ซองแมว
ซองแมว ชื่อวิทยาศาสตร์ Gmelina elliptica Sm. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gmelina asiatica var. villosa (Roxb.) Bakh., Gmelina villosa Roxb.)[1] จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
สมุนไพรซองแมว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ซ้องแมวใหญ่ ซ้องแมวน้ำ (ทั่วไป), ซ้อแมว (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ซองแมว ซ้องแมว ซ้องแมวควาย (ภาคกลาง), จิงจาย จิ้งจาย ยองขนุน (ภาคใต้), หนุน (เกาะสมัย), จิงจ้อ (ปัตตานี), ยวงขนุน (สุราษฎ์ธานี), ปะงางอ (มลายู-ปัตตานี) เป็นต้น[1]
ลักษณะของซองแมว
- ต้นซองแมว จัดเป็นพรรณไม้เลื้อยยืนต้น ที่มีลำเถาเลื้อยแผ่ไปพาดพิงกับต้นไม้อื่นได้ไกล แต่ถ้าไม่มีที่พาดพิงก็จะขึ้นเป็นพุ่ม มีความสูงได้ประมาณ 5.5-9 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำกิ่ง เป็นไม้กลางแจ้งที่มักขึ้นอยู่ตามบริเวณป่าราบทั่วไป[1]
- ใบซองแมว ใบมีขนาดเล็กเท่ากับใบพุทรา ลักษณะของกลางใบแหลมแยกออกข้างเป็น 2 แฉก แผ่นใบเป็นสีเขียวสด พื้นผิวใบเรียบ[1]
- ดอกซองแมว ออกดอกเป็นช่อยาว ดอกเป็นสีเหลืองเข้ม ลักษณะของปากดอกจะบานคล้ายกับกระบอกเขาควาย[1]
- ผลซองแมว ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปไข่กลับ ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม
สรรพคุณของซองแมว
- รากมีรสขมเย็น ใช้เป็นยาแก้กระษัย (ราก)[1]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการร้อนใน (ราก)[1]
- ใบสดนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกสุมลงบนศีรษะ เป็นยาแก้ปวดศีรษะ (ใบ)[1]
- ใช้เป็นยารักษาตา (ราก)[1]
- ใบและรากนำมาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำมาใช้หยอดหู แก้เจ็บหรือปวดหู (ใบและราก)[1]
- ใบนำมาต้มเอาน้ำอมหรือใช้บ้วนปาก แก้อาการปวดฟัน แก้เหงือกบวม (ใบ)[1]
- ใบใช้รับประทานเป็นยาถ่ายพยาธิ (ใบ)[1]
- รากใช้เป็นยาแก้พิษฝีภายใน (ราก)[1]
- ใบและรากนำมาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำช่วยรักษาบาดแผล (ใบและราก)[1]
- รากใช้เป็นยาดับพิษทุกชนิด (ราก)[1]
- ใบใช้รับประทานเป็นยาแก้บวม (ใบ)[1]
ประโยชน์ของซองแมว
- ใบสดนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกศีรษะกันผมร่วง[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ซองแมว”. หน้า 279-280.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Arun KumarN)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)