ทองสามย่าน
ทองสามย่าน ชื่อวิทยาศาสตร์ Kalanchoe integra (Medik.) Kuntze จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบหิน (CRASSULACEAE)[1]
สมุนไพรทองสามย่าน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เถาไฟ ฮอมแฮม (แม่ฮ่องสอน), โพเพะ (โคราช), ฆ้องสามย่าน (ภาคกลาง), คะซีคู่ซัวะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1]
ลักษณะของทองสามย่าน
- ต้นทองสามย่าน จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นมีลักษณะโค้งแล้วตั้งตรง สูงได้ประมาณ 1-1.5 เมตร ไม่มีกิ่งก้านสาขา ลำต้นข้อบนจะยาว ส่วนล่างข้อข้อลำต้นจะสั้น ผิวลำต้นเรียบเกลี้ยงและอวบน้ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ทองสามย่านเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ชอบแสงแดด พบขึ้นตามบริเวณหินปูน[1]
- ใบทองสามย่าน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปหอก ปลายใบมน โคนใบสอบเข้าหากันและแคบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-5 นิ้ว และยาวประมาณ 1.5-12 นิ้ว เนื้อใบเรียบหนา ส่วนก้านใบจะโอบหุ้มลำต้น[1]
- ดอกทองสามย่าน ออกดอกเป็นช่อบริเวณยอดของลำต้น ดอกมีขนาดเล็ก กลีบรองกลีบดอกตั้งตรงหรือกางออกเป็นรูปเหลี่ยม ปลายกลีบแหลม มีขนาดยาวประมาณ 4-12 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกนั้นจะเชื่อมติดกันเป็นท่อ ปลายกลีบแยกจากกันเป็นแฉก มีความยาวประมาณ 7-13 มิลลิเมตร ตรงกลางดอกมีเกสรเพศผู้ 8 อัน และมีเกสรเพศเมียเป็นเส้นยาวอยู่รวมกัน[1]
- ผลทองสามย่าน ออกผลติดกันเป็นพวง ๆ ลักษณะของผลเป็นรูปยาวรี ส่วนปลายแหลม มีความยาวประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร[1]
สรรพคุณของทองสามย่าน
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาบำรุง (ใบ)[1]
- ใบสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ใบ)[1]
- น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาแก้อหิวาตกโรค (ใบ)[1]
- ลำต้นใช้เป็นยาล้างนัยน์ตา (ลำต้น)[1]
- ใช้เป็นยาห้ามเลือด (ลำต้น)[1]
- ใบใช้เป็นยาพอกรักษาแผล (ใบ)[1]
- ลำตนใช้เป็นยาแก้บรรเทาอาการฟกช้ำและบวม (ลำต้น)[1]
- ใช้เป็นยาแก้พิษในสัตว์ (ใบ)[1]
ประโยชน์ของทองสามย่าน
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ทองสามย่าน”. หน้า 368-369.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Hai Le, jaraseth montes de oca, 翁明毅)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)