ดอกคําฝอย
คำฝอย ชื่อสามัญ Safflower (แซฟฟลาวเวอร์), False saffron, Saffron thistle
คําฝอย ชื่อวิทยาศาสตร์ Carthamus tinctorius L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
สมุนไพรคำฝอย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า คำยอง คำหยอง คำหยุม คำยุ่ง (ลำปาง), คำ คำฝอย ดอกคำ (ภาคเหนือ), หงฮัว (จีน), ดอกคำฝอย คำทอง เป็นต้น
ลักษณะของคำฝอย
- ต้นคำฝอย มีถิ่นกำเนิดในตะวันออกกลาง ในประเทศไทยบ้านเรามีแหล่งผลิตดอกคำฝอยที่สำคัญอยู่ทางภาคเหนือ เพาะปลูกกันมากในอำเภอพร้าว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีความสูงประมาณ 40-130 เซนติเมตร มีลำต้นเป็นสัน แตกกิ่งก้านมาก เป็นพืชที่มีอายุสั้น ทนแล้ง เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีระดับความสูงต่ำกว่า 1,000 เมตร ชอบดินร่วนปนทรายหรือดินที่มีการระบายน้ำได้ดี โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกจะอยู่ระหว่าง 5-15 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิที่เหมาะสมในช่วงออกดอกคือ 24-32 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาการปลูกประมาณ 80-120 วันจนเก็บเกี่ยว
- ใบคำฝอย มีใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปวงรี ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกหรือรูปขอบขนาน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ปลายเป็นหนามแหลม ใบมีความกว้างประมาณ 1-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-12 เซนติเมตร
- ดอกคำฝอย ออกดอกรวมกันเป็นช่ออัดแน่นบนฐานดอกที่ปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกคำฝอยมีลักษณะกลมคล้ายดอกดาวเรือง เมื่อดอกคำฝอยบานใหม่ ๆ จะมีกลีบดอกสีเหลืองแล้วจึงค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีส้ม เมื่อแก่จัดดอกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง ที่ดอกมีใบประดับแข็งเป็นหนามรองรับช่อดอกอยู่
- ผลคำฝอย ลักษณะของผลคล้ายรูปไข่หัวกลับ ผลเบี้ยว ๆ มีสีขาวงาช้างปลายตัด มีสัน 4 สัน ขนาดของผลยาวประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตร ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ด้านในผลมีเมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมยาวรี เปลือกแข็ง มีสีขาว ขนาดเล็ก เมื่อผลแก่แห้งเมล็ดจะไม่แตกกระจาย
สรรพคุณของคําฝอย
- สมุนไพรดอกคําฝอย สรรพคุณช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด เนื่องจากดอกคำฝอยมีกรดไลโนเลอิก (Linoleic Acid) อยู่มาก ซึ่งกรดชนิดนี้จะเข้าไปทำปฏิกิริยากับไขมันในเลือดและขับออกทางปัสสาวะและทางอุจจาระ จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ไม่ชอบรับประทานหัวหอมหรือกระเทียมที่มีสรรพคุณเช่นเดียวกัน ด้วยการใช้ดอกคำฝอยแห้งประมาณ 2 หยิบมือ (2.5 กรัม) นำมาชงกับน้ำร้อนครึ่งถ้วยแล้วใช้ดื่ม หรืออีกสูตรให้ใช้ดอกคำฝอย 1 หยิบมือและดอกเก๊กฮวย 10 ดอก ผสมด้วยน้ำสะอาด 500 cc. แล้วเคี่ยวจนงวดประมาณ30 นาที นำมาดื่มเป็นน้ำชาครั้งละ 1 ถ้วยแก้ววันละ 2-3 ครั้ง และสำหรับผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงกว่าปกติก็ให้รับประทานติดต่อกันสัก 3-7 วัน และถ้าต้องการเพิ่มรสชาติหรือดับรสขื่นหรือเฝื่อน ก็ให้เติมน้ำตาลทรายขาวเข้าไป 2-3 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ถ้วยแก้ว (ดอก, กลีบที่เหลือจากผล, น้ำมันจากเมล็ด)
- ดอกคำฝอย ลดความอ้วน ! ด้วยการใช้ดอกประมาณ 5 กรัมนำมาชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (ดอก)
- ช่วยบำรุงประสาทและระงับประสาท (ดอก, กลีบที่เหลือจากผล)
- ช่วยรักษาโรคฮิสทีเรีย (Hysteria) หรือโรควิตกกังวลอย่างหนึ่ง หรือโรคขาดความอบอุ่น (ดอก)
- ช่วยขยายหลอดเลือด ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในร่างกายให้ดียิ่งขึ้น ทำให้มีออกซิเจนเข้าถึงเซลล์ต่าง ๆ ได้ดี (ดอก)
- ช่วยบำรุงโลหิต แก้โลหิตเป็นพิษ และช่วยฟอกโลหิต (ดอก, เกสร, กลีบที่เหลือจากผล)
- ช่วยสลายลิ่มเลือด จะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่ชอบกินของหวาน เพราะจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เลือดเหนียวข้นจับตัวกันเป็นลิ่มเลือด ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ไม่ดี โดยดอกคำฝอยจะช่วยสลายลิ่มเลือดให้เล็กลง ช่วยป้องกันไม่ให้เลือดเกาะตัวกันเป็นลิ่มเลือด (ดอก)
- ช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยทำให้มีเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจมากยิ่งขึ้น ทำให้หัวใจแข็งแรง (ดอก, กลีบที่เหลือจากผล)
- ช่วยแก้โรคลมเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก (เมล็ด)
- ช่วยรักษาอาการปวดหัวใจอันเนื่องมาจากเลือดและซี่ตับ หรือเลือดลมเดินไม่สะดวก (ส่วนมากจะใช้ร่วมกับสมุนไพรตังเซิน ชวนเจียง อู่หลินจือ)
- ช่วยขับเหงื่อ (ดอก)
- ช่วยรักษาอาการไข้หลังคลอดของสตรี (ดอก)
- ดอกช่วยแก้ไข้ในเด็ก (ดอก)
- ช่วยแก้หวัดน้ำมูกไหล (ดอก)
- เมล็ดใช้เป็นยาขับเสมหะ (เมล็ด)
- เมล็ดหรือดอกใช้เป็นยาถ่าย เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ดอก, เมล็ด)
- ช่วยรักษาท้องเป็นเถาดัน (ดอก)
- เมล็ดใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (เมล็ด)
- ช่วยบำรุงโลหิตประจำเดือนของสตรี ช่วยขับระดูโลหิตประจำเดือนของสตรี ช่วยกระจายเลือดแก้ประจำเดือนคั่งค้างมาไม่เป็นปกติ (ดอก, เกสร, เมล็ด, กลีบที่เหลือจากผล)
- ช่วยระงับอาการปวดประจำเดือนของสตรี (ดอก)
- ช่วยแก้อาการปวดมดลูกและลดอาการอักเสบของมดลูกในสตรี (เมล็ด)
- แก้อาการตกเลือด อาการปวดท้องหลังคลอด น้ำคาวปลาไม่หมด (ดอก)
- ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย บำรุงน้ำเหลืองให้เป็นปกติ (ดอก, เกสร, กลีบที่เหลือจากผล)
- ดอกและกลีบที่เหลือจากผลช่วยแก้ดีพิการ (ดอก, กลีบที่เหลือจากผล)
- ดอกช่วยแก้ดีซ่าน (ดอก)
- น้ำมันจากเมล็ดใช้ทารักษาโรคผิวหนังได้ (ดอก, เมล็ด, กลีบที่เหลือจากผล)
- ช่วยแก้ฝี (น้ำมันจากเมล็ด)
- ช่วยรักษาตาปลา ด้วยการใช้ดอกคำฝอยสดและตี้กู่ฝีในปริมาณที่เท่ากัน นำมาตำผสมรวมกัน แล้วใช้ปิดบริเวณที่เป็นตาปลา โดยเปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง ไม่เกิน 5 วันก็จะดีขึ้น (ดอก)
- ช่วยแก้อาการแสบร้อนตามผิวหนัง (ดอก, เกสร, กลีบที่เหลือจากผล)
- น้ำมันจากเมล็ดใช้ทาแก้อาการปวดบวม ฟกช้ำดำเขียว รักษาโรคไขข้ออักเสบได้ หรือจะใช้ดอกนำมาต้มกับน้ำแช่เหล้า หรือใช้วิธีตำแล้วพอกก็ได้ (เมล็ด, ดอก)
- ช่วยป้องกันแผลกดทับ ด้วยการใช้ดอกคำฝอยประมาณ 3 กรัมนำมาแช่กับน้ำพอประมาณจนน้ำเป็นสีแดง แล้วนำมาถูกบริเวณที่กดทับ โดยถูครั้งละ 10-15 นาที หากทำอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยป้องกันแผลกดทับได้ถึง 100% โดยไม่มีผลข้างเคียง (ดอก)
- ช่วยรักษาแผลกดทับ ด้วยการนำดอกคำฝอย 500 กรัม มาต้มในน้ำ 7 ลิตรด้วยไฟปานกลางประมาณ 2 ชั่วโมง จนดอกคำฝอยเปลี่ยนเป็นสีขาว แล้วตักเอากากออกเหลือไว้แต่น้ำ เคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ ต่อไปจนน้ำเหนียวเป็นกาว หลังจากนั้นให้ทายาลงบนผ้าสะอาดที่ฆ่าเชื้อแล้ว แล้วเอาไปปิดบริเวณที่เป็นแผลกดทับ เปลี่ยนยาวันละ 1-2 ครั้ง โดยทำติดต่อกันประมาณ 1 อาทิตย์ แผลจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเอง (ดอก)
- ดอกช่วยบำรุงคนเป็นอัมพาต (ดอก)
- น้ำมันจากเมล็ดใช้ทาเป็นยาแก้อัมพาตและอาการขัดตามข้อต่าง ๆ ได้ (น้ำมันจากเมล็ด)
- เมล็ดใช้ตำแล้วนำมาพอกบริเวณหัวหน่าว ช่วยแก้อาการปวดมดลูกหลังการคลอดบุตรได้ (เมล็ด)
- ดอกใช้ต้มน้ำอาบเวลาออกหัด (ดอก)
- ดอกคำฝอยมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย (ดอก, น้ำมันจากเมล็ด)
- ในปากีสถานและอินเดีย ทุกส่วนของต้นคำฝอยนำมาขายเป็นสมุนไพรคําฝอยที่เรียกว่า “Pansari” ซึ่งมีสรรพคุณใช้รักษาโรคหลาย ๆ อย่าง และใช้เป็นยากระตุ้นทางเพศ (Aphrodisiac) (ข้อมูลจากเว็บ beautyherbshop.com)
- ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของคำฝอย ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยขยายหลอดเลือด ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด ลดอาการอักเสบ แก้แพ้ ช่วยต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งฟันผุ
คำแนะนำในการใช้สมุนไพรดอกคำฝอย
- แม้ว่าคำฝอยจะมีสรรพคุณที่หลากหลาย แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบเลือดได้หากไม่รู้จักใช้ให้ถูกวิธี ซึ่งแพทย์แผนจีนมักจะใช้ดอกคำฝอยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นอยู่เสมอ จะไม่ใช้เป็นยาเดี่ยว ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรใช้ในระยะยาว
- โทษของดอกคำฝอย การรับประทานอย่างต่อเนื่องหรือในปริมาณที่มากเกินไป อาจจะส่งผลทำให้โลหิตจางได้ มีผลทำให้มีเลือดน้อยลง มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือกลายเป็นคนขี้โรคโดยไม่รู้ตัว
- การรับประทานในปริมาณมากจนเกินไปอาจจะทำให้มีประจำเดือนมากกว่าปกติ และอาจทำให้มีอาการมึนงง หรือมีผดผื่นคันขึ้นตามตัวได้
- สำหรับสตรีมีครรภ์ไม่ควรบริโภคสมุนไพรดอกคำฝอย เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์เป็นยาบำรุงเลือดและช่วยขับประจำเดือน หากรับประทานหรือรับประทานในปริมาณมาก ๆ ก็อาจจะทำให้แท้งบุตรได้
- ควรระมัดระวังเมื่อใช้ดอกคำฝอยร่วมกับยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด (Anticoagulant)
งานวิจัยดอกคำฝอย
- ค.ศ. 1976 ประเทศอเมริกา ได้ทำการทดลองในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง (ชาย 122 คนและหญิง 19 คน) ด้วยการให้รับประทานน้ำมันดอกจากดอกคำฝอยทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ (วันละ 57 กรัม) ผลการทดลองพบว่า น้ำมันจากดอกคำฝอย สามารถช่วยลดระดับความดันโลหิตและระดับไขมันหรือคอเลสเตอรอลได้ และยังมีผลการสร้าง Prostaglandin ที่เป็นผลให้ High Density Lipoprotein เพิ่มขึ้น
- ค.ศ. 1989 ประเทศอังกฤษ ได้ทำการทดลองน้ำมันดอกคำฝอยในผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูงชนิด Mild hypertension โดยให้รับประทานน้ำมันจากดอกฝอยทุกวันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ (วันละ 5.9 กรัม) ผลการทดลองพบว่า ค่าความดัน Systolic ลดลงมา 6.5 mm.Hg และค่าความดัน Diastolic ลดลงมา 4.4 mm. จึงสรุปได้ว่าน้ำมันดอกคำฝอยมีผลในการช่วยลดความดันโลหิตได้จริง
- มีการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากดอกย่อยคำฝอยด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูทดลองกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 2,500 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดที่ใช้รักษาในคน และให้โดยการฉีดเข้าในผิวหนังของหนูในขนาดเท่ากัน ได้ข้อสรุปว่า ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษแต่อย่างใด
- การวิเคราะห์ทางคลินิกพบว่าสารสกัดจากดอกคำฝอยมีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง มีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกและฮอร์โมนเพศหญิง ช่วยทำให้มดลูกและกล้ามเนื้อเรียบหดตัวได้ แต่ถ้าหากใช้ในปริมาณมากเกินไปอาจจะทำให้มดลูกเป็นตะคริวได้ (ข้อมูลจาก เว็บไซต์โหระพา)
- มีการให้อาหารปกติผสมกับน้ำมันดอกคำฝอย 4% ในหนูทดลองที่มีคอเลสเตอรอลสูง ติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน พบว่าหนูทดลองมีระดับคอเลสเตอรอลลดลงถึง 36% แต่ถ้าหากให้อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงผสมกับน้ำมันดอกคำฝอย 4% กลับพบว่าหนูทดลองมีระดับคอเลสเตอรอลที่สูงขึ้น (ข้อมูลจาก เว็บไซต์โหระพา)
- มีรายงานว่าน้ำมันจากเมล็ดดอกคำฝอยสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้เป็นอย่างดี แต่กลับไปสะสมระดับคอเลสเตอรอลในตับเสียเอง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการตับแข็งได้ (ข้อมูลจาก เว็บไซต์โหระพา)
ประโยชน์ของคำฝอย
- ประโยชน์ของดอกคำฝอย ดอกคำฝอยแก่เมื่อนำมาชงกับน้ำร้อนแล้วกรอง จะได้น้ำสีเหลืองส้มที่มาจากสาร Safflower yellow สามารถนำมาใช้ในการแต่งสีอาหารที่ต้องการ เครื่องปรุงอาหาร เนยเทียม หรือเครื่องดื่มต่าง ๆ หรือใช้ย้อมผ้าไหมและฝ้าย (แต่สีจะไม่คงทนเท่าไหร่และซีดง่าย) ทำสีย้อมผ้าให้เป็นสีเหลืองได้ แต่งสีเครื่องสำอาง และสามารถใช้แต่งสีข้าวได้อีกด้วย โดยใช้ดอกคำฝอยนำมาต้มกับข้าวโดยใช้อัตราส่วนข้าว 1 ถ้วยตวงต่อกลีบดอก 2 ช้อนโต๊ะ และน้ำซุป 2 ถ้วยครึ่ง โดยต้มข้าวให้เดือดก่อน แล้วค่อยใส่กลีบดอกซึ่งอยู่ในถุงผ้า ต้มต่อจนน้ำหมดไป ใช้เวลาประมาณ 20 นาที จะได้ข้าวที่มีสีเหลือง
- น้ำมันจากเมล็ดที่สกัดโดยผ่านความร้อน สามารถใช้ผสมสีทาบ้าน ทำสบู่ น้ำมันชักเงา น้ำยาเคลือบผิว เคลือบหนังไม่ให้เปียกน้ำได้
- ประโยชน์น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันดอกคำฝอยมีคุณสมบัติที่ทนความร้อนได้สูง จึงได้มีการนำน้ำมันดอกคำฝอยมาใช้ในการทอดอาหารและใช้ประกอบอาหารต่าง ๆ ได้
- กากเมล็ดจากดอกคำฝอยที่เหลือจากการบีบน้ำมัน สามารถนำมาใช้เลี้ยงสัตว์และทำเป็นปุ๋ยได้
- น้ำมันดอกคำฝอยชนิดที่บีบสกัดโดยไม่ผ่านความร้อนเหมาะอย่างยิ่งสำหรับใช้ปรุงอาหาร
- ต้นคําฝอย สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เช่น ดอกคําฝอยแห้ง ยาแคปซูลดอกคำฝอย ชาดอกคำฝอย น้ำดอกคำฝอย น้ํามันดอกคําฝอย เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, รายการสาระความรู้ทางการเกษตร (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่), สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร, เว็บไซต์โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เว็บไซต์คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, หนังสือร่วมอนุรักษ์มรดกไทย สารานุกรมสมุนไพรไทย รวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), หนังสือสมุนไพรลดความดันโลหิตสูง และหนังสือลดไขมันในเลือด (จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก)
ภาพประกอบ : www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), เว็บไซต์ illinoiswildflowers.info, hiltonpond.org, agricomimpex.com, namayasai.co.uk, today.ttu.edu เว็บไซต์ flickr.com (by William Moore Farms, francescopinto56, julia_HalleFotoFan)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)