ติ้วขาว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นติ้วขาว 18 ข้อ ! (ผักติ้ว)

ติ้วขาว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นติ้วขาว 18 ข้อ ! (ผักติ้ว)

ติ้วขาว

ติ้วขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Cratoxylum formosum (Jacq.) Benth. & Hook.f. ex Dyer (Cratoxylum formosum subsp. formosum) ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ติ้ว (HYPERICACEAE)

สมุนไพรติ้วขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แต้วหิน (ลำปาง), ผักเตา เตา (เลย), ติ้วส้ม (นครราชสีมา), กวยโชง (กาญจนบุรี), ตาว (สตูล), ติ้วแดง ติ้วยาง ติ้วเลือด ติ้วเหลือง (ภาคเหนือ), ติ้วเหลือง (ภาคกลาง), แต้ว (ภาคใต้), ผักติ้ว เป็นต้น[1]

หมายเหตุ : ต้นติ้วขาว (ผักติ้ว) ชนิดที่กล่าวถึงในบทความนี้ (สามารถรับประทานได้) เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นติ้วขน หรือ ติ้วหนาม (ไม่สามารถรับประทานเป็นผักได้) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cratoxylum formosum subsp. pruniflorum (Kurz) Gogelein อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ ติ้วขน

ลักษณะของติ้วขาว

  • ต้นติ้วขาว จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีความสูงของต้นเฉลี่ยประมาณ 3-12 เมตร และอาจสูงได้ถึง 35 เมตร เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลม โคนต้นมีหนาม กิ่งก้านเรียว ส่วนกิ่งอ่อนมีขนนุ่มอยู่ทั่วไป เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลแดง แตกล่อนเป็นสะเก็ด ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลแกมเหลือง ลำต้นมีน้ำยางสีเหลืองปนแดงซึมออกมาเมื่อถูกตัดหรือเกิดแผล ขยายพันธุ์วิธีการใช้เมล็ด เป็นต้นไม้ที่ทนแล้งได้ดี พบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคใต้ตอนเหนือ โดยจะขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง ป่าตามเชิงเขา และตามป่าเบญจพรรณ[1]

ต้นติ้วขาว

ต้นผักติ้ว

  • ใบติ้วขาว ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีแกมรูปไข่กลับ หรือเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบสอบเรียบ ส่วนขอบใบโค้งเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-13 เซนติเมตร ผิวใบทั้งสองด้านมีขนละเอียด ใบเมื่ออ่อนจะเป็นสีชมพูอ่อนถึงสีแดง เรียบและเป็นมันวาว โดยในช่วงฤดูหนาวจะเห็นเรือนพุ่มทั้งหมดเป็นสีชมพูอ่อน ใบแก่เป็นสีเขียวสด เรียบ เกลี้ยง หลังใบบนเป็นมัน ส่วนท้องใบมีต่อมกระจายอยู่ทั่วไป ใบแก่เป็นสีแดงหรือสีแสด มีเส้นข้างใบประมาณ 7-10 คู่ โดยจะโค้งจรดกันใกล้ขอบใบ และมีก้านใบยาวประมาณ 0.6-1.6 เซนติเมตร[1]

ใบติ้วขาว

  • ดอกติ้วขาว ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกตามกิ่งเหนือรอยแผลของใบ กลีบดอกเป็นสีขาวอมสีชมพูอ่อนถึงสีแดง กลีบดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกตามซากใบ หลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีอยู่ 5 กลีบ เมื่อดอกบานจะขยายออกประมาณ 1.2 เซนติเมตร ก้านดอกเรียวเล็กและมีกาบเล็ก ๆ ที่ฐานกลีบด้านใน ดอกมีเกสรตัวผู้สีเหลือง สั้น ๆ อยู่จำนวนมาก ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นกลุ่ม 3 กลุ่ม ส่วนเกสรตัวเมีย ก้านเกสรเป็นสีเขียวอ่อนมี 3 อัน และมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอ่อนปนสีแดง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม[2]

ดอกติ้วขาว

  • ผลติ้วขาว ผลเป็นแบบแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่แกมรูปกระสวย ผิวผลมีนวลสีขาว ผลเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลดำ ลักษณะของผลเป็นแบบแคปซูล ปลายแหลม ผิวเรียบและแข็ง มีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.3-1.8 เซนติเมตร และจะแตกออกเป็น 3 แฉกเมื่อแก่ ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล ส่วนที่ฐานดอกมีกลีบเลี้ยงยังคงอยู่[2]

ผลติ้วขาว

สรรพคุณของติ้วขาว

  1. ช่วยบำรุงโลหิต ฟอกโลหิต (ยอด, ใบอ่อน, ดอก, เถา)[1]
  2. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำกินแก้ธาตุพิการ (เปลือกต้น)[1]
  3. ช่วยแก้ประดง (ยอด, ใบอ่อน, ดอก, เถา)[1]
  4. ผักติ้วเป็นผักที่มีวิตามินเอสูง จึงมีสรรพคุณช่วยป้องกันไม่ให้เด็กเป็นตาบอดกลางคืน และโรคตาไก่[7]
  5. ช่วยขับลม (ยอด, ใบอ่อน, ดอก, เถา)[1]
  6. รากและใบ ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (รากและใบ)[1]
  7. ใช้รากผสมกับรากปลาไหลและหัวแห้วหมู นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้งเป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะขัด (ราก)[1],[7]
  1. แก่นและลำต้น ใช่แช่กับน้ำดื่ม ช่วยแก้ปะดงเลือด หรืออาการเลือดไหลไม่หยุด (แก่นและลำต้น)[1]
  2. ต้นและยางจากเปลือกต้น ใช้ทาแก้อาการคัน (ยาง)[1]
  3. เปลือกและใบ นำมาตำผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ทารักษาโรคผิวหนังบางชนิด (เปลือกและใบ)[1]
  4. น้ำยางจากต้น ใช้ทารักษารอยแตกของส้นเท้าได้ (ยาง)[1]
  5. ช่วยแก้อาการปวดตามข้อ แก้ไขข้อพิการ (ยอด, ใบอ่อน, ดอก, เถา)[1]
  6. มีงานวิจัยเรื่องการทดลองสารที่พบจากใบผิวติ้วขน โดยพบว่ามีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งตับได้ และยังไม่ทำลายเซลล์ปกติอีกด้วย แต่งานวิจัยดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้นพอที่จะเอาไปใช้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ จึงสรุปได้แต่เพียงว่า การรับประทานผักติ้วเป็นประจำจะช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งตับได้ (ใบ)[6]

ประโยชน์ของติ้วขาว

  1. ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อนของติ้วขาวหรือผักติ้วใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ ก้อย น้ำตก แจ่ว ซุปหน่อไม้ น้ำพริก น้ำพริกปลาร้า ขนมจีน หมี่กะทิ เมี่ยงญวน แหนมเนืองเวียดนาม หรือจะนำไปประกอบอาหาร เช่น ใส่ต้มหรือแกงต่าง ๆ เพื่อใช้ปรุงรสเปรี้ยวแทนการใช้มะนาว เช่น แกงเห็ด แกงปลา[1],[2],[6],[7]
  2. ดอกอ่อน ใช้ทำซุปหรือยำได้ แต่จะนิยมใช้ติ้วขาวมากกว่าติ้วขน เพราะติ้วขาวมีรสชาติขมและฝาดน้อยกว่าติ้วขน[2]
  3. สารสกัดด้วยน้ำของติ้วขนมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้กับปลานิล โดยปลานิลที่เลี้ยงด้วยอาหารที่ผสมด้วยสารสกัดติ้วขน (อัตราส่วน 1.5% (w/w)) จะมีภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะ (Nonspecific immune response) สูงขึ้น[5]
  4. สารสกัดจากผักติ้ว (ยอดอ่อน) ที่เข้ากระบวนการสกัดผสมกับเอทานอล (และขั้นตอนอีกหลายขั้นตอน) จนได้สารจากผักติ้วที่ชื่อว่า “คอลโรจินิกเอซิก” สามารถนำไปใช้ยับยั้งกลิ่นหืนของอาหารได้เป็นอย่างดี (งานวิจัยของนิสิตโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)[6]
  5. ไม้ติ้วขาวสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้าง ทำโครงสร้างบ้าน สร้างขื่อบ้าน ทำกระดานพื้น สร้างรั้ว ทำเสาเข็ม ทำด้ามเครื่องมือ จอบ เสียม เครื่องตกแต่งภายในเรือน กระสวยทอผ้า ทำหีบใส่ของ ฯลฯ[7]

คุณค่าทางโภชนาการของผักติ้ว (ยอดอ่อน, ใบอ่อน, ดอก) ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 58 กิโลแคลอรี
  • โปรตีน 2.4 กรัม
  • ไขมัน 1.7 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 8.2 กรัม
  • เส้นใยอาหาร 1.4 กรัม
  • เถ้า 0.6 กรัม
  • น้ำ 85.7 กรัม
  • วิตามินเอ 7,500 หน่วยสากล
  • วิตามินบี1 0.04 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี2 0.67 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี3 3.1 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 56 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 67 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 2.5 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 19 มิลลิกรัม

แหล่งที่มา : ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม (กองโภชนาการ กรมอนามัย)[2]

เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ติ้วขาว“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [15 ม.ค. 2014].
  2. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร  “ติ้วขน“.  อ้างอิงใน : หนังสือไม้อเนกประสงค์กินได้ (คณะอนุกรรมการประสานงานวิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้และไม้โตเร็วอเนกประสงค์), หนังสือผักพื้นบ้านภาคอีสาน (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข), หนังสือผักพื้นบ้านภาคเหนือ (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable.  [16 ม.ค. 2014].
  3. เครือข่ายกาญจนาภิเษก.  “ผักติ้ว“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : kanchanapisek.or.th.  [15 ม.ค. 2014].
  4. รายการสาระความรู้ทางการเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  “ผักแต้ว“.  (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th.  [15 ม.ค. 2014].
  5. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีที่ 12 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม 2553.  “การใช้สมุนไพรในการป้องกันและรักษาโรคในปลา“.  (พงศ์ศักดิ์ รัตนชัยกุลโสภณ, ปาริชาติ พุ่มขจร).
  6. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ.  คอลัมน์ : เกษตรกรบนแผ่นกระดาษ.  “ผักติ้ว ต้านมะเร็งตับ“.  (นายเกษตร).
  7. ศูนย์ฝึกอบรมและควบคุมระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.  “ผักติ้ว“. [ ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : student.nu.ac.th.  [15 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด