น้ำตาเทียม (Artificial tears) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

น้ำตาเทียม

น้ําตาเทียม (Artificial tears) เป็นเภสัชภัณฑ์ที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสารหล่อลื่นลูกตา ใช้รักษาและบรรเทาอาการตาแห้งเนื่องจากมีน้ำตาน้อย รวมถึงอาการระคายเคืองในลูกตา หรือใช้หล่อลื่นลูกตาขณะใส่คอนแทคเลนส์ เป็นต้น น้ำตาเทียมที่ผลิตออกมาจะมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์น้ำตาเทียมที่มีขายในประเทศไทยจะมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ สารละลาย (มีทั้งแบบ Multiple dose ที่ใส่สารกันเสีย และ Unit dose ที่ไม่ใส่สารกันเสีย) เจล และขี้ผึ้ง ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป

โดยทั่วไปน้ำตาเทียมจะจัดอยู่ในหมวดยาแผนปัจจุบันชนิดยาใช้ภายนอก ไม่ได้อยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ยาเสพติดหรือยาควบคุมพิเศษ แต่สำหรับบางชื่อการค้าจะจดทะเบียนเป็นยาใช้ภายนอกชนิดยาอันตราย อย่างไรก็ตามการใช้น้ำตาเทียมได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา ยังคงต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น

สำหรับส่วนประกอบหลักของน้ำตาเทียมในรูปแบบสารละลายและแบบเจลนั้นจะประกอบไปด้วยสารช่วยหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา เช่น เมทิลเซลลูโลส (Methylcellulose), คาร์บอกซิเมทิลเซลลูโลส (Carboxymethyl cellulose – CMC), ไฮดรอกซีเอทิลเซลลูโลส (Hydroxyethyl cellulose – HEC), ไฮดรอกซีโพรพิลเซลลูโลส (Hydroxypropyl cellulose – HPC), ไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลส (Hydroxypropyl methylcellulose – HPMC), เดกซ์แทรน (Dextran), โพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (Polyvinyl alcohol – PVA), โพลีเอทิลีนไกลคอล (Polyethylene glycol – PEG), โซเดียมไฮยาลูโรเนท (Sodium hyaluronate), คาร์โบเมอร์ (Carbomer) เป็นต้น นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยบัฟเฟอร์ (Buffer) ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ช่วยปรับสมดุลขององค์ประกอบอื่นในน้ำตาเทียม ควบคุมความเป็นกรดด่างของน้ำตาเทียมให้พอเหมาะและเข้ากับความเป็นกรดด่างของน้ำตา ทำให้ไม่แสบตาเวลาหยอด และช่วยคงสภาพของน้ำตาเทียม เช่น กรดบอริก (Boric acid) และโซเดียมบอเรต (Sodium borate) สารปรับสภาพตึงตัวเพื่อปรับออสโมลาริตี (Osmolarity) ของน้ำตาเทียมให้เข้ากับน้ำตา ที่นิยมใช้กันมากก็คือ โซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride) สารอิเล็กโทรไลต์หรือส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อช่วยทำให้น้ำตาเทียมมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด เช่น ไกลซีน (Glycine), แคลเซียมคลอไรด์ (Calcium chloride), แมกนีเซียมคลอไรด์ (Magnesium chloride), โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride), โซเดียมแลคเตท (Sodium lactate), ซิงค์ (Zinc) เป็นต้น สารกันเสียเพื่อช่วยให้น้ำตาเทียมคงสภาพได้นานและป้องกันการเติบโตของจุลชีพที่อาจปนเปื้อนเข้าไปขณะหยอด ทำให้สามารถเก็บใช้ได้นาน 1 เดือนหลังจากเปิดขวดใช้แล้ว เช่น เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium chloride)

ส่วนน้ำตาเทียมรูปแบบขี้ผึ้งนั้นจะประกอบไปด้วยสารช่วยหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา เช่น ลาโนลิน (Lanolin), ไวท์ปิโตรลาตัม (White petrolatum), น้ำมันมิเนรัล (Mineral oil) เป็นต้น และอาจจะใส่หรือไม่ใส่สารกันเสียในผลิตภัณฑ์ก็ได้

ตัวอย่างน้ำตาเทียม

น้ำตาเทียม มีชื่อทางการค้า เช่น อัลคอน เทียร์ส แนเชอรอล ฟรี (Alcon Tears Naturale Free), อัลคอน เทียร์ส แนเชอรอล 2 (Alcon Tears Naturale ll), เซลลูเฟรช เอ็มดี / เซลลูวิส เอ็มดี (Cellufresh MD / Celluvisc MD), เซลลูเฟรช / เซลลูวิส (Cellufresh / Celluvise), ดูราเทียร์ส (Duratears), เอ็นดูรา (Endura), เจนเทียล เจล (Genteal Gel), ไฮอะลิด (Hialid), ไอซอปโทเทียร์ส (Isopto Tears), แล็ค-ออปห์ (Lac-Oph), ลาครีวิส (Lacryvisc), ลิโพซิค (Liposic), ลิควิฟิล์ม (Liquifilm), แนทเทียร์ (Natear), ออฟซิลเทียร์ส (Opsil Tears), ออฟตัล-เทียร์ส (Optal-Tears), ออฟติ-ฟรี เพียวมอยส์ (OPTI-FREE Puremoist), ออปทีฟ (Optive), รีเฟรช (Refresh), เทียร์แมค (Tear mac), วิสลูบ อาร์ติฟิเชียล เทียร์ ฟอร์ วัน เดย์ (Vislube artificial tear for One day), วิดิซิค เจล (Vidisic Gel) ฯลฯ

รูปแบบและความแตกต่างของน้ำตาเทียม

  1. น้ำตาเทียมรูปแบบสารละลายชนิดขวด ขนาดบรรจุ 5, 15 และ 30 มิลลิลิตร
    • น้ำตาเทียมรูปแบบนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งเล็กน้อยและสะดวกใช้เป็นประจำ
    • มีราคาตามท้องตลาดถูกกว่ารูปแบบสารละลายชนิดแท่งใช้วันเดียวมาก
    • ใช้ง่ายกว่ารูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา ไม่เหนอะหนะ สามารถหยอดได้ในช่วงเวลากลางวันโดยไม่ทำให้ตาพร่ามัว แต่มีข้อเสียคือ ต้องใช้บ่อยกว่ารูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา
    • ใช้หยอดตาได้หลายครั้ง เนื่องจากมีสารกันเสียในตำรับ ทำให้สามารถใช้ได้นานประมาณ 1 เดือนหลังการเปิดขวดใช้ครั้งแรก
    • ใส่สารกันเสีย ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองตาได้ เนื่องจากสารกันเสียไปทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตา
    • หลังการเปิดใช้หยอดยาแต่ละครั้ง หากปิดขวดยาไม่สนิทหรือเก็บยาไม่มิดชิด อาจเกิดการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ในการใช้ยารูปแบบนี้จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการจัดเก็บและการใช้หยอดตาในครั้งถัดไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อที่ดวงตาติดตามมา

      น้ําตาเทียมnatear
      IMAGE SOURCE : pantip.com (by noopin), www.sabuyjaizone.com : น้ำตาเทียมแนทเทียร์ (Natear) ขนาด 10 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 140 บาท, น้ำตาเทียมเทียร์แมค (Tear mac) ขนาด 10 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 80-120 บาท

      น้ําตาเทียมยี่ห้อไหนดี
      น้ำตาเทียมเซลลูเฟรช เอ็มดี (Cellufresh MD) ขนาด 15 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 165 บาท, น้ำตาเทียมอัลคอน ออปติ-ฟรี (Alcon OPTI-FREE) ขนาด 10 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 140-180 บาท, น้ำตาเทียมเคลนส์ 100 (Clens 100) ขนาด 8 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 110-115 บาท, น้ำตาเทียมแล็ค-ออปห์ (Lac-Oph) ขนาด 10 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 60 บาท

  2. น้ำตาเทียมรูปแบบสารละลายชนิดแท่งใช้วันเดียว หรือ น้ำตาเทียมรายวัน (Monodose eye drops) ขนาดบรรจุหลอดละ 0.3, 0.4 และ 0.8 มิลลิลิตร บรรจุตั้งแต่ 20-60 หลอด ต่อ 1 กล่อง
    • น้ำตาเทียมรูปแบบนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีประวัติการแพ้สารกันเสียในน้ำตาเทียมหรือต้องหยอดตาบ่อย ๆ เป็นเวลานาน เพราะการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารกันเสียติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตาได้
    • มีราคาสูงกว่ารูปแบบแรก โดยภาชนะบรรจุน้ำตาเทียมรูปแบบนี้จะแบ่งบรรจุเป็นแท่งหรือหลอดเล็ก ๆ ทำให้สามารถแบ่งพกพาได้ตามจำนวนที่ต้องการใช้หยอดตา และสะดวกต่อการใช้งานในแต่ละวัน
    • ใช้ง่ายกว่ารูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา ไม่เหนอะหนะ สามารถหยอดได้ในช่วงเวลากลางวันโดยไม่ทำให้ตาพร่ามัว แต่มีข้อเสียคือ ต้องใช้บ่อยกว่ารูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา
    • การหยอดยาแต่ละครั้งจะได้ปริมาณน้ำตาเทียมเท่ากันของการหยอดแต่ละครั้ง
    • ไม่มีสารกันเสีย จึงมีอายุการใช้งานภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเปิดใช้ครั้งแรก แต่มีข้อดีคือ ให้ความรู้สึกสบายตากว่า สามารถช่วยลดโอกาสตาแพ้สารกันเสียได้ (แต่ยังอาจแพ้สารเพิ่มความหนืดของน้ำตาเทียมได้อยู่) และมีโอกาสปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกภายนอกได้น้อยกว่า

      น้ําตาเทียมvislubeราคาเท่าไหร่
      IMAGE SOURCE : goods-pharmacy.lnwshop.com, www.pharmashop4u.com : น้ำตาเทียมวิสลูบ (Vislube) หลอดละ 0.3 มิลลิลิตร (1 กล่อง มี 20 หลอด ราคากล่องละประมาณ 485 บาท)

      น้ําตาเทียม cellufresh ราคา
      IMAGE SOURCE : www.discountdrugstores.com.au : น้ำตาเทียมเซลลูเฟรช (Cellufresh) หลอดละ 0.4 มิลลิลิตร (1 กล่อง มี 30 หลอด ราคากล่องละประมาณ 378-405 บาท)

      น้ําตาเทียม alcon ราคา
      IMAGE SOURCE : www.terapeak.com, pantip.com (by SomaOh) : น้ำตาเทียมอัลคอน เทียร์ส แนเชอรอล ฟรี (Alcon Tears Naturale Free) หลอดละ 0.8 มิลลิลิตร (1 กล่อง มี 32 หลอด ราคากล่องละประมาณ 365-400 บาท)

  3. น้ำตาเทียมรูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา ขนาดบรรจุ 3.5 กรัม
    • มีความหนืดมากกว่าน้ำตาเทียมรูปแบบสารละลายชนิดขวดและชนิดแท่งใช้วันเดียว จึงทำให้ความถี่ในการใช้ยาน้อยกว่าทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าว
    • ด้วยความที่มีความหนืดมากกว่า ทำให้น้ำระเหยช้าลงจึงช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตาได้นานกว่า จึงเหมาะสำหรับใช้ในผู้ที่มีอาการตาแห้งระดับปานกลางถึงรุนแรง
    • สามารถใช้ได้นานตามข้อกำหนดในเอกสารกำกับยาของแต่ละบริษัทยา แต่ต้องเก็บยาหลังการเปิดใช้ด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม
    • มักรบกวนการมองเห็นมากกว่าน้ำตาเทียม 2 รูปแบบแรก โดยอาจทำให้ตาพร่ามัวหลังหยอดหรือป้ายตาชั่วขณะ จึงแนะนำให้ใช้ในช่วงก่อนนอน ส่วนผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ไม่ควรใช้น้ำตาเทียมรูปแบบนี้ เพราะจะรบกวนการมองเห็นภาพและอาจทำให้คุณภาพของคอนแทคเลนส์ลดลงไป
    • ในสูตรตำรับอาจพบองค์ประกอบของลาโนลิน (Lanolin), ไวท์ปิโตรลาตัม (White petrolatum) หรือน้ำมันมิเนรัล (Mineral oil) ซึ่งเป็นตัวช่วยทำให้ฟิล์มของน้ำตาเทียมรูปแบบขี้ผึ้งจับที่ผิวดวงตาได้นานขึ้น จึงให้ความรู้สึกเหนอะหนะที่ตา

      น้ําตาเทียมแบบเจล
      IMAGE SOURCE : www.mims.com : วิดิซิคเจล (Vidisic Gel) น้ำตาเทียมแบบเจลขนาด 10 กรัม ราคาประมาณ 90-130 บาท

สรรพคุณของน้ำตาเทียม

  • ช่วยให้ตาชุ่มชื้น หล่อลื่นลูกตา ในผู้ที่มีอาการตาแห้ง (Dry eye) มีน้ำตาน้อย (โดยทั่วไปมักพบในผู้สูงอายุที่ต่อมน้ำตาทำงานน้อยลงตามอายุ โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน รวมไปถึงผู้ที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ทำให้มีการกะพริบตาน้อยกว่าปกติ เมื่อรู้สึกระคายเคืองตาหรือแสบตาและหลับตาพักแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมเพื่อบรรเทาอาการ) หรือในผู้ที่มีอาการตาแห้งเนื่องจากรังสีความร้อน (มักพบในผู้ที่ทำงานกลางแดด ถูกลมพัดมาก หรือทำงานในอากาศร้อนและแห้ง เพราะจะทำให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาระเหยออกไปมากกว่าปกติ) และผู้ที่เสี่ยงต่อตาแห้ง เช่น อัมพาตเบลล์ ตาโปนในผู้ป่วยคอพอกเป็นพิษ
  • ใช้หล่อลื่นลูกตาหลังการผ่าตัดต้อกระจกหรือหลังการทำเลสิก
  • (LASIK)
  • ใช้บรรเทาอาการระคายเคืองดวงตาอันเนื่องมาจากฝุ่นและควันบุหรี่
  • ช่วยบรรเทาอาการแผลที่กระจกตา (กระจกตาอักเสบ)
  • ช่วยบรรเทาอาการกระจกตาถลอก
  • ใช้เป็นตัวช่วยในการรักษาอาการของต้อหิน
  • น้ำตาเทียมบางสูตรตำรับจะถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้กับคอนแทคเลนส์

กลไกการออกฤทธิ์ของน้ำตาเทียม

น้ำตาเทียมหรือสารหล่อลื่นลูกตาส่วนใหญ่จะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยการทำตัวเป็นฟิล์มหรือเยื่อบาง ๆ และมีความหนืดในตัวเอง ทำให้เกิดการจับและหล่อลื่นที่ผิวของดวงตา จึงช่วยลดอาการระคายเคืองและช่วยให้รู้สึกสบายภายในลูกตาหลังการหยอดน้ำตาเทียมได้

ก่อนใช้น้ำตาเทียม

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงน้ำตาเทียม สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้น้ำตาเทียม และยาอื่น ๆ ทุกชนิด โดยเฉพาะยาหยอดตา รวมทั้งอาการจากการแพ้ยาดังกล่าว เช่น หยอดยาแล้วมีอาการปวด แสบ หรือระคายเคือง เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะน้ำตาเทียมอาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ (แต่โดยปกติแล้วน้ำตาเทียมเป็นยาใช้ภายนอกที่ใช้กับตา จึงมีข้อมูลที่ก่อปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานได้น้อยมาก ยกเว้นการใช้น้ำตาเทียมร่วมกับยาหยอดตาชนิดอื่น ๆ เพราะน้ำตาเทียมอาจรบกวนการดูดซึมของยาหยอดตาได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรหยอดยาแต่ละชนิดให้ห่างกันอย่างน้อยประมาณ 10 นาที)

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้น้ำตาเทียม

  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพแล้ว โดยเฉพาะน้ำตาเทียมที่มีการเปลี่ยนสีไปจากมาตรฐานเดิมของผู้ผลิต
  • ห้ามนำน้ำตาเทียมที่ออกแบบมาให้ใช้เพียง 1 วันกลับมาใช้ใหม่ และหากใช้หยอดตาไม่หมดให้ทิ้งไปหลังการใช้
  • ห้ามใช้น้ำตาเทียมร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้อื่น
  • ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลของผลกระทบจากการใช้น้ำตาเทียมในหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตรและในเด็ก ด้วยเพราะน้ำตาเทียมเป็นยาใช้เฉพาะที่ ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจในการให้ใช้เป็นกรณีไป
  • ควรระวังการแพ้ส่วนประกอบของน้ำตาเทียม เช่น สารยับยั้งเชื้อหรือสารกันเสีย (Preservatives)

วิธีใช้น้ำตาเทียม

  • โดยทั่วไปน้ำตาเทียมจะมีขนาดการบริหารยาและวิธีการใช้ยาดังนี้
    • สำหรับอาการตาแห้ง ระคายเคืองตาเล็กน้อย ให้ใช้หยดตาครั้งละ 1-2 หยด วันละ 3-4 ครั้ง (น้ำตาเทียมรูปแบบสารละลายชนิดขวด โดยปกติไม่ควรใช้เกินวันละ 4 ครั้ง เพราะสารกันเสียที่ผสมอยู่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระจกตาได้)
    • สำหรับอาการตาแห้งรุนแรง ให้ใช้หยดตาครั้งละ 1-2 หยด วันละ 10-12 ครั้ง (เฉพาะแพทย์สั่ง)
    • สำหรับน้ำตาเทียมรูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา ให้ป้ายยาวันละ 1-2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนเข้านอน (ถ้าใช้วันละครั้งแนะนำให้ป้ายตาก่อนเข้านอน)
  • วิธีใช้น้ำตาเทียม (วิธีการใช้ วิธีการหยอดยา วิธีการป้ายน้ำตาเทียม) ให้ผู้ป่วยปฏิบัติดังนี้
    • ล้างมือให้สะอาด
    • แหงนหน้าขึ้น โดยให้อยู่ในมุมที่ถนัดที่สุด แล้วใช้มือข้างหนึ่งดึงเปลือกตาล่างลงมาเบา ๆ ให้เป็นกระเปาะหรือกระพุ้งเพื่อเปิดพื้นที่ของการหยอดน้ำตาเทียม
    • เหลือบตามองขึ้นข้างบน และวางปลายหลอดน้ำตาเทียมในตำแหน่งที่ห่างจากดวงตาพอประมาณ แล้วบีบหลอดยาของน้ำตาเทียมให้ยาหยดลงตรงบริเวณดวงตาด้วยมืออีกข้าง โดยจำนวนที่หยดให้ใช้ตามคำสั่งของแพทย์ผู้ให้การรักษา ซึ่งโดยทั่วไปคือประมาณ 1-2 หยด (ควรระมัดระวังไม่ให้ปลายหลอดน้ำตาเทียมแตะโดนบริเวณดวงตาหรือใบหน้า หรือสัมผัสปลายนิ้วมือหรือส่วนใดของร่างกาย เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์เข้าไปเจริญเติบโตอยู่ในยา)
    • จากนั้นให้หลับตาและกลอกตาไปมาประมาณ 2-3 นาที พร้อมกับเอียงศีรษะเพื่อไม่ให้น้ำตาเทียมไหลออกมาจากดวงตา
    • เช็ดยาส่วนเกินที่หยดออกมานอกดวงตาด้วยกระดาษชำระหรือผ้าที่สะอาด
    • ล้างมือหลังหยอดตาให้สะอาด เพราะอย่าลืมว่าการติดเชื้ออาจเป็นที่ตาอีกข้างหนึ่งได้ ถ้าเอามือสกปรกที่แตะหนังตาหรือขี้ตามาถูกตาอีกข้างหนึ่ง
    • หลังจากหยอดน้ำตาเทียมแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการกะพริบตาถี่ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาเทียมไหลออกจากตาเร็วขึ้น และให้ใช้นิ้วมือคลึงเบา ๆ บริเวณหัวมุมของเปลือกตาเพื่อช่วยกระจายน้ำตาเทียมให้ทั่วตา

ประโยชน์ของน้ำตาเทียม
IMAGE SOURCE : www.allaboutvision.com

คำแนะนำในการใช้น้ำตาเทียม

  • การเลือกใช้น้ำตาเทียมแต่ละแบบจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวันด้วย หากผู้ป่วยมีความสะดวกที่จะใช้ชนิดหยอดตาได้หลายครั้งในระหว่างวัน ควรเลือกใช้น้ำตาเทียมรูปแบบสารละลายชนิดขวดหรือแบบแท่งใช้วันเดียว เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 แบบนี้มีความหนืดน้อย จึงรบกวนเรื่องการมองเห็นน้อยกว่ารูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าในระหว่างวันไม่มีความสะดวกในการใช้ก็ให้เลี่ยงมาใช้รูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา โดยใช้ป้ายตาวันละ 1 ครั้งก่อนนอน
  • ขนาดของการหยอดยารวมถึงความถี่ของการใช้ยาในแต่ละวันจะขึ้นอยู่กับชนิดของสารสำคัญในน้ำตาเทียมแต่ละยี่ห้อ ผู้ป่วยจึงควรใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์ ประกอบกับทำความเข้าใจถึงวิธีการใช้จากเอกสารกำกับยาอย่างละเอียด
  • น้ำตาเทียมที่ใช้กับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ควรเป็นสูตรตำรับสำหรับคอนแทคเลนส์โดยเฉพาะ
  • สำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำตาเทียมที่ใส่สารกันเสียที่อาจทำให้เกิดการทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตา เช่น สารเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium chloride) เนื่องจากคอนแทคเลนส์สามารถดูดซับสารนี้ได้และทำให้เยื่อบุกระจกตาสัมผัสกับสารนี้เป็นเวลานาน จึงอาจทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตาได้ ดังนั้นผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์จึงควรเลือกใช้น้ำตาเทียมรูปแบบสารละลายชนิดแท่งใช้วันเดียว (Monodose eye drops) หรือเลือกใช้น้ำตาเทียมที่ใส่สารกันเสียชนิดที่เป็นพิษต่อเยื่อบุกระจกตาน้อย เช่น Stabilized oxychloro complex (Purite®), Polyquaterium-1 (Polyquad®) สารประกอบระหว่าง Boric acid, Zinc, Sorbital และ Propylene glycol (SofZia™) แต่หากจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมที่มีสารเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium chloride) ควรถอดคอนแทคเลนส์ออกก่อนหยอดน้ำตาเทียม แล้วจึงค่อยใส่คอนแทคเลนส์หลังจากหยอดตาเสร็จแล้วประมาณ 10 นาที
  • หากต้องใช้น้ำตาเทียมร่วมกับยาหยอดตาชนิดอื่น ควรเว้นระยะเวลาห่างกันอย่างน้อยประมาณ 10 นาที
  • ผู้ที่มีอาการตาแห้งขั้นรุนแรงและเรื้อรังควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาที่สาเหตุของอาการ
  • หากพบอาการผิดปกติหลังการใช้ยาหยอด เช่น มีอาการระคายเคืองตามาก ให้หยุดใช้ยาทันทีและรีบปรึกษาจักษุแพทย์

การเก็บรักษาน้ำตาเทียม

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • สำหรับน้ำตาเทียมแบบสารละลายชนิดขวด ให้เก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิระหว่าง 15-25 องศาเซลเซียส และไม่ควรใช้นานเกิน 1 เดือน ส่วนน้ำตาเทียมรูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา ให้เก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 15-30 องศาเซลเซียส
  • สำหรับน้ำตาเทียมแบบสารละลายชนิดแท่งใช้วันเดียว เมื่อเปิดใช้แล้ว ควรใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง
  • เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น เพราะความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว (ไม่ว่าจะน้ำตาเทียมหรือยาหยอดตาชนิดใด หากครบกำหนดอายุการใช้งานแล้วควรทิ้งส่วนที่เหลือทันที เนื่องจากอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียได้)

เมือลืมใช้น้ำตาเทียม

หากลืมหยอดยา ให้หยอดยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับการหยอดยาในเวลาถัดไป ให้ข้ามไปหยอดยาในเวลาถัดไปได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือมากกว่าปกติ

ผลข้างเคียงของน้ำตาเทียม

  • อาจทำให้การมองเห็นภาพไม่ค่อยชัดเจน เกิดการระคายเคืองตาเล็กน้อย ทำให้เกิดการแพ้แสงสว่าง มีอาการคล้ายกับตาแฉะ ทำให้เปลือกตาบวม ซึ่งอาการข้างเคียงดังกล่าวอาจเกิดจากสารอื่น ๆ ที่เป็นองค์ประกอบร่วมในสูตรตำรับยา เช่น สารเพิ่มความหนืดของยา สารกันเสีย เป็นต้น

การใช้น้ำตาเทียมจะมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรูปแบบของน้ำตาเทียมและความรุนแรงของอาการของผู้ป่วย ดังนั้นจึงควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ และควรพึงระลึกไว้เสมอว่า “น้ำตาเทียมมีไว้ใช้สำหรับบรรเทาอาการตาแห้งเท่านั้น ไม่สามารถใช้รักษาหรือแก้ไขสาเหตุของอาการตาแห้งได้” ผู้ป่วยควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษาที่ต้นเหตุต่อไป

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “น้ำตาเทียม (Artificial tear)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 311.
  2. หาหมอดอทคอม.  “น้ําตาเทียม (Artificial tears)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [01 พ.ย. 2016].
  3. หน่วยคลังข้อมูลยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “น้ำตาเทียมกับตาแห้ง”.  (นศภ.จิรัชญา เตชะพิริยะกุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [01 พ.ย. 2016].
  4. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.).  “น้ําตาเทียม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.nstda.or.th.  [02 พ.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด