น้ำเกลือ
น้ำเกลือเป็นสารน้ำที่นิยมใช้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นทั้งในและนอกสถานพยาบาล หลายคนอาจเคยได้ยินว่า “น้ำเกลือมีไว้ใช้ล้างแผล” แต่ในความเป็นจริงแล้ว…น้ำเกลือยังมีประโยชน์อีกมากมายหลายด้าน แต่น้ำเกลือไม่ได้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแต่อย่างใด !
โดยน้ำเกลือที่เรานิยมใช้และเรียกกันทั่วไปนั้นจะมีความเข้มข้นที่ 0.9% กล่าวคือ ในสารละลาย 100 มิลลิตร จะประกอบด้วยโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride : NaCl) อยู่ 0.9 กรัม* ซึ่งภาษาทางการแพทย์นั้นจะเรียกน้ำเกลือชนิดนี้ว่า “นอร์มัลซาไลน์” (Normal Saline Solution หรือ NSS) ซึ่งที่มาที่ไปของความเข้มข้นนี้ก็มาจากระดับความเข้มข้นเดียวกันกับของเหลวในร่างกายในมนุษย์ครับ ไม่ได้มาจากการนำน้ำไปผสมเกลือแบบง่าย ๆ แต่อย่างใด และในขั้นตอนการผลิตจะต้องผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อ (Sterile) และสารก่อไข้ (Pyrogen) ด้วยความร้อนสูง
นอกจากน้ำเกลือชนิด Normal Saline Solution (NSS) ที่เรากำลังพูดถึงในบทความนี้แล้ว ยังมีน้ำเกลือชนิดอื่น ๆ ด้วยนะครับ เพียงแต่เราจะไม่ได้พูดถึงกันในบทความนี้ครับ โดยน้ำเกลือแต่ละชนิดก็จะมีองค์ประกอบของเกลือแร่ต่าง ๆ ในปริมาณสัดส่วนที่ต่างกันไปตามการใช้งานครับ และส่วนใหญ่แพทย์จะเป็นคนใช้กับผู้ป่วยเพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำต่าง ๆ ได้แก่ 5% Dextrose in Water (5% D/W), 5% Dextrose in Normal Saline Solution (5% D/NSS), 5% Dextrose in 1/3 NSS
หมายเหตุ : น้ำเกลือชนิดนอร์มัลซาไลน์ 0.9% เป็นน้ำเกลือสำหรับใช้ภายนอกที่ผู้บริโภคสามารถซื้อมาใช้เองได้โดยไม่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ครับ นับเป็นไอเทมจำเป็นที่ต้องมีไว้ติดบ้าน เพราะมีประโยชน์หลายอย่างและสามารถใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีบาดแผล, ผู้ที่มีแผลในปาก, ผู้ที่มีปัญหาสิว, ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้, ผู้ที่ทำงานหรือเดินทางในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองมาก, ผู้ใช้คอนแทคเลนส์, ผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพอนามัยในช่องปาก, ผู้ที่ได้รับบริการด้านทันตกรรม รวมถึงผู้ที่มีอาการเนื่องมาจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ
ประโยชน์จากน้ำเกลือปราศจากเชื้อ
- น้ำเกลือล้างจมูก (ใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่) เพื่อชะล้างน้ำมูก เชื้อแบคทีเรีย และสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ ลดอาการคัดจมูก แน่นจมูก อาการน้ำมูกไหลลงคอ ทำให้โพรงจมูกโล่งสะอาด หายใจได้สะดวกมากขึ้น นอกจากนี้การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือยังช่วย…
- ให้ความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุจมูก บรรเทาอาการระคายเคืองในจมูก
- ช่วยลดจำนวนของเชื้อโรค สารก่อภูมิแพ้ สารก่อการระคายเคือง รวมทั้งสิ่งสกปรกที่อยู่ในโพรงจมูก
- ช่วยป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกและไซนัสไปสู่ปอด
- ช่วยให้เยื่อบุโพรงจมูกชุ่มชื้น มีความต้านทานต่อเชื้อก่อโรคมากยิ่งขึ้น
- มีส่วนช่วยให้ขนพัดโบกในโพรงจมูก (Cilia) กำจัดสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น
- บรรเทาอาการคัดจมูกในผู้ที่มีอาการเยื่อจมูกอักเสบ
- การล้างจมูกก่อนพ่นยาในโพรงจมูกจะทำให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้มากขึ้น และส่งผลให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น
- ผลการศึกษาพบว่าการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือในผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส จะช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของอาการทางจมูก ลดการใช้ยาบรรเทาอาการ ลดปริมาณสารคัดหลั่งและการอุดกั้นของโพรงจมูก
- ผลการศึกษาในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ พบว่าการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยลดความรุนแรงของอาการแพ้ ลดการใช้ยาต้านฮีสตามีน และลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ (Leukotriene และ Histamine)
- ผลการศึกษาในผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง พบว่าการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือร่วมกับยาที่ใช้รักษา เปรียบเทียบกับการใช้ยารักษาเพียงอย่างเดียว พบว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะมีอาการทางไซนัสดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะและยาพ่นจมูก
- วิธีการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ มีขั้นตอนดังนี้
- a ) หาภาชนะมารองรับน้ำเกลือที่จะออกมาทางจมูกและปาก เช่น กะละมังใบเล็ก ๆ หรือล้างในอ่างล้างหน้า ล้างมือให้สะอาด
- b ) สวมจุกล้างจมูกเข้ากับกระบอกฉีดยา
- c ) ดึงก้านสูบของกระบอกฉีดยาออก ใช้นิ้วมืออุดปลายกระบอกฉีดยาไว้ แล้วเทน้ำเกลือลงกระบอกฉีดยา ประมาณ 10-15 ซีซี (ในผู้ใหญ่) หรือประมาณ 5 ซีซี (ในเด็ก) จากนั้นให้สวมก้านสูบกลับเข้าที่กระบอกฉีดยา หรือเพื่อความสะดวก สามารถหาภาชนะสะอาดมาใส่น้ำเกลือได้ เพื่อสูบน้ำเกลือจากภาชนะนั้น เช่น แก้วน้ำสะอาด (แต่เพื่อรักษาความสะอาดปราศจากเชื้อ แนะนำให้เทน้ำเกลือลงในกระบอกฉีดยาโดยตรง)
- d ) นั่งโน้มตัวไปข้างหน้าและก้มหน้าเล็กน้อย อยู่เหนือภาชนะรองรับน้ำเกลือซึ่งวางอยู่บนโต๊ะ หรืออยู่เหนืออ่างล้างหน้า
- e ) ควรเริ่มล้างจมูกข้างที่โล่งกว่าหรือคัดน้อยกว่าก่อน นำปลายจุกล้างจมูก ใส่เข้าไปในจมูกข้างที่จะล้าง อ้าปาก หายใจเข้าเต็มที่ แล้วกลั้นหายใจไว้ก่อนที่จะฉีดน้ำเกลือ ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือด้วยการดันก้านสูบของกระบอกฉีดยาเบา ๆ ให้น้ำเกลือไหลเข้าไปในจมูกช้า ๆ จนน้ำเกลือไหลออกมาทางรูจมูกอีกข้าง หรือทางปาก
- f ) สั่งน้ำมูกพร้อม ๆ กันทั้งสองข้าง (ให้สั่งน้ำมูกเบา ๆ โดยไม่ต้องอุดรูจมูกอีกข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกระเทือนแก้วหู และไม่ควรกลั้นหายใจนานเกินไป เพราะน้ำเกลืออาจไหลย้อนไปไซนัสได้ครับ) แล้วบ้วนน้ำเกลือและน้ำมูกส่วนที่ไหลลงคอทิ้ง จากนั้นให้ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งในแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูกออกมา (การล้างจมูกจะใช้น้ำเกลือค่อนข้างมาก จึงนิยมใช้น้ำเกลือขวดใหญ่ขนาด 1,000 ml. และปกติแล้วเราจะล้างจมูกเมื่อมีน้ำมูกเหนียวจำนวนมาก ถ้ามีน้อยให้ใช้วิธีสั่งออกมา หรืออย่างน้อยให้ล้างวันละ 2 ครั้งเช้าช่วงตื่นนอนและก่อนเข้านอน)
- น้ำเกลือหยดรูจมูก เพื่อลดความเหนียวข้นของน้ำมูก ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุจมูก บรรเทาอาการคัดจมูกในเด็กทารกและเด็กเล็กที่มีอาการหวัด มีการติดเชื้อทางเดินหายใจหรือโพรงจมูกอักเสบ
- น้ำเกลือทำความสะอาดผิวหน้า ซึ่งใช้ในกรณีดังต่อไปนี้
- มีคุณสมบัติช่วยเติมความชุ่มชื้นให้ผิว ใช้เช็ดหลังจากล้างหน้าเสร็จ ผิวที่ชุ่มชื่นจะช่วยให้ครีมบำรุงซึมซาบได้ดียิ่งขึ้น
- ใช้ทำความสะอาดบริเวณที่เป็นสิวภายหลังการรักษาสิวหรือหลังการกดสิว ทั้งสิวอักเสบและสิวอุดตัน (แต่ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ) โดยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือแสบร้อนบนใบหน้า
- น้ำเกลือชะล้างดวงตา บรรเทาอาการระคายเคืองจากฝุ่นละอองหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ และยังช่วยให้อาการตาแห้งและคันตาดีขึ้นอีกด้วย โดยวิธีการล้างดวงตาก็คือให้เอียงศีรษะไปด้านหลัง จากนั้นให้หยดน้ำเกลือใส่ดวงตาในลักษณะเดียวกับที่เราใช้ยาหยอดตา หรืออาจใส่น้ำเกลือไว้ในถ้วยสะอาดจนเต็ม ลืมตาแล้วจึงก้มลงให้ดวงตาสัมผัสกับน้ำเกลือเพื่อให้สิ่งสกปรกหลุดออกไปก็ได้
- อมน้ำเกลือกลั้วปากและลำคอ เพื่อความสะอาดและรักษาสุขอนามัยในช่องปาก ส่งผลให้…
- ช่วยลดการสะสมของเชื้อโรคในช่องปากช่วยส่งเสริมการหายของแผลภายในช่องปาก เช่น แผลร้อนใน แผลถอนฟัน แผลผ่าตัด (ให้ใช้อมกลั้วปากเพื่อใช้รักษาแผลในปาก โดยใช้วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 นาที โดยในขณะอมน้ำเกลือกลั้วปากและลำคอให้แหงนหน้าขึ้นเล็กน้อย)
- น้ำเกลือล้างแผล เช่น บาดแผลทั่วไป แผลเปิด แผลไฟไหม้ แผลกดทับ แผลผ่าตัด แผลจากการเจาะร่างกาย โดยไม่ทำให้รู้สึกแสบหรือระคายเคือง เนื่องจากน้ำเกลือเป็นสารละลายไอโซโทนิค (Isotonic) ที่มีความสมดุลกับน้ำในเซลล์ร่างกาย จึงเหมาะกับการนำไปทำความสะอาดแผล
- บาดแผลทั่วไป ควรล้างแผลให้สะอาดก่อนพันปิดบาดแผล โดยขั้นตอนแรกให้คุณล้างมือให้สะอาดก่อนทำแผล หากแผลมีสิ่งปนเปื้อนหรือฝุ่นผงให้ล้างแผลโดยใช้น้ำเกลือฉีดราดล้างบาดแผลเบา ๆ (ห้ามใช้สำลีเช็ดแผล เพราะเส้นใยอาจติดอยู่ในแผล และห้ามใช้ยาฆ่าเชื้อล้างแผล เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อเสียหายและเกิดแผลบาดเจ็บเพิ่มเติม) เมื่อล้างสิ่งสกปรกออกจากแผลแล้ว ให้นำผ้าก๊อซไปชุบน้ำเกลือให้เปียกหมาด ๆ แล้วทาหรือเช็ดบริเวณรอบบาดบาดแผล (หากแผลเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ให้ใช้ยาฆ่าเชื้อที่ใช้สำหรับภายนอก เช่น เบตาดีน ใส่หลังล้างแผล) เสร็จแล้วจึงปิดแผลด้วยผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์ที่ปลอดเชื้อเพื่อลดโอกาสที่เชื้อโรคต่าง ๆ จะเข้าสู่แผลและป้องกันแผลเสียดสีกับเสื้อผ้า
- แผลผ่าตัด แพทย์จะเย็บปิดแผลไว้หลังผ่าตัด ผู้ป่วยจึงไม่ต้องทำแผลใด ๆ เพิ่มเติม การล้างแผลต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น โดยขั้นตอนการทำความสะอาดแผลผ่าตัดควรใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อ ห้ามทำความสะอาดแผลด้วยน้ำยาทำความสะอาด แอลกอฮอล์ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ไอโอดีน หรือสบู่ขจัดแบคทีเรีย เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีฤทธิ์ทำลายโปรตีนในเนื้อเยื่อบริเวณแผล ทำให้เกิดเนื้อตาย แผลสมานตัวช้า แสบร้อน และระคายเคือง
คำแนะนำในการใช้น้ำเกลือ
- น้ำเกลือไม่ได้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค
- ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์น้ำเกลือที่มีฉลาก วันผลิต และวันหมดอายุชัดเจน รวมถึงต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ มีกระบวนการผลิตที่ปลอดเชื้อด้วยกรรมวิธีที่ได้มาตรฐานด้วยการใช้ความร้อนสูง และอาจเป็นขวดบรรจุแบบใส เพื่อช่วยให้เห็นสิ่งปนเปื้อนแปลกปลอม หรือเห็นความผิดปกติของน้ำเกลือภายในขวดได้ง่าย
- ควรใช้น้ำเกลือให้หมดภายหลังจากการเปิดใช้ครั้งแรกไม่เกิน 30 วันและจดบันทึกวันที่เปิดใช้ขวดน้ำเกลือทุกครั้ง เนื่องจากน้ำเกลือไม่มีสารกันเสีย หากถูกเปิดใช้เป็นประจำก็อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียได้ เราจึงต้องระมัดระวังในระหว่างการใช้งานและเก็บรักษา โดยควรล้างมือให้สะอาดก่อนใช้น้ำเกลือ เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง (ห่างความชื้น ความร้อน และแสงแดด) หยุดใช้หากน้ำเกลือปนเปื้อนสิ่งสกปรกหรือเกิดการเปลี่ยนสี
- น้ำเกลือที่เก็บในอากาศร้อนจะยังมีคุณสมบัติดีเช่นเดิม แม้ว่าบนฉลากขวดน้ำเกลือส่วนใหญ่จะระบุวิธีเก็บรักษาให้อยู่ในอุณภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียสก็ตาม เพราะส่วนประกอบของน้ำเกลือมีความคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และน้ำเกลือทุกขวดต้องผ่านกระบวนการผลิตฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิมากกว่า 100 องศาเซลเซียส
- สำหรับ NSS ที่บรรจุในแอมพูลพลาสติกขนาดเล็กสำหรับใช้เพียงครั้งเดียว ใช้ผสมยาฉีดในโรงพยาบาล ในการใช้งานให้บิดหลอดแอมพูลออกจากแขนง แล้วเขย่าเบา ๆ ให้น้ำยาที่ค้างปลายหลอดลงไปในหลอด จากนั้นให้ใช้มือข้างหนึ่งจับหลอดให้แน่น ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งของมืออีกข้างจับส่วนของปลายหลอดด้านบน แล้วบิดออกเพื่อเปิดใช้งาน (ปกติ NSS ในรูปแบบนี้มักนำมาใช้ในกรณีล้างดวงตา หยอดจมูก ล้างแผลขนาดเล็กครับ)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)