บัวตอง
บัวตอง ชื่อสามัญ Mexican sunflower, Mexican sunflower weed
บัวตอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Tithonia diversifolia (Hemsl.) A.Gray จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[2],[3],[4]
สมุนไพรบัวตอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดาวเรืองญี่ปุ่น ทานตะวันหนู เบญจมาศน้ำ (กรุงเทพฯ), บัวตอง (ทั่วไป), พอมื่อนื้อ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของบัวตอง
- ต้นบัวตอง มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโกและอเมริกากลาง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กมีอายุได้หลายปี มีความสูงของต้นได้ถึง 4 เมตร มีไหลอยู่ใต้ดิน ทุกส่วนของต้นมีขนสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและไหล มักขึ้นในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น ชอบแสงแดดจัด และจะออกดอกสวยงามที่สุดบนดอยที่สูงกว่า 800 เมตรขึ้นไป ในประเทศไทยพบกระจายอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวทางภาคเหนือ โดยเฉพาะทุ่งบัวตองที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน อีกทั้งยังจัดเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกด้วยครับ[1],[2],[4],[5],[6]
- ใบบัวตอง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปไข่แกมสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-30 เซนติเมตร แผ่นใบบาง ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวแกมเทา มีขนสั้นและต่อมเล็กทั้งสองด้าน[1],[2]
- ดอกบัวตอง ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง ริ้วประดับมีประมาณ 3-4 ชั้นเรียงกันเป็นรูประฆัง ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-14 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองสด ดอกวงนอกเป็นรูปช้อนหรือเป็นรูปรางน้ำขอบขนาน ปลายจัก ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลีบมีประมาณ 12-15 กลีบ เป็นหมัน ส่วนดอกวงในมีขนาดเล็ก โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ดอกวงในเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศและมีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นหลอดยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน อับละอองเรณูเป็นสีดำ ที่ปลายสีเหลือง และจะออกดอกในช่วงฤดูหนาวหรือในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม[1],[2],[3],[4],[6]
- ผลบัวตอง ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายและโคนผลสอบ เมล็ดล่อน ไม่แตก ผนังผลแยกออกจากกัน ผลมีขนาดยาวประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร[1],[2],[3]
สรรพคุณของบัวตอง
- ใบสดนำมาย่างไฟ ใช้วางบนศีรษะแล้วใช้ผ้าพันแผลไว้ ช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้ (ใบ)[1],[2]
- ดอกนำมาใส่แผลและแผลช้ำ (ดอก)[1]
- ยอดอ่อนนำมาเผาแล้วขยี้ใช้ทาผื่นคันที่ขึ้นตามตัว (ยอดอ่อน)[3]
- ใบนำมาต้มกับน้ำรวมกับต้นสาบหมาน (เข้าใจว่าคือต้นสาบหมา) ใช้อาบแก้อาการคัน (ใบ)[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของบัวตอง
- สารสกัดใบบัวตองด้วยแอลกอฮอล์และคลอโรฟอร์มเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิดในหลอดทดลอง[2]
- สารสกัดด้วยบิวทานอลมีฤทธิ์ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้หนูได้[2]
- น้ำต้มจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นบัวตองมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบและช่วยรักษาตับอักเสบในสัตว์ทดลองได้[2]
- สารสกัดจากดอกบัวตองด้วยแอลกอฮอล์และแอซีโตนมีฤทธิ์ฆ่าแมลง[2]
ประโยชน์ของบัวตอง
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยเฉพาะทางภาคเหนือที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ดอยแม่อูคอ แต่ตอนนี้สามารถหาชมได้แล้วที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ในช่วงหน้าหนาวด้วยครับ[5]
ทุ่งดอกบัวตอง
© ภาพโดย I am Tripper สังคมของคนชอบเดินทางท่องเที่ยว “ทุกสถานที่มีเรื่องเล่า ทุกเรื่องราวมีความทรงจำ มาร่วมเป็นนักเดินทางกับพวกเรานะครับ” สนใจติดตามผลงานได้ที่เพจนี้ครับ www.facebook.com/iamtripperclub
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “บัวตอง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 130.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ทานตะวันหนู”. หน้า 214.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Maxican sunflower weed”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [31 มี.ค. 2014].
- หนังสือไม้ดอกและไม้ประดับ. “บัวตอง”.
- สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “บัวตอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [31 มี.ค. 2014].
- แม่เมาะ ลำปาง, มหาวิทยาลัยนเรศวร. “ทุ่งบัวตอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/Lookket/Maemoh_Lampang/. [31 มี.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by SierraSunrise, Maria /Amethist, JJ-Merry, Mauricio Mercadante), lucidcentral.org, davesgarden.com, www.iamtripper.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)