นมสวรรค์ สรรพคุณและประโยชน์ของนมสวรรค์ 31 ข้อ ! (พนมสวรรค์)

นมสวรรค์

นมสวรรค์ ชื่อสามัญ Pagoda plant, Pagoda flower

นมสวรรค์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Clerodendrum paniculatum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodendron pyramidale Andrews) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1],[4],[5],[7],[8]

สมุนไพรนมสวรรค์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สาวสวรรค์ พนมสวรรค์ เข็มฉัตร (นครพรม), ฉัตรฟ้า สาวสวรรค์ (นครราชสีมา), น้ำนมสวรรค์ (ระนอง), พวงพีเหลือง (เลย), หัวลิง (สระบุรี), ปิ้งแดง (ภาคเหนือ), นมหวัน (ภาคใต้), ปรางมาลี (ภาคกลาง), โพโก่เหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), พู่หมวก เป็นต้น[1],[2],[4],[7]

ลักษณะของนมสวรรค์

  • ต้นนมสวรรค์ หรือ ต้นพนมสวรรค์ จัดเป็นไม้พุ่มสูง มีลำต้นตรงและเป็นเหลี่ยมสี่เหลี่ยมเป็นข้อ ๆ และไม่มีกิ่ง แต่มีก้านใบซึ่งจะแตกออกจากตรงลำต้นโดยตรง ลำต้นมีความสูงได้ถึง 3 เมตร[1],[4] ส่วนเปลือกต้นมีลักษณะเรียบ เป็นสีน้ำตาลแกมเขียว[7] ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด[5] มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศไทยอาจพบได้ตามชายป่า[3]

พนมสวรรค์

ต้นนมสวรรค์

  • ใบนมสวรรค์ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นฝ่ามือรูปไข่กว้างหรือรูปไข่เกือบกลม ใบกว้างประมาณ 7-38 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-40 เซนติเมตร ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉก 3-7 แฉก ปลายแฉกจะแหลม ฐานใบเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย ผิวใบมีขนและต่อมกระจายอยู่ทั้ง 2 ด้าน ส่วนหลังใบเรียบมีสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีขนสากระคายมือและมีสีอ่อนกว่า และมีก้านใบยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร หรืออาจยาวกว่า มีร่องตามยาว[1],[3],[7]

ใบนมสวรรค์

  • ดอกนมสวรรค์ หรือ ดอกพนมสวรรค์ ออกเป็นช่อแบบแยกแขนงขนาดใหญ่ที่ปลายยอด ดอกมีสีแดงหรือสีส้ม ช่อดอกเป็นชั้นคล้ายฉัตรหรือรูปไข่ ขนาดช่อดอกกว้างประมาณ 20-30 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-35 เซนติเมตร ก้านช่อดอกเป็นเหลี่ยม กลีบดอกสมมาตรด้านข้าง กลีบดอกมี 5 กลีบ มีขนกระจายด้านนอก ส่วนกลีบดอกเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 0.7-1.4 เซนติเมตร มีขนและต่อมกระจายด้านนอก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีเกสรตัวเมีย มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ส่วนรังไข่เป็นรูปทรงรีเกือบกลม มีความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เกลี้ยง ส่วนก้านเกสรตัวเมียจะยาวเท่ากับเกสรตัวผู้อันยาวหรือยาวกว่าเล็กน้อย โดยยอดเกสรจะแยกเป็น 2 แฉกสั้น ๆ มีใบประดับเป็นรูปไข่แกมรูปรี ยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร โดยใบประดับย่อยรูปแถบยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเป็นรูประฆังสีส้มแดง มีด้วยกัน 5 กลีบ โคนเชื่อมกัน หลอดกลีบเลี้ยงสั้น ๆ ปลายแยก 5 กลีบ เป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร มีต่อมและขนกระจาย[7] ดอกเล็กที่ออกเป็นช่อเป็นชั้นคล้ายฉัตรจะมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน คือ ชนิดดอกขาวจะเรียกว่า “นมสวรรค์ตัวผู้” และอีกชนิดคือดอกสีแดงที่เรียกว่า “นมสวรรค์ตัวเมีย[6]

ดอกนมสวรรค์

นมสวรรค์ดอกขาว

ต้นพนมสวรรค์สาวสวรรค์
ฉัตรฟ้า

พวงพีเหลือง

  • ผลนมสวรรค์ ผลมีลักษณะกลม มีขนาดเล็กสีเขียว ผลผนังชั้นในแข็ง ทรงกลม มี 2-4 พู มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-9 เซนติเมตร ผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินแกมเขียวหรือสีดำ และในผลมีเมล็ดเดียว มีลักษณะแข็ง[1],[3],[7]

ลูกนมสวรรค์

ผลนมสวรรค์

สรรพคุณของนมสวรรค์

  1. ต้นนมสวรรค์ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด (ราก, ดอก, ต้น)[1]
  2. รากและเหง้ามีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต โดยพบว่ารากและเหง้ามีน้ำมันหอมระเหย มีกลิ่นเฉพาะตัวและมีสาร 2-asarone ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต แต่มีรายงานพบว่าเป็นพิษต่อตับและอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ จึงต้องรอการศึกษาความเป็นพิษเพิ่มเติมก่อนการนำมาใช้ (ราก)[8]
  3. รากใช้ฝนกับน้ำดื่มแก้ไข้ ช่วยแก้ไข้มาลาเรีย แก้ไข้เหนือ (ราก)[4],[7]
  4. ช่วยแก้ไข้เพื่อโลหิต (มีอาการไข้และถ่ายเหลว อาเจียนเป็นเลือด และมีผื่นขึ้นบริเวณผิวหนัง) (ราก)[4],[7]
  5. ช่วยแก้วัณโรค (ราก)[4],[6]
  1. ทางภาคอีสานมีการใช้รากนมสวรรค์มาต้มดื่ม เพื่อช่วยแก้อาการตึงในหนังศีรษะและอาการปวดในเบ้าตาได้ดี (ราก)[9]
  2. ช่วยรักษาอาการแน่นอก (ใบ)[4] แก้ลมในทรวงอก (ใบ)[6],[7]
  3. ใบนำมาตำใช้พอกทรวงอก แก้ทรวงอกอักเสบ (ใบ)[3],[5]
  4. ช่วยขับเสมหะ (ราก)[8]
  5. ช่วยทำให้อาเจียน ในกรณีที่ผู้ป่วยได้กินสารพิษและต้องการขับสารพิษออกจากทางเดินอาหาร ให้กินครั้งละมากกว่า 2 กรัม จะทำให้อาเจียน (ราก)[8]
  6. รากใช้ฝนกับน้ำดื่ม แก้อาการปวดท้อง (ราก)[7]
  7. ช่วยขับลม ขับลมให้ซ่านออกมาทั่วร่างกาย (ราก)[4],[7]
  8. รากใช้แก้โลหิตในท้อง (ราก)[6]
  9. รากนมสวรรค์ใช้เป็นยาถ่าย (ราก)[3],[7]
  10. รากใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยขับน้ำคาวปลาของสตรี (ราก)[7]
  11. ช่วยแก้อาการตกเลือด[4],[9] แก้โลหิตในท้อง (ดอก)[7]
  12. รากนำมาฝนใช้ทารักษาฝี (ราก)[7]
  13. ช่วยแก้พิษฝีฝักบัว (ต้น)[4],[7]
  14. ช่วยแก้พิษฝีกาฬ (ดอก)[7]
  15. ช่วยแก้พิษฝีดาษ (ใบ)[6],[7]
  16. ช่วยแก้ฝีภายใน (ราก, ดอก, ต้น)[3,[5],[6],[7]
  17. ช่วยแก้ประดวงลม ประดวงไฟ (ราก)[7]
  18. ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ราก, ดอก, ต้น)[1],[3],[4],[5],[6],[7] ต้นช่วยแก้พิษ
  19. แก้อาการอักเสบเนื่องจากตะขาบและแมงป่องกัด (ต้น), นอกจากนี้ดอกยังช่วยแก้พิษที่เกิดจากการติดเชื้อได้อีกด้วย (ดอก)[4],[7],[9]
  20. ใบนมสวรรค์นำมาตำแล้วพอกแก้ไข่ดันบวม พอกแก้ลูกหนูใต้รักแร้บวม (ใบ)[1],[3],[5],[7]
  21. ใบสดนำมาตำเป็นยารักษาอาการปวดข้อและปวดประสาท (ใบ)[3],[7]
  22. รากใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยบำรุงน้ำนม (ราก)[7]
  23. มีการใช้สมุนไพรนมสวรรค์ร่วมกับรากหญ้าคาและผักคราดหัวแหวน เพื่อใช้รักษาโรคปัสสาวะขัดและใช้เข้าตำรับยาขับนิ่ว (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]

ประโยชน์ของนมสวรรค์

  • ประโยชน์นมสวรรค์ ในปัจจุบันได้มีการเพาะปลูกต้นไม้นมสวรรค์เพื่อเป็นไม้ประดับกันมากขึ้น เนื่องจากดอกนมสวรรค์มีสีและรูปทรงที่สวยงาม[9]
  • ยอดอ่อน ใบไม่อ่อนไม่แก่ นำมาใช้ประกอบอาหารได้ เช่น การทำแกง (คนเมือง)[1] มีกลิ่นเหม็นเขียวเล็กน้อย หากนำมาปรุงอาหารกลิ่นจะหายไป ด้วยการหั่นเป็นฝอยใส่ลงในกะทิแล้วใช้รองก้นกระทงสำหรับห่อหมก แล้วนำห่อหมกไปนึ่งให้สุก ใบของนมสวรรค์ก็จะไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว อีกทั้งยังช่วยให้มีรสชาติหวานชวนน่ารับประทานยิ่งขึ้น[5]
  • ผลนมสวรรค์สามารถนำมาเป็นสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีม่วงแดง[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [4 พ.ย. 2013].
  2. หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.  สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้.  (เต็ม สมิตินันทน์).
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [4 พ.ย. 2013].
  4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [4 พ.ย. 2013].
  5. หนังสือผักพื้นบ้านภาคใต้.  สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.
  6. ฐานข้อมูลทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช.  อ้างอิงใน: สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.culture.nstru.ac.th.  [4 พ.ย. 2013].
  7. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [4 พ.ย. 2013].
  8. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [4 พ.ย. 2013].
  9. แมกโนเลีย ไทยแลนด์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.magnoliathailand.com.  [4 พ.ย. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Hesperia2007, chapstickaddict, Ahmad Fuad Morad, Spray-N-Grow, tuis, Shubhada Nikharge, GrowAGarden, Anna Kwa, Russell Cumming)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด