กร่าง
กร่าง ชื่อสามัญ Banyan tree, Bar, East Indian Fig[1],[2]
กร่าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus benghalensis L.[4] (มักเขียนผิดเป็น Ficus bengalensis L.[1]) จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)[1],[2]
สมุนไพรกร่าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า นิโครธ หรือ ไทรนิโครธ (กรุงเทพฯ), ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “บันยัน” (Banyan), ในภาษาฮินดูเรียกว่า “บาร์คาด” (Bargad) ส่วน “กร่าง” เป็นชื่อเรียกของคนภาคกลางทั่วไป (ส่วนในวิกิพีเดียใช้ชื่อสมุนไพรชนิดนี้ว่า “ไกร“)[1],[2]
ลักษณะของต้นกร่าง
- ต้นกร่าง หรือ ต้นนิโครธ เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา และปากีสถาน และได้แพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร ลำต้นตรงขึ้นเป็นพูพอน แตกกิ่งก้านหนาทึบ ลักษณะเป็นเรือนยอดแผ่กว้างปลายกิ่งลู่ลง เปลือกต้นเรียบเกลี้ยง ลำต้นและกิ่งมีรากอากาศห้อยย้อยลงมามากมาย และเมื่อหยั่งถึงดินแล้วจะทำให้เกิดเป็นหลืบสลับซับซ้อน เป็นฉากเป็นห้อง หรือเป็นลำต้นต่อไปได้อีก ทุกส่วนของลำต้นมียางสีขาว กิ่งอ่อนมีขนนุ่มอยู่หนาแน่น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด หรือโดยวิธีทางธรรมชาติที่นกหรือ ค้างคาวจะกินผลแล้วถ่ายมูลที่มีเมล็ดติดอยู่ไปยังที่ต่าง ๆ หรือจะขยายพันธุ์ด้วยการปักชำหรือการตอนกิ่งก็ทำได้เช่นกัน โดยสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิดที่ค่อนข้างมีความชุ่มชื้น[1],[2],[4]
- ใบกร่าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมน บ้างว่ามีติ่งแหลมสั้น โคนใบเรียบหรือโค้งกว้าง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-14 เซนติเมตรและยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีเส้นแขนงของใบประมาณ 4-6 คู่ ก้านใบอวบ ยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีหูใบหุ้มยอดอ่อน[1],[4] ใบอ่อนมีขนหนามากโดยเฉพาะในส่วนของท้องใบ ส่วนใบแก่ไม่มีขน ใบเมื่อแก่จะร่วงหล่นและมีรอยแผลใบให้เห็นเด่นชัดบนกิ่ง[2]
- ดอกกร่าง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อมะเดื่อตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก เจริญเติบโตอยู่ภายใต้ฐานรองดอก ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ภายในดอกประกอบไปด้วยดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย โดยดอกตัวเมียจะอยู่ใกล้กับรูปากเปิด[1]
- ผลกร่าง ผลมีขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร บ้างว่าประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียวเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงสีส้ม และเมื่อแก่ผลจะเป็นสีแดงคล้ำหรือสีเลือดหมู ในแต่ละผลจะมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ประมาณ 2-4 กลีบ[1],[2],[4]
สรรพคุณของกร่าง
- เมล็ดใช้เป็นยาเย็นและยาบำรุงร่างกาย (เมล็ด)[2],[3]
- เปลือกต้นทำเป็นยาชงใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้โรคเบาหวาน (เปลือกต้น)[3],[4]
- รากนำมาเคี้ยวเพื่อช่วยป้องกันโรคเหงือกบวม (ราก)[4]
- ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย แก้ท้องเดิน (เปลือกต้น, ยาง)[1],[2],[3],[4]
- ใบและเปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง (ใบ, เปลือกต้น)[4]
- ยางและเปลือกต้นใช้แก้บิด (เปลือกต้น, ยาง)[3]
- ผลสุกใช้รับประทาน มีฤทธิ์เป็นยาระบาย (ผลสุก)[4]
- ช่วยแก้อาการถ่ายเป็นมูกเลือด (ใบ, เปลือกต้น)[4]
- ยางจากต้นใช้แก้โรคริดสีดวงทวาร (ยาง)[4]
- ใบและเปลือกต้นใช้เป็นยาช่วยห้ามเลือด (ใบ, เปลือกต้น)[4]
- ยางจากต้นใช้แก้หูด (ยาง)[4]
- ยางใช้เป็นยาทาแก้ไขข้ออักเสบ (ยาง)[1]
ประโยชน์ของกร่าง
- ผลใช้รับประทานได้[2],[3]
- ผลแก่ที่เป็นสีแดงคล้ำใช้เป็นอาหารของนก[2]
- นอกจากใช้ผลรับประทานแล้ว ในอินเดียยังใช้ใบสำหรับใส่อาหารรับประทานอีกด้วย[4]
- ต้นกร่าง หรือ ต้นไทรนิโครธ จัดเป็นไม้มงคลตามพุทธประวัติที่พระกัสสปพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน และได้ตรัสรู้ ณ ควงไม้นิโครธ จึงมีการนิยมปลูกไว้ตามศาสนสถานหรือตามวัดวาอารามทั่วไป เพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงาและเพิ่มความร่มเย็น แต่จะไม่นิยมปลูกไว้ในบ้านเนื่องจากต้นนิโครธมีขนาดใหญ่เกินไป[4]
- มีข้อมูลอื่น ๆ ระบุว่ารากอากาศมีความเหนียว สามารถนำมาใช้ทำเป็นเชือกได้ ส่วนเปลือกด้านในนั้นใช้ทำกระดาษ
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “กร่าง”. (พญ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 89.
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “นิโครธ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [02 ก.พ. 2014].
- หนังสืออนุกรมวิธานพืชอักษร ก. ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา).
- ผู้จัดการออนไลน์. (29 พฤศจิกายน 2547). “โพธิญาณพฤกษา : นิโครธ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [02 ก.พ. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by dinesh_valke, Regis Silbar, Starr Environmental, Eric Hunt., Russell Cumming, RYANISLAND, Aries Tottle)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)