บอนแบ้ว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นบอนแบ้ว 7 ข้อ !

บอนแบ้ว

บอนแบ้ว ชื่อสามัญ Dwarf Voodoo Lily[2]

บอนแบ้ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Typhonium roxburghii Schott จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)[1]

สมุนไพรบอนแบ้ว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตะพิดป่า (พังงา), บอนดอย (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), อุตตพิษ (ไทย), ส่วนทางภาคเหนือเรียก “บอนแบ้ว” เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของบอนแบ้ว

  • ต้นบอนแบ้ว จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กและมีความบอบบางกว่าต้นอุตพิด มีหัวอยู่ใต้ดิน ทรงกลม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหัว เป็นพรรณไม้ที่พบขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า จีนตอนใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และภูมิภาคมาเลเซีย ไปจนถึงฟิลิปปินส์และนิวกินี[1],[2]

ต้นบอนแบ้ว

  • ใบบอนแบ้ว ใบอ่อนมีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปหัวหรือเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนใบแก่จะเป็นหยัก แบ่งออกเป็น 3 แฉก ยาวประมาณ 5-17 เซนติเมตร ก้านใบมีความยาวประมาณ 10-35 เซนติเมตร[1],[2]

ใบบอนแบ้ว

  • ดอกบอนแบ้ว ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกหลังจากผลิใบ มีกลิ่นเหม็น ก้านช่อสั้นหรือยาวได้เกือบ 9 เซนติเมตร กาบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 14-15 เซนติเมตร เป็นสีม่วงอมน้ำตาล แดงด้านใน ด้านนอกสีน้ำตาลนอกอมเขียว โคนบิดม้วนโอบรอบช่อ โคนเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร ปลายกาบคอดเรียวยาว บิดเวียนเล็กน้อย ส่วนช่อดอกยาวพอ ๆ กับแผ่นกาบ ดอกมีลักษณะแท่งยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ช่อดอกเพศเมียจะอยู่ด้านล่าง ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร มีรังไข่ 1 ช่อง ในช่องมีออวุล 1 เม็ด รังไข่เป็นรูปไข่สีขาวครีม ยอดเกสรเพศเมียเป็นสีม่วง ส่วนที่อยู่ถัดไปคือช่วงที่เป็นหมัน ยาวประมาณ 1.5-2.2 เซนติเมตร ด้านล่างมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันหนาแน่น ลักษณะโค้งลง สีครีมหรือสีเหลืองอ่อน ยาวประมาณ 0.8-0.9 เซนติเมตร ช่วงบนเปลือกเกลี้ยง เป็นรูปทรงกระบอก และช่อดอกเพศผู้จะยาวประมาณ 0.7-1.2 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ประมาณ 2-3 อัน สีเหลืองครีม อับเรณูไร้ก้านชู ช่องเปิดที่ปลาย ช่วงช่อดอกปลายสุดเป็นรยางค์รูปกรวยเรียวแหลมยาว สีม่วงอมสีน้ำตาลเข้ม ขนาดยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร โคนเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ช่วงผลมีโคนกาบหุ้ม ในผลแก่กาบอ้าออก[2]

รูปบอนแบ้ว

ดอกบอนแบ้ว

  • ผลบอนแบ้ว ผลเป็นผลสด เนื้อนุ่ม ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปไข่ สีเขียวเปลี่ยนเป็นสีขาวเมื่อแก่ ภายในมีเมล็ดเดี่ยว[1],[2]

กาบผลบอนแบ้วผลบอนแบ้ว

สรรพคุณของบอนแบ้ว

  1. รากใช้กินกับกล้วยเป็นยารักษาอาการปวดท้อง (ราก)[1]
  2. รากมีฤทธิ์เป็นยาช่วยกระตุ้น รักษาโรคริดสีดวงทวาร (ราก)[1]
  3. หัวใช้หุงเป็นน้ำมันใส่แผลเป็นยาสมานแผล โดยการปิ้งไฟใช้รับประทานได้ (หัว)[1]
  4. รากใช้ภายนอกเป็นยาทาและกินรักษาพิษงูกัด (ราก)[1]
  5. หัวใช้เป็นยากัดฝ้าหนอง กัดเถาดานในท้อง (หัว)[1]

ประโยชน์ของบอนแบ้ว

  • ก้านใบนำมาลอกเอาเปลือกออก นำมาใช้แกงส้มแบบเดียวกับแกงอุตพิด[1]
  • กาบนำมาหั่นให้ละเอียด ใช้ดองกินเป็นผักได้[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “บอนแบ้ว”.  หน้า 412-413.
  2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “บอนแบ้ว”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [30 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by barbatum, Ruud de Block), web3.dnp.go.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด