นม
นม หรือ น้ำนม (Milk) คือ ของเหลวสีขาวที่มีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับเด็กหรือสัตว์เกิดใหม่ ที่ผลิตออกมาจากเต้านมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น มนุษย์ วัว แพะ แกะ ควาย ม้า ลา อูฐ จามรี เรนเดียร์ ลามา แมวน้ำ และยังรวมไปถึงเครื่องดื่มที่ใช้แทนนมด้วย เช่น นมถั่วเหลือง น้ำนมข้าว นมข้าวโพด นมอัลมอนด์ เป็นต้น
นมเหมาะกับทุกเพศทุกวัย เพราะร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารในนมมาสร้างเสริมร่างกายให้แข็งแรงอยู่ตลอดเวลา และสำหรับหญิงตั้งครรภ์ควรดื่มนมที่มีแคลเซียมสูง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระดูกทั้งมารดาและทารกในครรภ์ และนมเปรี้ยวยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานเป็นปกติ ขับถ่ายสะดวก ป้องกันอาการท้องผูก ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด เสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานควรรับประทานนมพร่องมันเนยหรือนมขาดมันเนย และควรหลีกเลี่ยงนมที่มีรสหวาน
สำหรับวัยเด็ก (อายุ 1-12 ปี) ควรดื่มนม 3 แก้วต่อวัน แต่ถ้าเป็นวัยหนุ่มสาว (13-25 ปี) ควรดื่มนมวันละ 3-4 แก้ว และสำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ควรดื่มนมไม่น้อยกว่าวันละ 2 แก้ว ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วทุกคนควรดื่มนมไม่น้อยกว่าวันละ 2 แก้ว แต่สำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรดื่มนมไม่น้อยกว่าวันละ 3 แก้ว (ป.ล. 1 แก้ว เท่ากับ 200 cc เท่านมขวดขนาดเล็ก)
การดื่มนมไม่ได้ทำให้อ้วนอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ เนื่องจากมีไขมันเพียง 3.8% ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับอาหารชนิดอื่น ๆ แต่หากคุณกังวลเรื่องความอ้วนก็สามารถดื่มนมพร่องมันเนยหรือนมไม่มีไขมันที่มีแคลเซียมสูง ๆ แทนก็ได้ !
มีข้อมูลระบุว่า เด็กไทยมีความสูงต่ำกว่ามาตรฐานสากลค่อนข้างเยอะ ถ้าอยากให้เด็กไทยเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจให้ลูกหลานของท่านดื่มนมอย่างเพียงพอ เพราะมันมีประโยชน์สำหรับเด็กอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนมจืด เพราะไม่ทำให้ฟันผุและอ้วน
ประเภทของนม
- นมสด (Fresh milk) คือนมสดธรรมดาที่บรรจุในกระป๋อง ข้างฉลากระบุว่าเป็นนมโค 100%
- นมพร่องมันเนย (Low fat fresh milk) คือ นมที่สกัดแยกมันเนยออกเพียงบางส่วน ทำให้มีพลังงานต่ำและมีปริมาณไขมันเพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นนมที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้สูงอายุหรือคนทั่วไปที่มีปัญหาเรื่องความอ้วนหรือมีไขมันในเส้นเลือดสูง
- นมขาดมันเนย (Non fat milk) คือ นมที่แยกมันเนยออกเกือบทั้งหมด เหมาะสำหรับกลุ่มผู้บริโภคผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงไขมัน
- นมแปลงไขมัน (Filled milk) คือ นมพร้อมดื่มที่นำเอาไขมันชนิดอื่นมาแทนมันเนยเดิมที่อยู่ในน้ำนมเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม เป็นต้น
- นมปรุงแต่ง (Flavored milk) คือ นมวัวหรือนมผงที่นำมาผ่านกรรมวิธีการผลิตต่าง ๆ และปรุงแต่งกลิ่น สี รสชาติเข้าไป ทำให้น่ารับประทานมากขึ้น
- นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต (Drinking yoghurt and yoghurt) คือ นมที่หมักด้วยจุลินทรีย์ที่ไม่ทำให้เกิดพิษและอาจจะมีการปรุงแต่งรสชาติ กลิ่น สีด้วยก็ได้
- นมข้น (Condensed milk) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด (1) นมข้นจืด คือ นมผงขาดมันเนยละลายน้ำในอัตราส่วนที่น้อยกว่าปริมาณน้ำที่มีในนมสดธรรมดาชนิดหนึ่ง ถ้าเติมน้ำมันปาล์มลงไปจะเรียกว่านมข้นแปลงไขมันชนิดไม่หวาน (ไม่ควรใช้กับเด็กทารกหรือเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะมีกรดไขมันจำเป็น วิตามินบางชนิดต่ำกว่า) แต่ถ้าเติมไขมันเนยลงไปจะเรียกว่า นมข้นคืนรูปไม่หวาน (2) นมข้นหวาน คือ นมที่ระเหยเอาน้ำบางส่วนออก หรือละลายนมผงขาดมันเนยผสมกับไขมันเนยหรือไขมันปาล์ม แล้วเติมน้ำตาลลงไปประมาณ 45% ซึ่งนมชนิดนี้จะมีน้ำตาลในปริมาณสูงและมีโปรตีนน้อยกว่านมสดมาก จึงไม่เหมาะสำหรับเด็กทารกหรือนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการเสริมคุณค่าทางอาหารเหมือนนมสดธรรมดา
แหล่งอ้างอิง : โครงการปศุสัตว์น้อยเตือนภัย ใส่ใจผู้บริโภค กรมปศุสัตว์ (พิจารณา สามนจิตติ)
ประโยชน์ของนม
- น้ำนมมีสารอาหารครบ 5 หมู่จึงช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย
- ประโยชน์ของการดื่มนม ช่วยทำให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค
- ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายใยวัยผู้ใหญ่
- ไขมันจากนมช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย (ปกติเราจะเรียกว่า “มันเนย”)
- มีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมองของเด็ก ๆ
- ช่วยบำรุงประสาท (วิตามินบี 1)
- ช่วยบำรุงหัวใจ (วิตามินบี 1)
- ช่วยในการทำงานของระบบเซลล์ผิวหนัง (วิตามินบี 2)
- ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง
- ประโยชน์ของนม ช่วยให้กระดูกเจริญเติบโตและแข็งแรง ซึ่งจำเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเด็กในช่วงก่อนเข้าวัยรุ่นและช่วงวัยรุ่น
- ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกในวัยเด็ก
- ดื่มนมในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่นแล้วจะช่วยทำให้ตัวสูงขึ้น เพราะแคลเซียมจะช่วยทำให้กระดูกยาวขึ้น
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน กระดูกเปราะ
- มีส่วนช่วยลดความดันโลหิต (แคลเซียม)
- ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ (แคลเซียม)
- ช่วยทำให้ระบบประสาทไวต่อสิ่งเร้ามากขึ้น (แคลเซียม)
- ช่วยทำหน้าที่ยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อ (แคลเซียม)
- ช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อ (วิตามินดี)
- ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว (แคลเซียม)
- ช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง (วิตามินบี 12)
- ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด (วิตามินดี)
- มีงานวิจัยชี้ว่านมช่วยลดน้ำหนักตัวได้ ซึ่งจากการศึกษาโดยใช้นมพร่องมันเนยในเด็กวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงลดน้ำหนักพบว่ากลุ่มที่ดื่มนมพร่องมันเนยสามารถลดน้ำหนักได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ดื่ม
- ช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารเป็นปกติ ทำให้ขับถ่ายได้สะดวก ป้องกันอาการท้องผูก (นมเปรี้ยว)
- ช่วยในการทำงานของระบบขับถ่าย (วิตามินบี 1)
- นมสามารถนำไปผลิตเป็น เนย ชีส ครีม โยเกิร์ต ไอศกรีมได้
การเก็บรักษานม
- นมพาสเจอร์ไรส์ ซื้อมาแล้วควรเก็บแช่ในตู้เย็นทันที เมื่อเอาออกมาดื่มถ้าเหลือให้รีบเก็บทันที โดยจะสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 10 วัน ในอุณหภูมิ 2-5 องศาเซลเซียส นับจากวันผลิต
- นมสเตอริไรส์ (นมกระป๋อง) สามารถเก็บไว้ได้นาน 12 เดือนโดยไม่ต้องแช่เย็น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรจะถูกแสงแดดโดยตรง
- นมยูเอชที (UHT) เก็บไว้ในอุณหภูมิห้องปกติ ไม่ควรโดนแสงแดด ไม่เก็บไว้ซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น โดยจะสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 6 เดือน
- นมเปรี้ยว ควรเก็บไว้ในตู้เย็น และปิดฝาให้สนิท นมชนิดนี้สามารถเก็บไว้ได้นานกว่านมประเภทอื่น เพราะมีกรดแลคติกที่ช่วยในการถนอมอาหาร
- นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอร์ไรซ์ เก็บไว้ในตู้เย็นในอุณหภูมิ 10-12 องศาเซลเซียส โดยจะเก็บได้นานถึง 3 สัปดาห์หรือ 21 วัน
- นมเปรี้ยวพร้อมดื่มยูเอชที สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 8 เดือนโดยไม่ต้องแช่เย็น
แหล่งอ้างอิง : โครงการปศุสัตว์น้อยเตือนภัย ใส่ใจผู้บริโภค กรมปศุสัตว์ (พิจารณา สามนจิตติ)
วิธีการดื่มนมอย่างถูกวิธี
- นมยิ่งข้นยิ่งดี เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารมากขึ้น คุณคิดผิดแล้ว ! นมที่ข้นจากการเติมนมผงลงไปมาก ๆ แต่เติมน้ำน้อย หรือคิดไปว่านมสดรสชาติจืดไปจึงเติมนมผง อาจจะทำให้เกิดความเข้มเกินมาตรฐานได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ! ถ้าการเลี้ยงทารกด้วยนมที่ข้นจนเกินไป อาจจะทำให้มีอาการท้องเสีย ท้องผูก ไม่ยอมรับประทานอาหาร ไม่เจริญอาหาร และลำไส้เล็กอาจมีเลือดออกจนอักเสบ
- ไม่ควรเติมน้ำตาลเกิน 8 กรัมต่อนม 100 มิลลิลิตร ถ้าจะเติมควรใช้น้ำตาลทรายแดงหรือน้ำตาลอ้อยจะดีที่สุด เพราะเป็นน้ำตาลที่ร่างกายดูดซึมได้ง่าย และไม่ควรเติมน้ำตาลในนมร้อน ๆ เกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดสารพิษต่อร่างกายได้ (ควรเติมในขณะที่อุณหภูมิ 40-50 องศา)
- การเติมช็อกโกแลตลงในนมอาจจะทำให้แคลเซียมในนมกับกรดออกซาลิก (Oxalic acid) ในช็อกโกแลตผสมกัน เกิดเป็นแคลเซียมออกซาลิก ซึ่งจะเป็นตัวทำลายสุขภาพ ส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายขาดแคลเซียม มีอาการท้องเสีย เด็กเจริญเติบโตช้า กระดูกเปราะ ผมแห้ง และเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
- บางคนคิดว่าการรับประทานยาพร้อมกับนมจะมีประโยชน์กับร่างกาย คุณคิดผิดแล้ว ! เพราะมันอาจจะส่งผลกระทบต่อการดูดซึมของยาได้ ทำให้ความเข้มข้นของยาในเลือดลดลง ดังนั้น คุณไม่ควรดื่มนมก่อนหรือหลังรับประทานยา 1-2 ชั่วโมง
- การต้มนมให้เดือดด้วยอุณหภูมิสูงถึง 100 องศาเซลเซียส อาจจะทำให้น้ำตาลในนมไหม้เกรียมได้ ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ แคลเซียมเกิดตะกอนทำให้ดูดซึมได้ยากขึ้น ทางที่ดีการต้มเพื่อฆ่าเชื้อในนมใช้อุณหภูมิที่ 60 องศาเซลเซียสประมาณ 6 นาที หรือที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสประมาณ 3 นาทีก็เพียงพอแล้ว
- การเติมน้ำมะนาวหรือน้ำส้มลงในนมอาจจะไปทำลายโปรตีนในน้ำนมได้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
- คุณหรือลูกน้อยของคุณไม่ควรรับประทานข้าวต้มพร้อมกับการดื่มนม เพราะจะไปทำลายวิตามิเอในนมได้ และจะส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตช้า
- การเลี้ยงทารกด้วยนมเปรี้ยวเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ จริงอยู่ที่นมเปรี้ยวจะช่วยในการย่อยอาหาร และจุลินทรีย์ในนมเปรี้ยวแม้จะฆ่าเชื้อแล้ว แต่ก็จะไปทำลายกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้ จนส่งผลต่อระบบการย่อยอาหาร โดยเฉพาะทารกที่มีกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ การรับประทานนมเปรี้ยวอาจทำให้มีอาการหนักขึ้นและอาเจียนได้
- นมข้นไม่สามารถใช้แทนนมสดได้ เพราะนมข้นในสูตรต้องเติมน้ำอ้อยสูงถึง 40% และต้องเติมน้ำประมาณ 5-8 เท่าจึงจะดื่มได้ แต่กลับกันความเข้มข้นของโปรตีนและไขมันก็ลดลงเช่นกัน โดยลดลงมากกว่านมสดถึง 50%
- การเอานมไปตากแดดเพื่อเพิ่มปริมาณวิตามินดี เพื่อเสริมการทำงานของธาตุแคลเซียม มันก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะเดียวกันคุณอาจจะเสียวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี ในนมได้ และอาจทำให้นมเสียด้วย
แหล่งอ้างอิง : thai.cri.cn/1/2009/03/18/42s146006.htm
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.cpmeiji.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)