ถุงยางอนามัยผู้หญิง : 16 ข้อดี-ข้อเสีย & วิธีการใส่ถุงยางผู้หญิง !!

ถุงยางอนามัยสตรี

ถุงยางผู้หญิง หรือ ถุงยางอนามัยผู้หญิง หรือ ถุงยางอนามัยสตรี (Female condom) มีการผลิตขึ้นมาใช้นานแล้วครับ โดยผ่านการรับรองจาก FDA (องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา) เมื่อปี ค.ศ.1993 (พ.ศ.2546) แต่ในปัจจุบันยังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเหมือนถุงยางอนามัยผู้ชายที่ผลิตมาจากยางธรรมชาติ (Rubber latex) เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่จะไม่ค่อยคุ้นเคยกับถุงยางสตรีที่ผลิตมาจากสารสังเคราะห์ (Polyurethane) ที่อ่อนนุ่มยืดหยุ่นได้ และหาซื้อได้ยากพอสมควร แม้ว่าถุงยางจะมีความบางและยืดหยุ่นได้ดี และไม่เกิดการระคายเคืองต่อผู้ใช้ทั้งชายและหญิงก็ตาม

ถุงยางอนามัยของสตรี เป็นอุปกรณ์ที่มีไว้ใช้สำหรับสอดเข้าไปภายในช่องคลอดของสตรีก่อนที่จะเริ่มมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิผ่านเข้าสู่โพรงมดลูก (หลักการเดียวกับถุงยางอนามัยชาย) โดยลักษณะของถุงยางอนามัยสตรีจะมีความยาว 6.5 นิ้ว หรือยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ที่ปลายถุงทั้งสองด้านมีห่วงยางหรือวงแหวนยืดหยุ่น 2 วง ห่วงจะมีลักษณะแข็งกว่าส่วนอื่น มีไว้เพื่อให้เกิดความกระชับและเพื่อให้คงรูปร่างไว้ได้ในขณะใช้งาน ปลายถุงด้านหนึ่งตันเพื่อใช้สอดเข้าไปในช่องคลอด ส่วนปลายถุงอีกด้านหนึ่งจะเป็นปลายเปิด ยื่นออกมานอกช่องคลอด ภายในถุงยางจะมีน้ำยาหล่อลื่น แต่ไม่มียาฆ่าเชื้ออสุจิ

ประโยชน์ของถุงยางอนามัยสตรี

ถุงยางอนามัยสตรีมีหลักการเดียวกับถุงยางอนามัยชาย คือ สามารถใช้คุมกำเนิดและช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้ เช่น ซิฟิลิส หนองใน เอดส์ เป็นต้น ซึ่งการคุมกำเนิดโดยใช้วิธีนี้จะดีกว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด การทำหมัน ฯลฯ ในเรื่องของการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

ถุงยางของผู้หญิง

ประสิทธิภาพของถุงยางอนามัยสตรี

ตามหลักแล้วการใช้ถุงยางอนามัยสตรีอย่างถูกต้อง (Perfect use) จะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 5% ซึ่งหมายความว่า จำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัยสตรี จำนวน 100 คน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 5 คน แต่โดยทั่วไปแล้วจากการใช้งานจริง (Typical use) กลับพบว่าอัตราการล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์จะเพิ่มสูงมากขึ้นเป็น 21% หรือคิดเป็น 1 ใน 5 คน จากผู้ที่คุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ส่วนด้านล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบระหว่างการคุมกำเนิดด้วยวิธีการใช้ถุงยางอนามัยสตรีกับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ

วิธีคุมกำเนิด|การใช้แบบทั่วไป|การใช้อย่างถูกต้อง|ระดับความเสี่ยง
ยาฝังคุมกำเนิด|0.05 (1 ใน 2,000 คน)|0.05|ต่ำมาก
ทำหมันชาย|0.15 (1 ใน 666 คน)|0.1|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม)|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ทำหมันหญิงแบบทั่วไป|0.5 (1 ใน 200 คน)|0.5|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง|0.8 (1 ใน 125 คน)|0.6|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว)|6 (1 ใน 17 คน)|0.2|ปานกลาง
แผ่นแปะคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ยาเม็ดคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ถุงยางอนามัยชาย|18 (1 ใน 5 คน)|2|สูง
ถุงยางอนามัยสตรี|21 (1 ใน 5 คน)|5|สูงมาก
การหลั่งนอก|22 (1 ใน 4 คน)|4|สูงมาก
ยาฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicidal)|28 (1 ใน 3 คน)|18|สูงมาก
การหลั่งใน (ไม่มีการป้องกัน)|85 (6 ใน 7 คน)|85|สูงมาก
หมายเหตุ : ตัวเลขที่แสดงเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวจำนวน 100 คน โดยกำหนดให้ สีฟ้า = ความเสี่ยงต่ำมาก / สีเขียว = ความเสี่ยงต่ำ / สีเหลือง = ความเสี่ยงปานกลาง / สีส้ม = ความเสี่ยงสูง / สีแดง = ความเสี่ยงสูงมาก (ข้อมูลจาก : www.contraceptivetechnology.org, Comparison of birth control methods – Wikipedia)

ถุงยางอนามัยสตรีเหมาะกับใคร

  1. ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราวหรือแบบฉุกเฉินโดยที่ไม่ได้กินยาคุมกำเนิดมาก่อน
  2. เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้หรือรู้สึกไวต่อถุงยางอนามัยแบบลาเทกซ์
  3. สตรีที่ตัวเองมีโรคหรือสามีมีโรคที่สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน เป็นโรคไวรัสตับอักเสบ ติดเชื้อเอชไอวี ฯลฯ
  4. สตรีที่มีการคุมกำเนิดในรูปแบบอื่นอยู่แล้ว แต่อยากป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มเติมด้วย เช่น ฉีดยาคุมกำเนิด หรือรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดมาก่อนอยู่แล้ว

รูปถุงยางอนามัยของผู้หญิง

วิธีใส่ถุงยางอนามัยสตรี

ในขั้นตอนแรกของการใส่ถุงยางอนามัยสตรี โปรดจำไว้ว่าจะต้องใส่ถุงยางเข้าไปในช่องคลอดก่อนการมีเพศสัมพันธ์ จะใส่ไว้รอล่วงหน้าก็ได้ครับ ซึ่งในกรณีนี้จะแตกต่างจากถุงยางอนามัยผู้ชายตรงที่ต้องใส่ในขณะที่อวัยวะเพศกำลังแข็งตัวเต็มที่ โดยมีขั้นตอนการใส่ดังนี้ครับ

  1. ให้ล้างมือให้สะอาดแล้วแกะถุงยางอนามัยออกจากซอง หลังฉีกซองเสร็จแล้ว ให้ทาสารหล่อลื่นที่ถุงยางอนามัย จะใช้สารหล่อลื่นชนิดใดก็ได้ เพราะถุงยางอนามัยสตรีนั้นทำมาจากสารสังเคราะห์ (Polyurethane) ที่สามารถใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นหรือตัวยาที่มีส่วนผสมของน้ำมันได้โดยไม่ทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมคุณภาพหรือฉีกขาดได้เหมือนถุงยางอนามัยชาย
  2. เลือกท่าใส่ที่สบาย โดยอาจจะเป็นท่ายืนแยกขาเล็กน้อย ท่ายืนแบบยกขา 1 ข้าง (วางขาบนเก้าอี้) ท่านั่งยอง ๆ หรือเป็นท่านอนชันเข่าก็ได้ครับตามแต่จะสะดวก แล้วให้ใช้นิ้วมือด้านที่ถนัดจับห่วงยาง (ด้านนอก) ตรงด้านที่ปลายตัน แล้วบีบห่วงยางเข้าหากันให้มีรูปร่างเล็กลง แล้วจึงค่อย ๆ สอดใส่เข้าไปในช่องคลอดให้ลึกพอประมาณ และให้ใช้นิ้วชี้หรือนิ้วกลางสอดเข้าไปภายในถุงยางพร้อมกับดันให้ก้นถุงยางเข้าไปอยู่ในช่องคลอดให้ลึกที่สุดจนชนปากมดลูก พอเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้วก็ค่อย ๆ จัดระเบียบให้ถุงยางที่สอดเข้าไปด้านในไม่บิดเบี้ยวและจัดให้ขอบห่วงที่อยู่ภายนอก (ด้านปลายเปิด) ให้ครอบอยู่ที่ปากช่องคลอดพอดี แค่นี้ก็เป็นอันเรียบร้อย
  3. ในขั้นตอนการถอดถุงยางอนามัยสตรี หลังจากมีเพศสัมพันธ์เสร็จแล้วและมีน้ำอสุจิอยู่ในถุง ให้ใช้นิ้วจับห่วงที่อยู่ภายนอกแล้วบิดปากถุงประมาณ 3-4 รอบให้สนิท เพื่อให้เชื้ออสุจิอยู่ในถุง แล้วจึงค่อย ๆ ดึงถุงยางออกมาจากช่องคลอด (บิดห่วงด้านปลายตันหลาย ๆ รอบ แล้วครอบด้วยห่วงด้านปลายเปิดอีกรอบ) จากนั้นห่อด้วยกระดาษหรือทิชชูให้มิดชิดก่อนจะนำไปทิ้งขยะ ถ้าเลือกได้ให้เลือกถังขยะติดเชื้อจะดีที่สุด และไม่ควรทิ้งถุงยางอนามัยลงในชักโครก เพราะจะทำให้ชักโครกตันได้

การใส่ถุงยางผู้หญิง

คำแนะนำในการใช้ถุงยางอนามัยสตรี

  • ถุงยางอนามัยสตรีต้องใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ห้ามนำมาใช้ซ้ำเป็นอันขาด ถ้าต้องการมีเพศสัมพันธ์อีกครั้ง ต้องใช้ถุงยางอนามัยสำหรับสตรีอันใหม่
  • ห้ามใช้ถุงยางอนามัยสตรีร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยชาย หรือใช้ถุงยางอนามัยสตรีทางทวารหนัก เพราะจะทำให้ถุงยางอนามัยเลื่อนหลุดหรือเกิดการเสียดสีจนถุงยางฉีกขาดและเป็นอันตรายได้
  • ห้ามใช้ถุงยางอนามัยสตรีที่หมดอายุแล้ว
  • หากพบว่าถุงยางอนามัยสตรีทำงานได้ไม่เต็มที่ ให้ซื้อยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมารับประทาน เพื่อลดโอกาสในการตั้งครรภ์

สาเหตุที่ทำให้การคุมกำเนิดด้วยถุงยางสตรีล้มเหลว

  1. ถุงยางฉีกขาดในขณะสวมใส่ เพราะโดนของมีคม เช่น กรรไกร เล็บมือ ฟัน และแหวน
  2. ถุงยางฉีกขาดในขณะร่วมเพศ
  3. ถุงยางหลุดเข้าไปในช่องคลอดในขณะมีเพศสัมพันธ์
  4. ถุงยางหลุดออกมาในขณะมีเพศสัมพันธ์
  5. ฝ่ายชายสอดใส่อวัยวะเพศออกนอกถุงยางอนามัย

ถุงยางอนามัยสตรีหาซื้อได้ที่ใด ?

ในปัจจุบันค่อนข้างจะหาซื้อได้ยากพอสมควร เพราะถุงยางของสตรีจะไม่มีวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อเหมือนถุงยางอนามัยชาย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีจำหน่ายครับ โดยสามารถหาซื้อจากร้านขายยาขนาดใหญ่บางแห่ง คลินิกสุขภาพสตรี คลินิกวางแผนครอบครัว คลินิกสุขภาพทางเพศทั่วไป ตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ ส่วนรูปด้านล่างนี้คือถุงยางอนามัยผู้หญิงยี่ห้อ fc2 ครับ ในต่างประเทศนิยมใช้กันมาก ในบ้านเราผมเห็นขายทางออนไลน์อยู่ประมาณชิ้นละ 150 บาท ค่อนข้างแพงเอาเรื่องอยู่เหมือนกันครับ

ถุงยางอนามัยผู้หญิง

ถุงยางอนามัยสตรีแบบใหม่

ในปัจจุบันทางบริษัท IXu LLC ได้ผลิตถุงยางอนามัยสตรีรุ่นใหม่ ที่มีชื่อว่า VA w.o.w ซึ่งมีความแตกต่างจากถุงยางอนามัยแบบธรรมดาที่เราเคยเห็น เพราะตรงห่วงหรือวงแหวนนั้นจะมีเครื่องสั่นขนาดจิ๋วที่ช่วยกระตุ้นให้ถึงจุดสุดยอดได้ง่ายฝังเอาไว้ และสามารถสอดใส่เข้าไปก่อนการมีเพศสัมพันธ์ได้นานถึง 8 ชั่วโมง

จากผลการสำรวจคู่รักจำนวน 50 คู่ พบว่า ผู้หญิงกว่าร้อยละ 70 ถึงจุดสุดยอดตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้งาน และเมื่อใช้เป็นครั้งที่ 2 ก็เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 84 และเพิ่มขึ้นเป็น 100% หลังจากใช้งาน 4 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของถุงยางชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี แต่ในบ้านเราตอนนี้ยังไม่มีขายนะครับ เพราะทางบริษัทผู้ผลิตมีแผนจะวางจำหน่ายในตลาดยุโรปก่อนในอีกประมาณ 12-18 เดือนข้างหน้า และทางบริษัทยังบอกอีกด้วยว่าในอนาคตอาจมีถุงยางอนามัยสตรีที่สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนหรือควบคุมผ่านรีโมตได้ ถ้าใครสนใจและอยากทดลองใช้ก็เตรียมตัวรอได้เลยครับ

ถุงยางอนามัยของผู้หญิง

ข้อดีของถุงยางอนามัยสตรี

  1. ใช้คุมกำเนิดหรือป้องกันการตั้งครรภ์ได้
  2. ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้เช่นเดียวกับการใช้ถุงยางอนามัย เช่น ซิฟิลิส หนองใน ไวรัสตับอักเสบบี เอดส์
  3. มีความปลอดภัย ไม่มีผลต่อสุขภาพและต่อภาวะการเจริญพันธุ์ของผู้หญิง เพราะไม่เกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนในร่างกาย จึงทำให้ไม่มีผลข้างเคียงจากฮอร์โมน ประจำเดือนมาตามปกติ
  4. สามารถใส่และถอดได้เองโดยไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญหรือต้องรอพึ่งพาฝ่ายชายให้เป็นคนสวมถุงยางอนามัยชาย (ฝ่ายหญิงจะมีส่วนร่วมในการคุมกำเนิด เพราะหากผู้ชายไม่ยอมคุมกำเนิดโดยการใส่ถุงยาง ฝ่ายหญิงก็สามารถคุมกำเนิดได้ด้วยตัวเอง)
  5. การสอดใส่ถุงยางอนามัยได้ลึกจะทำให้ไม่ก่อปัญหาในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
  6. ไม่ต้องรีบถอนอวัยวะเพศชายออกจากช่องคลอดทันทีเมื่อหลั่งน้ำอสุจิ เหมือนการคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยชาย
  7. มีความทนทานมากกว่าถุงยางอนามัยชาย และสามารถใช้ร่วมกับเจลหล่อลื่นที่เป็นน้ำมันได้
  8. เมื่อหยุดใช้ ก็สามารถมีลูกได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ

ข้อเสียของถุงยางอนามัยสตรี

  1. มีอัตราการล้มเหลวสูงจากการคุมกำเนิด หากใช้อย่างไม่ถูกวิธี
  2. ต้องใช้ทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หาซื้อได้ยาก และมีราคาแพงกว่าถุงยางอนามัยชาย
  3. ขั้นตอนการใส่ค่อนข้างยุ่งยากเล็กน้อย การสอดถุงยางอาจจะมีความลำบากสำหรับบางคน
  4. ผู้หญิงบางรายอาจสูญเสียความมั่นใจ เพียงแค่เห็นถุงยางอนามัยที่ห้อยออกมานอกช่องคลอด !! เนื่องจากถุงยางมีขนาดใหญ่ ลักษณะพร้อมใช้อาจดูไม่น่ามองนักสำหรับบางคน จนอาจทำให้เสียอารมณ์ทางเพศได้
  5. ในบางครั้งฝ่ายชายอาจสอดใส่เข้าไปผิดตำแหน่งในขณะร่วมเพศได้
  6. ในระหว่างการร่วมเพศอาจจะเกิดเสียงดัง จนอาจทำให้ขัดจังหวะในการร่วมเพศได้ และผู้ใช้บางรายอาจมีอาการเจ็บแสบในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย (ในกรณีนี้ให้ใส่น้ำยาหล่อลื่นเพิ่ม)
  7. ในระหว่างการใช้ ถุงยางอาจหลุดเข้าไปค้างอยู่ในช่องคลอดได้
  8. ถุงยางอาจมีสารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง จนทำให้เกิดอาการคันได้ และในบางรายอาจทำให้มีตกขาวได้ด้วย

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด