ทองหลางใบมน
ทองหลางใบมน ชื่อวิทยาศาสตร์ Erythrina suberosa Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2]
สมุนไพรทองหลางใบมน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ทองกี ทองแค ทองบก (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของทองหลางใบมน
- ต้นทองหลางใบมน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง เปลือกต้นหนาเป็นร่องลึก ตามกิ่งและก้านมีหนามแหลมคมเล็ก ๆ ขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบได้ทั่วไปทางภาคเหนือ มักขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าผลัดใบ และมีปลูกไว้ตามบ้านและหัวไร่ปลายนา[1],[2]
- ใบทองหลางใบมน ใบเป็นใบประกอบ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดแต่มุมโค้งมน ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกทองหลางใบมน ออกดอกเป็นช่อแน่นที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีแดงเลือดนก มีลักษณะคล้ายดอกแค[1],[2]
- ผลทองหลางใบมน ผลมีลักษณะเป็นฝักแคบ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 2-4 เมล็ด[1]
สรรพคุณของทองหลางใบมน
- เปลือกต้นและรากมีสรรพคุณช่วยทำให้นอนหลับ (เปลือกต้น, ราก)[1]
- แก่น เปลือกต้น และใบมีสรรพคุณเป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด (แก่น, เปลือกต้น, ใบ)[1]
- เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมทั้งปวง (เปลือกต้น)[1],[3] ใช้ผสมกับยาอื่นกินเป็นยาแก้ลมกองละเอียด (เวียนหัวตามัว) (เปลือกต้น)[4]
- รากใช้เป็นยาแก้ไข้ (ราก)[1],[2] หรือจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ ดับพิษไข้ ใช้ตำผสมกับยาอื่นสุมกระหม่อมเด็กเป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ (ใบ)[2],[3],[4]
- ใช้เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ (ราก)[1],[3]
- เปลือกต้นและรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะ (เปลือกต้น, ราก)[1],[2],[3],[4]
- ช่วยแก้อาการสะอึก (เปลือกต้น)[1]
- ใช้เป็นยาแก้โรคตา (ราก)[3] แก้ตาบวม (เปลือกต้น)[3] ส่วนน้ำคั้นจากใบสดใช้หยอดตาแก้ตาแดง ตาแฉะ (ใบ)[3],[4]
- ใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน (เปลือกต้น)[1]
- แก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ฝีในท้อง (แก่น)[1],[2],[3]
- ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับพยาธิไส้เดือน (ใบ)[2],[3]
- เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้นิ่ว ขับนิ่ว (เปลือกต้น)[1],[2],[3]
- ดอกมีสรรพคุณเป็นยาขับโลหิตระดูของสตรี (ดอก)[1],[2],[3]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ริดสีดวง (ราก)[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุให้ใช้ใบเป็นยาแก้ริดสีดวง (ใบ)[3]
- ฝักมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงน้ำดี (ฝัก)[1],[3]
- เปลือกต้นและรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ดีพิการ (เปลือกต้น, ราก)[1],[2],[3]
- ใบแก่นำมารมควันชุบกับน้ำเหล้าใช้ปิดแผลเนื้อร้ายที่กัดกินลามบวมดังจะแตก และช่วยดูดหนองให้ยุบแห้งหายดี (ใบแก่)[3]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมพิษ (ราก)[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุให้ใช้เปลือกต้นกินเป็นยาแก้ลมพิษ (เปลือกต้น)[4]
- รากใช้เป็นยาแก้พิษดับพิษทั้งปวง (ราก)[2],[3]
- ใบนำมาคั่วให้เกรียมใช้เป็นยาเย็นดับพิษ น้ำคั้นจากใบสดใช้เป็นยาดับพิษอักเสบ (ใบ)[2],[3]
- แก่นและกระพี้มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษฝี (แก่น, กระพี้)[1],[3] ส่วนเปลือกต้นใช้ตำผสมกับข้าวเป็นยาพอกฝีแก้ปวดแสบปวดร้อน (เปลือกต้น)[4]
- ใบใช้ตำพอกแก้อาการปวด (ใบ)[2] ใช้ทาแก้ปวดตามข้อ (ใบ)[3]
- ช่วยแก้อาการปวดข้อ (เปลือกต้น)[1]
ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [1] แก่นหรือเปลือกต้นให้ใช้ครั้งละ 3-4 ชิ้น นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว นาน 30 นาที แล้วนำมาดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น ส่วนใบให้นำมารับประทานเป็นอาหาร[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของทองหลางใบมน
- สารสำคัญที่พบ ได้แก่ arachidic acid, behenic acid, campesterol, cyanidin-3-5-Ii-O-β-D-dlucoside, delphinidin-3-5-di-O-β-D-glucoside, erythrina suberosa lectin, flavonone, linoleic acid, myristic acid, oleic acid, palmitic acid, pelargonidin-3-5-di-O-β-D-glucoside, β-sitosterol, stearic acid, stigmasterol[1]
- ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ยับยั้งเนื้องอก ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา[1]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อฉีดสารสกัดจากใบและเปลือกต้นทองหลางใบมนด้วยเอทานอล 50% เข้าช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าขนาดที่ทนได้สูงสุดคือ 1 กรัมต่อกิโลกรัม และ 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตามลำดับ ส่วนสาร alkaloid จากใบในขนาด 306.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำให้หนูถีบจักรตาย 50%[1]
- จากการทดลองในปี ค.ศ.1973 ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งทำการทดลองใช้สารสกัดจากเปลือกต้นและใบทองหลางใบมนในสัตว์ทดลอง พบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้[1]
ประโยชน์ของทองหลางใบมน
- ยอดอ่อนและใบอ่อนนำมารับประทานเป็นผักสด เช่น ใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก เป็นผักแกล้มกับยำ ลาบหมู แกล้มกับตำมะม่วง เป็นต้น[1],[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ทองหลางใบมน”. หน้า 91-92.
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ทองหลางใบมน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [11 ธ.ค. 2014].
- สงขลาพอร์ทัล. (เวสท์สงขลา). “ทองหลางใบมน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.songkhlaportal.com. [11 ธ.ค. 2014].
- สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย, เทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช. “ทองหลาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tungsong.com. [11 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Qamar Mehdi)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)