บรอมเฮกซีน (Bromhexine) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

บรอมเฮกซีน

บรอมเฮกซีน (Bromhexine) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า ไบโซลวอน (Bisolvon) จัดอยู่ในกลุ่มยาที่เรียกว่า “ยาละลายเสมหะ” (Mucolytic agents) ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคในระบบทางเดินหายใจอันเนื่องมาจากการมีเสมหะมากและทำให้หายใจไม่สะดวกและมีอาการไอตามมา (ตัวยาจะช่วยลดความเหนียวหนืดของเสมหะลง จึงช่วยในการกำจัดเสมหะออกไปได้ง่าย)

ตัวอย่างยาบรอมเฮกซีน

ยาบรอมเฮกซีน (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อโซวอน (ASOVON), อะซิสทอล (AXISTAL), ไบโซลวอน (BISOLVON), ไบโซลวอน เอ็กซ์ (BISOLVON EX), โบมีซิน (BOMEXIN), โบรโมซัน (BROMOSON), บรอมโซ (BROMSO), บรอมโซ-เอ็กซ์ (BROMSO-EX), บรอมซีน (BROMXINE), บรอมซีน แอทแลนติค (BROMXINE ATLANTIC), บรอนโคเพร็ก (BRONCHOPREX), บรอนเคลียร์ (BRONCLEAR), โคเฮ็กซีน (COHEXINE), เด็กซ์โบรซีน (DEXBROXINE), ไดซอล (DISOL), ไอดา (IDA), ไอดา-ดี (IDA-D), คูปา (KUPA), มาโนวอน (MANOVON), ไมเฮ็กซีน (MIHEXINE), มูโคเลท (MUCOLATE), มูโคซิน (MUCOXIN), นาโซเรส เอ็กเพ็กทอแรนท์ (NASOREST EXPECTORANT), โอเฮ็กซีน (OHEXINE), เพรสโค (PRESCO), โรบิทัสซิน เอ็มอี (ROBITUSSIN ME), ทอจิกโคโล (TAUGLICOLO), โทรมาดิล (TROMADIL), ทัสโน (TUSNO) ฯลฯ

รูปแบบยาบรอมเฮกซีน

  • ยาเม็ด ขนาด 8 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup), อิลิกเซอร์ (Elixir) ขนาด 4 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)

บรอมเฮกซีน
IMAGE SOURCE : imanila.ph

ไบโซลวอน
IMAGE SOURCE : www.mims.com

ไบโซลวอนเม็ด
IMAGE SOURCE : www.suggest-keywords.com

สรรพคุณของยาบรอมเฮกซีน

  • ใช้เป็นยาละลายเสมหะ บรรเทาอาการไอจากโรคหวัด
  • ใช้ละลายสารคัดหลั่งในโรคหลอดลมปอดอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังที่มีการหลั่งของเสมหะผิดปกติ และมีความบกพร่องของระบบขับเคลื่อนเสมหะ

หมายเหตุ : ยานี้สามารถดูดซึมได้เร็วและสมบูรณ์จากทางเดินอาหาร และมีปริมาณยาที่เข้าสู่ร่างกายเมื่อผ่านกระบวนการทำลายยาของร่างกายครั้งแรกเหลือร้อยละ 70-80

กลไกการออกฤทธิ์ของยาบรอมเฮกซีน

กลไกการออกฤทธิ์ของยานี้คือ การเพิ่มสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ และทำให้ขนกวัดหรือขนของเซลล์ (Cilia) ซึ่งอยู่ที่ผนังท่อทางเดินหายใจ โบกพัดนำเอาสิ่งสกปรกรวมถึงเสมหะออกมาจากท่อทางเดินหายใจได้

ก่อนใช้ยาบรอมเฮกซีน

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาบรอมเฮกซีน สิ่งที่ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • การแพ้ยาบรอมเฮกซีน (Bromhexine) หรือส่วนผสมอื่นในยานี้ และประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิดรวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ผื่นขึ้น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก ตาบวม เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาบรอมเฮกซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • ยาบรอมเฮกซีนอาจเพิ่มการดูดซึมของยาปฏิชีวนะ (ข้อมูลจาก Pharmaceutical Society of Singapore) ส่วนข้อมูลจากเอกสารกำกับยาไบโซลวอนในประเทศนิวซีแลนด์ กล่าวว่า ยานี้ไม่มีผลต่อการใช้เมื่อใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะแอมพิซิลลิน (Ampicillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), ออกซิเตตราไซคลีน (Oxytetracycline)
  • เป็นหรือเคยเป็นโรคกาแลคโตซีเมีย (Galactosemia) มีปัญหาเรื่องตับหรือไต
  • มีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้ (ส่วนข้อมูลจากเอกสารกำกับยาไบโซลวอนในนิวซีแลนด์กล่าวว่า ผลการศึกษาในสัตว์ไม่ได้ชี้ชัดโดยตรงว่ายานี้จะก่อให้เกิดอันตรายหรือเป็นพิษต่อการเจริญพันธุ์ และยังไม่มีข้อมูลว่ายานี้จะออกมาในนมน้ำแม่ด้วยหรือไม่)

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาบรอมเฮกซีน

  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • การใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และในผู้สูงอายุ ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหืด เนื่องจากยาอาจก่อให้เกิดภาวะหลอดลมตีบ
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ เนื่องจากยามีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ที่มีอาการปอดบวมหรือปอดติดเชื้อ (ทำให้มีอาการหายใจลำบาก มีไข้ หรือมีอาการปวดอก), ปอดมีภาวะอุดกั้นเรื้อรัง, มีอาการหอบที่ไม่สามารถควบคุมได้, มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ (เนื่องจากการติดเชื้อเอชไอวีหรือจากการได้รับยา), มีแผลในกระเพาะอาหาร และในผู้ที่มีปัญหาเรื่องตับหรือไต

วิธีใช้ยาบรอมเฮกซีน

โดยทั่วไปให้รับประทานยานี้วันละ 3 ครั้ง ส่วนขนาดการใช้ยาจะแตกต่างกันไปตามอายุ ความรุนแรง และสภาวะความเจ็บป่วยของร่างกาย ดังนั้น จึงควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยสั่งจ่ายยาในขนาดที่เหมาะสม ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยานี้มารับประทานเอง โดยในผู้ใหญ่ขนาดที่รับประทานได้สูงสุดคือครั้งละไม่เกิน 8-16 มิลลิกรัม วันละไม่เกิน 3 ครั้ง ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

  • ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ให้ใช้ยาน้ำเชื่อมสำหรับเด็ก รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิลิตร (½ ช้อนชา) วันละ 3 ครั้ง ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1.25 มิลลิลิตร (¼ ช้อนชา) วันละ 3 ครั้ง
  • ในเด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ ½ เม็ด (4 มิลลิกรัม) วันละ 3 ครั้ง หรือถ้าเป็นยาน้ำเชื่อม ให้รับประทานครั้งละ 5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา) วันละ 3 ครั้ง
  • ในผู้ใหญ่และเด็กที่อายุเกิน 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด (8 มิลลิกรัม) วันละ 3 ครั้ง หรือถ้าเป็นยาน้ำเชื่อม ให้รับประทานครั้งละ 10 มิลลิลิตร (2 ช้อนชา) วันละ 3 ครั้ง

คำแนะนำในการใช้ยาบรอมเฮกซีน

  • ให้ใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้ในฉลากยาอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ไม่ควรใช้ยานี้เกินกว่า 14 วัน โดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์
  • หากมีอาการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น หายใจลำบาก ตาบวม หรือมีอาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่รุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์หรือแจ้งเภสัชกร
  • ในผู้ที่แพ้ยาบรอมเฮกซีนแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอมบรอกซอล (Ambroxol) ด้วย เพราะเป็นยาที่มีโครงสร้างคล้ายกับบรอมเฮกซีนและมีสารออกฤทธิ์ที่ได้จากการแปรสภาพยาบรอมเฮกซีน หากมีการใช้ยานี้ก็อาจทำให้เกิดการแพ้ยาได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาใช้ยาละลายเสมหะหรือยาขับเสมหะชนิดอื่นแทน เช่น อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine), คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine), ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) เป็นต้น โดยมีการศึกษาที่พบว่า ยาคาร์โบซิสเทอีนกับยาบรอมเฮกซีนมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันในการขับเสมหะ การเพิ่มปริมาตรและความเหลวของเสมหะ ทำให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้ดีขึ้น ความรุนแรงของอาการไอลดลง นอกจากนี้ยาคาร์โบซิสเทอีนยังอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความพึงพอใจในการรักษามากกว่ายาบรอมเฮกซีนอีกด้วย (ข้อมูลจาก A between-patient, double-blind comparison of S-carboxymethylcysteine and bromhexine in chronic obstructive bronchitis., Aylward M)

การเก็บรักษายาบรอมเฮกซีน

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ควรเก็บยานี้ในอุณหภูมิห้องปกติ ไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น และเก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง)
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ (เมื่อเปิดขวดยาใช้แล้ว สามารถใช้ได้ภายใน 6 เดือน หลังจากวันที่เปิดหรือภายในวันหมดอายุของยา ขึ้นอยู่กับว่าระยะเวลาใดสั้นกว่า)

เมื่อลืมรับประทานยาบรอมเฮกซีน

โดยทั่วไปเมื่อลืมรับประทานยาบรอมเฮกซีน ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาบรอมเฮกซีน

  • ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงนอน ง่วงซึม เหงื่อออก มีอาการไอเพิ่มขึ้น หลอดลมตีบ เกิดอาการรู้สึกไม่สบายท้อง แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ปวดบริเวณช่องท้อง และอาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ผลข้างเคียงรุนแรง คือ ผิวหนังเป็นผื่นแดงคัน ผื่นลมพิษ บวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หายใจไม่ออก
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “ยาละลายเสมหะ (Mucolytic agents)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 276-277.
  2. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “BROMHEXINE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [14 ก.ย. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “บรอมเฮกซีน (Bromhexine)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [14 ก.ย. 2016].
  4. pharmaphila.  “บรอมเฮกซีน”.  (ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : pharmaphila.wordpress.com.  [14 ก.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด