บุนนาค
บุนนาค ชื่อสามัญ Iron wood, Indian rose chestnut
บุนนาค ชื่อวิทยาศาสตร์ Mesua ferrea L. ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ CALOPHYLLACEAE
สมุนไพรบุนนาค มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ อีก เช่น สารภีดอย (เชียงใหม่), ก๊าก่อ ก้ำก่อ (แม่ฮ่องสอน), ปะนาคอ ประนาคอ (ปัตตานี), นาคบุตร นากบุต รากบุค (ภาคใต้), ต้นนาค เป็นต้น
ต้นบุนนาค กับความเชื่อ คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะช่วยทำให้เป็นผู้มีความประเสริฐและมีบุญ (พ้องกับความหมายของชื่อ) และคำว่านาคยังหมายถึง พญานาคที่มีแสนยานุภาพ ที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองภัย นอกจากนี้ยังเชื่อว่าจะช่วยป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ จากภายนอกได้ด้วย เนื่องจากใบของบุนนาคสามารถช่วยรักษาพิษต่าง ๆ ได้ โดยจะนิยมปลูกต้นบุนนาคไว้ทางทิศตะวันตกของบ้าน และปลูกกันในวันเสาร์เพื่อเอาคุณ
ลักษณะของบุนนาค
- ต้นบุนนาค มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา อินโดจีน พม่า ไทย คาบสมุทรมาเลเซีย และสิงค์โปร์ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 15-25 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร ลักษณะเป็นทรงยอดพุ่มทึบและแคบ มีทรงพุ่มใหญ่ลักษณะคล้ายเจดีย์ต่ำ ๆ มีพูพอนเล็กน้อยตามโคนต้น เป็นไม้ไม่ผลัดใบ เนื้อไม้แข็ง กิ่งก้านเรียวเล็กห้อยลง เปลือกต้นมีสีน้ำตาลเข้ม มีรอยแตกตื้น ๆ หลุดร่วงได้ง่าย ที่เปลือกชั้นในจะมีน้ำยางสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย ส่วนในเนื้อไม้จะมีสีแดงคล้ำเป็นมันเลื่อม พบได้มากในป่าดิบชื้น ตามลำธารหรือริมห้วย พบได้มากในประเทศอินเดียและศรีลังกา นอกจากนี้ต้นบุนนาคยังจัดเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพิจิตรอีกด้วย
- ใบบุนนาค ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม คล้ายใบมะปราง โคนใบสอบ แผ่นใบหนา ผิวใบเรียบเกลี้ยง ท้องใบมีคราบขาวปกคลุมอยู่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร ใบอ่อนจะมีสีชมพูออกแดง ส่วนใบแก่ด้านบนจะมีสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างมีนวลสีเทา มีเส้นใบข้างมากแต่ไม่เห็นชัด ใบห้อยลงเป็นพู่ ก้านใบยาวประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร ออกพร้อมกันทั้งต้นช่วงไม่กี่วันในแต่ละปี
- ดอกบุนนาค ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ตามซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบดอกมีสีขาวจนถึงสีเหลืองอ่อน กลีบดอกมี 5 กลีบซ้อนกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่หัวกลับ ปลายบานและเว้า โคนสอบ ปลายกลีบย่นเล็กน้อย เมื่อดอกบานเต็มกลีบจะแผ่กว้างออก และมีเส้นผ่านศูนย์กลางของดอกราว 5-10 เซนติเมตร ดอกบุนนาคเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกจะห้อยลง ก้านดอกยาวน้อยกว่า 1 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้มากกว่า 50 อัน เกสรตัวผู้ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีสีเหลืองส้มและเป็นฝอย ส่วนอับเรณูเป็นสีส้ม ส่วนก้านเกสรตัวเมียมีสีขาว ก้านยาว มีรังไข่ 2 ช่อง กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คล้ายรูปช้อน งอเป็นกระพุ้ง แยกเป็น 2 วง ลักษณะกลม และกลีบเลี้ยงจะแข็งหนาและอยู่คงทน เมื่อเป็นผลก็ยังคงติดกับผลอยู่ และดอกมีกลิ่นหอมเย็น ส่งกลิ่นไปได้ไกล และดอกบุนนาคจะออกดอกในช่วงระหว่างฤดูร้อนถึงฤดูฝน
- ผลบุนนาค ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ผลแข็งมาก ส่วนปลายโค้งแหลม ปลายไม่แตก เปลือกผลมีรอยด่างสีน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ผลมีสีส้มแก่หรือสีม่วงน้ำตาล มีเปลือกเป็นเส้นใยห่อหุ้มอยู่ และมีหยดยางเหนียว ที่ฐานมีกลีบเลี้ยงหนารองรับอยู่ 4 กลีบติดอยู่ และจะขยายโตขึ้นเป็นกาบหุ้มผล ภายในผลมีเมล็ด 1-4 เมล็ด ส่วนเมล็ดบุนนาคมีลักษณะของเมล็ดแบนและแข็ง มีสีน้ำตาลเข้ม
สมุนไพรบุนนาค ในตำรายาแผนไทยระบุว่า สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพรได้ทุกส่วนของต้น ไม่ว่าจะเป็นดอกสดและแห้ง เกสร ใบ เมล็ด ราก เปลือก กระพี้ แก่น และผล
สรรพคุณของบุนนาค
- ช่วยชูกำลัง รักษาอาการอ่อนเพลีย (ดอก, ราก, แก่น)
- ช่วยแก้กระหาย แก้ร้อน อาการกระสับกระส่าย (ดอก)
- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก)
- ช่วยบำรุงโลหิต (ดอก, ราก, แก่น)
- ช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น (ดอก)
- ดอกบุนนาคมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ (ดอก)
- ใบใช้ตำเป็นยาพอกโดยผสมรวมกับน้ำนมและน้ำมันมะพร้าวใช้สุมหัวแก้ไข้หวัดอย่างแรง (ใบ)
- ช่วยแก้ไข้สำประชวร (ดอก, ราก, แก่น)
- ดอกใช้เป็นยารักษาไข้กาฬ (ดอก)
- ผลมีสรรพคุณช่วยขับเหงื่อ หรือจะใช้เปลือกต้นนำมาต้มรวมกับขิงกินก็ได้ (ผล, เปลือกต้น)
- แก่นมีรสเฝื่อน ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (แก่น, เนื้อไม้)
- ช่วยแก้รัตตะปิตตะโรค (ดอก, ราก, แก่น)
- แก้เลือดกำเดาไหล (ดอก, ราก, แก่น)
- ช่วยแก้เสมหะในลำคอ (ดอก, ใบ, กระพี้)
- สรรพคุณต้นบุนนาค กระพี้ช่วยแก้อาการสะอึก (กระพี้)
- แก้ลมหาวเรอ ลมที่ทำให้หูอื้อ ตามัว (ดอก)
- ช่วยแก้ลมกองละเอียดที่ทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย ใจสั่น ใจหวิว (ดอก)
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระสับกระส่าย (ดอก)
- แก้อาเจียน (ดอก)
- รากมีรสเฝื่อน ช่วยขับลมในลำไส้ (ราก, ดอก, แก่น)
- ผลบุนนาคใช้รับประทานเป็นยากระตุ้นการทำงานของร่างกาย ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (ผล)
- เปลือกต้น มีรสฝาดร้อนเล็กน้อย ช่วยฟอกน้ำเหลือง กระจายน้ำเหลือง และช่วยกระจายหนอง (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ (ผล)
- น้ำมันจากเมล็ดเป็นยาทาช่วยรักษาโรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน แก้คิด และแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ (น้ำมันจากเมล็ด)
- ช่วยรักษาบาดแผลสด แก้แผลสด ใช้พอกบาดแผลสด (ใบ, ดอก)
- ใช้เป็นยาฝาดสมาน (ผล, ดอกแห้ง, เปลือกต้น)
- สรรพคุณ บุนนาคเปลือกต้นช่วยแก้อาการฟกช้ำ (เปลือกต้น)
- น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยานวดช่วยรักษาโรคปวดตามข้อ (น้ำมันจากเมล็ด)
- ช่วยแก้พิษงู (ดอก,ใบ,เปลือกต้น)
- น้ำมันจากดอกบุนนาค มีสาร Mesuol และ Mesuone ซึ่งมีฤทธิ์เหมือนยาปฏิชีวนะที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค (น้ำมันจากดอก)
- น้ำมันจากเมล็ดมีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้เช่นเดียวกับน้ำมันจากดอก ใช้เมล็ดตำใส่บาดแผล (เมล็ด)
- ช่วยแก้กลิ่นเหม็นสาบในร่างกาย (ดอก, ราก, แก่น)
- ช่วยบำรุงผิวกายให้สดชื่น (ดอก)
- บุนนาคมีสรรพคุณช่วยคุมกำเนิด (ดอก, ใบ)
- ดอกนำมาใช้เข้าเครื่องยาไทยสูตร “พิกัดเกสรทั้งห้า” (ดอกบุนนาค ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบัวหลวง ดอกสารภี), สูตร “พิกัดเกสรทั้งเจ็ด” (เพิ่มดอกจำปาและดอกกระดังงา), และสูตร “พิกัดเกสรทั้งเก้า” (เพิ่มดอกลำดวนและดอกลำเจียก) ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ช่วยทำให้ชื่นใจ แก้ลมกองละเอียด อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย แก้ร้อนในกระสับกระส่าย บำรุงครรภ์สตรี มีกลิ่นหอม (ดอก)
- ใช้อบเครื่องหอม ใช้แต่งกลิ่น เข้าเครื่องยาเป็นยาฝาดสมาน ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงโลหิต แก้ไข้ แก้ไอ แก้ร้อนใน ขับเสมหะ ดับกระหาย หรือนำมาบดเป็นผงผสมกับเนยเหลว ใช้เป็นยาพอกรักษาริดสีดวง (ดอก)
- เกสรบุนนาคมีรสหอมเย็น นำมาใช้เข้ายาหอม มีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน ช่วยบำรุงธาตุ ทำให้หัวใจชุ่มชื่น ชื่นใจ แก้ไข้ ช่วยขับลม และบำรุงครรภ์ (เกสร)
ข้อควรระวัง ! : กรดในน้ำมันจากเมล็ดบุนนาคมีพิษต่อหัวใจ
ประโยชน์ของบุนนาค
- ยอดอ่อนบุนนาคสามารถนำมาใช้เป็นผักสด แกล้มกับน้ำพริก หรือจะนำมายำหรือแกงก็ได้เช่นกัน แต่ถ้าหากไม่อยากรับประทานแบบดิบก็สามารถนำไปลวกก่อนนำมารับประทานก็ได้ ก็จะได้รสชาติที่แปลกและอร่อยไปอีกแบบหนึ่ง
- ต้นบุนนาคในปัจจุบันมีการนำมาเพาะปลูกเป็นไม้ประดับอาคารสถานที่กันอย่างแพร่หลาย เพราะมีดอกหอมและสวยงาม มีทรงพุ่มสวย ใบเขียวเข้มตลอดปี ให้ร่มเงาได้
- กิ่งบุนนาคสามารถนำมาทำฐานรองพานดอกไม้ไหว้พระ ถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวไทใหญ่
- ไม้บุนนาค เป็นไม้เนื้อแข็ง แก่นมีสีแดงเข้ม แข็งแรงทนทาน ขัดเงาได้ดี เหมาะสำหรับใช้ทำหมอนรถไฟ สิ่งก่อสร้างบ้านเรือน ทำเสาสะพาน ต่อเรือน ต่อเกวียน ไม้เท้า ด้ามร่ม ทำสายพานท้ายปืน ฯลฯ
- ดอกสามารถนำมาใช้กลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหย นำมาใช้ในการอบเครื่องหอมได้เป็นอย่างดี และยังใช้ในการแต่งกลิ่นสบู่อีกด้วย
- เปลือกลำต้นบุนนาคนำมาบดเป็นผงใช้แต่งกลิ่นธูปได้
- เมล็ดบุนนาคมีน้ำมันที่กลั่นได้ ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางต่าง ๆ และนำมาใช้จุดตะเกียงให้กลิ่นหอม
แหล่งอ้างอิง : ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, พจนานุกรมสมุนไพรไทย ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, เว็บไซต์นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร, ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.), ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน), เว็บไซต์มูลนิธิหมอชาวบ้าน
ภาพประกอบ : www.pantip.com (by น้ำค้างรุ่งอรุณ), เว็บไซต์ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (by Sudarat Homhual), www.pharmacy.mahidol.ac.th, www.treeofthai.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)