ทานตะวัน
ทานตะวัน ชื่อสามัญ Common sunflower, Sunflower, Sunchoke
ทานตะวัน ชื่อวิทยาศาสตร์ Helianthus annuus L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[2]
สมุนไพรทานตะวัน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บัวทอง บัวตอง ทานตะวัน (ภาคเหนือ), บัวผัด บัวทอง (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ), ชอนตะวัน ทานตะวัน (ภาคกลาง), ทานหวัน (ภาคใต้), เซี่ยงยื่อขุย[3] เซี่ยงยื้อขุย[4] (จีนกลาง), เหี่ยงหยิกขุ้ย (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น[1],[3],[4],[8]
การที่ได้ชื่อว่า “ทานตะวัน” นั่นเป็นเพราะลักษณะการหันของช่อดอกและใบนั้นจะหันไปตามทิศทางของดวงอาทิตย์ โดยในตอนเช้าจะหันไปทางทิศตะวันออก และในช่วงเย็นจะหันไปทางทิศตะวันตกตามดวงอาทิตย์ แต่การหันจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ หลังมีการผสมเกสรแล้วไปจนถึงช่วงดอกแก่ ซึ่งช่อดอกจะหันไปทางทิศตะวันออกเสมอ[8]
ลักษณะของทานตะวัน
- ต้นทานตะวัน มีถิ่นกำเนิดและเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา[5] โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุประมาณ 1 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 3-3.5 เมตร ลำต้นตั้งตรงเป็นสีเขียวแกนแข็ง ไม่มีการแตกแขนง (ยกเว้นบางสายพันธุ์) ตามต้นมีขนยาวสีขาวค่อนข้างแข็งปกคลุมตลอด[1],[3],[8] ส่วนรากเป็นระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปในดินประมาณ 150-270 เซนติเมตร มีรากแขนงค่อนข้างแข็งแรงและแผ่ขยายไปทางด้านข้างได้ถึง 60-150 เซนติเมตร เพื่อช่วยในการค้ำจุนต้นและสามารถใช้ความชื้นระดับผิวดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ[8]
- ใบทานตะวัน ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน หลังจากที่มีใบเกิดแบบตรงกันข้ามได้ 5 คู่แล้ว ใบที่เกิดหลังจากนั้นจะมีลักษณะวน โดยจำนวนของใบบนต้นอาจมีตั้งแต่ 8-70 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างกลม หรือกลมเป็นรูปไข่ หรือเป็นรูปหัวใจ และสีของใบอาจมีตั้งแต่เขียวอ่อน เขียว และเขียวเข้ม (แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์) ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 9-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบหยาบและมีขนสีขาวทั้งสองด้าน มีก้านใบยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ต้องการน้ำปานกลาง ชอบแสงแดดจัดเพราะเป็นไม้กลางแจ้ง[1],[3],[4],[6],[8]
- ดอกทานตะวัน ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกที่ปลายยอด ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกมีขนาดใหญ่เป็นสีเหลืองเข้ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 25-30 เซนติเมตร มีกลีบดอกเป็นจำนวนมากเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายกลีบดอกแหลมเป็นสีเหลืองสด ส่วนด้านในคือช่อดอก มีลักษณะเป็นจาน ประกอบไปด้วยดอกขนาดเล็กจำนวนมาก กลางดอกมีเกสรสีน้ำตาลอมสีม่วงและภายในมีผลจำนวนมาก ดอกมีเกสรเพศเมียอยู่ตรงกลาง 1 อัน ส่วนเกสรเพศผู้มี 5 อัน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว[1],[3],[5]
- ผลทานตะวัน (หรือโดยทั่วไปเรียกว่า “เมล็ดทานตะวัน“) ผลเป็นผลแห้งและมีจำนวนมากอยู่ตรงฐานดอก ผลขนาดใหญ่จะอยู่วงรอบนอก ส่วนผลที่อยู่ใกล้กับกึ่งกลางจะมีขนาดเล็ก ผลมีลักษณะเป็นรูปรีและแบนนูน ด้านหนึ่งมน อีกด้านหนึ่งแหลม ผลมีขนาดประมาณ 6-17 มิลลิเมตร เปลือกหุ้มผลแข็ง เปลือกผลเป็นสีเทาเข้มหรือสีดำและเป็นลาย ภายในผลมีเมล็ดสีเหลืองอ่อนเพียง 1 เมล็ด ลักษณะรียาว และในเมล็ดพบว่ามีน้ำมันเป็นจำนวนมาก[1],[3],[4],[8] โดยผลหรือเมล็ดทานตะวันจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ เมล็ดที่ใช้สกัดทำน้ำมัน (ผลเล็ก สีดำ เปลือกบาง), เมล็ดที่ใช้กิน (ผลใหญ่ เปลือกหนาไม่ติดกับเนื้อในเมล็ด) และเมล็ดที่ใช้สำหรับเลี้ยงนกหรือไก่[8]
สรรพคุณของทานตะวัน
- น้ำมันจากเมล็ดทานตะวันมีรสร้อน สามารถช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือดได้ (น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2],[4]
- ใบทานตะวันมีรสเฝื่อน เป็นยาแก้เบาหวาน (ใบ)[2],[4]
- เมล็ดช่วยลดความดันโลหิต (เมล็ด)[3] หรือจะใช้แกนหรือไส้ของลำต้นทานตะวันนำมาต้มกับน้ำดื่ม (แกนต้น)[2] หรือจะใช้ใบทานตะวันสด 60 กรัม (ถ้าใบแห้งใช้ 30 กรัม) และโถวงู่ฉิกสด 60 กรัม (ถ้าแห้งใช้ 30 กรัม) นำมาต้มเอาแต่น้ำดื่ม (ใบ)[4] ส่วนอีกวิธีเป็นการทดลองกับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจำนวน 10 คน ด้วยการใช้ฐานรองดอกแห้งประมาณ 45 กรัมนำมาบดให้ละเอียดแล้วทำเป็นยาน้ำเชื่อม 100 มิลลิลิตร นำมาให้ผู้ป่วยกินครั้งละ 20 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง พบว่าหลังจากการศึกษาแล้ว 60 วัน ความดันโลหิตของผู้ป่วยลดลง โดยมีอาการดีขึ้น 4 คน และมีอาการดีขึ้นเล็กน้อย 4 คน ส่วนอีก 2 คน ไม่มีอาการดีขึ้นเลย (ฐานรองดอก)[4]
- ช่วยทำให้อวัยวะภายในร่างกายชุ่มชื้น (เมล็ด)[3]
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ตาลาย ด้วยการใช้ฐานรองดอกแห้งประมาณ 25-30 กรัมนำมาตุ๋นกับไข่ 1 ฟอง ใช้กินหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง (ดอก, ฐานรองดอก, ดอกและฝัก)[2],[3],[4]
- เปลือกเมล็ดมีรสเฝื่อน ช่วยแก้อาการหูอื้อ ด้วยการใช้เปลือกเมล็ดทานตะวันประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือกเมล็ด)[2],[4]
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ดอกแห้ง 25 กรัม นำมาสูบเหมือนยาสูบ หรือจะใช้ฐานรองดอก 1 อันและรากเกากี้นำมาตุ๋นกับไข่รับประทาน (ดอก, ฐานรองดอก, ดอกและฝัก)[2],[3],[4]
- รากและลำต้นเป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (รากและลำต้น)[3]
- ใช้เป็นยาแก้หวัด แก้อาการไอ แก้ไข้หวัด หากใช้แก้อาการไอให้ใช้เมล็ดนำมาคั่วให้เหลือง แล้วนำมาชงกับน้ำดื่ม(เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2],[4] ส่วนรากและลำต้นก็เป็นยาแก้ไอเช่นกัน (รากและลำต้น)[3]
- ช่วยแก้อาการร้อนใน (รากและลำต้น)[3]
- แกนหรือไส้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการไอกรนได้ หรือจะใช้แกนกลางของลำต้นนำมาโขลกให้ละเอียด ผสมกับน้ำตาลทรายขาว แล้วนำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม (แกนต้น)[2],[4]
- ใบ ราก และลำต้นช่วยแก้หอบหืด (รากและลำต้น, ใบ)[2],[3],[4]
- ดอกมีรสเฝื่อน เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ (ดอก)[2],[4]
- เมล็ด น้ำมันจากเมล็ด ราก และลำต้นมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ ขจัดเสมหะ (รากและลำต้น, เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2],[3],[4]
- ช่วยรักษาเต้านมอักเสบ ด้วยการใช้ฐานรองดอกแห้งนำมาหั่นเป็นฝอย แล้วนำไปคั่วให้เกรียม บดให้ละเอียด นำมาชงกับน้ำอุ่นหรือเหล้าดื่มครั้งละ 10-15 กรัม วันละ 3 ครั้ง ซึ่งจากการใช้รักษาในผู้ป่วยจำนวน 122 คน พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น (ฐานของดอก)[3],[4]
- ช่วยรักษาฝีเต้านม (แกนต้น)[2]
- ดอกช่วยขับลม (ดอก)[2],[4]
- รากเป็นยาแก้อาการปวดท้อง แน่นหน้าอก (ราก)[1],[4]
- รากและลำต้น ฐานรองดอก ดอกและฝักใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้อง (รากและลำต้น, ฐานรองดอก, ดอกและฝัก)[2],[3]
- ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะ (แกนต้น, ดอกและฝัก)[2],[3]
- ฐานรองดอกมีรสเฝื่อน เป็นยาแก้โรคกระเพาะอาหาร แก้อาการปวดท้องเนื่องจากโรคกระเพาะอักเสบ ด้วยการใช้ฐานรองดอก 1 อัน (หรือประมาณ 30-60 กรัม) และกระเพาะหมู 1 กระเพาะ แล้วใส่น้ำตาลทรายแดง 30 กรัม นำมาต้มกรองเอาแต่น้ำมาดื่ม (ฐานรองดอก)[2],[4]
- ช่วยแก้โรคบิด (เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2],[4] ช่วยแก้บิดถ่ายเป็นเลือด (ดอกและฝัก)[3]
- แกนหรือไส้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร (แกนต้น)[2]
- ช่วยแก้อาการท้องผูกสำหรับผู้สูงอายุ (ดอกและฝัก)[3]
- รากใช้เป็นยาแก้ระบาย (ราก)[4]
- รากใช้เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน ด้วยการใช้รากสด 30 กรัม เติมน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก)[1],[4]
- ราก แกนหรือไส้ลำต้น และน้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (แกนต้น, ราก, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[4]
- แกนหรือไส้ของลำต้นมีรสจืดเฝื่อน นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับนิ่วในไต นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ช่วยขับปัสสาวะได้ดี แก้ปัสสาวะขุ่นขาว แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยการใช้แกนกลางของลำต้นยาวประมาณ 60 เซนติเมตร หรือประมาณ 15 กรัม และรากต้นจุ้ยขึ่งฉาวราว 60 กรัม นำมาต้มคั้นเอาแต่น้ำหรือใช้ผสมกับน้ำผึ้งดื่ม (แกนต้น)[2],[4] ส่วนรากและลำต้นเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะปวดแสบปวดร้อน แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (รากและลำต้น)[3]
- ช่วยขับหนองใน (เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2],[4]
- ช่วยแก้มุตกิดตกขาวของสตรี (รากและลำต้น)[3]
- ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี (ฐานรองดอก, ดอกและฝัก)[2],[3],[4] ใช้แก้อาการปวดท้องน้อยก่อนหรือระยะที่รอบเดือนมา ให้ใช้ฐานรองดอก 1 อัน กระเพาะหมู 1 กระเพาะ ใส่น้ำตาลทรายแดง 30 กรัม แล้วต้มกรองเอาแต่น้ำมาดื่ม(ฐานรองดอก)[4]
- ช่วยบีบมดลูก (ดอก)[4]
- ช่วยแก้เนื้องอกเยื่อบุผิวถุงน้ำคร่ำ (แกนต้น)[2]
- ช่วยแก้อาการมูกโลหิต ด้วยการใช้เมล็ด 30 กรัม ใส่น้ำตาลเล็กน้อย นำมาต้มกับน้ำประมาณ 60 นาที แล้วนำมาใช้ดื่ม (เมล็ด)[4]
- เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงตับและไต (เมล็ด)[3]
- ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (รากและลำต้น)[3]
- ใบใช้เป็นยารักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ใบ)[3]
- หากแผลที่มีเลือดไหล ให้ใช้แกนกลางของลำต้นนำมาโขลกให้ละเอียด แล้วนำมาใช้พอกบริเวณแผล (แกนต้น)[4]
- ใช้ทั้งต้นนำมาสกัดทำเป็นขี้ผึ้ง ใช้เป็นยารักษาแผลสดและแผลฟกช้ำ (ทั้งต้น)[3] ส่วนรากช่วยแก้อาการฟกช้ำ (ราก)[1],[4]
- ช่วยแก้อีสุกอีใส (ดอกและฝัก)[3]
- ช่วยแก้ฝีฝักบัว (น้ำมันจากเมล็ด)[1],[4] แก้อาการปวดบวมฝี (ฐานรองดอก)[4]
- น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ (น้ำมันจากเมล็ด)[1],[4]
- ใช้แก้ไขข้อกระดูกอักเสบและฝี ด้วยการใช้ดอกทานตะวันสด[3] บ้างระบุว่าใช้ฐานรองดอก[4] ในปริมาณพอดี นำมาต้มเคี่ยวให้ข้นคล้ายกับขี้ผึ้งเหลว แล้วนำมาใช้พอกและทาบริเวณที่เป็น จากการรักษาในผู้ป่วยจำนวน 30 คนพบว่าได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ (ดอก)[3],[4]
- ดอกช่วยทำให้หน้าตาสดใส ช่วยรักษาใบหน้าตึงบวม (ดอก)[4]
หมายเหตุ : การใช้ตาม [3] ถ้าเป็นฝักดอกแห้งให้ใช้ครั้งละ 35-100 กรัม แต่ถ้าเป็นรากแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-40 กรัม ส่วนกิ่งและก้านให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของทานตะวัน
- สารสำคัญที่พบได้แก่ Abscisic acid, Beta-carotene, Citric acid, Coumaric acid,Cumin alcohol, Cyamidin, Glycoside, Glandulone A, B gibberellin A, Vanillin, Vitamin B2[2]
- ทั้งต้นพบว่ามีสาร Cryptoxanthin, Earotenoids, Globulin, Glycocoll, Quercimeritin, Phospholipid Methionine, Seopoline Heliangine, Tocopherol ส่วนในเมล็ดพบโปรตีน 55%, ออกไซด์คาร์บอเนต 41.6%, น้ำมันประมาณ 55% และในน้ำมันพบสาร Linoleic acid 70%, Glycerol oil, Phosphatide, Phospholipid, B-Sitosterol และพบน้ำมันระเหยอีกหลายชนิด[3],[4] ส่วนเปลือกเมล็ดพบน้ำมัน 5.17%, โปรตีน 4%, ขี้ผึ้ง 2.96% และยังมี Cellulose, Pentosan, และ Lignin[4]
- ทานตะวันมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูง ยับยั้งการก่อมะเร็ง ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด[2]
- เมื่อปี ค.ศ.1971 บูดาเปสได้ทำการศึกษาทดลองผลการลดไขมันในเลือดของน้ำมันจากเมล็ดทานตะวันในหนูทดลอง พบว่าสาร Cephalin B, Cephalin A lysocepphalin, lecithin และ lysolecithin มีผลในการช่วยลดไขมันในเลือด[2]
- เมื่อปี ค.ศ.1999 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองศึกษาผลในการลดไขมันในเลือดของเมล็ดทานตะวันในหนูขาวทดลอง โดยทำการทดลองนานถึง 9 สัปดาห์ โดยกระตุ้นให้หนูขาวเป็นเบาหวาน โดยให้ Alloxan และให้น้ำมันดอกทานตะวัน หลังจากการทดลองพบว่าไขมันในเลือดมีระดับลดลง[2]
- เมื่อปี ค.ศ.2003 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาทดลองผลในการลดไขมันของเมล็ดทานตะวัน โดยทำการทดลองในหนูเพศผู้จำนวน 60 ตัว และแบ่งกลุ่มการทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มควบคุมที่ให้อาหารไขมัน 1% ส่วนกลุ่มที่สอง ให้เมล็ดองุ่น 10 gm. และกลุ่มที่สามให้น้ำมันดอกทานตะวัน 1 gm. และได้ทำการทดลอง 4 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่สามที่ให้น้ำมันดอกทานตะวันสามารถลดไขมันได้มากกว่ากลุ่มที่สอง[2]
- เมื่อปี ค.ศ.2005 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาทดลองผลการลดไขมันในเลือดของทานตะวันในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนจำนวน 14 คน โดยทำการทดลอง 28 วัน แบ่งกลุ่มการทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มควบคุม ส่วนกลุ่มที่สองให้น้ำมันมะกอกผสมกับน้ำมันเมล็ดทานตะวัน และกลุ่มสามคือกลุ่มที่ให้อาหารไขมันสูง ภายหลังการทดลองพบว่ากลุ่มที่สองมีระดับคอเลสเตอรอลลดลงแตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ P < 0.05[2]
- เมื่อปี ค.ศ.2005 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาทดลองผลในการลดไขมันในเลือดของเมล็ดทานตะวัน โดยทำการทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 31 คนที่มีอายุระหว่าง 25-64 ปี แบ่งเป็นชาย 12 คน และหญิง 19 คน และมีระดับไขมันในเลือด 294 mg./dl. ซึ่งได้ทำการทดลอง 4 สัปดาห์ โดยให้น้ำมันดอกทานตะวัน 8.3% และ 7.9% ผลการทดลองพบว่าคอเลสเตอรอลในเลือดมีระดับลดลง[2]
- เมื่อปี ค.ศ.2005 ที่ประเทศรัสเซีย ได้ทำการศึกษาทดลองผลในการลดไขมันของเมล็ดทานตะวัน โดยทำการทดลองในหนูขนาด 180-200 gm. ที่ถูกกระตุ้นให้ไขมันในเลือดสูง โดยให้น้ำมันดอกทานตะวัน 1 ซีซีต่อวัน และใช้ n-6 fatty acid fish oil 1 ซีซีต่อวัน และ Znso 0.43 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน โดยทำการทดลองนาน 6 สัปดาห์ ภายหลังการทดลองพบว่าระดับของคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง[2]
- ในเมล็ดทานตะวันพบว่ามีสารฟอสโฟลิพิด (Phospholipids) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดของหนูทดลองได้ แต่ผลการรักษายังไม่ชัดเจนนัก[3],[4]
- ดอกเมื่อนำมาสกัดจะได้น้ำจากใบ แล้วนำมาใช้ทดลองกับกระต่ายทดลองด้วยวิธีการฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำ พบว่าจะทำให้ความดันโลหิตต่ำและกระตุ้นการหายใจ นอกจากนี้เมื่อนำมาหยอดลงบริเวณใบหูของกระต่ายก็ว่าทำให้เส้นเลือดขยายตัวขึ้น และยังทำให้การบีบตัวของลำไส้เล็กเพิ่มขึ้นอีกด้วย แต่เมื่อนำมาทดลองกับแมวด้วยวิธีการฉีดเข้าในผิวหนัง พบว่าจะมีผลทำให้ความดันโลหิตลดลงกว่าเดิม[4]
- ฐานรองดอกเมื่อนำมาสกัดสารออกด้วยแอลกอฮอล์แล้วนำมาใช้ทดลองกับแมวด้วยวิธีการฉีดเข้าไปในเส้นเลือดดำ พบว่ามีผลทำให้ความดันโลหิตต่ำและทำให้แมวสลบ[4]
- น้ำมันจากดอกทานตะวันเมื่อนำมาใช้ผสมกับอาหารแล้วให้กระต่ายทดลองกิน พบว่ามีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อวัณโรคมีมากขึ้น[4]
- สารสกัดจากดอกทานตะวันเมื่อนำมาทดลองกับกระต่าย พบว่าสามารถทำให้เส้นเลือดมีการขยายตัวและไปกระตุ้นระบบประสาท ส่วนเรื่องการหายใจพบว่าทำให้กระต่ายหายใจแรงขึ้น แต่มีความดันลดลง และเห็นได้ชัดเจนว่า ลำไส้เล็กของกระต่ายมีการบีบตัวมากขึ้น จึงได้มีการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการลำไส้หย่อนหรือลำไส้ไม่มีกำลัง[3]
- สารสกัดจากใบทานตะวันด้วยแอลกอฮอล์ 0.2% สามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้ โดยสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย Bacillus aureus และพารามีเซียม (Paramecium) ได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรีย Bacillus coli และนอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้เป็นยาต้านโรคมาลาเรียและช่วยเสริมฤทธิ์ของยาควินินได้อีกด้วย[3],[4]
- จากการทดสอบความเป็นพิษพบว่าสารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินด้วย 50% เอทานอล มีค่า LD50 มากกว่า 1.0 กรัมต่อกิโลกรัมเมื่อทำการฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร[2]
ประโยชน์ของทานตะวัน
- เมล็ดทานตะวันนำมาคั่วให้แห้งใช้กินเป็นอาหารว่างได้[2] หรือจะนำมาอบหรือใช้ปรุงแต่งขนมหวาน เป็นคุกกี้ทานตะวัน ทานตะวันแผ่น หรือใช้ทำเป็นแป้งประกอบอาหารก็ได้[8],[13] อีกทั้งเมล็ดยังเป็นแหล่งโปรตีนที่ใช้แทนเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี และเมื่อนำมาบดจะได้แป้งสีขาว มีไขมันสูงและมีโปรตีนมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณแป้ง นอกจากนี้ยังมีธาตุเหล็กสูงไม่แพ้ธาตุเหล็กที่ได้จากไข่แดงหรือตับของสัตว์อีกด้วย จึงเหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่กินมังสวิรัติ (การเลือกเมล็ดทานตะวันต้องเลือกที่ยังใหม่ ๆ และไม่มีกลิ่นเหม็นหืน โดยสังเกตได้จากเปลือกหุ้มเมล็ดจะต้องมีสีเทา ไม่เป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล)[10] ว่ากันว่าหากใช้เมล็ดทานตะวันในการเลี้ยงไก่จะช่วยทำให้แม่ไก่ออกไข่มาก[12]
- เมล็ดทานตะวันมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยประกอบไปด้วยโปรตีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส อีกทั้งยังมีวิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินอี และวิตามินเค โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินอีจะมีมากกว่าพืชชนิดอื่น ๆ (มากกว่าเมล็ดถั่วเหลืองและเมล็ดข้าวโพดกว่า 3 เท่า) โดยประโยชน์ของวิตามินอีนั้นจะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยรักษาผิวพรรณให้แลดูสดใส เยาว์วัย ช่วยทำให้ระบบสืบพันธุ์เป็นปกติ ช่วยลดไขมันในหลอดเลือด ช่วยป้องกันหัวใจวาย ช่วยบำรุงสายตา และยังอาจช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกด้วยก็เป็นได้ (พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต)[9] นอกจากนี้เมล็ดทานตะวันยังช่วยป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตให้ดีขึ้น และช่วยป้องกันและต่อต้านสารเคมีที่เป็นพิษที่จะก่อให้เกิดมะเร็งในปาก[14]
- เมล็ดทานตะวันสามารถนำมาเพาะเป็นทานตะวันอ่อน (ต้นอ่อนทานตะวัน) หรือทานตะวันงอก (เมล็ดทานตะวันงอก) มีรสหวานกรอบ โดยสามารถนำมาใช้ทำเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ยำต้นอ่อนทานตะวัน สลัดต้นอ่อนทานตะวัน ผัดน้ำมันหอย แกงจืด แกงส้ม ใช้ใส่ในก๋วยเตี๋ยวแทนถั่วงอก หรือทำเป็นผักจิ้มน้ำพริกก็ยังได้ ฯลฯ หรือจะนำมาปั่นเป็นน้ำผักดื่มก็จะได้น้ำผักที่มีสีเขียวเข้มและมีกลิ่นหอม (แต่ควรดื่มตอนท่องว่าง ก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง ก็จะได้ประโยชน์มาก) โดยเป็นอาหารที่ย่อยง่ายและยังมีประโยชน์ที่ไม่ธรรมดา โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่า ต้นอ่อนของเมล็ดทานตะวันมีโปรตีนมากกว่าถั่วเหลือง มีวิตามินเอและวิตามินอีสูง จึงช่วยบำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณ ช่วยในการชะลอวัย มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 โอเมกา 3 โอเมกา 6 โอเมกา 9 ที่ช่วยบำรุงเซลล์สมองและช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ และยังมีธาตุเหล็กสูงและช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้อีกด้วย[11]
- น้ำมันทานตะวันหรือน้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน สามารถนำมาใช้ปรุงอาหารได้ เช่น การนำมาผัด หรือนำมาปรุงน้ำสลัด มีบางส่วนที่นำมาใช้บริโภคเป็นน้ำมันและเครื่องสำอาง[2]
- น้ำมันจากเมล็ดทานตะวันเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูง โดยมีน้ำมันไม่อิ่มตัวสูงกว่าร้อยละ 90 ซึ่งร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ (ช่วยลดคอเลสเตอรอลที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคมะเร็ง) และยังประกอบไปด้วยวิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเคอีกด้วย เมื่อเก็บไว้เป็นเวลานานก็ไม่เกิดกลิ่นหืน อีกทั้งยังทำให้สี กลิ่น และรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากจะนำมาใช้เป็นน้ำมันพืชแล้ว ยังนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ทำเนยเทียม น้ำมันสลัด ครีม นมที่มีไขมัน และอาหารอีกหลายชนิด นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรมสี ฟอกสี ทำสบู่ น้ำมันชักเงา น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ ทำฟิล์ม ใช้ในการฟอกหนัง เคลือบผิวผลไม้ในลักษณะขี้ผึ้ง เช่น การทำเทียนไข หรือเครื่องสำอาง[5],[8],[7],[10],[13],[14] บ้างใช้เป็นน้ำมันนวด หรือใช้เป็นส่วนผสมของครีมนวดผม หรือผสมในโลชันบำรุงผิว (เนื่องจากมีวิตามินอีสูง)
- กากจากเมล็ดทานตะวันหลังการสกัดเอาน้ำมันจะมีโปรตีนอยู่ประมาณ 30-40% สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงได้ และยังใช้เป็นแหล่งแคลเซียมสำหรับปศุสัตว์ได้เป็นอย่างดี แต่จะมีปริมาณของกรดอะมิโนอยู่เพียงเล็กน้อยและขาดไลซีน จึงต้องนำมาใช้อย่างรอบคอบเมื่อจะนำไปผสมเป็นอาหารสัตว์ที่มิใช่สัตว์เคี้ยวเอื้อง[5],[10]นำมาใช้ทำ Lecithin เพื่อใช้ในทางการแพทย์ในการช่วยลดคอเลสเตอรอลในคนไข้ที่มีคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด[14]
- รากของต้นทานตะวันสามารถนำมาใช้ทำเป็นแป้งเค้ก สปาเกตตีได้ อีกทั้งรากยังมีวิตามินบี 1 และแร่ธาตุอีกหลายชนิด แพทย์ยังแนะนำให้ใช้รากของต้นทานตะวันประกอบอาหารสำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานอีกด้วย[10]
- คนจีนจะนิยมใช้ใบทานตะวันแห้งมามวนเป็นแท่งขนาดใหญ่ แล้วนำมาจุดเพื่อรมให้จุดฝังเข็มร้อนขึ้น ซึ่งเป็นการรักษาแบบฝังเข็มแบบประยุกต์ โดยมีการใช้มานานเกือบพันปีแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะนิยมใช้โกฐจุฬาลัมพามามวนเป็นยารมมากกว่า[12]
- กลีบดอกสามารถนำมาต้มแล้วใช้ย้อมสีผ้าได้ โดยจะให้สีเหลือง[12]
- คนจีนจะใช้เส้นใยที่ได้จากก้านมาทอเพื่อใช้ทำเป็นผ้าเนื้อหยาบ[12]
- เปลือกของลำต้นทานตะวันมีลักษณะคล้ายเยื่อไม้ จึงนำมาใช้ทำกระดาษสีขาวที่มีคุณภาพดีได้[10]
- ลำต้นหรือจานดอกเมื่อนำไปเผาให้เป็นขี้เถ้าแล้ว สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมการหลอมเหล็กได้[13]
- ลำต้นยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงได้ อีกทั้งเมื่อทำการไถกลบก็จะกลายเป็นปุ๋ยที่ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินได้เป็นอย่างดี[10],[13] หรือจะนำทุกส่วนของต้นทานตะวันที่แห้งแล้ว นำไปเผาก็จะกลายเป็นปุ๋ยโพแทสเซียมที่ใช้ในการเกษตรได้[12]
- ทานตะวันเป็นพืชที่มีบทบาทมากในการช่วยฟื้นฟูดิน เพราะต้นทานตะวันสามารถสะสมสารตะกั่วได้ 0.86 mg./kg. เมื่อเลี้ยงแบบไฮโดรโพนิกส์ และยังช่วยส่งเสริมการย่อยสลายคาร์โบฟูรานได้ 46.71 mg./kg.[7]
- เนื่องจากดอกทานตะวันจะไม่ผสมเกสรในต้นเดียวกัน จึงต้องอาศัยผึ้งหรือแมลงบางชนิดนำละอองเกสรจากดอกอื่นมาช่วยในการผสมพันธุ์ จึงจะได้เมล็ดที่สมบูรณ์ เลยทำให้เกิดอาชีพเลี้ยงผึ้งควบคู่ไปกับการปลูกต้นทานตะวันไปด้วยในหลายท้องที่[5]
- ทานตะวันเป็นพรรณไม้ที่นิยมนำมาปลูกเป็นประดับ ส่วนดอกนำมาใช้จัดในงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานแต่ง หรือนำมาใช้จัดเป็นแจกันดอกไม้เพื่อความสวยงาม และยังนิยมนำไปใช้ในการเยี่ยมคนป่วย เพราะจะทำให้รู้สึกสดใส[4]
คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดทานตะวันอบแห้ง ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 584 กิโลแคลอรี 29%
- คาร์โบไฮเดรต 20 กรัม 15%
- โปรตีน 20.78 กรัม 37%
- ไขมัน 51.46 กรัม 172%
- ใยอาหาร 8.6 กรัม 23%
- วิตามินเอ 50 หน่วยสากล 1.6%
- วิตามินบี 1 1.480 มิลลิกรัม 123%
- วิตามินบี 2 0.355 มิลลิกรัม 27%
- วิตามินบี 3 8.335 มิลลิกรัม 52%
- วิตามินบี 5 1.130 มิลลิกรัม 22%
- วิตามินบี 6 1.345 มิลลิกรัม 103%
- วิตามินบี 9 227 ไมโครกรัม 57%
- วิตามินซี 1.4 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินอี 35.17 มิลลิกรัม 234%
- ธาตุแคลเซียม 78 มิลลิกรัม 8%
- ธาตุเหล็ก 5.25 มิลลิกรัม 63%
- ธาตุแมกนีเซียม 325 มิลลิกรัม 81%
- ธาตุแมงกานีส 1.950 มิลลิกรัม 85%
- ธาตุฟอสฟอรัส 660 มิลลิกรัม 94%
- ธาตุโพแทสเซียม 645 มิลลิกรัม 14%
- ธาตุโซเดียม 9 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุสังกะสี 5.00 มิลลิกรัม 45%
- ธาตุทองแดง 1.800 มิลลิกรัม 200%
- ธาตุซีลีเนียม 53 ไมโครกรัม 96%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรทานตะวัน
- สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน[3]
ทุ่งทานตะวัน
- ทุ่งดอกทานตะวัน ตั้งอยู่บริเวณเขตติดต่อระหว่างจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี ตามเส้นทางสายพัฒนานิคม-วังม่วง ซึ่งจะมีการทำไร่ทานตะวันกันมากในช่วงฤดูหนาว หรือในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม และดอกทานตะวันจะบานสะพรั่งในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม โดยแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญในประเทศไทย คือ จังหวัดลพบุรี (ปลูกทานตะวันประมาณ 200,000-300,000 ไร่) โดยแหล่งปลูกทานตะวันในจังหวัดลพบุรีจะกระจายอยู่ทั่วไปในเขตอำเภอเมือง อำเภอชัยบาดาลและอำเภอพัฒนานิคม แต่พื้นที่ที่มีการปลูกกันเป็นจำนวนมากคือ บริเวณวัดเวฬุวัน (อำเภอเมือง) นอกจากนี้ยังมีทุ่งทานตะวันที่จังหวัดสระบุรี (อำเภอพระพุทธบาท อำเภอวังม่วง อำเภอมวกเหล็ก อำเภอหนองโดน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอแก่งคอย) และงานทุ่งตะวันบานที่จังหวัดสุพรรณบุรี (ดูได้ที่ศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง) (ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ทานตะวัน (Tan Ta Wan)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 144.
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. “ทานตะวัน”. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). หน้า 107-108.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ทานตะวัน”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 262.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ทานตะวัน”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 375-379.
- โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. “ทานตะวัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: kanchanapisek.or.th/kp6/. [03 เม.ย. 2014].
- การผลิตไม้กระถางและไม้ตัดดอก (PRODUCTION OF POT-PLANTS AND CUT-FLOWERS), ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “ทานตะวัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th/Department/PlantScience/510-111web/510-482web/index.htm. [03 เม.ย. 2014].
- Khon Kaen University, Thesis. “Phytoremediation of Carbofuran Residue in Soil.”. (Teerakun, M. (2004).
- พืชน้ำมัน, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ทานตะวัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/use/oil1.htm. [03 เม.ย. 2014].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. ถาม-ตอบปัญหาสุขภาพ. “เมล็ดทานตะวัน”. (พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [03 เม.ย. 2014].
- กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “ทานตะวัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doae.go.th/library/html/detail/sunflower/index1.htm. [03 เม.ย. 2014].
- ไทยรัฐออนไลน์. “ทานตะวันอ่อน..สู้แล้ง ใช้น้ำน้อย..7วันนับเงิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [03 เม.ย. 2014].
- นิตยสารขวัญเรือน. “ทานตะวัน..สารพันสารพัดประโยชน์”.
- ทะเบียนพันธุ์ไม้ในโรงเรียน, โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ. “ทานตะวัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.wattano.ac.th. [03 เม.ย. 2014].
- กรมส่งเสริมการเกษตร. “ทานตะวัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ssnet.doae.go.th/ssnet2/Library/plant/sun.htm. [03 เม.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Anthony Quintano, bochinohito, kithylin, Paul Gallian, Paul Dykes, Rob Greebon, carlogatti, Quimg), pantip.com (by สมาชิกหมายเลข 836251)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)