น้อยโหน่ง
น้อยโหน่ง ชื่อสามัญ Custard apple หรือ Bull’s heart, Bullock’s heart, Ox-heart, Wild-Sweetsop
น้อยโหน่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Annona reticulata L. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)
น้อยโหน่ง ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ อีก เช่น มะดาก (แพร่ เพชรบุรี), เร็งนา (กาญจนบุรี), หนอนลาว (อุบลราชธานี), หมากอ้อ (แม่ฮ่องสอน), มะโหน่ง มะเนียงแฮ้ง (ภาคเหนือ), น้อยหนัง (ภาคใต้) เป็นต้น
ลักษณะของน้อยโหน่ง
- ต้นน้อยโหน่ง มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง และเชื่อว่าได้มีการนำเข้ามาในไทยในสมัยอยุธยา โดยจัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ความสูงของลำต้นประมาณ 5-8 เมตร เปลือกต้นแก่มีสีเทา ส่วนลักษณะของใบน้อยโหน่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ เป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับ โคนใบแหลม ใบสีเขียวสด
- ดอกน้อยโหน่ง ลักษณะของดอกน้อยโหน่งจะคล้าย ๆ กับดอกน้อยหน่า ออกเป็นดอกเดี่ยว ๆ หรือออกเป็นช่อกระจุก 2-3 ดอก กลีบดอกค่อนข้างหนา มีกลีบดอก 3 กลีบ กลีบดอกมีสีเหลืองแกมเขียว และดอกมีกลิ่นหอมแบบเอียน ๆ (บางคนชอบ แต่บางไม่ชอบ)
- ผลน้อยโหน่ง ขนาดของผลจะมีขนาดใหญ่กว่าน้อยหน่า ผลรูปกลมหรือรูปทรงหัวใจ ผิวเปลือกบางเรียบแต่เหนียว ไม่มีตาโปนออกมาตามเปลือกเหมือนน้อยหน่า ผลดิบเปลือกมีสีเขียวจาง ๆ ปนแดงเรื่อ ๆ แต่เมื่อสุกจะเป็นสีแดงอมน้ำตาลเข้ม เนื้อข้างในผลหนามีสีขาว มีเมล็ดจำนวนมาก และมีรสหวานแต่ไม่เท่าน้อยหน่า โดยน้อยโหน่งจะได้รับความนิยมในการรับประทานน้อยกว่าน้อยหน่า เนื่องจากผลน้อยโหน่งมีกลิ่นฉุนนั่นเอง
สรรพคุณของน้อยโหน่ง
- ผลดิบใช้รับประทานแก้ท้องร่วง แก้อาการบิด (ผลดิบ)
- น้อยโหน่งมีสรรพคุณช่วยขับพยาธิในร่างกาย (ผลดิบ)
- ใบใช้ตำนำมาพอกแก้อาการฟกบวม (ใบ)
- เปลือกใช้เป็นยาห้ามเลือดและช่วยสมานแผลได้ (เปลือก)
- เมล็ดใช้เป็นยาสมานแผล (เมล็ด)
- ช่วยฆ่าพยาธิที่ผิวหนัง กลาก เกลื้อน เรื้อน หิด คุดทะราด (เมล็ด)
- ใบคั้นแต่น้ำใช้เป็นยาฆ่าเหาได้ (ใบ)
ประโยชน์ของน้อยโหน่ง
- ผลสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้สด (ผลสุก)
- เมล็ดสามารถนำไปทำเป็นยาฆ่าแมลงหรือยาพิษอย่างแรงได้ (เมล็ด)
- ใบสดน้อยโหน่งใช้ต้มเอาน้ำนำมาทำเป็นสีย้อมได้ โดยจะให้สีดำและสีน้ำเงินสวยงาม และยังติดทนนานอีกด้วย
คุณค่าทางโภชนาการของน้อยโหน่ง ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 101 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 25.2 กรัม
- เส้นใย 2.4 กรัม
- ไขมัน 0.6 กรัม
- โปรตีน 1.7 กรัม
- วิตามินบี 1 0.08 มิลลิกรัม 7%
- วิตามินบี 2 0.1 มิลลิกรัม 8%
- วิตามินบี 3 0.5 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 5 0.135 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 6 0.221 มิลลิกรัม 17%
- วิตามินซี 19.2 มิลลิกรัม 23%
- ธาตุแคลเซียม 30 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุเหล็ก 0.71 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุแมกนีเซียม 18 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุฟอสฟอรัส 21 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุโพแทสเซียม 382 มิลลิกรัม 8%
- ธาตุโซเดียม 4 มิลลิกรัม 0%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร, เว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร, www.thaigoodview.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)