เคี่ยม สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเคี่ยม 11 ข้อ !

เคี่ยม

เคี่ยม ชื่อสามัญ Resak tembaga

เคี่ยม ชื่อวิทยาศาสตร์ Cotylelobium lanceolatum Craib[1] (ส่วนอีกข้อมูลใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cotylelobium melanoxylon (Hook.f.) Pierre)[3] จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)

สมุนไพรเคี่ยม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เคี่ยม (ทั่วไป), เคี่ยมขาว เคี่ยมดำ เคี่ยมแดง (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของต้นเคี่ยม

  • ต้นเคี่ยม จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตั้งตรง มีความสูงประมาณ 20-40 เมตร ลักษณะเรือนยอดเป็นพุ่มทึบ รูปเจดีย์แบบต่ำ ๆ ส่วนเปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล เปลือกเรียบ มีรอยด่างสีเทาและสีเหลืองสลับกัน และมีต่อมระบายอากาศกระจายอยู่ทั่วไป เปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีชันใสตามลำต้นและจะจับกันเป็นก้อนสีเหลืองเมื่อทิ้งไว้นาน ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด (โดยเด็ดปีกออกก่อนการนำไปเพาะ) และวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ชอบดินร่วนและดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี ชอบความชื้นสูงและแสงแดดปานกลาง โดยต้นเคี่ยมสามารถพบขึ้นได้ทั่วไปตามป่าดงดิบทางภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป และทางภาคใต้ของพม่าลงไปจนถึงภาคเหนือของประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 10-100 เมตร[1],[2] ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีต้นเคี่ยมอยู่ 2 ชนิด คือ เคี่ยมขาวและเคี่ยมดำ ซึ่งเคี่ยมดำเปลือกต้นจะหนาและเข้มกว่าเปลือกต้นเคี่ยมขาว[2]

เคี่ยมแดงเคี่ยมดำ
  • ใบเคี่ยม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบสอบเรียวหรือหยักเป็นติ่งยาว ส่วนโคนใบมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-18 เซนติเมตร แผ่นใบหนา หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนสีน้ำตาลปนสีเหลืองเป็นกระจุก[1]

ใบเคี่ยม

  • ดอกเคี่ยม ดอกสีขาวมีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ ออกดอกเป็นช่อตามยาวที่ปลายกิ่งและตามง่ามใบ[1]
  • ผลเคี่ยม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเล็ก ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.7 เซนติเมตร มีขนนุ่มคล้ายขนกำมะหยี่สีน้ำตาล มีปีก 5 ปีก แบ่งเป็นปีกยาว 2 ปีก ปลายปีกมนเรียวสอบมาทางโคน มีเส้นตามยาว 5 เส้น และปีกสั้นอีก 3 ปีก ลักษณะเป็นรูปหอก ยาวประมาณ 1 ใน 3 รองรับผลอยู่ และจะติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[2]

ผลเคี่ยม

สรรพคุณของต้นเคี่ยม

  1. ยอด ราก ดอก และลำต้นใช้ผสมกับเปลือกหว้าต้มเป็นยาบ้วนปาก ช่วยแก้อาการปากเปื่อย (ยอด, ราก, ดอก, ลำต้น)[2]
  2. ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ชันจากไม้เคี่ยม)[1],[2]
  3. เปลือกต้นใช้เป็นยากลางบ้าน สำหรับช่วยห้ามเลือดจากบาดแผลสด (เปลือกต้น)[1],[2]
  4. เปลือกต้นใช้ยาสำหรับชะล้างแผล (เปลือกต้น)[1]
  5. ชันจากไม้เคี่ยมใช้เป็นยาสมานแผล (ชันจากไม้เคี่ยม)[1],[2]
  6. ยอด ราก ดอก และลำต้นใช้ตำพอกรักษาแผล แก้อาการฟกบวม เน่าเปื่อย (ยอด, ราก, ดอก, ลำต้น)[2]

ประโยชน์ต้นเคี่ยม

  1. เนื้อไม้มีความละเอียด แข็ง หนัก และเหนียว มีความทนทานสูงมาก ใช้ในน้ำมีความทนทานดี เช่น การใช้ทำเป็นเรือ หรือจะใช้ในงานก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงมาก ๆ เหมาะสำหรับใช้ทำไม้พื้น ไม้กระดาน เสาเรือด รอดตง อกไก่ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ที่ต้องตากแดดตากฝน ฯลฯ และมีการใช้ไม้เคี่ยมต่างสายพานรองหนุนเสาเรือ เพื่อใช้ลากเรือนทั้งหลังในการย้ายบ้าน หรือใช้ทำเลื่อนในการชักพระ ทำเสาหลักผูกเทียบเรือ ทำสะพานท่าเรือ สะพานทอดขนานไปกับลำน้ำ ทำหมอนรองรางรถไฟ รวมทั้งการนำไปทำลูกประสัก พายเรือแจว กรรเชียง ล้อเกวียน กระเดื่อง ครก สาก ตัวถังรถ ทำด้ามเครื่องมือ ฯลฯ โดยเลือกไม้ที่ยังสดอยู่ เพราะจะบิดและแตกได้ง่าย การเลื่อยหรือตบแต่งจึงควรทำในขณะที่ยังสดอยู่[1],[2]
  2. ในการตีพร้านาป้อ (พร้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดตรัง) จะใช้ถ่านที่ทำจากไม้เคี่ยม เพราะประหยัดและให้ความร้อนสูงไม่แพ้กับถ่านหิน
  3. เปลือกต้นใช้ทุบผสมกับชันใช้สำหรับยาเรือ ชันเคียมใช้ผสมในน้ำยางทาไม้ น้ำมันทาไม้ และน้ำมันชักเงา[1]
  4. เปลือกไม้เคี่ยม นำมาตัดเป็นชิ้นขนาดประมาณ 1 x 2 นิ้ว หรือตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ใส่ในกระบอกตาลรองรับน้ำตาลจากต้นตาล เพื่อใช้รสฝาด โดยรสฝาดของไม้เคี่ยมจะช่วยรักษาน้ำตาลไม่ให้บูดเร็วหรือบูดก่อนการนำมาเคี่ยว อีกทั้งยังใช้ใส่ในน้ำตาลเมาเพื่อให้มีรสกลมกล่อมอีกด้วย[2]
  5. ในทางด้านนิเวศน์และทางด้านภูมิสถาปัตย์ สามารถใช้เป็นดรรชนีเพื่อชี้วัดได้ว่าพื้นดินเหมาะสมต่อการทำเกษตรและที่อยู่อาศัย ใช้ปลูกเป็นกลุ่ม ๆ ตามสวนสาธารณะและพื้นที่ใกล้ทะเล[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “เคี่ยม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th.  [18 ม.ค. 2014].
  2. กลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ความหลากหลายทางชีวภาพ จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ต้นเคี่ยม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: chm-thai.onep.go.th.  [18 ม.ค. 2014].
  3. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “เคี่ยม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [18 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Halcyon75), www.biogang.net (สรัลนุช คำตั๋น), www.wiriya.sru.ac.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด