ตดหมูตดหมา
ตดหมูตดหมา ชื่อสามัญ Fever vine[2]
ตดหมูตดหมา ชื่อวิทยาศาสตร์ Paederia linearis Hook.f. จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]
สมุนไพรตดหมูตดหมา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตำยานตัวผู้ เครือตดหมา (นครราชสีมา), หญ้าตดหมา (ภาคเหนือ), พังโหม (ภาคกลาง), ย่านพาโหม (ภาคใต้), ตดหมูตดหมา, หญ้าตดหมูตดหมา เป็นต้น[1]
หมายเหตุ : ตดหมูตดหมาที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกับหญ้าตดหมา (Paederia pilifera Hook.f.) และเถาตดหมา (Merremia tridentata (L.) Hallier f.)
ลักษณะของตดหมูตดหมา
- ต้นตดหมูตดหมา จัดเป็นไม้เถาขนาดเล็ก มีกลิ่นเหม็นเขียวเฉพาะและมียาวสีขาวทั้งต้น เจริญเติบโตแบบไม้เลื้อยเนื้ออ่อน ลำต้นเป็นสีเขียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.8-5 เซนติเมตร ก้านใบ กิ่งอ่อน ก้านช่อดอก และผลมีขนสั้น ๆ ปกคลุมอยู่หนาแน่น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ชอบดินร่วนซุย แสงแดดจัด ทนแล้งได้ดี พบขึ้นทั่วไปในที่รกร้าง ในป่าธรรมชาติ โดยเฉพาะตามป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง และป่าที่กำลังคืนสภาพที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 400-800 เมตร ในต่างประเทศพบได้ที่ประเทศอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนวิธีการป้องกันและจำจัด สามารถทำได้โดนการใช้วิธีการเขตกรรม (ถาก ตัดให้สั้นเพื่อไม่ให้ออกดอก หรือขุดทิ้ง) และใช้สารเคมีต่าง ๆ[1],[2],[3],[4]
- ใบตดหมูตดหมา ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลมหรือเรียวยาว โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.1-12 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวถึงเขียวค่อนข้างเข้ม หน้าใบและหลังใบไม่มีขน แต่จะมีขนสั้น ๆ ละเอียดที่มุมเส้นใบตัดกับเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบออกตรงข้ามกันและเยื้องกันบ้าง ปลายเส้นวิ่งไปจนเส้นถัดไป ไม่ถึงขอบใบ เส้นแขนงเล็ก ๆ สานกันเป็นร่างแห มีเส้นแขนงใบข้างละ 4-7 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 1.2-2.3 เซนติเมตร[1],[4]
- ดอกตดหมูตดหมา ออกดอกเป็นช่อบริเวณยอดและตามซอกใบ ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมากอยู่ชิดติดกันเป็นกระจุก กลีบดอกด้านนอกเป็นสีเขียว ส่วนด้านในเป็นสีม่วงเข้ม ดอกมีลักษณะเป็นรูปกรวยปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉกและหยักตื้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[4]
- ผลตดหมูตดหมา ลักษณะของผลเป็นรูปไข่หรือกลมแบน ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร ผลจะแก่ในช่วงเมษายนถึงพฤษภาคม[1],[4]
สรรพคุณของตดหมูตดหมา
- ทั้งต้นมีรสขม สรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ (ทั้งต้น)[1]
- ใบมีรสขม ใช้ทำเป็นอาหารบำรุงกำลังคนฟื้นไข้หรือคนชราได้ (ใบ)[1]
- ใบนำมาตำพอกเวลาปวดศีรษะ อาการปวดศีรษะจะดีขึ้น (ใบ)[4]
- ช่วยแก้ตัวร้อน (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยาถอนพิษเหล้า ยาสูบ และพิษจากอาหาร (ทั้งต้น)[1]
- รากมีรสขมเย็น ใช้ฝนหยอดตา แก้ตาฟาง ตาแฉะ (ราก)[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ตาฟาง ตาแฉะ ตามัว (ราก)[2]
- ผลและใบใช้เป็นยาแก้อาการปวดฟัน (ใบ,ผล)[1]
- ใช้แก้อาการอักเสบที่คอและปาก (ยอดอ่อน)[2]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มจะช่วยทำให้อาเจียน (ราก)[1]
- ช่วยขับลม (ทั้งต้น)[1] ยอดและเถาใช้ผสมในตำรับยาแก้ท้องอืด ยาขับลมในลำไส้ บำรุงธาตุ แก้เจ็บท้อง จุกเสียด แน่นท้อง แก้นิ่ว (ยอดและเถา)[2]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ยอดอ่อน)[2]
- ช่วยขับพยาธิไส้เดือน (ทั้งต้น)[1]
- รากใช้ฝาทาแก้ริดสีดวงทวาร (ราก)[1]
- ใบใช้เป็นยาแก้เริม แก้ปวดแสบปวดร้อน (ใบ)[1]
- ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้พิษงู (ใบ)[1]
- ใช้เป็นยาขับน้ำนมของสตรี (ยอดอ่อน)[2]
- นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วว่ารากมีสรรพคุณแก้โรคตานขโมย รักษาดีซ่าน แก้ท้องเสีย ลำไส้พิการ แก้อาการจุกเสียด ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (ราก), เถามีสรรพคุณแก้ธาตุพิการ เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ซาง ตานขโมย แก้ไข้ ตัวร้อน รักษารำมะนาด ท้องเสีย ช่วยขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยขับพยาธิ แก้ดีรั่ว ใช้ทาแผลที่ถูกงูกัด ช่วยถอนพิษงู (เถา), ใบมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ แก้ธาตุพิการ แก้ตานซาง แก้ตัวร้อน ไข้จับสั่น แก้รำมะนาด เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยขับพยาธิไส้เดือน แก้ดีรั่ว แก้อาการคัน (ใบ), ดอกมีสรรพคุณแก้ไข้จับสั่น ช่วยขับน้ำนม (ดอก), ผลมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้จับสั่น หืดไอ แก้มองคร่อ แก้ท้องมาน แก้ริดสีดวง (ผล), นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้สัมประชวร แก้เสมหะ แก้ฟกบวมในท้อง และช่วยบำรุงธาตุไฟ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) (ข้อมูลจากเว็บไซต์ทองไทยแลนด์)[4]
ประโยชน์ของตดหมูตดหมา
- ใช้เป็นพืชอาหารและสมุนไพร โดยใช้ยอดอ่อนและใบอ่อนนำมากินเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก แกล้มกับลาบ และตำมะม่วง หรือนำมาต้มหรือลวกรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก[2],[3]
- ใช้เป็นอาหารของสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ เป็นต้น ต้นมีกลิ่นเหม็นเขียวเพราะมีสาร Methyl mercaptan เมื่อนำมาต้มกลิ่นระเหยไป สามารถนำมาทำอาหารได้[1]
- ผลใช้ทาฟันทำให้ฟันมีสีดำ[1]
- รากนำมาปอกเปลือกแช่น้ำ นำไปตำกับข้าวเหนียวนึ่งเพื่อทำข้าวพอง (ข้าวโป่ง) หรือที่คนภาคกลางเรียกว่า “ข้าวเกรียบว่าว“[3]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ดับ ด้วยการปลูกเป็นค้างให้เลื้อย ดอกมีขนาดเล็กแต่ออกดกมีสีสันสวยงาม[4]
เอกสารอ้างอิง
- สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “ตดหมูตดหมา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: nutrition.dld.go.th. [11 ก.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ตดหมูตดหมา”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสร และคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [11 ก.ค. 2014].
- หนังสือพืชกินได้ในป่าสะแกราช. (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)). “ตดหมูตดหมา”. หน้า 113-114.
- เว็บไซต์ท่องไทยแลนด์ดอมคอม. “ตดหมูตดหมา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thongthailand.com. [12 ก.ค. 2014].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)