ประยงค์ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นประยงค์ 24 ข้อ !

ประยงค์ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นประยงค์ 24 ข้อ !

ประยงค์

ประยงค์ ชื่อสามัญ Chinese rice flower[5]

ประยงค์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Aglaia odorata Lour. จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)[1]

สมุนไพรประยงค์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขะยง ขะยม พะยงค์ ยม (ภาคเหนือ), ประยงค์บ้าน ประยงค์ใบใหญ่ (ภาคกลาง), หอมไกล (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[6]

ลักษณะของประยงค์

  • ต้นประยงค์ มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ทรงพุ่มทึบค่อนข้างกลม มีความสูงของต้นประมาณ 2-3 เมตรและสูงไม่เกิน 5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง และวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ดีในทุกสภาพดินฟ้าอากาศ ทนความแห้งแล้งได้ดีมาก แต่ควรปลูกในพื้นที่ที่มีแสงแดดตลอดทั้งวัน เพราะจะช่วยทำให้มีทรงพุ่มสวยงาม[1],[5],[6]

ต้นประยงค์

รูปประยงค์

  • ใบประยงค์ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับ ใบย่อยมี 5 ใบ (บางใบอาจมีใบย่อยเพียง 3 ใบ) ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบมน โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผิวใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบแผ่ออกเป็นปีก[1],[2],[6]

ใบประยงค์

  • ดอกประยงค์ ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร โดยจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ในแต่ละช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกย่อยขนาดเล็กมากกว่า 10 ดอก ดอกย่อยเป็นสีเหลืองและมีกลิ่นหอมแรง ลอยไปได้ไกล (แม้ดอกแห้งก็ยังมีกลิ่นหอมอยู่) มีกลีบดอก 6 กลีบ กลีบดอกซ้อนกันไม่บานออก ลักษณะเป็นรูปทรงกลมเล็กคล้ายไข่ปลาสีเหลือง สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ตลอดทั้งวัน[1],[2],[5],[6]

รูปดอกประยงค์

ดอกประยงค์

  • ผลประยงค์ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี มีขนาดประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเหลืองอ่อน เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มเกือบดำ ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล 1-2 เมล็ด[1],[2],[6]

ดอกประยงค์

สรรพคุณของประยงค์

  1. ในประเทศฟิลิปปินส์จะใช้รากและใบนำมาต้มเป็นยาบำรุงร่างกาย (รากและใบ)[4]
  2. ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้ผอมแห้งแรงน้อย (ราก)[5]
  3. ดอกมีรสเฝื่อนขมเล็กน้อย ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ ทำให้หูตาสว่าง จิตใจปลอดโปร่ง แก้อาการเมาค้าง (ดอก)[1],[4]
  4. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ราก)[5]
  5. ดอกช่วยดับร้อน แก้อาการกระหายน้ำ (ดอก)[1],[4] ยาชงจากดอกใช้ดื่มแบบน้ำชาจะเป็นยาเย็น สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้พุพอง (ดอก)[4]
  6. ช่วยแก้อาการไอ (ดอก)[1] แก้ไอหืด (ดอก)[9]
  7. รากช่วยแก้เลือด แก้กำเดา (ราก)[5]
  8. รากมีรสเฝื่อนเย็น ใช้รับประทานเป็นยาทำให้อาเจียน (ราก)[1],[2],[3],[4]
  9. ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด (ราก)[5]
  10. ใช้เป็นยากวาดเด็ก แก้เสมหะด่าง (ดอก)[9]
  1. ช่วยลดอาการอึดอัดแน่นหน้าอก (ดอก)[1]
  2. ช่วยฟอกปอด (ดอก)[4]
  3. รากและใบใช้แก้โรคที่เกี่ยวกับทรวงอก อาการชัก และแก้ไข้ (รากและใบ)[4]
  4. ช่วยแก้ลมจุกเสียด (ดอก)[9]
  5. ช่วยแก้ริดสีดวงในท้อง (ดอก)[9]
  6. ช่วยรักษากามโรค (ใบ)[5]
  7. ใบใช้เป็นยาสำหรับสตรีที่มีประจำเดือนมากผิดปกติ (ใบ)[5]
  8. ช่วยเร่งการคลอด (ดอก)[4]
  9. ก้านและใบมีรสเฝื่อน ใช้เป็นยาพอกแก้แผลบวมฟกช้ำจากการหกล้มหรือถูกกระทบกระแทก และช่วยรักษาแผลฝีหนองทั้งหลาย (ใบ, ก้าน)[1],[4]
  10. รากใช้เป็นยาถอนพิษเบื่อ ยาเมา (ราก)[1],[2],[3],[4]
  11. ช่วยแก้อัมพาต (ดอก)[9]

หมายเหตุ : การใช้ตาม [4] ดอก ก้าน และใบ ให้ใช้แบบแห้ง 3-10 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม หากนำมาใช้ภายนอกให้นำมาเคี่ยวให้ข้น แล้วนำมาใช้ทาแผลบวมฟกช้ำ ส่วนวิธีการเก็บช่อดอกและใบให้เก็บในช่วงฤดูร้อนตอนออกดอก แล้วนำมาตากให้แห้ง แยกเก็บไว้ใช้[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของประยงค์

  • ใบพบว่ามีสาร Aglaiol, Aglaiondiol, (24 S) – Aglaitriol (24 R) – Aglaitriol, อัลคาลอยด์ Odoratine และ Odoratinol[4]
  • ในประยงค์มีสารออกฤทธิ์อยู่หลายชนิด เช่น สารในกลุ่ม Cyclopentabenzofuran (เป็นอนุพันธ์ของสาร Rocaglamide, Odorine, Aglain, Lignanes และ Triterpenes) ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการกำจัดแมลงวันผลไม้ได้[7]
  • สารสกัดด้วยน้ำจากกิ่งอ่อนของต้นประยงค์มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของผักโขมและหญ้าข้าวนกได้[8]
  • มีข้อมูลระบุว่าประยงค์มีฤทธิ์ยับยั้งการกินอาหารของแมลง มีฤทธิ์ฆ่าแมลง ฆ่าตัวอ่อนของแมลง เป็นพิษต่อปลา ช่วยยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase ช่วยเสริมฤทธิ์การยับยั้งเนื้องอก เป็นพิษต่อเซลล์ (ไม่มีข้อมูลยืนยัน)

ประโยชน์ของประยงค์

  • ดอกประยงค์แห้งสามารถนำมาใช้อบเสื้อผ้าให้มีกลิ่นหอม และใช้แต่งกลิ่นใบชาเช่นเดียวกับดอกมะลิ ซึ่งชาวจีนจะนิยมกันมาก[4],[6]
  • นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้าน สวนหย่อม สวนในป่าอนุรักษ์ หรือใช้ปลูกประดับรั้ว เนื่องจากดอกมีกลิ่นหอมแรง กลิ่นลอยไปไกล ออกดอกให้ชมได้บ่อย เป็นพันธุ์ไม้ที่มีใบและทรงพุ่มสวยงาม (แต่ต้องคอยตัดแต่งกิ่งก้านสาขาบ้าง) มีความแข็งแรงทนทาน ปลูกได้ง่าย และมีอายุยืนยาว[4],[5],[6]
  • นอกจากนี้ต้นประยงค์ยังถือเป็นต้นไม้มงคล ด้วยเชื่อว่าหากปลูกไว้เป็นไม้ประจำบ้านจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้แก่ชีวิต ช่วยปกป้องคุ้มครองให้แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง ช่วยเสริมดวงทางคงกระพันชาตรี เพิ่มเดชให้ตัวเอง และเพื่อความเป็นสิริมงคลให้ปลูกต้นประยงค์ในวันเสาร์เพื่อเอาคุณ และควรปลูกในทางทิศตะวันตกของบริเวณบ้าน

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรประยงค์

  • สตรีมีครรภ์ห้ามดื่ม เพราะอาจทำให้แท้งบุตรได้[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “ประยงค์ (Prayong)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 169.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “ประยงค์”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 132.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ประยงค์”.  หน้า 39.
  4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ประยงค์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [19 เม.ย. 2014].
  5. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “ประยงค์”.  (นพพล เกตุประสาท, ไพร มัทธวรัตน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [19 เม.ย. 2014].
  6. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 273 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  “ประยงค์ช่อน้อยลอยกลิ่นไกล”.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [19 เม.ย. 2014].
  7. การประชุมวิชาการนเรศวรวิจัยครั้งที่ 3 วันที่ 28-29 ก.พ. 2550.  “ผลของสารสกัดจากใบประยงค์ต่อจำนวนเม็ดเลือด ของแมลงวันผลไม้ระยะตัวหนอน”. (กิตติ ตันเมืองปัก, พาคิน ฝั่งไชยสงค์, อาทิตย์ พิมมี).
  8. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 41.  “การเปรียบเทียบผลของสารสกัดจากส่วนต่าง ๆ ของต้นประยงค์ด้วยน้ำที่มีต่อการงอกและการเจริญเติบโตของวัชพืชสองชนิด”. (ยิ่งยง เมฆลอย, วิรัตน์ ภูวิวัฒน์, จำรูญ เล้าสินวัฒนา, พัชนี เจริญยิ่ง). หน้า 311-317.
  9. สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์,โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ประยงค์”.  อ้างอิงใน: หนังสือต้นไม้ยาน่ารู้ (ธงชัย เปาอินทร์, นิวัตร เปาอินทร์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: uttaradit.uru.ac.th/~botany/. [19 เม.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Forest and Kim Starr, Nelindah, guzhengman, SierraSunrise, 潘立傑 LiChieh Pan, Karl Gercens)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด