โรคต่อมลูกหมากโต
ต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia – BPH) เป็นภาวะที่ต่อมลูกหมาก* ซึ่งอยู่ล้อมรอบท่อปัสสาวะมีขนาดโตขึ้นอย่างผิดปกติจนไปเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลง จึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะลำบากหรือติดขัด และยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผนังกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะหนาขึ้นจากการต้องบีบตัวแรงขึ้นเพื่อขับปัสสาวะผ่านทางท่อแคบ ๆ เมื่อผนังกระเพาะปัสสาวะหนาตัวขึ้นก็จะส่งผลต่อความสามารถในการเก็บน้ำปัสสาวะที่ลดลง ทำให้ผู้ป่วยต้องปัสสาวะบ่อย ๆ
โรคนี้เป็นโรคที่พบได้เป็นปกติและการเกิดมักจะสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น โดยผู้ชายเมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ต่อมลูกหมากจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเป็นก้อนโตขึ้น แล้วจะโตขึ้นเรื่อย ๆ ไปตามอายุที่มากขึ้น เมื่อโตมากก็จะเกิดแรงกดต่อท่อปัสสาวะให้แคบลง ทำให้มีอาการปัสสาวะลำบาก ซึ่งผู้ป่วยมักจะเริ่มแสดงอาการเมื่อมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และจะพบอาการผิดปกติได้มากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยผู้ชายที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 50% จะเริ่มมีอาการชัดเจน เมื่อถึงอายุ 80 ปี ประมาณ 80-90% จะมีอาการต่อมลูกหมากโต หรืออาจพูดได้ว่ายิ่งอายุมากขึ้นเท่าใด โอกาสที่จะเป็นต่อมลูกหมากโตก็มีมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ผู้ชายอายุ 55-74 ปี จะมีอาการแสดงของโรคนี้ประมาณ 20% บางคนอาจมีต่อมลูกหมากโตแต่ไม่แสดงอาการก็ได้
โรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมากมีอยู่ด้วยกันหลายโรค แต่ส่วนใหญ่ที่พบได้บ่อย ๆ คือ ต่อมลูกหมากอักเสบ และเนื้องอกของต่อมลูกหมาก ซึ่งเนื้องอกที่ว่านี้ก็แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ เนื้องอกชนิดธรรมดา และเนื้องอกชนิดร้ายแรงหรือมะเร็ง โดยทั่วไปถ้าเราพูดถึงโรคต่อมลูกหมากโต เรามักจะหมายถึงเนื้องอกชนิดธรรมดาครับ ซึ่งโรคต่อมลูกหมากโตนี้ก็ไม่ใช่โรคมะเร็งและจะไม่มีวันกลายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากไปได้ เพราะเป็นคนละโรคกัน แต่อย่างไรก็ตามอาการผิดปกติของต่อมลูกหมากโต (เนื้องอกชนิดธรรมดา) และมะเร็งต่อมลูกหมาก (เนื้องอกชนิดร้ายแรง) ก็มีความคล้ายคลึงกัน และในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นทั้งสองโรคนี้ในขณะเดียวกันก็ได้
หมายเหตุ : ต่อมลูกหมาก (Prostate gland) เป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศชาย ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างน้ำเมือก ที่เป็นส่วนหนึ่งของน้ำกาม มีความเป็นเบสอ่อน ๆ จึงช่วยให้เกิดสภาพที่เหมาะสมกับตัวอสุจิ ลดสภาพความเป็นกรดของท่อปัสสาวะและช่วยให้ตัวอสุจิแข็งแรงและแหวกว่ายได้ว่องไวขึ้น โดยต่อมลูกหมากจะอยู่ตรงด้านหลังของคอกระเพาะปัสสาวะในอุ้งเชิงกรานหลังกระดูกหัวหน่าว ซึ่งลักษณะของต่อมจะมี 5 กลีบ และมีน้ำหนักประมาณ 20 กรัม (หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าต่อมลูกหมากคือลูกอัณฑะ ที่ถูกต้องคือ ต่อมลูกหมากมีหน้าที่สร้างน้ำเมือกเพื่อหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ ส่วนอัณฑะนั้นมีหน้าที่ในการสร้างตัวอสุจิ)
สาเหตุของต่อมลูกหมากโต
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศชายที่มีชื่อว่า “ไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน” (Dihydrotestosterone – DHT) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมลูกหมากซึ่งอยู่ล้อมรอบท่อปัสสาวะมีขนาดโตขึ้นและไปเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลง จนส่งผลให้ผู้ป่วยปัสสาวะได้ลำบากหรือติดขัด
นอกจากนี้ ต่อมลูกหมากโตยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผนังกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะหนาตัวขึ้นด้วย เนื่องจากต้องบีบตัวแรงขึ้นเพื่อขับน้ำปัสสาวะให้ผ่านทางท่อแคบ ๆ ที่ถูกแรงกดอยู่ และเมื่อผนังกระเพาะปัสสาวะหนาตัวขึ้นก็จะส่งผลต่อความสามารถในการกักเก็บน้ำปัสสาวะที่ลดลง ทำให้ผู้ป่วยต้องปัสสาวะบ่อย ๆ และอาจได้รับการกระตุ้นให้ปวดปัสสาวะขึ้นมาอย่างกะทันหันได้
มีงานการศึกษาวิจัยในกลุ่มคนชาติต่าง ๆ พบว่าอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้แตกต่างกันไป เช่น ฝรั่งหรือคนทางตะวันตกจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากกันมากกว่าคนเอเชีย ซึ่งอาจมีปัจจัยสำคัญเกี่ยวกับประเภทของอาหารที่รับประทานอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเกี่ยวข้องกับการเป็นประเทศอุตสาหกรรม ที่น่าสนใจคือ เคยมีรายงานว่า คนญี่ปุ่นเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยมากถ้าอยู่ในญี่ปุ่น แต่ถ้าคนญี่ปุ่นอพยพไปอาศัยและเติบโตอยู่ในสหรัฐอเมริกา ก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากพอ ๆ กับคนอเมริกันหรือฝรั่งผิวขาว นั่นแสดงว่าอาหารน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก
เมื่ออายุมากขึ้นเนื้อเยื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร เมื่อเซลล์แตกตัวมากขึ้นก็จะทำให้ขนาดของต่อมลูกหมากโตขึ้นจนไปกดหรือเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปัสสาวะลำบากหรือติดขัด
อาการของต่อมลูกหมากโต
ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่ออกในทันทีหรือค่อยเป็นค่อยไป ต้องออกแรงเบ่งหรือรออยู่นานกว่าจะถ่ายปัสสาวะออกมาได้ ทำให้ใช้เวลาในการถ่ายปัสสาวะนาน ปัสสาวะไม่พุ่ง ไหลช้า ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ถ่าย ๆ หยุด ๆ หลายครั้ง ปัสสาวะออกเป็นหยด ๆ ในช่วงท้ายของการถ่ายปัสสาวะ ลำปัสสาวะเบี้ยวหรือเล็กลง มีความรู้สึกเหมือนถ่ายปัสสาวะไม่สุด ทำให้อยากปัสสาวะอยู่เรื่อย ๆ และปัสสาวะบ่อยห่างกันไม่ถึง 1-2 ชั่วโมง หลังเข้านอนตอนกลางคืนต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะบ่อย ๆ มากกว่า 1-2 ครั้ง ส่วนในเวลากลางวันก็มีอาการปัสสาวะบ่อยเช่นกัน เพียงแต่ผู้ป่วยจะปรับตัวได้จนไม่รู้สึก นอกจากนี้เวลารู้สึกปวดปัสสาวะจะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที เพราะไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้
อาการดังกล่าวจะค่อย ๆ เป็นมากและดีขึ้นอย่างช้า ๆ โดยใช้เวลาเป็นแรมปีจนกระทั่งต่อมลูกหมากโตมากและกดท่อปัสสาวะอย่างรุนแรง ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการถ่ายปัสสาวะไม่ออก มีความรู้สึกปวดปัสสาวะ ปวดตึงท้องน้อย และคลำได้ก้อนของกระเพาะปัสสาวะที่มีปัสสาวะคั่งอยู่เต็ม บางครั้งอาการปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลันอาจเกิดขึ้นหลังการใช้ยาที่มีฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) เช่น แอนติสปาสโมดิก (Antispasmodics), แอนติฮิสตามีน (Antihistamines), ยาทางจิตประสาท (Transquilizer) เป็นต้น และยาในกลุ่มกระตุ้นประสาทซิมพาเทติก เช่น อะดรีนาลีน (Adrenaline), ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) เป็นต้น หรืออาจเกิดขึ้นหลังจากการวางยาสลบ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการนอนอยู่นาน ๆ โดยไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด เนื่องจากเบ่งถ่ายนาน ๆ อาจทำให้หลอดเลือดดำที่ท่อปัสสาวะคั่ง แล้วแตกจนมีเลือดออกมาได้ (ถ้าพบปัสสาวะออกมาเป็นเลือด ในการวินิจฉัยแยกโรคแพทย์จะนึกถึงโรคอื่นก่อนเสมอ เพราะอาการดังกล่าวไม่ใช่อาการนำของโรคนี้)
ข้อควรทราบ : แม้ต่อมลูกหมากจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัย คือมีขนาดที่โตขึ้นตามอายุก็ตาม แต่อาการของโรคกับขนาดจะไม่สัมพันธ์กัน เพราะบางคนมีต่อมลูกหมากโตไม่มาก แต่อาการที่แสดงออกมาอาจเป็นมากก็ได้ หรือบางคนอาจมีต่อมลูกหมากโตมาก แต่มีอาการเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากเข้ามาเกี่ยวโยงด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของโรคต่อมลูกหมากโต
- อาจทำให้เกิดไตวาย ในรายที่เป็นรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนจากอาการไตวายได้ แต่ในปัจจุบันความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพค่อนข้างจะแพร่หลายและประชาชนเองก็มีอายุยืนยาวมากขึ้น จึงมีการพูดถึงโรคนี้กันมาก ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มาพบแพทย์ได้เร็วเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติ ดังนั้นโอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตด้วยไตวายอย่างแต่ก่อนก็มีน้อยลงมาก
- เกิดการติดเชื้อได้ง่ายจากการถ่ายปัสสาวะออกไม่หมด (มีการคั่งค้าง) เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ
- อาจทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะล้า ผนังกระเพาะปัสสาวะหย่อนยานหรือเป็นถุงโป่งพอง หรือเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- ในรายที่มีการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะอยู่นาน อาจทำให้ท่อไตและไตบวม
- ปกติแล้วอาการของโรคนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศ
การวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต
- แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโตได้จากการซักประวัติ สอบถามอาการ ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ ตรวจร่างกายทั่วไป และอาจให้ผู้ป่วยทำแบบทดสอบเกี่ยวกับอาการขับถ่ายปัสสาวะที่ผิดปกติ
- จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (Digital Rectal Examination – DRE) ซึ่งแพทย์จะสวมถุงมือพร้อมกับใช้สารหล่อลื่น แล้วใช้นิ้วสอดเข้าไปในทวารหนักและกดคลำลงบนต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนักเพื่อดูว่ามีลักษณะโตผิดปกติหรือไม่ หากพบว่ามีลักษณะโตผิวเรียบแสดงว่าเป็นต่อมลูกหมากโต แต่ถ้ามีลักษณะโตแต่ผิวไม่เรียบหรือค่อนข้างแข็งก็น่าสงสัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งแพทย์จะตรวจสารพีเอสเอในเลือด (PSA*) ถ้าพบว่ามีค่าสูงกว่าปกติ แพทย์จะแนะนำให้ตัดชิ้นเนื้อของต่อมลูกหมาก โดยใช้เข็มเล็ก ๆ ผ่านทางทวารหนัก แล้วนำไปตรวจโดยกล้องจุลทรรศน์
- ตรวจสมรรถภาพการขับถ่ายปัสสาวะ โดยดูจากความแรงของการถ่ายปัสสาวะและจำนวนปัสสาวะที่เหลือค้าง
- เพื่อวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพรังสีทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสารทึบแสงเข้าทางหลอดเลือดดำ (Intravenous urography – IVU) ซึ่งจะทำให้เห็นตำแหน่งและความรุนแรงของการอุดกลั้นปัสสาวะ, การตรวจอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) ผ่านทางทวารหนัก ที่สามารถทำให้เห็นต่อมลูกหมาก ไต และกระเพาะปัสสาวะได้, การใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เพื่อดูต่อมลูกหมาก กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นการตรวจที่ได้ข้อมูลมาก, การตรวจวัดความแรงของปัสสาวะ (Uroflowmetry) เพื่อดูว่าทางเดินปัสสาวะถูกอุดมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น นอกจากนี้แพทย์อาจทำการตรวจปัสสาวะเพื่อดูการติดเชื้อหรือเลือดออก, ตรวจระดับครีอะตินีนในเลือดเพื่อดูภาวะไตวาย, หรือตรวจสารพีเอสเอในเลือด (PSA) เพื่อดูว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ เป็นต้น
หมายเหตุ : พีเอสเอ (Prostate-Specific Antigen – PSA) เป็นสารที่สร้างโดยเนื้อเยื่อต่อมลูกหมาก ระดับพีเอสเอในเลือดปกติแล้วจะมีค่าต่ำกว่า 4 นาโนกรัม/มล. ถ้าตรวจพบว่ามีค่าสูงกว่าปกติ ก็แสดงว่าอาจมีพยาธิสภาพของต่อมลูกหมาก เช่น ต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ ต่อมลูกหมากได้รับบาดเจ็บหรือผ่าตัด มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น โดยค่าที่ตรวจได้ถ้าอยู่ในระหว่าง 4-10 นาโนกรัม/มล. อาจเป็นมะเร็งหรือไม่ใช่ก็ได้, ถ้าค่าที่ตรวจได้มีมากกว่า 10 นาโนกรัม/มล. ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งได้สูงขึ้น (ถ้าเป็นสาเหตุที่ไม่ใช่มะเร็ง ค่าที่ตรวจได้มักจะต่ำกว่า 20 นาโนกรัม/มล.), ถ้าค่าที่ตรวจได้มีมากกว่า 100 นาโนกรัม/มล. มักจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดแพร่กระจาย และถ้ามีค่าพีเอสเอเพิ่มขึ้นปีละ 0.8 นาโนกรัม/มล. หรือมากกว่า อาจบ่งชี้ว่ากำลังมีมะเร็งเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากบางรายก็อาจมีค่าพีเอสเออยู่ในระดับปกติก็ได้
ข้อควรทราบ : อาการถ่ายปัสสาวะลำบากในผู้ชายสูงอายุ อาจเกิดจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะก็ได้ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้แยกอาการจากต่อมลูกหมากโตไม่ออก ดังนั้นทางที่ดีผู้ชายสูงอายุที่มีอาการปัสสาวะลำบากควรไปตรวจที่โรงพยาบาลทุกราย
วิธีรักษาต่อมลูกหมากโต
- สำหรับผู้ชายสูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ถ้ามีอาการผิดปกติในระบบขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะติดขัด ต้องเบ่ง หรือรอนานกว่าจะปัสสาวะออกมาได้ ปัสสาวะไม่ค่อยพุ่ง บางครั้งออกมาเป็นหยด ๆ หรือมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย ๆ อั้นปัสสาวะไม่อยู่ ถ่ายปัสสาวะไม่สุด หรือถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด ก็ควรหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง (ตามปกติแล้วผู้ชายสูงอายุควรไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ซึ่งแพทย์มักจะทำการตรวจต่อมลูกหมากให้ด้วยอยู่แล้ว)
- ในรายที่เป็นต่อมลูกหมากโตระยะเริ่มแรก มีอาการไม่มากหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยและไม่กวนวิถีชีวิตประจำวันมากจนเกินไป ตรวจดูพบว่าไตของผู้ป่วยยังคงเป็นปกติ ไม่มีอาการติดเชื้อ ไม่มีอาการอักเสบ และแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นมะเร็ง แพทย์ก็จะยังไม่ให้การรักษาใด ๆ เพียงแต่เฝ้าติดตามดูอาการเป็นระยะ ๆ และแนะนำให้ผู้ป่วยใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพให้ดีด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง ได้แก่
- ผู้ป่วยที่ปัสสาวะบ่อยเพราะดื่มน้ำมาก โดยเฉพาะก่อนเข้านอนก็ควรลดปริมาณการดื่มน้ำให้น้อยลงและให้ปัสสาวะก่อนเข้านอน เพราะกลางคืนจะได้ไม่ต้องลุกขึ้นมาบ่อย ๆ และถ้าถ่ายปัสสาวะบ่อยเพราะรีบไปถ่ายเมื่อปวดก็ควรกลั้นไว้จนเกือบทนไม่ไหว โดยปริมาณปัสสาวะที่เหมาะสมในการขับถ่ายแต่ละครั้งคือประมาณ 1 แก้ว หรือขับถ่ายปัสสาวะให้ห่างกันประมาณ 2 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ๆ เมื่อปวดแล้วก็ควรไปถ่ายปัสสาวะ เพราะกลั้นแล้วจะทำให้เป็นมากขึ้น
- งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้ปัสสาวะออกมาเยอะ
- อย่านั่งจักรยานหรือทำอะไรที่สะเทือนต่อต่อมลูกหมาก เพราะจะทำให้ปัสสาวะไม่ออก
- ถ้าเป็นไปได้ควรมีการร่วมเพศบ้าง เพราะเวลาที่มีน้ำเชื้อออกมาจะทำให้ต่อมลูกหมากไม่บวม
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) และยาในกลุ่มกระตุ้นประสาทซิมพาเทติก เพราะอาจทำให้ปัสสาวะไม่ออกอย่างเฉียบพลันได้
- ควรรีบมาพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติมากขึ้น
- ในรายที่มีอาการปัสสาวะลำบากมากขึ้น จนมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันและความเป็นอยู่ หรือในรายที่เป็นมาก ๆ แต่อยู่ในระหว่างรอการผ่าตัด แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาชนิดใดชนิดหนึ่งตามความเหมาะสม ได้แก่
- ยากลุ่มปิดกั้นแอลฟา (Alpha-blockers) เช่น ยาพราโซซิน (Prazosin) ให้ในขนาด 2 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง, ยาเทราโซซิน (Terazosin) ให้ในขนาด 2-10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งก่อนนอน, ยาดอกซาโซซิน (Doxazosin) ให้ในขนาด 4-8 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งก่อนนอน เป็นต้น ซึ่งยาในกลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมากและกล้ามเนื้อหูรูดที่คอกระเพาะปัสสาวะ มีผลทำให้ถ่ายปัสสาวะได้คล่องขึ้น นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตที่มีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
- ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์แอลฟารีดักเทส (Alpha reductase inhibitors) เช่น ยาฟิแนสเทอไรด์ (Finasteride) ในขนาด 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง (ต้องใช้ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน จึงจะเห็นผล) ซึ่งยานี้จะมีฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้เทสโทสเตอโรนเปลี่ยนเป็นไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมลูกหมากโต ทำให้ต่อมลูกหมากเล็กลงได้ประมาณ 30% อีกทั้งยานี้ยังมีข้อดีทำให้ผมดกขึ้นด้วย จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตที่มีปัญหาเรื่องผมบางหรือศีรษะล้านร่วมด้วย
- ยาสมุนไพรที่สกัดขึ้นมาเพื่อลดอาการบวม (จะกล่าวถึงอย่างละเอียดต่อไป)
- ในรายที่ใช้ยารักษาไม่ได้ผล หรือมีอาการปัสสาวะไม่ออกซ้ำซาก ปัสสาวะปนเลือดบ่อย ๆ เป็นโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะบ่อย ๆ มีอาการไตเสื่อม มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือผนังกระเพาะปัสสาวะหย่อนยานหรือเป็นถุงโป่งพอง แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ได้แก่
- การผ่าตัดโดยการใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะ (Transurethral resection of the prostate – TURP) เพื่อเข้าไปตัดเอาชิ้นเนื้อส่วนที่เกินออกมาจากต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นวิธีผ่าตัดที่แพทย์นิยมใช้กันเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือมีภาวะแทรกซ้อน แพทย์ผ่าตัดจะส่งท่อที่มีกล้องขนาดเล็กผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะ ซึ่งตรงปลายท่อจะมีเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กเพื่อใช้สำหรับตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากส่วนที่กดทับท่อปัสสาวะไว้ วิธีนี้สามารถทำได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยเฉพาะแพทย์ทางเดินปัสสาวะหรือศัลยแพทย์เฉพาะทาง ในระหว่างการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการวางยาเฉพาะส่วนล่าง จึงทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ ในระยะ 3-4 วันแรกต้องใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อให้กระเพาะปัสสาวะได้พัก และรอให้ปัสสาวะใสเสียก่อนแล้วจึงเอาสายสวนออก โดยผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์
- การผ่าตัดโดยการเปิดเข้าหน้าท้อง (Suprapubic หรือ Radical retropubic prostatectomy – RRP) แต่ถ้าต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่มาก ก็อาจต้องทำการผ่าตัดแบบเปิดเข้าหน้าท้องเพื่อเอาเนื้อเยื่อส่วนเกินออกมา ซึ่งวิธีการผ่าตัดโดยการเปิดเข้าหน้าท้องนี้อาจทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ และเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดมากกว่าการผ่าตัดโดยการใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะ
- การผ่าตัดโดยการใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะ (Transurethral resection of the prostate – TURP) เพื่อเข้าไปตัดเอาชิ้นเนื้อส่วนที่เกินออกมาจากต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นวิธีผ่าตัดที่แพทย์นิยมใช้กันเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือมีภาวะแทรกซ้อน แพทย์ผ่าตัดจะส่งท่อที่มีกล้องขนาดเล็กผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะ ซึ่งตรงปลายท่อจะมีเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กเพื่อใช้สำหรับตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากส่วนที่กดทับท่อปัสสาวะไว้ วิธีนี้สามารถทำได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยเฉพาะแพทย์ทางเดินปัสสาวะหรือศัลยแพทย์เฉพาะทาง ในระหว่างการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการวางยาเฉพาะส่วนล่าง จึงทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ ในระยะ 3-4 วันแรกต้องใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อให้กระเพาะปัสสาวะได้พัก และรอให้ปัสสาวะใสเสียก่อนแล้วจึงเอาสายสวนออก โดยผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์
- นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจเลือกรักษาด้วยวิธีอื่นที่ง่ายและมีความเสี่ยงน้อยกว่าการผ่าตัด (แต่ถ้าใช้วิธีเหล่านี้ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดอยู่ดี) เช่น
- การขยายท่อปัสสาวะโดยการใส่ท่อคาไว้ (Prostatic stent) ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้หรือปฏิเสธการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
- การจี้ต่อมลูกหมากด้วยแสงเลเซอร์ (Transurethral incision of the prostate – TUIP) หรือการจี้ต่อมลูกหมากด้วยไฟฟ้า (Transurethral electrovaporization of the prostate – TUVP)
- การใช้คลื่นความร้อน เช่น คลื่นไมโครเวฟ (Transurethral Microwave Thermotherapy of the Prostate – TUMT), คลื่นอัลตราซาวนด์ (High-intensity focused ultrasound – HIFU), คลื่นวิทยุ (Radiofrequency vaporization) ผ่านเข้าไปที่ต่อมลูกหมากเพื่อทำให้เกิดความร้อนบริเวณต่อมลูกหมากจนเนื้อเยื่อตาย ต่อมลูกหมากก็จะฝ่อและเล็กลง ทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะได้คล่องขึ้น และยังสามารถดำเนินการรักษาในขณะที่เป็นผู้ป่วยนอกได้ (เป็นวิธีที่แพทย์เลือกใช้ในผู้ป่วยที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัด)
- เมื่อมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น แพทย์จะให้การรักษาไปตามภาวะที่เป็น เช่น ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ ใช้สายสวนปัสสาวะในรายที่ปัสสาวะไม่ออก เป็นต้น
เหตุใดแพทย์จึงไม่ผ่าตัดต่อมลูกหมากโตให้เลย ?
หลายคนสงสัยว่า ทำไมแพทย์ถึงไม่ผ่าตัดให้เลยจะได้หมดปัญหา ที่เป็นอย่างนั้นก็เนื่องจากว่าการผ่าตัดใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อมลูกหมากโตที่ผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ ถ้าหากทำการผ่าตัดโดยไม่มีข้อบ่งชี้เพียงพอ ผลที่ได้ก็จะไม่คุ้มกับที่เสียไป ดังนั้น แพทย์จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ อย่างละเอียดรอบคอบ เช่น ความสมบูรณ์ของร่างกายผู้ป่วยที่จะต้องดูพอสมควร, โรคประจำตัวของผู้ป่วยที่เป็นกันมากในผู้สูงอายุ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฯลฯ ที่ล้วนแต่มีผลต่อการผ่าตัด, ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการดมยาสลบหรือการผ่าตัด คือถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ต้องผ่าตัด, สถานที่หรือแพทย์เฉพาะทาง คือ ศัลยแพทย์เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะที่ยังมีอยู่น้อยมากไม่กี่ร้อยคนในประเทศไทยเมื่อเทียบกับจำนวนคนไข้ทั้งหมด เป็นต้น
โรคต่อมลูกหมากโตอันตรายหรือไม่ ?
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ผู้ชายอายุ 80-90 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นโรคนี้กันแทบทุกคน ส่วนจะเป็นอันตรายหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพของตนเองว่ามีมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งโรคนี้ก็เป็นโรคที่ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยด้วยว่ารู้สึกอย่างไรกับอาการที่เกิดขึ้น เพราะบางคนยอมรับสภาพที่มีอาการปัสสาวะบ่อย ๆ ได้ และถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา จึงไม่รู้สึกเดือดร้อนมากเท่าไร แต่ในผู้สูงอายุบางคนกลับรู้สึกว่าเป็นอาการที่รุนแรงหรือเป็นภาวะที่น่ารำคาญและรบกวนวิถีชีวิตประจำวัน ก็จะไปพบแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขหรือบรรเทาอาการ เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับความอดทนของแต่ละคนซึ่งมีไม่เท่ากัน แต่บางคนก็ปล่อยปละละเลยหรือฝืนร่างกายจนมีอาการรุนแรงและเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ เกิดภาวะไตวาย เป็นต้น ยิ่งถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ด้วยแล้ว (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ) ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มมีอาการก็อาจเป็นเหตุทำให้เกิดอันตรายจนเสียชีวิตได้
โรคต่อมลูกหมากโตสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ?
โรคต่อมลูกหมากโตเป็นโรคเนื้องอกในต่อมลูกหมาก การรักษาโดยการผ่าตัดไม่ได้ตัดต่อมลูกหมากทิ้งไปแต่อย่างใด เพียงแต่ตัดเอาเนื้องอกส่วนเกินมาออกไป ซึ่งเนื้องอกก็สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้อีก แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังที่กล่าวไปแล้วก็มีส่วนช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่บางส่วนอาการอาจจะไม่ดีขึ้นแต่ก็ไม่ได้แย่ลง
วิธีป้องกันโรคต่อมลูกหมากโต
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะการเกิดต่อมลูกหมากโต เพราะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าโรคนี้เกิดจากอะไร แต่ที่ทำได้คือการป้องกันไม่ให้อาการของโรคแย่ลงไปกว่าเดิม
สรุป โรคต่อมลูกหมากโตเป็นภาวะไม่รุนแรงและมีทางรักษาให้หายได้ หากมีอาการเล็กน้อย แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่ต้องใช้ยา ถ้ามีอาการมากขึ้นแพทย์จะแนะนำให้กินยาเพื่อช่วยให้ถ่ายปัสสาวะได้คล่องขึ้น แต่ถ้าใช้ยาไม่ได้ผล ปัสสาวะไม่ออก หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี โรคนี้ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายร้ายแรงได้ ดังนั้นผู้ชายที่สูงอายุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี หรือเมื่อมีอาการปัสสาวะผิดปกติก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและรักษาได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด และที่สำคัญก็คืออย่าหลงเชื่อคำโฆษณาที่บอกว่ามียารักษาโรคนี้ได้หายเด็ดขาด หรือโฆษณาว่าวิธีนั้นวิธีนี้ดีที่สุด
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia /BPH)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 865-867.
- ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “ต่อมลูกหมากโต”. (รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [29 เม.ย. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 282 คอลัมน์ : เรื่องเด่นจากปก. (ศ. นพ.กฤษฎา รัตนโอฬาร). “ต่อมลูกหมากโตโรคของความเสื่อมในชายสูงอายุ (เกือบทุกคน)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [29 เม.ย. 2016].
ภาพประกอบ : perthurologyclinic.com.au, visuals.nci.nih.gov (National Cancer Institute), urology.jhu.edu, www.katelarisurology.com.au
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)