ดอกดินแดง
ดอกดิน ชื่อสามัญ Broomrape[5]
ดอกดินแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Aeginetia indica L.[1] จัดอยู่ในวงศ์ดอกดิน (OROBANCHACEAE)[1]
ดอกดินแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ข้าวก่ำนกยูง หญ้าดอกขอ (เลย), ปากจะเข้ (ภาคอีสาน), สบแล้ง (สงขลา), ซอซวย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เหย่กู (จีนกลาง) , กะเปเส้, เพาะลาพอ, ดอนดิน เป็นต้น[1],[2],[3],[7]
ลักษณะของดอกดินแดง
- ต้นดอกดินแดง จัดเป็นพืชจำพวกกาฝากขึ้นบนรากไม้อื่น มีอายุได้ประมาณ 1 ปี ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงประมาณ 15-25 เซนติเมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 40-50 เซนติเมตร โคนต้นมีกาบใบสีชมพูอ่อนประมาณ 1-2 ใบห่อหุ้มอยู่ มีก้านเดียวแทงขึ้นมาบนรากไม้อื่น ต้นไม่มีการแตกกิ่งก้านและไม่มีใบ ปลายก้านออกดอกเป็นดอกเดี่ยว สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้หัว หน่อ หรือเหง้า โดยต้นดอกดินแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตอนกลางของทวีปเอเชีย มาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปโดยเฉพาะบริเวณที่ค่อนข้างชื้นในป่าเต็งรัง พบได้มากทางภาคเหนือและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[1],[2],[3],[5],[7]
- ใบดอกดินแดง ไม่มีใบ[1] บ้างก็ว่ามีใบเป็นเกล็ดขนาดเล็กที่โคนกอ มองเห็นได้ยาก โดยจะออกเรียงสลับตรงข้าม มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร
- ดอกดินแดง ดอกเป็นดอกเดี่ยวสีม่วงแดงอ่อน มีลักษณะเป็นถ้วยคว่ำ อ้วน โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด โค้งงอ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเหลืองอ่อน ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลีบดอกจะแตกออกเป็นแฉก 5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 ก้านและมีเกสรเพศเมีย 1 ก้าน ยอดเกสรเพศเมียสีเหลือง มีลักษณะอวบน้ำและมีขนาดใหญ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร โดยออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน[1],[2],[3],[6]
- ผลดอกดินแดง ลักษณะของผลเป็นรูปกลมไข่มีสีน้ำตาล ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผลเมื่อแก่จะแตกออก ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลขนาดเล็กจำนวนมาก โดยจะออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน[1],[6]
สรรพคุณของดอกดินแดง
- ทั้งต้นและดอกใช้ทำเป็นยาชงกินแก้เบาหวาน (ทั้งต้น, ดอก)[5]
- ทั้งต้นมีรสขม เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอด ไต และทางเดินปัสสาวะ ใช้เป็นยาขับพิษร้อน ช่วยถอนพิษไข้ และทำให้เลือดเย็น (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้อาการเจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้อาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (ทั้งต้น)[1]
- ทั้งต้นนำไปแช่กับน้ำมันงาใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยรักษาฝีบนผิวหนัง แก้ฝีภายนอก ด้วยการนำดอกสดมาตำผสมกับน้ำมันงาเล็กน้อย แล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่เป็นฝี (ดอก)[1]
- ช่วยแก้พิษงู ด้วยการใช้ดอกแห้ง 40 กรัม ชะมดเชียง 0.5 กรัม และตะขาบแห้ง 7 ตัว นำมาแช่ในน้ำมันงาประมาณ 15 วัน จึงสามารถนำมาใช้ทาบริเวณที่โดนพิษได้ (ดอก)[1]
- ช่วยแก้แมลงสัตว์กัดต่อย (ทั้งต้น)[1]
- ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บวม ช่วยแก้อาการปวดบวม (ทั้งต้น)[1],[2]
- แก้ไขกระดูกอักเสบ ด้วยการใช้ต้นสด 30 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำผสมกับผงชะเอม 5 กรัม หรือนำไปต้มกับน้ำรับประทาน (ต้น)[1]
วิธีใช้สมุนไพรดอกดินแดง
- การใช้ตาม [1] ให้ใช้ทั้งต้นแห้งครั้งละ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยา หากนำมาใช้ภายนอกให้ใช้ต้นสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของดอกดินแดง
- การศึกษาพิษต่อระบบภูมิคุ้มกันของดอกดินแดงโดยใช้สารสกัดจากพืชทั้งต้นด้วยเอทานอล (DDDP) และน้ำ (WDDDP) และส่วนเมล็ดสกัดด้วยบิวทานอล (SDDD) พบว่าสารสกัดจากดอกดินแดงมีฤทธิ์กระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน[9]
- จากการศึกษาพบว่าดอกดินแดงมีฤทธิ์ต้านพิษต่อตับ ต้านมะเร็ง กระตุ้น T-cell และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่ยังทำการศึกษาวิจัยกันต่อไปยังไม่สามารถนำมาใช้ในการรักษาอาการดังกล่าวข้างต้นได้[10]
ประโยชน์ของดอกดินแดง
- ดอกมีรสจืดเย็น สามารถนำมาลวกหรือนึ่งรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกปลาร้า น้ำพริกแดงได้[7]
- ดอกสดหรือดอกแห้งนำมาสกัดคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นสีผสมอาหารได้ โดยจะให้สีม่วงหรือสีน้ำเงินเข้มเกือบดำ ใช้แต่งสีหน้าข้าวเหนียวให้เป็นสีม่วงดำที่เรียกว่า “หม่าข้าว” (สีของกลีบดอกมีสารออคิวบิน (Aucubin) เมื่อถูกออกซิไดซ์จากออกซิเจนในอากาศแล้วจะเปลี่ยนสีดำ)[2],[3],[5],[7]
- ดอกนำไปคั้นกับน้ำผสมกับข้าวเหนียวแล้วนำไปนึ่งจะทำให้ข้าวเป็นสีม่วง ที่เรียกว่า “ข้าวก่ำ“[6]
- ส่วนของดอกนำมาโขลกผสมกับแป้งและน้ำตาลใช้ทำเป็นขนมดอกดิน ด้วยการนำดอกสดไปผึ่งแดดให้พอหมาด แล้วนำมาสับรวมกับแป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า และกะทิ ขนมชนิดนี้หากใส่ดอกดินแดงเพียงอย่างเดียวจะไม่เป็นสีดำ แต่จะเป็นน้ำตาลคล้ายกับกาแฟ หากใส่มากขึ้นจะทำให้ขนมมีรสขื่น จึงแต่งสีด้วยกาบมะพร้าวเผาไฟแล้วนำไปนึ่งให้สุก[4],[8]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ดอกดินแดง”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 216.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “ดอกดินแดง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 111.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ดอกดินแดง”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [7 มี.ค. 2014].
- อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. “ดอกดินแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.kanchanapisek.or.th/kp14/project_dev/project_area/Ratburi/index.php. [7 มี.ค. 2014].
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ดอกดินแดง (ตราด) สบแล้ง (สงขลา) หญ้าดอกขอ (เลย) ปากจะเข้ (เหนือ) ซอซวย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)”. อ้างอิงใน: สารานุกรมพืชในประเทศไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [7 มี.ค. 2014].
- สำนักบริหารพื้นที่อนรุักษ์ที่ 13 (สาขาลำปาง). “ดอกดินแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: lampang.dnp.go.th. [7 มี.ค. 2014].
- ศูนย์ข้อมูลภาคเหนือ มหาวิทยาลัยพายัพ. “ดอกดิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:lib.payap.ac.th/webin/ntic/. [7 มี.ค. 2014].
- วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. “ดอกดิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:th.wikipedia.org/wiki/ดอกดิน_(พืช). อ้างอิงใน: หนังสือเส้นทางขนมไทย. [7 มี.ค. 2014].
- การศึกษาพิษวิทยาและผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของดอกดินแดง. (วิมลณัฐ อัตโชติ).
- ชีวจิต. “ดอกดิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.cheewajit.com. [7 มี.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 王錦堯 (キラ), Sarawak Lens, Phimee, Hung-Jou Chen, dfjtees, Alan, Yip Wah)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)