นมผึ้ง
นมผึ้ง เป็นผลิตภัณฑ์จากผึ้งอีกชนิดหนึ่งที่มาแรงในยุคกระแสนิยมธรรมชาติบำบัด[1] หลายประเทศมีการใช้นมผึ้งในฐานะยารักษาโรค อาหารเสริม หรือแม้กระทั่งเป็นส่วนผสมของครีมบำรุงและเครื่องสำอาง[2]
นมผึ้งคืออะไร ?
นมผึ้ง หรือ รอยัลเยลลี (Royal Jelly) คือ ผลผลิตที่หลั่งออกมาจากต่อมไฮโปฟาริงจ์ (Hypopharyngeal Gland) ของผึ้งงาน เป็นอาหารของหลักผึ้งนางพญาและตัวอ่อนผึ้งเพื่อช่วยกระตุ้นในการเจริญเติบโต ช่วยให้ผึ้งนางพญาจะมีรูปร่างใหญ่โตและสวยกว่าผึ้งตัวอื่น ๆ และที่สำคัญยังช่วยให้ผึ้งนางพญามีอายุยืนมากกว่าผึ้งงานถึง 20 เท่า และช่วยให้ผึ้งนางพญาสามารถวางไข่เพื่อสืบพันธุ์ได้ประมาณ 2,500 ฟองต่อวันตลอดจนสิ้นอายุขัย[9]
ส่วนสาเหตุที่ได้ชื่อว่า “นมผึ้ง” นี้ ก็มาจากลักษณะและหน้าที่ของมัน คือมีลักษณะเป็นครีมสีขาวคล้ายนมข้นหวานและใช้เลี้ยงดูตัวอ่อนเช่นเดียวกับนมที่ใช้เลี้ยงทารกครับ หลายคนจึงกันเชื่อว่า นมผึ้งเป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยรักษาความเป็นหนุ่มเป็นสาว บรรเทาอาการวัยทอง กระตุ้นระบบภูมิต้านทานร่างกาย ลดความเครียด รักษาอาการนอนไม่หลับ ลดอาการหลงลืม และใช้รักษาโรคอื่น ๆ[1],[2]
ลักษณะของนมผึ้ง
นมผึ้งมีลักษณะเหลวเป็นครีมข้นเหนียวสีขาวคล้ายนมข้นหวาน มีรสหวานเผ็ดเล็กน้อย กลิ่นออกเปรี้ยวเล็กน้อย เป็นอาหารหลักของผึ้งนางพญาและตัวอ่อนผึ้งเพื่อช่วยกระตุ้นในการเจริญเติบโต
สำหรับนมผึ้งที่ผลิตได้ต่อรังนั้นจะมีปริมาณน้อยมาก ๆ โดย 1 รังจะสามารถผลิตนมผึ้งได้เพียงวันละ 2-3 กรัมเท่านั้น ซึ่งวิธีการเก็บรักษานั้นจะเก็บในอุณหภูมิห้องหรือในอุณหภูมิเย็นประมาณ 3-8 องศา[9]
สารอาหารในนมผึ้ง
นมผึ้งมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักประมาณ 60-70% และอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญต่าง ๆ เช่น โปรตีน 12-15%, น้ำตาล 10-16%, กรดไขมัน 3-6% และสุดท้ายประมาณ 2-3% คือ วิตามินต่าง ๆ วิตามินบีรวม (บี 1-9) เกลือแร่ และกรดอะมิโน นอกจากนี้ ยังพบสารอื่นในนมผึ้ง ได้แก่ สารซีติลโคลีน (Acetylcholine) สารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้สึกและกลไกการทำงานของร่างกาย, กรดไขมันเอชดีเอ (10-Hydroxy-Trans-2-Decenoic Acid) ที่มีบทบาทในการเจริญเติบโตของผึ้ง, ฮอร์โมนเพศ เช่น เทสโทสเตอโรน โปรเจสเตอโรน เป็นต้น[2],[7]
ทั้งนี้สถานที่ ภูมิศาสตร์ และสภาพอากาศเป็นตัวแปรที่ทำให้ส่วนประกอบของนมผึ้งแตกต่างกันออกไป[2]
ประโยชน์ของนมผึ้ง
- ใช้เป็นยารักษาโรคหรือบรรเทาอาการของโรคต่าง ๆ เช่น ใช้ลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต รักษาอาการตาแห้งเรื้อรัง ลดอาการวัยหมดประจำเดือน ใช้สมานแผล เสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ฯลฯ
- ใช้นมผึ้งสดชงดื่มเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ โดยใช้ดื่มโดยตรงหรือผสมกับน้ำผึ้งในอัตราส่วน 1:3 ส่วน หรือนำไปผสมกับเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ ได้ตามต้องการ
- ทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสุขภาพในหลายรูปแบบ ทั้งนมผึ้งแบบซอฟต์เจล แคปซูล และแบบเม็ด นมผึ้งแบบเม็ดฟู่ นมผึ้งแบบทาผิว หรือนำไปผสมกับส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น น้ำผึ้ง เกสรผึ้ง ฯลฯ รวมไปถึงคอลลาเจน วิตามินซี กลูต้าไธโอน หรือสมุนไพรอย่างกระชายดำ
- ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ครีมหรือโลชั่นบำรุงผิว ครีมทาหน้า ครีมทาตัว โฟมล้างหน้า แชมพู ฯลฯ
- ใช้นมผึ้งสดพอกหน้าทำทรีตเมนต์เพื่อบำรุงผิว ยับยั้งริ้วรอย ลดการอักเสบของผิวหน้า กระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ ด้วยการนำน้ำนมผึ้งแบบสดมาทาลงผิวหน้า ทิ้งเอาไว้ประมาณ 20 นาที แล้วค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือนำนมผึ้งสดมาผสมกับโยเกิร์ต น้ำผึ้ง หรือนมสดให้เข้ากัน นำมาพอกทาบนใบหน้า โดยนวดคลึงเล็กน้อยให้ทั่วใบหน้า และพอกทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
สรรพคุณของนมผึ้ง
- บำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ บรรเทาอาการโรคเสื่อมต่าง ๆ อันเนื่องจากความชรา รวมไปถึงอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร สุขภาพทรุดโทรม[4] ทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารและมีออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง ช่วยให้แคลเซียมดูดซึมได้ดีขึ้น (มีผลช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุน เพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก)[9] เนื่องจากนมผึ้งอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย[4]
- ช่วยลดเลือนริ้วรอยแห่งวัย เพราะมีการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองแล้วพบว่า นมผึ้งอาจเข้าไปช่วยในกระบวนการสร้างคอลลาเจน กระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ และช่วยป้องกันความเสียหายของผิวหนังที่ถูกทำลายจากแสงยูวี และยังมีการศึกษาบางชิ้นในหนูทดลองที่แสดงให้เห็นว่าหนูทดลองมีอายุขัยที่เพิ่มขึ้นและมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ที่ดีขึ้น[9]
- ลดและต่อต้านความเครียด นมผึ้งมีส่วนช่วยบรรเทาอาการเครียดและช่วยต่อต้านความเครียด[9]
- บรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือน การรับประทานนมผึ้งติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน อาจช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนได้ เพราะมีการศึกษาวิจัยที่ให้นักศึกษาแพทย์จำนวน 110 คน รับประทานนมผึ้งขนาด 1,000 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง (เริ่มทานในวันแรกที่มีประจำเดือนและทานต่อเนื่องจนหมดประจำเดือนในรอบถัดไป) แล้วพบว่าอาการก่อนมีประจำเดือนลดลง[9]
- อาจช่วยบรรเทาอาการบางอย่างของวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิง เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความจำเสื่อม อาการปวดหลัง เพราะมีการศึกษาที่พบว่า นมผึ้งมีประสิทธิภาพในการลดภาวะซึมเศร้าและเพิ่มความจำในหนูทดลอง ส่วนการศึกษาอื่นที่ทดลองในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จำนวน 42 ราย ก็พบเช่นกันว่าการรับประทานนมผึ้งทุกวัน วันละ 800 มิลลิกรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์จะช่วยลดอาการปวดหลังและความวิตกกังวลได้ (โปรดทราบด้วยว่ายังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม)[7]
- บรรเทาอาการเกี่ยวกับช่องคลอดของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เช่น ช่องคลอดแห้ง แสบร้อน หรือคันในช่องคลอด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถบรรเทาลงได้ด้วยการใช้สารหล่อลื่น แต่สารหล่อลื่นส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์เพียงชั่วคราว แต่นมผึ้งมีคุณสมบัติต้านจุลชีพและมีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยมีการศึกษาที่ให้ผู้หญิงวัยทองอายุ 50-65 ปี จำนวน 90 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ใช้ครีมที่มีส่วนผสมของนมผึ้ง 15%, กลุ่มที่ใช้ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนชนิดครีม และกลุ่มที่ใช้สารหล่อลื่นทาบริเวณช่องคลอดเป็นเวลา 3 เดือน ผลการศึกษาพบว่า ครีมที่มีส่วนผสมของนมผึ้งมีประสิทธิภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงวัยทองได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ[2]
- ปรับสมดุลฮอร์โมนเพศหญิง นมผึ้งมีส่วนช่วยกระตุ้นและเสริมสร้างการทำงานและปรับสมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง[9]
- ช่วยเรื่องภาวะเจริญพันธุ์ในผู้ชาย เนื่องจากสารอาหารในนมผึ้งช่วยเรื่องการเคลื่อนที่ของสเปิร์มและมีส่วนเพิ่มจำนวนสเปิร์ม จึงช่วยให้มีโอกาสตั้งครรภ์มากขึ้น[6]
- ลดระดับไขมันในเลือดและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ โดยมีการศึกษาในผู้หญิงวัยทองสุขภาพดีจำนวน 36 คน ที่ให้รับประทานนมผึ้งขนาด 150 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 เดือน โดยตรวจปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ รวมถึงระดับไขมันในเลือดทั้งก่อนและหลังการทดลอง พบว่าระดับคอเลสเตอรอลรวม (TC) ลดลง 3.09%, คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ลดลง 4.1% และคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เพิ่มขึ้น 7.7% นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งการศึกษาที่ให้อาสาสมัครที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงชนิดไม่รุนแรงจำนวน 40 คน รับประทานนมผึ้งขนาด 350 มิลลิกรัมวันละ 9 แคปซูล เป็นเวลา 3 เดือน ก็แสดงให้เห็นถึงระดับไขมันในเลือดที่ลดลงเช่นเดียวกัน จึงอาจสรุปได้ว่าการรับประทานนมผึ้งอาจมีส่วนช่วยลดระดับไขมันในเลือดและอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการควบคุมอาการวัยทองที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง[2]
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความไวต่ออินซูลิน โดยช่วยลดสภาวะเครียดออกซิเดชันและการอักเสบของผู้ป่วยเบาหวาน (มีการศึกษาในสัตว์ทดลองหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงความไวของอินซูลินที่เพิ่มขึ้น ส่วนการศึกษาในมนุษย์เป็นเวลา 6 เดือน ก็ชี้ให้เห็นว่าระดับน้ำตาลในเลือดลง 20% ในผู้ที่มีสุขภาพดีที่ได้รับนมผึ้งทุกวัน)[7]
- ช่วยลดความดันโลหิต นมผึ้งอาจช่วยปกป้องหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตได้ โดยมีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า โปรตีนจำเพาะในนมผึ้งสามารถช่วยผ่อนคลายเซลล์กล้ามเนื้อเรียบในหลอดเลือดต่าง ๆ จึงช่วยลดความดันโลหิตได้[7]
- อาจช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เพราะมีการศึกษาทดลองในสัตว์ที่พบว่า โปรตีนหลัก (MRJPs) และกรดไขมันในนมผึ้งมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ เชื้อแบคทีเรียและไวรัส สามารถลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อและช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน[7]
- ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ โดยการมีการศึกษาในหลอดทดลองหลายชิ้น ที่พบว่ากรดอะมิโนจำเพาะ กรดไขมัน และสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic Compound) ในนมผึ้ง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่วนการศึกษาอื่นพบว่า นมผึ้งสามารถช่วยยับยั้งสารเคมีที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่หลั่งจากเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน[7]
- บำรุงสมองและระบบประสาท เนื่องจากนมผึ้งอุดมไปด้วยสารอะซีติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีบทบาทสำคัญในการคิด กระบวนการทำงานของความจำ หรือความสามารถของสมองในการเก็บข้อมูลชั่วคราว การได้รับสารนี้เพิ่มขึ้นจะมีประโยชน์ในแง่การช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคความจำเสื่อม ช่วยให้สมองแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ[1] มีงานวิจัยในหนูทดลองที่ได้รับนมผึ้ง แล้วพบว่ากลุ่มที่ได้รับนมผึ้งมีระฮอร์โมนความเครียดต่ำกว่า ระบบประสาทส่วนกลางแข็งแรงกว่า มีความจำดีขึ้น และมีอาการซึมเศร้าลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และการศึกษาในสัตว์อีกชิ้นก็พบด้วยว่าหนูที่ได้รับนมผึ้งสามารถขจัดสารเคมีบางชนิดในสมองที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ได้ดีขึ้น[7]
- บรรเทาอาการตาแห้งเรื้อรัง ในปี 2017 วารสารทางการแพทย์ PLOS ONE ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับการเพิ่มปริมาณน้ำตาในคนที่กินนมผึ้ง งานวิจัยนี้ทำกัน 8 สัปดาห์ แบ่งกลุ่มการทดลองเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้กินนมผึ้ง และอีกกลุ่มให้กินยาหลอก ผลการทดลองพบว่าปริมาณน้ำตาในกลุ่มที่กินนมผึ้งมีมากกว่าคนที่กินยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การได้รับนมผึ้งจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีแก้ปัญหาที่มีความเสี่ยงน้อยสำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งเรื้อรัง[5],[7]
- มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์เนื้องอกและเซลล์มะเร็ง มีงานวิจัยหลายเรื่องที่ได้รายงานผลสนับสนุนฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง ตั้งแต่งานวิจัยแรกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ที่คณะผู้ทดลองได้ทำการผสมนมผึ้งกับเซลล์มะเร็ง Leukemia ก่อนที่จะปลูกลงในหนูทดลอง ผลการทดลองพบว่าสามารถหยุดยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งนี้ได้อย่างสมบูรณ์ และถัดมา Tamura T และคณะก็ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ของนมผึ้งในการต้านการเจริญของเนื้องอกชนิดอื่นที่ปลูกถ่ายลงในหนูทดลอง และพบว่าสามารถต้านการเจริญของเซลล์เนื้องอกได้ประมาณ 50% ขณะเดียวกันก็มีงานรายการวิจัยในไทยที่ทำการปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งปากมดลูกลงในหนูทดลองและก็พบว่านมผึ้งทำให้ขนาดของก้อนเนื้องอกลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม[8]
- อาจช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งบางอย่าง เช่น ลดความเสียหายของหัวใจที่เกิดจากการทำเคมีบำบัด ผลข้างเคียงของการรักษามะเร็งที่ทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร แต่ยังเป็นการศึกษาที่มีขนาดเล็กมาก จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม[7]
- บรรเทาอาการอ่อนแรงจากโรคมะเร็งการฉายรังสีหรือการทำเคมีบำบัด โดยมีการศึกษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 52 คน แล้วพบว่า กลุ่มที่ได้รับนมผึ้งแปรรูปและนมผึ้งขนาด 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ มีอาการอ่อนแรงจากโรคมะเร็งดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ได้รับน้ำผึ้งบริสุทธิ์[2]
- รักษาไข้ละอองฟาง (โรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง) ก่อนหน้านี้นมผึ้งถูกนำมาเพื่อรักษารักไข้ละอองฟาง แต่จากการศึกษาวิจัยล่าสุดก็พบว่านมผึ้งอาจไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาไข้ละอองฟางและไม่สามารถบรรเทาอาการต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้ (เป็นการศึกษาทดลองในเด็กอายุ 5-16 ปี ที่เป็นไข้ละอองฟาง เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน และจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูของเกสรดอกไม้ แล้วพบว่ากลุ่มที่ได้รับนมผึ้งกับไม่ได้รับมีอาการไม่ต่างกันมากนัก)[2]
- อาจช่วยสมานแผลและซ่อมแซมผิวหนัง เพราะนมผึ้งมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสามารถรักษาบาดแผลให้สะอาดและปราศจากการติดเชื้อ สอดคล้องกับการศึกษาในสัตว์ทดลองที่พบว่า หนูที่ได้รับนมผึ้งมีการผลิตคอลลาเจนมากขึ้น ซึ่งคอลลาเจนเป็นส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างผิว [7] นอกจากนี้บางข้อมูลยังระบุด้วยว่า นมผึ้งมีส่วนช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส ช่วยลดปัญหาของสิว ฝ้า กระ[9]
- รักษาแผลเบาหวาน โดยการมีการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลเบาหวานกลุ่มเล็ก ๆ แล้วพบว่า เมื่อทายาที่มีความเข้มข้นของนมผึ้ง 5% แล้วแผลหายเร็วขึ้น แต่การศึกษาอีกชิ้นกลับเห็นผลลัพธ์ที่ต่างกันออกไป ที่ใช้ยาซึ่งมีความเข้มข้นของนมผึ้ง 5% เช่นกัน แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่านมผึ้งมีประสิทธิภาพในการรักษาแผลเบาหวานได้มากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาหลอก[2]
- มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ปัจจุบันมีการค้นพบโปรตีนชนิดหนึ่งในนมผึ้งที่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ชื่อ “Royalisin” ซึ่งพบว่ามันมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวกได้เป็นอย่างดี แม้ในความเข้มข้นต่ำ แต่ไม่มีผลต่อแบคทีเรียแกรมลบ[4]
- อื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความพยายามนำนมผึ้งมาใช้กับผู้ป่วยในกลุ่ม เช่น ตา หู คอ จมูก โดยนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังชนิด ChNPD แล้วพบว่าอาการดีขึ้น, รวมไปถึงใช้กับกลุ่มอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้าเรื้อรัง (CFS) เพื่อบำบัดอาการและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น[8], ใช้ลดการอักเสบของก้อนมะเร็งในระยะแพร่กระจาย, ใช้ป้องกันการเกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร[9]
ผลข้างเคียงจากการรับประทานนมผึ้ง
การรับประทานนมผึ้งค่อนข้างมีความปลอดภัยหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม คือ วันละไม่เกิน 4.8 กรัม ระยะเวลา 1 ปี แต่ในบางคนหรือผู้ป่วยบางกลุ่ม การทานนมผึ้งก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้[7] เช่น
- หอบหืด
- ภูมิแพ้
- ผื่นแพ้สัมผัส
- เลือดออกในลำไส้ ปวดท้อง หรือถ่ายเป็นเลือด
ซึ่งปฏิกิริยารุนแรงเหล่านี้บางอย่างเหล่านี้ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยจากการสำรวจการใช้นมผึ้ง ปี พ.ศ. 2536-2540 พบการเกิดปฏิกิริยาตอบสนองไวเกิน จากการได้รับนมผึ้งเกือบ 40 ราย ทำให้มีอาการหอบหืด หลอดลมหดเกร็ง หลอดเลือดบวม ความดันโลหิตต่ำ ผื่นคัน เยื่อบุตาอักเสบ เมื่อทำการทดสอบก็พบว่าโปรตีนในนมผึ้งไปกระตุ้นแอนติบอดี (Antibody) ชนิด IgE หรือในปี พ.ศ.2537 มีรายงานจากประเทศออสเตรเลียที่พบการเสียชีวิตในเด็กอายุ 11 ปี เนื่องจากอาการหืดหลังจากได้รับนมผึ้ง 500 มิลลิกรัม ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการไปกระตุ้น IgE ทำให้เกิดปฏิกิริยาไวเกินขึ้น[3]
ข้อควรระวังในการรับประทานนมผึ้ง
บุคคลในกลุ่มดังต่อไปนี้ควรระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานนมผึ้งหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีนมผึ้งเป็นส่วนประกอบ
- ผู้ป่วยโรคหอบหืด ภูมิแพ้รุนแรง เป็นผื่นแพ้สัมผัส และผู้ที่มีอาการแพ้ผลิตภัณฑ์ที่มีนมผึ้งเป็นส่วนประกอบ ห้ามรับประทานหรือทาผลิตภัณฑ์ที่มีนมผึ้งเป็นส่วนประกอบ เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงหรือเสียชีวิตได้[2]
- เนื่องจากนมผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ผู้ที่แพ้ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เช่น น้ำผึ้ง ไขผึ้ รวมถึงผู้ที่แพ้ผึ้งต่อย แพ้ละอองเกสร หรือแพ้เกสรดอกไม้ และสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ก็ห้ามรับประทานทานนมผึ้งด้วยเช่นกัน[7]
- หญิงตั้งครรภ์และหญิงนมบุตร เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยของนมผึ้ง ดังนั้นจึงยังไม่ควรรับประทานนมผึ้ง[2]
- ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ เนื่องจากการทานนมผึ้งอาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำลงมากเกินไปอีก [2]
- ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบ การทาหรือทานนมผึ้งอาจทำให้อาการที่เป็นอยู่รุนแรงมากขึ้น[2]
- ผู้ที่อยู่ในช่วงทานยารักษาโรค เช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลฟกช้ำได้ง่าย[2]
- แม้การใช้นมผึ้งทาที่บริเวณผิวหนังจะค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่ก็ไม่ควรนำทาบริเวณหนังศีรษะเพื่อหวังผลช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมหรือช่วยบำรุงเส้นผมให้มีสุขภาพแข็งแรง เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ ผื่นคัน หรือมีอาการอักเสบได้[2]
วิธีรับประทานนมผึ้ง
เนื่องจากยังมีการวิจัยค่อนข้างจำกัด จึงยังไม่มีการกำหนดปริมาณที่แนะนำชัดเจนสำหรับใช้ แต่เมื่อสังเกตจากในหลากหลายงานวิจัยเกี่ยวกับปริมาณของนมผึ้งที่ใช้แล้วได้ผล คือ วันละ 300-6,000 มิลลิกรัม
อย่างไรก็ตาม นมผึ้งในรูปของอาหารเสริมมักมีจำหน่ายทั่วไปในรูปของแคปซูลและแบบซอฟต์เจล ซึ่งมักจะมีปริมาณนมผึ้งอยู่ที่ 500-3,000 มิลลิกรัมต่อแคปซูล/ซอฟต์เจล สำหรับขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันประมาณ 300-500 มิลลิกรัม หรือวันละ 1 แคปซูล/ซอฟต์เจล และในกรณีเร่งด่วนให้รับประทานวันละ 1,000 มิลลิกรัม โดยแนะนำให้ทานหลังอาหารเช้า (ไม่ควรทานในขณะที่ท้องว่าง เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและท้องเสียได้)
แต่หากคุณไม่เคยทานนมผึ้งมาก่อน ควรเริ่มทานจากปริมาณน้อย ๆ ก่อน เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาการแพ้และผลข้างเคียงที่รุนแรง
แนะนำผลิตภัณฑ์นมผึ้ง
[เนื้อหาส่วนนี้ได้รับการสนับสนุน] Nature’s King Royal Jelly ผลิตภัณฑ์นมผึ้งจากแหล่งธรรมชาติ จำหน่ายมานานมากกว่า 20 ปี นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสากล GMP, HALAL, HACCP, FDA Thailand มีให้เลือกทานด้วยกัน 3 สูตร คือ
- นมผึ้งเนเจอร์คิงสูตรออริจินัล : กระปุกสีทอง (ขนาด 120 เม็ด และ 365 เม็ด) มาในรูปแบบซอฟต์เจล เหมาะสำหรับคนทั่วไปที่ต้องการบำรุงร่างกายอย่างต่อเนื่อง หรือผู้ที่เริ่มมีปัญหาในเรื่องการนอนหลับยาก สามารถทานนมผึ้งสูตรออริจินัลได้
- นมผึ้งเนเจอร์คิงสูตรพรีเมียม : กระปุกสีขาว (ขนาด 180 เม็ด) ปรับสูตรใหม่ให้มีความเข้มข้นของนมผึ้งมากขึ้น มาในรูปแบบซอฟต์เจล เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเน้นการบำรุงร่างกายอย่างล้ำลึกและกลุ่มคนที่ต้องการฟื้นฟูสุขภาพร่างกายอย่างเร่งด่วน
- นมผึ้งเนเจอร์คิงสูตรแบบเม็ดฟู่ : ไอเทมใหม่น่าลอง นมผึ้งความเข้มข้นสูง ผสานด้วยวิตามินซี ซึ่งจะมีส่วนช่วยปรับฮอร์โมนภายในร่างกายให้สมดุล พร้อมทั้งยังมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มภายในร่างกายให้แข็งแรง และยังทำให้ผิวพรรณสดใสอีกด้วย
สำหรับผู้สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ LINE@ (@nkthailand), Facebook (Nature’s King Thailand), Instagram (naturesking_thailand) หรือโทร 062-249-4454, 062-249-4464
เอกสารอ้างอิง
- หนังสืออาหารและยาจากแมลง. “นมผึ้ง”. (รองศาสตราจารย์ ดร.จิราพร เพชรรัตน์). หน้า 20.
- พบแพทย์. “นมผึ้งและคุณประโยชน์ที่น่ารู้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com. [7 พ.ย. 2021].
- บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร”. (รองศาสตราจารย์ ภญ. ยุวดี วงษ์กระจ่าง และเภสัชกร วสุ ศุภรัตนสิทธิ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : pharmacy.mahidol.ac.th. [18 พ.ย. 2021].
- วารสารเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของ Royalisin ในนมผึ้ง:โปรตีนต้านแบคทีเรียอย่างดีจากนมผึ้ง”. (ผู้วิจัย : รุ้งตะวัน สุภาพผล).
- PLOS ONE. “Clinical Evaluation of a Royal Jelly Supplementation for the Restoration of Dry Eye: A Prospective Randomized Double Blind Placebo Controlled Study and an Experimental Mouse Model”. (Sachiko Inoue,Motoko Kawashima ,Ryuji Hisamura,Toshihiro Imada,Yusuke Izuta,Shigeru Nakamura,Masataka Ito,Kazuo Tsubota). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://journals.plos.org/plosone/. [18 พ.ย. 2021].
- Thi-Qar Medical Journal (TQMJ). “Effect of Royal Jelly on male Infertility”. (Ali E. Al-Sanafi, Safaa.A. Mohssin, Senan M. Abdulla).
- healthline. “12 Potential Health Benefits of Royal Jelly”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.healthline.com. [19 พ.ย. 2021].
- Vajira Medical Journal. “เรียนรู้เรื่องนมผึ้ง”. (รุ้งตะวัน สุภาพผล). Vol. 46, No. 1 January 2002. หน้า 80.
- หนังสือวิตามินไบเบิล. “นมผึ้ง”. (ดร.เอิร์ล มินเดลล์).
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)