บุก (Amorphophallus spp.) มีชื่อสามัญว่า Konjac (คอนจัค)[12] ในไทยจะใช้บุกที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amorphophallus paeoniifolius (Dennst.) Nicolson หรือที่เราเรียกว่า “บุกคางคก” ซึ่งเป็นพืชวงศ์เดียวกันกับบุกชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amorphophallus konjac K.Koch แต่ต่างพันธุ์กัน ซึ่งมีคุณสมบัติและสรรพคุณทางยาที่ใกล้เคียงกัน และสามารถนำมาใช้แทนกันได้[6]
บุก
บุก ชื่อสามัญ Devil’s tongue, Shade palm, Umbrella arum
บุก ชื่อวิทยาศาสตร์ Amorphophallus konjac K.Koch (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Amorphophallus rivieri Durand ex Carrière) จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)[6],[9]
สมุนไพรบุก มีชื่อเรียกอื่นว่า หมอ ยวี จวี๋ ยั่ว (จีนแต้จิ๋ว), หมอยื่อ (จีนกลาง) เป็นต้น[6],[9]
- ต้นบุก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีอายุหลาย ลำต้นแทงขึ้นมาจากหัวใต้ดิน มีความสูงของต้นประมาณ 50-150 เซนติเมตร หัวที่อยู่ใต้ดินนั้นมีขนาดใหญ่ ลักษณะของหัวเป็นรูปค่อนข้างกลมแบนเล็กน้อย หรือกลมแป้น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 25 เซนติเมตร ผิวเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ลำต้นและกิ่งก้านมีลักษณะกลมใหญ่ เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวมีลายแต้มสีขาวปะปนอยู่[6],[9]
- ใบบุก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลมรี ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร[6]
- ดอกบุก ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงทรงกระบอกกลมแบน มีกลิ่นเหม็น สีม่วงแดงอมเขียว มีกาบใบยาวประมาณ 30 เซนติเมตร สีม่วงอมเหลือง โผล่ขึ้นพ้นจากกลีบเลี้ยงที่มีสีม่วง[6]
- ผลบุก ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแบน เมื่อสุกจะเป็นสีส้ม[6]
บุกคางคก
บุกคางคก ชื่อสามัญ Stanley’s water-tub, Elephant yam
บุกคางคก ชื่อวิทยาศาสตร์ Amorphophallus paeoniifolius (Dennst.) Nicolson (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Amorphophallus campanulatus Decne.) จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)
สมุนไพรบุกคางคก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บุกหลวง บุกหนาม เบีย เบือ (แม่ฮ่องสอน), บักกะเดื่อ (สกลนคร), กระบุก (บุรีรัมย์), บุกคางคก บุกคุงคก (ชลบุรี), หัวบุก (ปัตตานี), มันซูรัน (ภาคกลาง), บุก (ทั่วไป), กระแท่ง บุกรอ หัววุ้น (ไทย), บุกอีรอกเขา เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[7]
- ต้นบุกคางคก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกจำพวกกะแท่งหรือเท้ายายม่อมหัว มีอายุได้นานหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 5 ฟุต มีลักษณะของลำต้นอวบอ้วนและอวบน้ำไม่มีแก่น ผิวขรุขระ ลำต้นกลมและมีลายเขียว ๆ แดง ๆ ลักษณะคล้ายกับคนเป็นโรคผิวหนัง ต้นบุกนั้นขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ พรรณไม้ชนิดนี้จะเจริญงอกงามในช่วงฤดูฝน และจะร่วงโรยไปในช่วงต้นฤดูหนาว ในประเทศไทยมักพบขึ้นเองตามป่าราบชายทะเลและที่อำเภอศรีราชา ส่วนในต่างประเทศบุกคางคกนั้นเป็นพืชพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ตั้งแต่ศรีลังกาไปจนถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์[1],[2],[3],[7]
- หัวบุกคางคก คือส่วนของหัวที่อยู่ใต้ดิน มีลักษณะค่อนข้างกลมและมีขนาดใหญ่สีน้ำตาล ผิวขรุขระ เส้นผ่านศูนย์กลางของหัวบุกนั้นจะมีขนาดตั้งแต่ 15 เซนติเมตรขึ้นไป เนื้อในหัวเป็นสีเหลืองอมชมพู สีชมพูสด สีขาวขุ่น สีครีม สีเหลืองอ่อน สีเหลืองอมขาวละเอียดและเป็นเมือกลื่น มียาง โดยเฉพาะหัวสด หากสัมผัสเข้าจะทำให้เกิดอาการคันได้ ก่อนนำมาปรุงเป็นอาหารนั้นจึงต้องทำให้เป็นเมือกโดยการต้มในน้ำเดือดเสียก่อน โดยน้ำหนักของหัวนั้นมีตั้งแต่ 1 กรัม ไปจนถึง 35 กิโลกรัม[8]
- ใบบุกคางคก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกที่ปลายยอดของต้น ใบแผ่ออกคล้ายกางร่มแล้วหยักเว้าเข้าหาเส้นกลางใบ ส่วนขอบใบจักเว้าลึก ก้านใบกลม อวบน้ำและยาวได้ประมาณ 150-180 เซนติเมตร[3]
- ดอกบุกคางคก ออกดอกเป็นช่อ ดอกแทงขึ้นมาจากพื้นดินบริเวณของโคนต้น เป็นแท่งมีลายสีเขียวหรือสีแดงแกมสีน้ำตาล (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) ดอกออกเป็นช่อ แทงขึ้นมาจากหัวที่อยู่ใต้ดิน ก้านช่อดอกสั้น มีใบประดับเป็นรูปหุ้มช่อดอก ขอบหยักเป็นคลื่นและบานออก ปลายช่อดอกเป็นรูปกรวยคว่ำขนาดใหญ่ ยับเป็นร่องลึก สีแดงอมน้ำตาลหรือสีม่วงเข้ม ดอกเพศผู้อยู่ตอนบน ส่วนดอกเพศเมียอยู่ตอนล่าง ดอกมีกลิ่นเหม็นคล้ายซากสัตว์เน่า[3],[7]
- ผลบุกคางคก ผลเป็นผลสด เนื้อนุ่ม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรียาว ขนาดยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ผลมีจำนวนมากติดกันเป็นช่อ ๆ (สิบถึงร้อยร้อยผลต่อหนึ่งช่อดอก)ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนสีเหลือง สีส้ม จนถึงสีแดง ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด โดยมีสันขั้วเมล็ดของแต่เมล็ดแยกออกจากกัน เมล็ดมีลักษณะกลมรีหรือเป็นรูปไข่[3],[4]
สรรพคุณของบุก
- หัวบุกมีรสเผ็ด เป็นยาร้อน มีพิษ ออกฤทธิ์ต่อม้าม ตับ และระบบทางเดินอาหาร มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด (หัว)[6]
- ใช้เป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูง ด้วยการแยกแป้งจากส่วนที่เป็นเนื้อทราย แล้วชงกับน้ำดื่ม โดยให้ใช้แป้ง 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 แก้ว นำมาชงกับน้ำดื่มก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงวันละ 2-3 มื้อ[2]
- หัวใช้เป็นยารักษาโรคมะเร็ง (หัว)[6]
- ใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่น (หัว)[6]
- ช่วยแก้อาการไอ (หัว)[6],[7]
- หัวใช้เป็นยากัดเสมหะ ละลายเสมหะ ช่วยกระจายเสมหะที่อุดตันบริเวณหลอดลม (หัว)[6],[7]
- หัวบุกมีรสเบื่อคัน ใช้เป็นยากัดเสมหะเถาดาน และเลือดจับกันเป็นก้อน (หัว)[1],[3],[4]
- หัวนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้โรคท้องมาน (หัว)[7]
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ราก)[12]
- ช่วยแก้ประจำเดือนไม่มาของสตรี (หัว)[6] ช่วยขับระดูของสตรี (ราก)[12]
- หัวนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้โรคตับ (หัว)[7]
- ใช้แก้พิษงู (หัว)[6]
- ใช้เป็นยาแก้แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (หัว)[6]
- หัวใช้หุงเป็นน้ำมัน ใช้ใส่บาดแผล กัดฝ้าและกัดหนองได้ดี (หัว)[1],[2],[3],[4] บางข้อมูลระบุว่ารากใช้เป็นยาพอกฝีได้ (ราก)[12]
- ใช้แก้ฝีหนองบวมอักเสบ (หัว)[6]
- หัวใช้เป็นยาแก้ปวดบวม แก้ฟกช้ำดำเขียว (หัว)[6]
- บุกเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณยิ่งกว่าไวอากร้า หรือเป็นยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ โดยคุณนิล ปักษา (บ้านหนองพลวง ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์) แนะนำให้ลองพิสูจน์ ด้วยการเอาไม้พาดปากหม้อแล้วนำสมุนไพรบุกคางคก เอาพวงเมล็ดนำมาย่างไฟให้หอมก่อน แล้วใช้ผูกกับไม้ห้อยจุ่มลงไปในหม้อต้มใส่น้ำพอท่วมเมล็ดบุก ต้มจนเมล็ดบุกร่วงลงหม้อ ตัวยาก็จะไหลลงมาด้วย เมื่อเดือดแล้วก็ให้เติมน้ำตาลทรายแดงพอประมาณลงไปต้มให้พอหวาน หลังจากนั้นลองชิมดู ถ้ายังมีอาการคันคออยู่ก็ให้เติมน้ำตาลเพิ่มแล้วค่อยชิมใหม่ ถ้าไม่มีอาการคันคอก็แสลงว่าใช้ได้ และให้นำสมุนไพรโด่ไม่รู้ล้มใส่เข้าไปด้วยประมาณ 1 กำมือ แล้วต้มให้เดือด ปล่อยให้เย็นและเก็บไว้ในตู้เย็น ใช้ดื่ม 1 เป็ก ประมาณ 30 นาที จะปวดปัสสาวะโดยธรรมชาติ หลังจากอาวุธนั้นจะพร้อมสู้ทันที (ผล)[12]
หมายเหตุ : สำหรับวิธีการใช้ให้แยกแป้งจากส่วนที่เป็นเนื้อทราย แล้วนำมาชงกับน้ำดื่ม ส่วนขนาดที่ใช้นั้นให้ใช้แป้ง 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 แก้ว ชงกับน้ำดื่มก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงวันละ 2-3 มื้อ[2] ส่วนการใช้ตาม [6] ให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม (เข้าใจว่าคือส่วนของหัว) นำมาต้มกับน้ำนาน 2 ชั่วโมง จึงสามารถนำมารับประทานได้ ถ้าเป็นยาสดให้ใช้ตำพอกหรือนำมาฝนกับน้ำส้มสายชู หรือต้มเอาน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็นแผล[6]
ข้อควรระวังในการใช้บุก
- ในเนื้อหัวบุกป่าจะมีผลึกของแคลเซียมออกซาเลท (Calcium oxalate) เป็นจำนวนมาก ที่ทำให้เกิดอาการคัน ส่วนเหง้าและก้านใบถ้าปรุงไม่ดีแล้วรับประทานเข้าไปจะทำให้ลิ้นพองและคันปากได้[8]
- ก่อนนำมารับประทานจะต้องกำจัดพิษออกก่อน และไม่รับประทานกากยาหรือยาสด[6]
- กรรมวิธีการกำจัดพิษจากหัวบุก ให้นำหัวบุกมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตำพอแหลก คั้นเอาน้ำออกพักไว้ นำกากที่ได้ไปต้มน้ำ แล้วคั้นเอาแต่น้ำ นำไปผสมกับน้ำที่คั้นครั้งแรก แล้วนำไปต้มกับน้ำปูนใสเพื่อให้พิษหมดไป เมื่อเดือดก็พักไว้ให้เย็น จะจับตัวกันเป็นก้อน จึงสามารถใช้ก้อนดังกล่าวในการปรุงอาหารหรือนำไปตากแห้งเพื่อใช้เป็นยาได้[6]
- ถ้าเกิดอาการเป็นพิษจากการรับประทานบุก ให้รับประทานน้ำส้มสายชูหรือชาแก่ แล้วตามด้วยไข่ขาวสด แล้วให้รีบไปพบแพทย์[6]
- เนื่องจากวุ้นบุกสามารถขยายตัวได้มาก (ไม่ต่ำกว่า 20 เท่าของเนื้อวุ้นแห้ง) จึงไม่ควรบริโภควุ้นบกภายหลังการรับประทาน แต่ให้รับประทานก่อนอาหารไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง ส่วนการบริโภคอาหารที่ผลิตจากวุ้น เช่น วุ้นก้อนและเส้นวุ้น สามารถบริโภคพร้อมอาหารหรือหลังอาหารได้ เพราะวุ้นดังกล่าวได้ผ่านกรรมวิธีและได้ขยายตัวมาก่อนแล้ว และการการที่จะขยายตัวหรือพองตัวได้อีกนั้นจึงเป็นไปได้ยาก ส่วนในเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการนั้นพบว่าวุ้นบุกไม่ให้พลังงานแก่ร่างกาย เนื่องจากไม่มีการย่อยสลายเป็นน้ำตาลในร่างกาย และไม่มีวิตามินและแร่ธาตุ หรือสารอาหารใด ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเลย[10]
- กลูโคแมนแนนมีผลทำให้การดูดซึมของวิตามินที่ละลายในไขมันลดลง (ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค) ซึ่งจะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมได้ แต่จะไม่มีผลต่อการดูดซึมของวิตามินที่ละลายในน้ำ (เช่น วิตามินบีรวม วิตามินซี)[11]
- การกินผงวุ้นบุกในปริมาณมาก อาจทำให้มีอาการท้องเดินหรือท้องอืด มีอาการหิวน้ำมากกว่าเดิม บางคนอาจมีอาการอ่อนเพลียเพราะระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของบุก
- สารที่พบ ได้แก่ สาร Glucomannan, Konjacmannan, D-mannose, Takadiastase, แป้ง, โปรตีนบุก, วิตามินบี, วิตามินซี และยังพบสารที่เป็นพิษ คือ Coniine, Cyanophoric glycoside ก้านบุกพบสาร Uniine และวิตามินบีที่ก้านช่อดอก[6] และหัวบุกยังมีโปรตีนอยู่ร้อยละ 5-6 และมีคาร์โบไฮเดรตอยู่สูงร้อยละ 67[2]
- หัวบุกมีสารสำคัญ คือ กลูโคแมนแนน (Glucomannan) เป็นสารประเภทคาร์โบไฮเดรต ซึ่งประกอบด้วยกลูโคส แมนโนส และฟรุคโตส สารกลูโคแมนแนนสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เนื่องจากมีความเหนียว ช่วยยับยั้งการดูดซึมของกลูโคสจากทางเดินอาหาร ยิ่งหนืดมากก็ยิ่งมีผลการดูดซึมกลูโคส ดังนั้น กลูโคแมนแนน ซึ่งเหนียวกว่า gua gum จึงสามารถลดน้ำตาลได้ดีกว่า จึงใช้แป้งเป็นวุ้นเป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและสำหรับผู้ที่เป็นโรคไขมันในเลือดสูง[2]
- สารกลูโคแมนแนน (Glucomannan) จะมีปริมาณแตกต่างกันออกไปตามชนิดของบุก[5]
- แป้งจากหัวบุกนั้นประกอบไปด้วยกลูโคนแมนแนนประมาณ 90% และสิ่งเจือปนอื่น ๆ เช่น alkaloid, starch, สารประกอบไนโตเจนต่าง ๆ sulfates, chloride, และสารพิษอื่น โมเลกุลของกลูโคแมนแนนนั้นหลัก ๆ แล้วจะประกอบไปด้วยน้ำตาลสองชนิด คือ กลูโคส 2 ส่วน และแมนโนส 3 ส่วน โดยประมาณ เชื่อมต่อกันระหว่างคาร์บอนตำแหน่งที่ 1 ของน้ำตาลชนิดที่สอง กับคาร์บอนตำแหน่งที่ 4 ของน้ำตาลชนิดแรกแบบ ?-1, 4-glucosidic linkage ซึ่งแตกต่างจากแป้งที่พบในพืชทั่วไป จึงไม่ถูกย่อยโดยกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร เพื่อให้น้ำตาลที่ให้พลังงานได้[8] นอกจากกลูโคแมนแนนจะพบได้ในบุกแล้ว ยังพบได้ในว่านหางจระเข้อีกด้วย[9]
- กลูโคแมนแนน (Glucomannan) สามารถดูดน้ำและพองตัวได้มากถึง 200 เท่า ของปริมาณเดิม เมื่อเรารับประทานกลูโคแมนแนนก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงครั้งละ 1 กรัม กลูโคแมนแนนจะดูดน้ำที่มีมากในกระเพาะอาหารของเรา แล้วเกิดการพองตัวจนทำให้เรารู้สึกอิ่มอาหารได้เร็วและอิ่มได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้เรารับประทานได้น้อยลงกว่าปกติด้วย อีกทั้งกลูโคแมนแนนจากบุกก็มีพลังงานต่ำมาก กลูโคแมนแนนจึงช่วยในการควบคุมน้ำหนักและเป็นอาหารของผู้ที่ต้องการลดความอ้วนได้เป็นอย่างดี[8]
- เมื่อนำสารที่สกัดได้จากบุกที่มีการกำจัดพิษแล้ว ให้หนูใหญ่รับประทานครั้งละ 15 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ พบว่าระดับของคอเลสเตอรอลในเลือดของหนูลดลงคิดเป็น 44% และ Triglyceride ลดลงคิดเป็น 9.5%[6]
- สาร Glucomannan มีฤทธิ์ดูดซึมน้ำในกระเพาะและลำไส้ได้ดีมาก และยังสามารถไปกระตุ้นน้ำย่อยในลำไส้ให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการขับของที่คั่งค้างในลำไส้ได้เร็วขึ้น[6]
- สารสกัดแอลกอฮอล์จากหัวบุก สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อวัณโรคในหลอดแก้วได้[5]
- เมื่อนำสารที่สกัดได้จากบุกที่มีการกำจัดพิษแล้ว ให้หนูใหญ่ที่มีอาการบวมที่ขารับประทานครั้งละ 15 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าอาการบวมที่ขาของหนูลดลง[6]
ประโยชน์ของบุก
- คนไทยเรานิยมนำหัวบุกไปทำเป็นอาหารทั้งคาวและหวานเช่นเดียวกับเผือก เช่น แกงบวชมันบุก แกงอีสาน นำไปทอดหรือใส่ในแกงกะหรี่ หรือจะนำมาฝานเป็นแผ่นแล้วนำมานึ่งหรือย่างกินเป็นขนมบุก ส่วนต้นอ่อนที่ปอกเปลือกออกแล้ว ใบอ่อน และก้านใบอ่อนก็สามารถนำมาทำอาหารคล้าย ๆ กับบอนได้ เช่น แกงส้ม แกงเลียง ห่อหมก หรือนำมาต้มลวกจิ้มกับน้ำพริกรับประทานได้ (ก่อนนำมาปรุงเป็นอาหารต้องเอาไปต้มก่อน โดยใส่ลงไปตอนที่น้ำกำลังเดือดเพื่อให้พิษหมดไป) แต่ในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมรับประทานกันแล้ว เนื่องจากขั้นตอนก่อนนำมาปรุงเป็นอาหารนั้นยุ่งยากเกินไปนั่นเอง[2],[9]
- สำหรับในผู้ป่วยโรคเบาหวาน บุกสามารถช่วยควบคุมหรือลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (เนื่องจากไปช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาลกลูโคสในระบบทางเดินอาหาร) และบุกยังเป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยระหว่างพักฟื้น เป็นอาหารที่ช่วยดูดสารพิษ ขจัดไขมันในเลือด และปรุงเป็นอาหารรักษาสุขภาพ[3],[4],[5],[7]
- ในประเทศญี่ปุ่นนิยมใช้หัวบุกมาทำเป็นอาหารลดความอ้วน เพราะการรับประทานหัวบุกเป็นประจำจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ช่วยลดน้ำหนัก และช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้ เพราะสารกลูโคแมนแนนที่พองตัวจะไปห่อหุ้มอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ไม่ให้สัมผัสกับน้ำย่อย จึงใช้ในการควบคุมน้ำหนักตัวได้ นอกจากนี้ยังช่วยดูดซับไขมันและกรดน้ำดี และขับถ่ายออกนอกร่างกาย จึงช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้[8]
- ช่วยในการขับถ่ายและระบาย เนื่องจากการพองตัวของกลูโคแมนแนนในทางเดินอาหาร จะไปกระตุ้นทางเดินอาหารส่วนล่าง โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ให้เกิดการบีบตัวขับกากอาหารที่คั่งค้างอยู่ออกมา จึงช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้[8]
- ช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคกระเพาะอาหารเป็นแผลจากกรดหรือน้ำย่อย[8]
- ปัจจุบันได้มีการนำหัวบุกหรือแป้งบุกมาใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร (เช่น วุ้นเส้นบุก, เส้นหมี่แป้งหัวบุก, วุ้นบุกก้อน, ขนมบุก) เครื่องดื่มรูปแบบต่าง ๆ (เช่น เครื่องดื่มบุกผง) ใช้ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ลดความอ้วน และลดไขมันในเลือดกันอย่างแพร่หลาย (เช่น ผงบุก หรือ แคปซูลผงบุก) ซึ่งก็สามารถลดน้ำหนักได้ในระดับหนึ่ง มีความปลอดภัยต่อร่างกาย เพราะเมื่อกินแล้วทำให้อิ่มง่าย ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น ช่วยระบายท้อง และไม่ทำให้อ้วน[2],[8],[9],[11]
- มีข้อมูลว่าในต่างประเทศนั้นได้ใช้ต้นบุกเป็นอาหารสัตว์สำหรับการเลี้ยงหมูมานานแล้ว[10]
- กากจากหัวบุกอาจนำมาใช้ผสมดินทำเป็นแนวกันพังในพื้นที่เชิงเขาได้[10]
- นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีการใช้น้ำจากหัวบุกต้มผสมกับยางน่อง สำหรับไว้ใช้ยิงสัตว์ด้วย[12]
- นอกจากประโยชน์ตามที่กล่าวมาแล้ว ต้นบุกยังใช้ปลูกเป็นไม้ประดับสวยงามได้ด้วย โดยนักจัดสวนจะนิยมนำมาปลูกประดับตามใต้ร่มเงาของไม้ยืนต้น ปลูกใส่กระถางเป็นไม้ประดับทั่วไป หรือปลูกไว้ขาบเพื่อเพิ่มรายได้สำหรับเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุกชนิดที่มีหัวเล็กใบกว้าง ที่มีชื่อว่า “บุกเงินบุกทอง” ซึ่งเป็นที่นิยมของนักเล่นว่านมีทั้งต้นเขียวและต้นแดง และมีราสูงอยู่พอสมควร[10]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “บุก”. หน้า 429-430.
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “บุก” หน้า 114.
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “บุกคางคก (Buk Kang Kok)”. หน้า 165.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “บุก”. หน้า 106.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “บุกคางคก Stanley’s water-tub”. หน้า 48.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “บุก”. หน้า 310.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “บุกคางคก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [01 ส.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “บุก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [01 ส.ค. 2014].
- กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “บุก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sc.mahidol.ac.th/wiki/. [01 ส.ค. 2014].
- ดร. พงศ์เทพ อันตะริกานนท์.
- งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง. “เชื่อไหมว่าบุกมีสารช่วยควบคุมน้ำหนักได้”. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรน่ารู้ (รศ.ดร.วันดี กฤษณพันธ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.lib.ru.ac.th. [01 ส.ค. 2014].
- จำรัส เซ็นนิล. “บุก…ไวอาก้าเมืองไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net. [01 ส.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ruud de Block, radar_contact_lost, k-o-ji, DC Tropics, Eerika Schulz, Kiasog, Ron, Ahmad Fuad Morad, removebeforeflight, Joe Fox)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)