ท่อปัสสาวะอักเสบ อาการ สาเหตุ การรักษาโรคท่อปัสสาวะอักเสบ 10 วิธี !!

ท่อปัสสาวะอักเสบ อาการ สาเหตุ การรักษาโรคท่อปัสสาวะอักเสบ 10 วิธี !!

โรคท่อปัสสาวะอักเสบ

ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis) คือ การบาดเจ็บ อักเสบบวมของเซลล์เยื่อเมือกบุท่อปัสสาวะ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบได้บ่อยคือ จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted disease – STD) โดยเฉพาะจากเชื้อแบคทีเรีย รองลงมาคือการบาดเจ็บของท่อปัสสาวะจากการคาสายสวนปัสสาวะ การส่องกล้อง หรือการได้รับสารก่อระคายเคืองต่าง ๆ โดยทั่วไปอาการของโรคท่อปัสสาวะอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อจะไม่รุนแรง มีน้อยรายที่จะลุกลามขึ้นไปจนเป็นโรคกรวยไตอักเสบหรือกลายเป็นโรคเรื้อรัง

โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่งทั่วโลก พบเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่เนื่องจากมักมีสาเหตุจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นจึงพบได้มากในช่วงวัยเจริญพันธุ์ คือ ช่วงอายุประมาณ 20-35 ปี โดยมีรายงานพบว่าเกิดจากการติดเชื้อหนองในประมาณ 62 ล้านคนต่อปี และจากเชื้อที่ไม่ใช่เชื้อหนองในประมาณ 89 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้ในผู้หญิงจะมีโอกาสติดเชื้อได้สูงกว่าผู้ชาย

ท่อปัสสาวะ (Urethra) เป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก มีหน้าที่นำส่งปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะออกสู่ภายนอกร่างกาย ผนังของท่อปัสสาวะจะประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อหลัก คือ เยื่อเมือกบุภายในท่อและกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่บีบตัวเพื่อการนำส่งน้ำปัสสาวะ ในผู้ชายท่อปัสสาวะจะมีขนาดยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 20 เซนติเมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 มิลลิเมตร โดยมีทั้งส่วนที่อยู่ภายในและส่วนที่อยู่ภายนอกร่างกาย ซึ่งส่วนสั้น ๆ จะอยู่ภายในร่างกายและเป็นส่วนที่อยู่ติดกับกระเพาะปัสสาวะ และหุ้มล้อมด้วยต่อมลูกหมาก ส่วนที่เหลือต่อจากนั้นจะเป็นส่วนที่มีขนาดยาวกว่า ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ภายนอกร่างกาย ท่อปัสสาวะเพศชายส่วนใหญ่จึงเป็นอิสระอยู่ภายนอกร่างกาย และมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรงได้น้อย ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้และโรคหนองในเทียม

ส่วนในเพศหญิง ท่อปัสสาวะจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่า ๆ กับผู้ชาย แต่ท่อปัสสาวะจะมีขนาดยาวเพียงประมาณ 4 เซนติเมตร และอยู่ในร่างกายทั้งหมด โดยมีรูเปิดนำปัสสาวะออกนอกร่างกายในบริเวณใต้แคมเล็กของอวัยวะเพศภายนอกซึ่งอยู่ใกล้กับปากช่องคลอดและปากทวารหนัก ดังนั้น ท่อปัสสาวะในผู้หญิงจึงติดเชื้อได้ง่ายกว่าในผู้ชายมาก เพราะมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคได้โดยตรงจากอวัยวะเพศภายนอก จากมดลูก ปากมดลูก จากช่องคลอด จากอุจจาระ และจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (ในผู้หญิงอาจติดโรคจากสิ่งสกปรกบริเวณปากช่องคลอดและทวารหนักได้)

ท่อปัสสาวะ

สาเหตุของท่อปัสสาวะอักเสบ

สาเหตุที่ทำให้เกิดท่อปัสสาวะอักเสบที่พบบ่อย คือ จากการติดเชื้อที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ และสาเหตุที่ไม่ใช่เกิดจากการติดเชื้อที่พบได้เป็นส่วนน้อย

  1. สาเหตุจากการติดเชื้อ พบได้ประมาณ 80-95% ของการอักเสบทั้งหมด ที่พบบ่อย คือ จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และส่วนน้อยเกิดจากการติดเชื้ออื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์
    • การติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ติดเชื้อจากโรคหนองใน (Gonococcal urethritis) และจากเชื้อที่ไม่ใช่หนองใน เช่น โรคเริม โรคซิฟิลิส โรคหนองในเทียม การติดเชื้อไวรัสเอชไอวีหรือโรคเอดส์ และจากการติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomonas)
    • การติดเชื้อที่ไม่ใช่จากเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้ออีโคไล (Escherichia coli), เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) หรือเชื้อสูโดโมแนส (Pseudomonas) ซึ่งอาจติดต่อผ่านทางลำไส้ (ทางอุจจาระ) ทางไต หรือทางกระเพาะปัสสาวะ (ทางปัสสาวะ)
  2. สาเหตุที่ไม่ใช่เกิดจากการติดเชื้อ (แต่อาจก่อการติดเชื้อตามมาได้ในภายหลัง) เป็นสาเหตุที่พบได้ประมาณ 5-20% ที่พบบ่อยคือ การบาดเจ็บของท่อปัสสาวะจากการสวนปัสสาวะ เช่น ในการผ่าตัด การส่องกล้อง การคาสายสวนปัสสาวะ หรือการใส่คาท่อปัสสาวะในผู้ป่วยอัมพาต หรือจากการที่เยื่อเมือกบุท่อปัสสาวะได้รับสารก่อการระคายเคืองต่าง ๆ เช่น น้ำยาหรือสเปรย์ต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับทำความสะอาดหรือดับกลิ่นบริเวณอวัยวะเพศ

โรคท่อปัสสาวะอักเสบ

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคท่อปัสสาวะอักเสบ

  • ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ และในผู้ชายช่วงวัย 20-35 ปี
  • การมีเพศสัมพันธ์สำส่อน ไม่ใช้ถุงยางอนามัย รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหรือทางปาก
  • เป็นผู้มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน
  • ในผู้หญิงที่คุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิ เพราะตัวยาจะก่อให้เกิดการระคายเคืองและบาดเจ็บต่ออวัยวะเพศและปากท่อปัสสาวะ และการใช้ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm) เพราะการสวมใส่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อช่องคลอดและปากท่อปัสสาวะ หรือเกิดจากความไม่สะอาดของฝาครอบ จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

อาการของโรคท่อปัสสาวะอักเสบ

อาการของโรคทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย มีทั้งเหมือนกันและต่างกัน เนื่องจากลักษณะทางกายวิภาคบางอย่างที่แตกต่างกันในทั้ง 2 เพศ ดังนี้

  1. ท่อปัสสาวะอักเสบในผู้หญิง อาการที่พบได้บ่อย คือ
    • ผู้ป่วยประมาณ 25% จะไม่มีอาการแสดง แต่ตรวจปัสสาวะแล้วพบความผิดปกติหรือทราบได้จากคู่นอนที่มีอาการแสดง และยังสามารถติดต่อสู่คู่นอนได้ถ้าเกิดจากการติดเชื้อ
    • ปวดแสบ ขัด เวลาถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อยครั้งละน้อย ๆ (ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ดื่มด้วย)
    • ผู้ป่วยอาจมีปัสสาวะเป็นเลือด เป็นหนอง และ/หรือขุ่น มีกลิ่นฉุนกว่าปกติ
    • ปวดท้องบริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน แต่ในบางคนอาจมีอาการปวดท้องทั่วไปร่วมด้วยก็ได้
    • อาจมีไข้ ซึ่งมีทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ และอาจรู้สึกหนาวสั่น
    • อาจมีอาการตกขาว เมื่อเกิดร่วมกับการติดเชื้อของมดลูก ปากมดลูก หรือช่องคลอด
    • มีอาการเจ็บปวดในขณะที่มีเพศสัมพันธ์
      ท่อปัสสาวะอักเสบหญิง
  2. ท่อปัสสาวะอักเสบในผู้ชาย อาการที่พบได้บ่อย คือ
    • อาจไม่แสดงอาการ แต่ตรวจปัสสาวะแล้วพบความผิดปกติ และโรคยังสามารถติดต่อสู่คู่นอนได้ถ้าเกิดจากการติดเชื้อ
    • ปัสสาวะแสบขัด อาจปัสสาวะเป็นเลือดหรือมีหนองปนออกมา ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาจมีหนองออกจากปลายท่อปัสสาวะ
    • อาจมีไข้ ซึ่งมีทั้งไข้สูง หรือไข้ต่ำ หรือไม่มีไข้ (ส่วนใหญ่มักไม่มีไข้ นอกจากจะทิ้งไว้จนเชื้อลุกลามเข้าไปภายใน)
    • อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต เจ็บข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
    • มีอาการเจ็บปวดในขณะที่มีเพศสัมพันธ์และเมื่อหลั่งน้ำอสุจิ
      ท่อปัสสาวะอักเสบผู้ชาย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคท่อปัสสาวะอักเสบ

ความรุนแรงของโรคท่อปัสสาวะอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยทั่วไปโรคนี้เป็นโรคที่ไม่รุนแรง สามารถรักษาให้หายได้เสมอ ยกเว้นในรายที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือเป็นโรคเอดส์ หรือในรายที่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะไปตลอดจากการเป็นอัมพาต โดยผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้มักจะเกิดจากการได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง เช่น

  • ผู้ป่วยซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเองจนเกิดเชื้อดื้อยา
  • ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมักเกิดในเพศหญิง เนื่องจากมีท่อปัสสาวะสั้น โดยอาจก่อให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อุ้งเชิงกรานอักเสบ กรวยไตอักเสบ การมีบุตรยาก และการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • ในเพศชายอาจเกิดกลุ่มอาการของไรเตอร์ (Reiter’s syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่มีข้ออักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ และท่อปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง หรือก่อให้เกิดโรคอัณฑะอักเสบ และบางรายที่มีอาการน้อยมาก ถ้าไม่ได้สนใจรักษาก็อาจกลายเป็นท่อปัสสาวะอักเสบเรื้อรังได้
  • นอกจากนี้ยังอาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ ท่อปัสสาวะตีบ (Urethral stricture), ฝีที่ท่อปัสสาวะ, อัณฑะอักเสบ, ต่อมลูกหมากอักเสบ และการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

การวินิจฉัยโรคท่อปัสสาวะอักเสบ

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้จากประวัติอาการ ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ การตรวจร่างกาย การตรวจภายในของผู้หญิง การตรวจปัสสาวะ การตรวจเชื้อ การเพาะเชื้อจากปัสสาวะหรือสารคัดหลั่งจากท่อปัสสาวะ และอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุด้วย ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือด ในรายที่สงสัยว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ เป็นต้น

วิธีรักษาโรคท่อปัสสาวะอักเสบ

เมื่อมีอาการของโรคท่อปัสสาวะอักเสบหรือคู่นอนมีอาการ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยไม่ควรรักษาด้วยตัวเอง

  • โรคท่อปัสสาวะอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ (ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่) สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ หากเกิดจากสาเหตุอื่นก็ให้แก้ที่สาเหตุนั้น ๆ ด้วย
  • รักษาแบบประคับประคองไปตามอาการ เช่น ให้รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดปัสสาวะ
  • การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคท่อปัสสาวะอักเสบ ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
    1. รับประทานยาให้ครบ อย่าหยุดยาเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    2. ต้องพาคู่นอนมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาไปพร้อม ๆ กัน เมื่อโรคเกิดจากการติดเชื้อ แม้คู่นอนจะไม่มีอาการก็ตาม
    3. ดื่มน้ำสะอาดให้มากกว่าปกติ วันละ 8-10 แก้ว หรือ 1-2 ลิตร เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม เพื่อให้ปัสสาวะออกบ่อยขึ้น ซึ่งจะช่วยชะล้างเชื้อที่ติดอยู่ที่เยื่อบุท่อปัสสาวะออกไปได้อีกทางหนึ่ง
    4. พักผ่อนให้เพียงพอ
    5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกมื้อ และรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง
    6. งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายจากโรค ไม่สำส่อนทางเพศ และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
    7. ในผู้ป่วยที่มีสายสวนปัสสาวะคาอยู่ก็ควรได้รับการถอดออกในระยะที่ท่อปัสสาวะยังอักเสบอยู่
    8. ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเอง เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา

วิธีป้องกันโรคท่อปัสสาวะอักเสบ

การป้องกันที่ดีที่สุดคือการป้องกันที่สาเหตุ ซึ่งจะต่างกันไปในแต่ละสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ การติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดย

  • ไม่ส่ำส่อนทางเพศ
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • เมื่อเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ ทั้งจากตัวผู้ป่วยเองและคู่นอนด้วย
  • ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) อยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงและลดโอกาสการติดเชื้อต่าง ๆ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หาหมอดอทคอม.  “ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [27 มิ.ย. 2016].
  2. MutualSelfcare.  “โรคท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : mutualselfcare.org.  [28 มิ.ย. 2016].
  3. Siamhealth.  “ท่อปัสสาวะอักเสบ Urethritis”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [28 มิ.ย. 2016].

ภาพประกอบ : www.wellbeingart.com, www.consumerhealthdigest.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด