ประทัดใหญ่ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นประทัดใหญ่ 10 ข้อ !

ประทัดใหญ่

ประทัดใหญ่ ชื่อสามัญ Quassia[1], Stave-wood, Sironum wood[2], Surinam quassia, Bitter wood[4], Bitter-ash, Amargo

ประทัดใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Quassia amara L. จัดอยู่ในวงศ์ปลาไหลเผือก (SIMAROUBACEAE)[1]

สมุนไพรประทัดใหญ่ มีชื่อเรียกอื่นว่า ปิง ประทัด (ภาคกลาง), ประทัดจีน เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของประทัดใหญ่

  • ต้นประทัดใหญ่ มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อนและประเทศซูรินัม ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานแล้ว โดยนิยมนำมาปลูกตามสวนสมุนไพรหรือสวนพฤกษชาติ[4] ต้นประทัดใหญ่จัดเป็นไม้พุ่ม ที่มีความสูงของต้นประมาณ 1.5-3 เมตร แตกกิ่งก้านมากเป็นพุ่มเตี้ย ๆ เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง[1],[2],[4]

ต้นประทัดใหญ่

  • ใบประทัดใหญ่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 5-7 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ รูปวงรี หรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม สอบหรือเกือบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเป็นสีเขียวสด เส้นใบเป็นสีแดง ก้านใบและแกนใบรวมเป็นสีแดงแผ่ออกเป็นครีบทั้งสองด้าน ใบอ่อนมีสีแดง[1],[2],[4]

ใบประทัดใหญ่

  • ดอกประทัดใหญ่ ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ก้านช่อดอกเป็นสีแดง กลีบเลี้ยงดอกมีขนาดเล็กมาก มี 5 แฉกเป็นสีแดง ส่วนกลีบดอกเป็นสีแดงสด มี 5 กลีบ ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบดอกจะไม่บานและจะหุ้มเกสรอยู่เป็นรูปกรวยคว่ำ โดยเกสรเพศผู้มี 10 อัน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไป[1],[2],[4]

ดอกประทัดใหญ่

ดอกประทัด

ประทัด

  • ผลประทัดใหญ่ ผลออกเป็นกลุ่ม ๆ ผลย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ สีแดงคล้ำ[1],[2]

ผลประทัด

ผลประทัดใหญ่

สรรพคุณของประทัดใหญ่

  1. ตำรายาไทยจะใช้รากประทัดใหญ่เป็นยาขมเจริญอาหาร หรือใช้เนื้อไม้ประทัดใหญ่ 0.5 กรัม ประมาณ 4-5 ชิ้น นำมาชงกับน้ำเดือดครึ่งถ้วยแก้ว แล้วใช้รับประทานเพียงครั้งเดียวก็เป็นยาขมช่วยเจริญอาหารเช่นกัน (ราก, เนื้อไม้)[1],[2]
  2. รากใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้ได้ดี (ราก)[1],[2]
  3. เนื้อไม้ใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย ด้วยการใช้เนื้อไม้ 4 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 4 ถ้วยแก้วแล้วเคี่ยวจนเหลือ 2 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานก่อนอาหารเช้าและเย็นครั้งละ 1/4 ถ้วยแก้ว วันละ 2 ครั้ง (เนื้อไม้)[2]
  1. สมุนไพรประทัดใหญ่มีฤทธิ์ต้านเบาหวานและช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
  2. รากมีสรรพคุณในการช่วยย่อย (ราก)[1]
  3. เปลือกต้นและเนื้อไม้ มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงน้ำย่อย ทำให้เกิดอยากรับประทานอาหาร (เปลือกต้นและเนื้อไม้)[2]
  4. เนื้อไม้นำมาสกัดเป็นยาขับพยาธิเส้นด้ายสำหรับเด็ก ด้วยการใช้เนื้อไม้ประมาณ 0.5 กรัม ประมาณ 4-5 ชิ้น นำมาชงกับน้ำเดือดครึ่งถ้วยแก้ว แล้วใช้รับประทานเพียงครั้งเดียว[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ให้ใช้น้ำที่สกัดได้จากเนื้อไม้มาใช้สวนทวารหนักของเด็กเพื่อช่วยขับพยาธิเส้นด้าย (เนื้อไม้)[4]
  5. ใบใช้เป็นยาทาผิวหนังแก้อาการคัน (ใบ)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของประทัดใหญ่

  • จากการศึกษาฤทธิ์การต้านเบาหวานของต้นประทัดใหญ่ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงด้วย nicotinamide-streptozotocin ด้วยการป้อนสารสกัดเมทานอลจากประทัดใหญ่ในขนาดวันละ 100 และ 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยทำการเปรียบเทียบกับการป้อนด้วยยา glibenclamide 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และเก็บตัวอย่างเลือดจากหนูทั้งสองกลุ่มเพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาล, ไขมันเลว (LDL-C), ไขมันดี (HDL-C) และไตรกลีเซอไรด์ ผลการทดลองพบว่าหนูทั้งสองกลุ่มมีระดับน้ำตาลในเลือด ระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมันเลวลดลง อย่างไรก็ตามการป้อนด้วยสารสกัดเมทานอลประทัดใหญ่จะไม่ส่งผลต่อการเพิ่มของ HDL-C และระดับฮอร์โมนอินซูลินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ยา glibenclamide มีผลเพิ่มปริมาณของ HDL-C และระดับฮอร์โมนอินซูลินอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษานี้จึงแสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากต้นประทัดใหญ่มีฤทธิ์ต้านเบาหวานและช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้[3]

ประโยชน์ของประทัดใหญ่

  • น้ำที่สกัดได้จากเนื้อไม้ยังสามารถนำมาใช้เป็นสารฆ่าแมลงได้อีกด้วย ซึ่งสารสำคัญที่พบได้แก่สารที่มีรสขมจัด ชื่อว่า Amaroid และ Quassia[4]
  • ดอกมีสีแดงสดดูสวยงาม นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ประทัดใหญ่ Quassia”.  หน้า 174.
  2. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ประทัดใหญ่ ประทัดจีน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [01 ก.ย. 2014].
  3. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฤทธิ์ต้านเบาหวานของต้นประทัดใหญ่ (Quassia amara)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th.  [01 ก.ย. 2014].
  4. ไทยรัฐออนไลน์.  (นายเกษตร).  “ประทัดใหญ่ สวยมีสรรพคุณ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th.  [01 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Reinaldo Aguilar, Mike Bush, Drew Avery, IAFN RIFA, John Elliott)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด