ถ่านกัมมันต์ / ชาร์โคล (Activated charcoal) สรรพคุณ ผลข้างเคียง ฯลฯ

ถ่านกัมมันต์

ถ่านกัมมันต์ หรือ ผงถ่านกัมมันต์ หรือ ถ่านชาร์โคล (Activated charcoal หรือ Activated carbon) คือ รูปแบบหนึ่งของธาตุคาร์บอนที่ถูกนำมาผ่านการสังเคราะห์ทางเคมีหรือการปลุกฤทธิ์ให้มีฤทธิ์เพิ่มขึ้นในกระบวนการผลิต (Activated)

ถ่านกัมมันต์จะมีลักษณะเป็นอนุภาคเล็ก ๆ หรือเป็นผงเม็ดเล็ก (Granule) ที่ในตัวอนุภาคของผงถ่านจะมีรูพรุนและมีขนาดเล็ก-ใหญ่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งในปัจจุบันมนุษย์ได้นำถ่านกัมมันต์ไปใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น ใช้เป็นตัวฟอกหรือกรองอากาศในเครื่องปรับอากาศทั่วไป, ใช้เป็นไส้กรองของหน้ากากนิรภัยเพื่อกรองแก๊สพิษ, ใช้สกัดสินแร่ (เช่น แร่ทองคำ), ใช้กักเก็บแก๊สธรรมชาติในอุตสาหกรรมด้านพลังงาน, ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำดื่ม, ใช้ผลิตกาแฟชนิดที่ไม่มีกาเฟอีน, ใช้ในอุตสาหกรรมยา เป็นต้น

สำหรับการนำถ่านกัมมันต์มาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมยา วงการแพทย์ได้นำถ่านกัมมันต์มาใช้เพื่อดูดซับสารพิษที่รับประทานเข้าไปหรือดูดซับยาที่รับประทานเข้าไปเกินขนาด เพราะยาถ่านกัมมันต์นั้นมีขนาดเล็กและมีพื้นที่ผิวสัมผัสมาก จึงมีคุณสมบัติในการดูดซับสารพิษที่เข้าไปในระบบทางเดินอาหารได้ (ซึ่งผงถ่านกัมมันต์จะไม่ถูกดูดซึมจากกระเพาะอาหารและลำไส้เข้าสู่ร่างกายได้ จึงไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาการเผาผลาญในร่างกายแต่อย่างใด) แต่ความสามารถในการดูดซับพิษของถ่านกัมมันต์นี้ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพครอบคลุมสารพิษได้ทุกชนิด เพราะยังมีสารพิษอีกหลายชนิดที่ถ่านกัมมันต์ไม่สามารถดูดซับได้ เช่น กรดแก่, ด่างแก่, สารหนู, โลหะหนัก, แอลกอฮอล์ หรือตัวทำละลายที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นต้น

ตัวอย่างยาถ่านกัมมันต์

ยาถ่านกัมมันต์ หรือ ยาถ่าน หรือ ยาผงถ่าน (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น เบลาซิด (Belacid), ไบโคบอน (Bicobon), ไบโอดาน (Biodan), คาร์โบมินท์ (Carbomint), เกร๊ทเตอร์ คา-อา-บอน (greater CA-R-BON), คาร์บอนเพ็กเตท (Carbonpectate), เดลต้า ชาร์โคล (Delta Charcoal), เดลต้าคาบอน (Deltacabon), เกรทเตอร์ คา-อาร์-บอน (Greater Ca-R-Bon), เปปซีเทส (Pepsitase), โพลี เอ็นไซม์-l (Poly Enzyme-l), โพร เอบีเอส (Pro ABS), อัลตราคาร์บอน (Ultracarbon), อัลตราคาร์บอน เอ็กซ์ (Ultracarbon X) ฯลฯ

รูปแบบของยาถ่านกัมมันต์

  1. รูปแบบยาเดี่ยว
    • ยาผง ขนาดบรรจุ 5 กรัม
    • ยาเม็ด ขนาดบรรจุ 200 และ 250 มิลลิกรัม
    • ยาแคปซูล ขนาดบรรจุ 200 และ 260 มิลลิกรัม
  2. รูปแบบยาผสม
    • ประเภทยาแก้ท้องเสียและยาขับลมชนิดเม็ด ขนาด 65, 100, 130 และ 300 มิลลิกรัม
    • ประเภทยาช่วยย่อยชนิดเม็ด ขนาด 75 และ 90 มิลลิกรัม

ยาถ่าน
IMAGE SOURCE : ammpl.com.sg

ผงถ่านกัมมันต์
IMAGE SOURCE : manrepeller.wpengine.netdna-cdn.com

ยาผงถ่าน
IMAGE SOURCE : Medthai.com

สรรพคุณของยาถ่านกัมมันต์

  • ช่วยดูดซับสารพิษหรือยาบางชนิดจากการรับประทานสารพิษหรือยานั้น ๆ เกินขนาด
  • ช่วยรักษาอาการท้องเสียหรือถ่ายเหลวจากภาวะอาหารเป็นพิษ
  • ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • นอกจากการใช้ยาถ่านกัมมันต์ในรูปแบบของยาเดี่ยวแล้ว ในทางเภสัชกรรมยังมีการประยุกต์โดยการนำถ่านกัมมันต์ไปผสมกับยาอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาอีกด้วย เช่น ผสมในยาลดกรด ยาช่วยย่อย ยาขับลม เป็นต้น

กลไกการออกฤทธิ์ของยาถ่านกัมมันต์

ด้วยยาถ่านกัมมันต์มีขนาดเล็กและมีพื้นที่ผิวสัมผัสมาก จึงมีคุณสมบัติในการดูดซับสารพิษที่เข้าไปในระบบทางเดินอาหาร รวมไปถึงสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น สารอะโรมาติก (Aromatic compound) เช่น เบนซีน (Benzene) เป็นต้น อีกทั้งตัวยาถ่านกัมมันต์ยังขัดขวางการออกฤทธิ์ของน้ำตาลซอร์บิทอล (Sorbital) ที่อาจอยู่ในอาหารหรือผสมอยู่ในตำรับยา ซึ่งเป็นตัวการที่ดูดน้ำกลับเข้าไปในลำไส้ที่จะกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายอันเป็นสาเหตุของท้องเสีย ยาถ่านกัมมันต์จึงนำมาใช้เป็นยาแก้ท้องเสียได้ นอกจากนี้ยาถ่านกัมมันต์ยังรบกวนการดูดกลับของกรดน้ำดีที่จะต้องส่งไปสู่อวัยวะตับ จึงมีผลลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกายได้อีกด้วย

ก่อนใช้ยาถ่านกัมมันต์

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาถ่านกัมมันต์ สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • การแพ้ยาถ่านกัมมันต์ (Activated charcoal) และประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ผื่นขึ้น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เพราะโดยปกติแล้วการใช้ยาถ่านกัมมันต์ร่วมกับการรับประทานยาอื่น ๆ จะต้องปรับระยะเวลาของการรับประทานยาอย่างน้อยก่อนหรือหลังการรับประทายานั้น ๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง เพราะฤทธิ์ของถ่านกัมมันต์สามารถรบกวนการดูดซึมของยารับประทานอื่น ๆ ได้ทุกชนิด เช่น กลุ่มยาแก้ปวดลดไข้ เช่น แอสไพริน (Aspirin) พาราเซตามอล (Paracetamol), กลุ่มยาปฏิชีวนะ เช่น เตตราไซคลีน (Tetracycline) ดอกซีไซคลีน (Doxycycline), กลุ่มยารักษาโรคหัวใจ เช่น ไดจอกซิน (Digoxin), กลุ่มยาขยายหลอดลม เช่น ทีโอฟิลลีน (Theophylline) และยารับประทานทุกชนิด
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
  • มีการอุดกั้นของทางเดินอาหาร
  • ชื่อสารพิษหรือยาที่ใช้เกินขนาด เพราะสารพิษหรือยาบางชนิดไม่สามารถดูดซับโดยการใช้ยานี้ได้
  • ระยะเวลาที่รับประทานสารพิษหรือยาเกินขนาด เพราะระยะเวลามีผลต่อประสิทธิผลของการใช้ยานี้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาถ่านกัมมันต์

  • ห้ามใช้ยานี้ในการรักษากับผู้ป่วยที่กลืนสารพิษจำพวกไซยาไนด์, กรดแก่หรือกรดที่มีฤทธิ์ทำลายสูง (Strong acid), ด่างแก่หรือด่างที่มีฤทธิ์ทำลายสูง (Strong base), สารหนู (Arsenic), โลหะหนัก (เช่น ธาตุเหล็กที่ปะปนอยู่ในสิ่งที่รับประทานเข้าไป), แอลกอฮอล์ (เช่น เมทานอล (Methanol) เอทานอล (Ethanol)), สารจำพวกลิเทียม (Lithium) และตัวทำละลายต่าง ๆ (Organic solvent) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ (เช่น เอทิลีนไกลคอล (Ethylene glycol))
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาถ่ายหรือยาแก้ท้องผูกที่มีน้ำตาลซอร์บิทอล (Sorbital) เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อุดตัน
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ควรระวังการใช้ยานี้หลังการรับประทานอาหารภายในเวลา 1 ชั่วโมง เพราะตัวยาอาจทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง จนทำให้เกิดการย่อยอาหารผิดปกติได้
  • อาหารบางอย่างสามารถลดประสิทธิภาพในการรักษาของยาถ่านกัมมันต์ได้ เช่น นม ไอศกรีม จึงไม่รับประทานร่วมกัน

วิธีใช้ยาถ่านกัมมันต์

ในบทความนี้จะกล่าวถึงขนาดการรับประทานยาถ่านกัมมันต์ในรูปแบบของยาเดี่ยวเท่านั้น ส่วนขนาดรับประทานในรูปแบบของยาผสม ให้ดูวิธีใช้ที่เอกสารกำกับยาของแต่ละยี่ห้อเป็นสำคัญ

  1. สำหรับการกลืนสารพิษที่ต้องใช้เครื่องมือและหัตถการทางการแพทย์เข้าช่วยเหลือ (การรับประทานยาเพื่อดูดซับสารพิษหรือยาบางชนิดจากการรับประทานเกินขนาด ให้รับประทานยาภายใน 30-60 นาที หลังจากที่รับประทานสารพิษหรือยานั้น ๆ)
    • ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 13-18 ปี
      1. การใช้ยาแบบรับประทานครั้งเดียว ให้ใช้ผงยาในขนาด 25-100 กรัม ผสมกับน้ำแล้วให้ผู้ป่วยดื่มเพียงครั้งเดียว
      2. การใช้ยาแบบรับประทานต่อเนื่องหลายครั้ง ในครั้งแรกให้ยานี้ในขนาด 50-100 กรัม ผสมน้ำให้ผู้ป่วยดื่ม แล้วตามด้วยการให้ยาไม่ต่ำกว่า 12.5 กรัม ทุก 1 ชั่วโมง หรือให้ยา 25 กรัม ทุก 2 ชั่วโมง หรือให้ยา 50 กรัม ทุก 4 ชั่วโมง
    • ในเด็กอายุน้อยกว่า 13 ปี
      1. การใช้ยาแบบรับประทานครั้งเดียว ในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ให้ใช้ยานี้ในขนาด 0.5-1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 10-25 กรัม ผสมกับน้ำแล้วให้ผู้ป่วยดื่มเพียงครั้งเดียว ส่วนในเด็กอายุ 1-12 ปี ให้ใช้ยานี้ในขนาด 0.5-1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 25-50 กรัม ผสมกับน้ำแล้วให้ผู้ป่วยดื่มเพียงครั้งเดียวเช่นกัน
      2. การใช้ยาแบบรับประทานต่อเนื่องหลายครั้ง หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาต่อเนื่องหลายครั้ง ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 13 ปี ในครั้งแรกให้ใช้ยานี้ในขนาด 10-25 กรัม ผสมน้ำให้ผู้ป่วยดื่ม แล้วตามด้วยการใช้ยาในขนาด 1-2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 2-4 ชั่วโมง
  2. สำหรับอาการท้องเสียและช่วยขับลมในกระเพาะลำไส้ ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 3-19 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 500-1,040 มิลลิกรัม ทุก ๆ 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ (ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี ต้องขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์)

คำแนะนำในการใช้ยาถ่านกัมมันต์

  • ให้รับประทานยานี้ในขณะท้องว่าง โดยการรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • ให้ใช้ยานี้ตามขนาดและความถี่ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น (โดยเฉพาะในเด็ก) ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชฯ
  • หากต้องการรับประทานนมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม หรือหากมียาอื่นที่ต้องรับประทานร่วมด้วย ให้รับประทานนมหรือยาอื่น ๆ ให้ห่างจากยาถ่านกัมมันต์อย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • หากรับประทานยาแล้วอาเจียนออกมา ให้รับประทานยาทันทีที่อาการอาเจียนหยุดแล้ว แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่นกัน
  • เมื่อรับประทานยานี้แล้วจะถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
  • หลังรับประทานยาถ้าอาการท้องเสียยังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรปรึกษาแพทย์

การเก็บรักษายาถ่านกัมมันต์

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ)
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

เมื่อลืมรับประทานยาถ่านกัมมันต์

โดยทั่วไปเมื่อลืมรับประทานยาถ่านกัมมันต์ ให้รับประทานยาในทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาถ่านกัมมันต์

ยาถ่านกัมมันต์สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ดังต่อไปนี้ คือ ฟันและปากมีสีคล้ำ, ถ่ายอุจจาระมีสีดำ (ดำเป็นถ่าน), ท้องผูก, ท้องเสีย, ปวดท้อง, ท้องอืด, ลำไส้อุดตัน, คลื่นไส้, อาเจียน, น้ำตาลในเลือดต่ำ (หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก เป็นลม), ความดันโลหิตต่ำ (หน้ามืด เป็นลม), เกล็ดเลือดมีการเกาะกลุ่มกัน (เลือดออกง่าย), ปริมาณแคลเซียมในเลือดลดลง (อาการชัก), เกลือโพแทสเซียมในร่างกายลดต่ำลง (เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก), ตัวเย็น เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ/ยาขับลม (Antiflatulent)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 276-277.
  2. Drugs.com.  “Activated Charcoal”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [13 ต.ค. 2016].
  3. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “ACTIVATED CHARCOAL”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [13 ต.ค. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “ถ่านกัมมันต์ (Activated charcoal)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [13 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด