จึงเหมาะปลูกเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว ปลูกเป็นสวนป่า นอกจากจะเป็นไม้โตเร็วแล้วยังมีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ขยายพันธุ์ได้ง่าย และช่วยลดมลภาวะได้อีกด้วย[7],[9]

เปลือกปอสา

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ปอกระสา (Po Kra Sa)”.  หน้า 187.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “ปอกระสา”.  หน้า 133.
  3. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ปอกระสา”.  หน้า 52.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ปอกระสา”.  หน้า 320.
  5. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ปอกะสา”.  หน้า 454-457.
  6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ปอกระสา”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [26 พ.ย. 2014].
  7. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “ปอกระสา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [27 พ.ย. 2014].
  8. พืชให้เส้นใย, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ปอสา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/use/fiber1.htm.  [27 พ.ย. 2014].
  9. วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ ฉบับที่ 154 กันยายน 2543.  (จิระศักดิ์ ชัยสนิท).  “ปอสา”.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, Arnold Arboretum, 石川 Shihchuan, Shih-Shiuan Kao, Jean René Garcia), en.wikipedia.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด