ติ้วขน สรรพคุณและประโยชน์ของติ้วขน 12 ข้อ !

ติ้วขน

ติ้วขน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cratoxylum formosum subsp. pruniflorum (Kurz) Gogelein[1],[3] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ติ้ว (HYPERICACEAE)

สมุนไพรติ้วขน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แต้วหิน (ลำปาง), ติ้ว (กาญจนบุรี), ติ้วขน (นครราชสีมา), แต้ว (จันทบุรี), ตาว (สตูล), ติ้วแดง ติ้วยาง ติ้วเลือด (ภาคเหนือ), ติ้วเหลือง (ภาคกลาง), เน็กเครแย่ (ละว้า-เชียงใหม่), ราเง้ง (เขมร-สุรินทร์), กวยโซง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), กุยฉ่องเซ้า (กะเหรี่ยง-ลำปาง), ติ้วหนาม เป็นต้น[1],[3],[5]

หมายเหตุ : ต้นติ้วขนชนิดที่กล่าวถึงในบทความนี้ (ลำต้นมีหนาม ใบมีขน ไม่สามารถรับประทานได้) เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้น ติ้วขาว หรือผักติ้ว ที่ใช้รับประทานเป็นผัก ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cratoxylum formosum (Jacq.) Benth. & Hook.f. ex Dyer (Cratoxylum formosum subsp. formosum) อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ ติ้วขาว (ผักติ้ว)

ลักษณะของติ้วขน

  • ต้นติ้วขน หรือ ต้นติ้วหนาม จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง มีความสูงได้ประมาณ 8-15 เมตร แตกกิ่งก้านโปร่ง ยอดอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนขึ้นหนาแน่น เปลือกต้นด้านนอกเป็นสีน้ำตาลปนดำ แตกเป็นสะเก็ดตามยาว ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลเหลือง และมียางเหนียว ๆ สีเหลืองปนแดง กิ่งขนาดเล็กตามลำต้นมักแปรสภาพเป็นหนามแข็ง ๆ พบขึ้นตามป่าผลัดใบและป่าเบญจพรรณแล้งทั่วทุกภาคของประเทศ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-1,000 เมตร[1],[3],[5]

รากติ้วขน

  • ใบติ้วขน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-13 เซนติเมตร แผ่นใบบางมีขนทั้งสองด้าน หลังใบมีขนสาก ๆ ส่วนท้องใบเป็นขนนุ่มหนาแน่น ส่วนใบอ่อนเป็นสีแดงหรือสีชมพูเรื่อ ใบแก่ก่อนผลัดใบเป็นสีแดง[1],[3]

ต้นติ้วขน

  • ดอกติ้วขน ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามกิ่งเหนือรอยแผลใบ ดอกเป็นสีชมพูอ่อนถึงสีแดง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกเกลี้ยงและยาวประมาณ 2 เท่าของกลีบเลี้ยง ขอบกลีบดอกมีขนสีขาว ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ มีขนขึ้นประปรายอยู่ด้านนอก ดอกมีเกสรเพศผู้มาก และแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม รังไข่มีลักษณะเป็นรูปรี ๆ เกลี้ยง ๆ[1],[3]

ดอกติ้วขน

  • ผลติ้วขน ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปรี ปลายแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.8-2 เซนติเมตร ผลแข็งมีคราบสีนวล ๆ ตามผิว มีกลีบเลี้ยงหุ้มเกินครึ่งผล ผลเมื่อแห้งจะแตกอ้าออกได้เป็น 3 พู สีน้ำตาล ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานเล็ก ๆ และมีปีกโค้ง ๆ ออกดอกและติดผลในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม[1],[3],[5]

สรรพคุณของติ้วขน

  1. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำกินแก้ธาตุพิการ (เปลือกต้น)[2]
  2. รากและใบใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (รากและใบ)[2]
  3. กิ่งและลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เจ็บท้อง (กิ่งและลำต้น)[5]
  4. รากติ้วขนใช้ผสมกับหัวแห้วหมูและรากปลาไหลเผือก นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด[1]
  5. น้ำยางจากต้นใช้เป็นยาสมานแผลและช่วยห้ามเลือด เช่น แผลจากการถูกมีดบาด เป็นต้น[2]
  6. ใบติ้วขนสามารถนำมาใช้แทนพลาสเตอร์เพื่อปิดปากแผลได้ (ใบ)[2]
  7. ต้นและยางจากเปลือกต้นใช้ทาแก้อาการคัน (ยาง)[2]
  8. เปลือกและใบนำมาตำผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ทารักษาโรคผิวหนังบางชนิด (เปลือกและใบ)[2]
  9. สารสกัดจากกิ่งของติ้วขนมีสารออกฤทธิ์ที่ช่วยทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยจะทำให้เซลล์มะเร็งค่อย ๆ สลายตัวจากการทำลายตัวเองจากภายใน ทำให้เซลล์มะเร็งตายโดยการชักนำให้มีการสร้างโปรตีนชนิดใหม่ที่เกี่ยวกับการทำลายตัวเองเกิดขึ้น และไม่มีผลต่อการทำลายเซลล์ปกติที่อยู่ข้างเคียงแต่อย่างใด ร่างกายจึงไม่เกิดอาการอักเสบขึ้นและไม่มีผลข้างเคียงต่อการใช้ยา (ยังอยู่ในระหว่างทำการศึกษา ยังไม่มีการยืนยันผลในคน)[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของติ้วขน

  • จากการศึกษาสารสกัดจากลำต้นของติ้วขนด้วย 50% แอลกอฮอล์ พบว่าพืชชนิดนี้มีสารองค์ประกอบอยู่ในกลุ่มแทนนิน ฟลาโวนอยด์ คาร์ดิแอคไกลโคไซด์ และอัลคาลอยด์ และมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ (EC50=10.25 มก./มล.) มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย V. cholerae ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอหิวาตกโรคที่ความเข้มข้น 3.125 มก./มล. มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย S. aureus ที่ทำให้เกิดโรคแผลฝีหนองที่ความเข้มข้น 6.25 มก./มล. มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสโรคเริม Herpes simplex virus type 1 (IC50 = 52.33 มก./มล.) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา สาเหตุของโรคกลากที่ความเข้มข้น 2-4 มก./มล. ไม่มีฤทธิ์กลายพันธุ์ทั้งในภาวะที่มีและไม่มีเอนไซม์ แต่มีฤทธิ์ต้านการกลายพันธุ์ในภาวะที่มีเอนไซม์ทำงานร่วมด้วย[5]
  • สารสกัดติ้วขนมีพิษต่อเซลล์ม้ามที่ค่า IC50 93.31 มก./มล. ไม่มีผลในการกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ภูมิคุ้มกันโดยตรง แต่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดทีเซลล์และบีเซลล์ มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือด (IC50 = 47.4±9.7 มก./มล.) และเซลล์มะเร็งตับสูง (IC50 = 64.7±8.7 มก./มล.) แต่ไม่มีความจำเพาะของความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งมากกว่าเซลล์ไลน์ปกติ เมื่อเซลล์ได้รับสารสกัดนาน 3 วัน[5]

ประโยชน์ของติ้วขน

  • เปลือกต้นสามารถนำมาสกัดทำสีสำหรับย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีน้ำตาลเข้ม[2]
  • ไม้ติ้วขนมีความทนทานมาก ปลวกไม่กินเนื่องจากไม้มีน้ำยาง สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้าง ทำโครงสร้างบ้าน สร้างขื่อบ้าน ทำกระดานพื้น สร้างรั้ว ทำเสาเข็ม ทำด้ามเครื่องมือ จอบ เสียม เครื่องตกแต่งภายในเรือน กระสวยทอผ้า ทำหีบใส่ของ ฯลฯ[2],[3]
  • เนื้อไม้หรือลำต้นติ้วขนสามารถนำมาใช้ทำฟืน ใช้สำหรับทำฟืนจุดให้สตรีที่อยู่ไฟรมควัน เนื่องจากเนื้อไม้ไม่มีกลิ่นทำให้ควันไม่เหม็น มีขี้เถ้าน้อย และยังให้ความร้อนได้ดีกว่าไม้กะบก[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติ ภาคเหนือ.  “ติ้วขน”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้าที่ 117.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “ติ้วขาว, ติ้วขน”.  อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [15 ม.ค. 2014].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์.  “ติ้วขน”.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [15 ม.ค. 2014].
  4. ASTV ผู้จัดการออนไลน์.  “แสงซินโครตรอนยืนยัน ติ้วขน-สนสามใบ ทำเซลล์มะเร็งทำลายตัวเองได้”.  (ภญ.รศ.ดร.นาถธิดา วีระปรียากูร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th.  [15 ม.ค. 2014].
  5. โครงการจัดทำฐานข้อมูลพืชสมุนไพรที่สำรวจและวิจัยภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น.  “ติ้วขน หรือ ติ้วหนาม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: home.kku.ac.th/orip2/thaiherbs/.  [04 พ.ย. 2015].

ภาพประกอบผศ. ดร.ทวีศักดิ์ ธิติเมธาโรจน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, home.kku.ac.th, www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/

ผู้เสนอแก้ไขบทความ : Ratachat Jr, ภญ. รศ. ดร.นาถธิดา วีระปรียากูร

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด