บุกอีรอกเขา สรรพคุณและประโยชน์ของบุกอีรอกเขา 6 ข้อ !

บุกอีรอกเขา สรรพคุณและประโยชน์ของบุกอีรอกเขา 6 ข้อ !

บุกอีรอกเขา

บุกอีรอกเขา ชื่อวิทยาศาสตร์ Amorphophallus brevispathus Gagnep. จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)[1]

สมุนไพรบุกอีรอกเขา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บุก, อีรอก, ดอกก้าน เป็นต้น[2]

ลักษณะของบุกอีรอกเขา

  • ต้นบุกอีรอกเขา จัดเป็นไม้ล้มลุกข้ามปี มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เจริญเติบโตได้ในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำดี พบได้ทั่วไป ชอบขึ้นตามริมแม่น้ำ ในพื้นที่โล่ง ทุ่งหญ้า พื้นที่ที่มีความชื้นสม่ำเสมอและฝนตกชุก[1],[2]
  • ใบบุกอีรอกเขา ใบเป็นใบเดี่ยว ก้านใบยาวมีลักษณะกลมและอวบน้ำ ไม่มีแกน ยาวประมาณ 50-120 เซนติเมตร ใบมีลายสีเขียว เทา น้ำตาล และดำเป็นจุดพื้นจุดด่าง มีก้านใบย่อยแตกออกจากปลายก้านใบ 2-3 ก้าน และมีใบประดับ 10-120 ใบ ออกเป็นคู่ ลักษณะเป็นรูปคล้ายหอก ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-50 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ผิวใบเป็นคลื่น หูใบติดกับก้านใบย่อย[2]
  • ดอกบุกอีรอกเขา ก้านดอกยาวออกจากเหง้า ดอกอยู่ตรงปลายก้าน ลักษณะของดอกเป็นรูปคล้ายดอกหน้าวัว[2]
  • ผลบุกอีรอกเขา ออกผลเป็นกลุ่ม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอกตั้งขึ้น มีผลย่อยรูปรีจำนวนมาก[2]

สรรพคุณของบุกอีรอกเขา

  1. หัวมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาลจากทางเดินอาหาร (หัว)[1]
  2. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ลดน้ำหนัก (หัว)[1]
  3. ใช้เป็นยากัดเสมหะ (หัว)[1]
  4. หัวใช้เป็นยาแก้เถาดาล ที่จุดเป็นก้อนกลิ้งอยู่ในท้อง (หัว)[1]
  5. บางข้อมูลระบุว่า หัวใช้เป็นยาพอกกัดฝีหนอง (ข้อมูลจาก : www.champa.kku.ac.th)

วิธีใช้ : การใช้ตาม [1] ให้นำหัวบุกที่อยู่ใต้ดินมาปรุงเป็นอาหารรับประทาน

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของบุกอีรอกเขา

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ L-dopa, dopamine, konjac mannan, β-mannanase I, β-mannanase II[1]
  • บุกอีรอกเขามีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้ท้องเสีย ต้านเชื้อแบคทีเรีย กระตุ้น cAMP และ cGMP ทำให้เกิดอาการแพ้ ยับยั้งการเกิดมะเร็ง ต้านเนื้องอก ยับยั้งเอนไซม์ trypsin ต้านพิษของสีแดง (amaranth) ลดการดูดซึมของวิตามินอี การรับประทาน glucomannan มาก ๆ จะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผนังของทางเดินอาหาร[1]
  • จากการศึกษาความเป็นพิษพบว่า การให้สารโพลีแซ็กคาไรด์กรอกปากหนูถีบจักรในขนาด 2.8 กรัมต่อกิโลกรัม ทั้งสองเพศ ไม่พบว่ามีหนูตาย[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.1983 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองผลของไฟเบอร์และสาร glucomannan ในบุกอีรอกเขา พบว่ามันสามารถช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาลจากทางเดินอาหารในคนได้[1]

ประโยชน์ของบุกอีรอกเขา

  • ใช้เป็นพืชอาหาร ด้านดอกอ่อนนำมาลอกเปลือกลวกรับประทานกับน้ำพริก หรือใช้ปรุงอาหารประเภทนึ่งต่าง ๆ เช่น แกงเห็ด แกงหน่อไม้ เป็นต้น[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “บุกอีรอกเขา”.  หน้า 996.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “อีรอก”.  อ้างอิงใน : หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสร และคณะ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [30 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by )

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด