ชุมเห็ดไทย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นชุมเห็ดไทย 42 ข้อ !

ชุมเห็ดไทย

ชุมเห็ดไทย ชื่อสามัญ Foetid cassia, Sickle senna[1],[2],[4],[6],[7]

ชุมเห็ดไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna tora (L.) Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia tora L.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1],[2],[4],[6],[7]

สมุนไพรชุมเห็ดไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พรมดาน[1] พราดาน[4] (สุโขทัย), หญ้าลึกลืน[1] หญ้าลักลืน[4] (ปราจีนบุรี), เล็นเค็ด (มหาสารคาม), เล็บหมื่นน้อย ลับมืนน้อย[1] เล็บมื่นน้อย[4] (ภาคเหนือ), ชุมเห็ดควาย ชุมเห็ดเขาควาย ชุมเห็ดนา ชุมเห็ดเล็ก เล็บมื่นน้อย เล็บมื้น (ภาคกลาง), กิเกีย หน่อปะหน่าเหน่อ[1] หน่อปะหน่ำเหน่อ[4](กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ก๊วกเม้ง เอียฮวยแซ (จีน), เจี๋ยหมิงจื่อ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[4]

ลักษณะของชุมเห็ดไทย

  • ต้นชุมเห็ดไทย จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุราว 1 ปี ต้นมีความสูงประมาณ 0.3-1.3 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 12.3-17.4 มิลลิเมตร ลำต้นเป็นสีเขียวอมสีน้ำตาลแดง ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก เป็นทรงพุ่ม ตามลำต้นและกิ่งก้านมีขนอ่อนปกคลุมอยู่เต็มไปหมด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยมักพบขึ้นเองตามริมคลอง ตามที่รกร้าง หรือตามริมทางทั่วไป[1],[3],[4],[6]

ต้นชุมเห็ดไทย

รูปต้นชุมเห็ดไทย

  • ใบชุมเห็ดไทย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 คู่ ตรงกลางใบย่อยที่ติดเชื่อมกันนั้นจะพบว่ามีตุ่มตารองน้ำ 1 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนและมีติ่งหนาม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบมีรอยหยักแบบขนครุย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.19-2.69 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4.27-5.17 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเรียบเนียนไม่มีขน ท้องใบมีขนละเอียดอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่หนาแน่น ใบมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย ก้านใบมีร่องลึก ก้านใบยาวประมาณ 2.71-3.99 เซนติเมตร ไม่มีขน มีหูใบแบบเข็มแหลมสีเขียว 2 อัน ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[1],[3],[4],[6]

ฝักชุมเห็ดไทย

ใบชุมเห็ดไทย

  • ดอกชุมเห็ดไทย ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 2.71-4.03 เซนติเมตร ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 2-4 ดอก ดอกเป็นสีเหลืองสด มีกลีบดอก 5 ดอก และมีกลีบเลี้ยงสีเขียวอีก 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน และมีรังไข่เป็นเส้นยาวงอโค้งเล็กน้อยและมีขนปกคลุม ส่วนปลายเกสรเพศเมียจะเป็นตุ่มสั้น ๆ ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีขนปกคลุม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน[1],[3],[4],[6]

ดอกชุมเห็ดไทย

รูปดอกชุมเห็ดไทย

  • ผลชุมเห็ดไทย ออกผลเป็นฝักยาวโค้งเล็กน้อย ฝักจะแบนทั้งสองด้าน ฝักมีความยาวประมาณ 15-24 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และปกคลุมไปด้วยขนอ่อนนุ่มสั้น ๆ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 20-30 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเหลือง สีน้ำตาล หรือสีเขียวอมเทา ผิวเมล็ดเรียบ เงาเป็นมัน เมล็ดมีลักษณะแข็งและแบน หน้าตัดเฉียงเป็นรูปสีเหลี่ยมขนมเปียกปูน มองเห็นเหมือนเป็นจะงอยอีกด้านหนึ่งของเมล็ด เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-6 มิลลิเมตร เมล็ดมีรสชาติขมเมา มีกลิ่นเฉพาะตัว หอมเล็กน้อย[1],[3],[4],[5]

ผลชุมเห็ดไทย

เมล็ดชุมเห็ดไทย

เมล็ดชุมเห็ดไทย

สรรพคุณของชุมเห็ดไทย

  1. เมล็ดมีรสขมหวานชุ่ม เป็นยาเย็น โดยออกฤทธิ์ต่อตับและไต ช่วยทำให้เลือดเย็น (เมล็ด)[3]
  2. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (เมล็ด)[9]
  3. เมล็ดนำมาคั่วชงกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงประสาท (เมล็ด)[1],[5] ส่วนใบหรือรากก็เป็นยาบำรุงประสาทเช่นกัน (ใบ, ราก)[12]
  4. เมล็ดใช้เป็นยาระงับประสาท (เมล็ด)[5],[12]
  5. ช่วยทำให้นอนหลับสบาย ทำให้ง่วงนอน แก้อาการนอนไม่หลับ ด้วยการใช้เมล็ดชุมเห็ดไทยนำมาคั่วให้เกรียมคล้ายเมล็ดกาแฟ แล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ชงกับน้ำร้อนดื่ม จะให้รสหอมชุ่มชื่นใจดี ไม่ทำให้หัวใจสั่น (เมล็ด)[1],[2],[5],[6],[9],[12] ส่วนใบก็แก้อาการนอนไม่หลับได้เช่นกัน (ใบ)[12]
  1. ช่วยบำรุงกำลัง (ใช้เมล็ดคั่วชงกับน้ำดื่ม)[1],[4],[5]
  2. เมล็ดคั่วชงกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น (เมล็ด)[5],[12] ส่วนผลหรือฝักชุมเห็ดไทยก็มีสรรพคุณบำรุงหัวใจเช่นกัน (ผล)[12]
  3. ช่วยแก้กระษัย (ใช้เมล็ดคั่วชงกับน้ำดื่ม)[1],[5],[6]
  4. เมล็ดใช้เป็นยาแก้เด็กเป็นตานขโมย ด้วยการใช้เมล็ดแห้ง 10 กรัม ตับไก่ 1 คู่ นำมาบดผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อย แล้วปั้นเป็นก้อนนำมานึ่งให้สุกและใช้รับประทาน (เมล็ด)[9]
  5. เมล็ดใช้คั่วกับน้ำดื่มเป็นยาลดความดันชั่วคราว (เมล็ด)[1],[5] โดยใช้เมล็ดแห้ง 15 กรัม (บ้างว่าใช้ 30 กรัม) นำมาคั่วให้เกรียมบดเป็นผง ใช้ชงกับน้ำดื่มแทนน้ำชาจะช่วยลดความดันโลหิตได้ (เมล็ด)[3],[4] ส่วนใบก็ช่วยลดความดันโลหิตได้เช่นกัน (ใบ)[12]
  6. ช่วยรักษาอาการตาบวมแดง ตาฝ้ามัว ตาฟาง (เมล็ด)[1],[4],[5] หากตาฝ้ามัว (ที่ไม่ได้เกิดจากโรคติดเชื้ออื่นใด) ให้ใช้เมล็ด 2 ถ้วยชานำมาบดเป็นผงรับประทานกับข้าวต้มเป็นประจำ และห้ามรับประทานร่วมกับปลา เนื้อหมู ต้นหอม และซิงไฉ่ (Rorippa Montana (Wall.) Small.)[9] หากตาฟาง ให้ใช้เมล็ดแห้ง 60 กรัมและเมล็ดโคเชีย (Kochia scoparia (L.) Schrad.) แห้ง 30 กรัม นำมาบดเป็นผงรับประทานหลังอาหารครั้งละ 3 กรัม[9] หากเยื่อตาอักเสบแบบเฉียบพลัน ก็ให้ใช้เมล็ดชุมเห็ดไทยแห้งและเก๊กฮวยอย่างละ 10 กรัม, บักชัก (Equisetum hiemale L.) 6 กรัม และมั่งเก๊กจี้ (Vitex rotundifolia L.) 6 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (เมล็ด)[9]
  7. ทั้งต้นช่วยทำให้ตาสว่าง (ทั้งต้น)[1],[4],[5] ส่วนอีกตำราระบุว่าใช้เมล็ดชุมเห็ดไทยนำมาคั่วให้เกรียม ผสมกับคนทีสออย่างละเท่ากัน นำมาบดเป็นผง ใช้ครั้งละประมาณ 5-6 กรัม นำมาชงกับน้ำรับประทาน 2 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน (เมล็ด)[3],[4] หรือจะใช้เมล็ดแห้ง 1 ถ้วยชา มั่งเก๊กจี้ (Vitex rotundifolia L.) แห้ง 1 ถ้วยชา และเหล้าอย่างดีอีก 1 ถ้วยชา นำมาต้มจนเหล้าแห้งแล้วบดให้เป็นผง ใช้ดื่มกับน้ำอุ่นหลังอาหารและก่อนนอนครั้งละ 6 กรัม วันละ 4 ครั้ง (เมล็ด)[9]
  8. ทั้งต้นและใบใช้ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ (ทั้งต้นและใบ)[4]
  9. ใบใช้เป็นยารักษาโรคไข้มาลาเรีย (ใบ)[4],[9]
  10. ทั้งต้นมีรสเมา ใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้ ไข้หวัด (ทั้งต้น[1],[5],[6],[9], ต้นและราก[2], ใบ[12], ราก[12], เมล็ด[12]), หากเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ให้ใช้ทั้งต้นหรือใบแห้งประมาณ 15-30 กรัม หากใช้สดให้เพิ่มอีก 1 เท่าตัว ใช้ผสมกับชะเอมต้มน้ำดื่ม (ใบ, ทั้งต้น)[9],[12] ส่วนตำรายาไทยจะใช้เมล็ดหรือราก โดยมักใช้คู่กับหญ้าขัด ในกรณีที่เป็นไข้ มีอาการปวดศีรษะและสันนิบาต (เมล็ด, ราก)[8],[12]
  11. ช่วยแก้อาการไอ (เมล็ด[5], ทั้งต้น[6],[9], ใบ[12])
  12. ช่วยแก้เสมหะ (ทั้งต้น[6], ราก[12], ใบ[12])
  13. ช่วยแก้หืด (ต้น[12], เมล็ด[12] , ราก[12] , ทั้งต้น[6])
  14. ช่วยขับน้ำชื้นและขับลมชื้น (เมล็ด)[3]
  15. ทั้งต้นและใบใช้ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหารเช้าเป็นยาระบายอ่อน ๆ หรือยาถ่าย (หรือจะเติมผลกระวาน 2 ผลและเกลือเล็กน้อย เพื่อช่วยกลบรสเหม็นเขียว) หากใช้ใบอย่างเดียวให้ใช้ในขนาด 60 กรัม (ทั้งต้นและใบ[4],[6],[8],[9], ใบ[1],[6],[9],[12]) หรือจะใช้เมล็ดคั่วประมาณ 10-13 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระบายก็ได้เช่นกัน (เมล็ด)[2],[5],[6] ส่วนต้นหรือรากก็มีสรรพคุณเป็นยาระบายเช่นกัน (ต้น, ราก)[12]
  16. ช่วยแก้อาการท้องผูก ท้องผูกเรื้อรัง ด้วยการใช้เมล็ดแก่แห้งที่คั่วจนเหลืองแล้วประมาณ 10-13 กรัม (ต่อวัน) นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือนำมาคั่วให้เกรียมบดเป็นผง ใช้ชงกับน้ำดื่มต่างน้ำชา (เมล็ด)[3],[4],[5],[12]
  17. ช่วยแก้อาการท้องบวมน้ำ (เมล็ด)[3]
  18. ทั้งต้นนำมาต้มใช้เป็นยาขับพยาธิในท้อง ขับพยาธิไส้เดือน (ทั้งต้น)[1],[5],[6],[8],[9] ส่วนใบใช้เป็นยาขับพยาธิสำหรับเด็กที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้ (ใบ)[4],[9] ส่วนเมล็ดหรือรากก็เป็นยาขับพยาธิเช่นกัน (เมล็ด, ราก)[12]
  19. เมล็ดเป็นยาขับปัสสาวะ ขับปัสสาวะพิการ และขับอุจจาระ ด้วยการเมล็ดใช้คั่วแห้งประมาณ 5-15 กรัม นำมาชงกับน้ำดื่ม หรือนำมาต้มกับน้ำ 1 ลิตร แล้วต้มให้เหลือ 600 มิลลิลิตร ใช้แบ่งรับประทานหลังอาหารวันละ 3 เวลา (เมล็ด)[1],[2],[3],[4],[5],[6],[9],[12] ส่วนใบก็เป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (ใบ)[12]
  20. ช่วยทำให้รู้ถ่าย รู้ปิดเอง (เมล็ด)[1],[5]
  21. เมล็ดใช้คั่วชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ตับอักเสบ ตับแข็ง ใช้เป็นยาขับความร้อนในตับ ขับลมในตับ (เมล็ด)[1],[3],[4],[5]
  22. ช่วยบำรุงตับ ด้วยการใช้เมล็ดนำมาคั่วให้เกรียมผสมกับคนทีสออย่างละเท่ากัน แล้วนำมาบดเป็นผงใช้ครั้งละ 5-6 กรัม ชงกับน้ำดื่มวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน (เมล็ด)[3]
  23. ช่วยกล่อมตับ (ทั้งต้น[1],[4],[5], เมล็ด[4])
  24. ใบช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (ใบ)[4],[9]
  25. ใบนำมาเคี่ยวกับน้ำมันละหุ่ง ใช้เป็นยาทาแก้แผลเรื้อรัง (ใบ)[9]
  26. เมล็ดใช้รักษาโรคผิวหนัง หรือนำมาบดผสมกับน้ำมันพืชใช้ทาแก้หิดและกลากเกลื้อน หรือจะนำเมล็ดมาตำร่วมกับนมเปรี้ยว ส่วนที่แข็งตัวให้ละเอียด ใช้พอกบริเวณที่เป็นกลากและผื่นคัน (เมล็ด)[1],[5],[6],[9] หรือจะใช้เมล็ดพอสมควรนำมาบดเป็นผงใช้ผสมกับจุยงิ่งฮุ่ง (Mercrous chloride, HgCI) จำนวนเล็กน้อย นำมาบดผสมให้เข้ากันแล้วใช้สำลีหรือผ้าเช็ดถูบริเวณที่เป็นกลากให้สะอาดแล้วโรยยาปิดไว้จะช่วยรักษากลากได้ (เมล็ด)[9] ส่วนรากใช้เป็นยาพอกรักษากลาก โดยนำรากมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำปูนใส แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นกลาก (ราก)[4],[9] หรือจะใช้ใบย่อยสด ๆ ประมาณ 10-20 ใบ นำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรงเล็กน้อย ใช้เป็นยาทาแก้กลากเกลื้อน หิด ผื่นคันต่าง ๆ (ใบ)[9],[12], ส่วนต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคผิวหนังเช่นกัน (ต้น)[12]
  27. ใบสดใช้ตำพอกเพื่อเร่งให้หัวฝีออกเร็วขึ้น (ใบ)[9]
  28. ในประเทศอินเดียจะใช้เมล็ดและใบเป็นยาฆ่าหิดเหาและเชื้อรา (เมล็ดและใบ)[8]
  29. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาคุดทะราด (ทั้งต้น)[6]
  30. รากสด ๆ นำมาบดผสมกับน้ำมะนาวใช้รักษางูสวัดและเรื้อนกวาง (ราก)[8]
  31. ผลหรือฝักช่วยแก้อาการฟกช้ำบวม (ผล)[6],[12]
  32. ใบสดใช้เป็นยาพอกแก้โรคเกาต์ อาการปวดข้อ ปวดขา ปวดสะโพก (ใบ)[9]

วิธีใช้สมุนไพรชุมเห็ดไทย

  • สำหรับการเลือกส่วนของเมล็ดนำมาใช้เป็นยา ให้เลือกฝักที่แก่จัดในฤดูร้อน ตัดมาทั้งต้นหรือตัดเอาเฉพาะฝักมาตากแดดให้แห้ง แล้วฟาดเมล็ดให้หลุดร่วงออกและร่อนเอาสิ่งเจือปนและเปลือกออก แล้วนำเมล็ดไปตากให้แห้งอีกครั้ง ก่อนนำมาใช้ให้นำมาคั่วจนเริ่มพองตัวและมีกลิ่นหอม โดยเมล็ดที่ได้จะมีรสขมเล็กน้อย ลื่นเป็นเมือก และเมล็ดที่ดีควรมีลักษณะอวบแน่นเป็นสีเหลืองออกสีน้ำตาล ส่วนใบหรือทั้งต้นนั้นให้ใช้แบบสด ๆ หรือนำมาตากแห้งเก็บไว้ใช้[9]
  • วิธีใช้หากเป็นเมล็ดชุมเห็ดไทยแห้ง ให้ใช้ประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือชงกับน้ำร้อนดื่ม หรือนำมาบดเป็นผงรับประทาน หากใช้ภายนอกก็ให้นำมาบดเป็นผงแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น ส่วนใบหรือทั้งต้น ถ้าเป็นแห้งให้ใช้ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หากเป็นสดให้ใช้ในปริมาณเท่าตัว หากนำมาใช้ภายนอกให้นำมาตำแล้วพอก[9]
  • ในส่วนของตำรับยา หากเป็นยาต้มให้ใช้เมล็ดแห้ง 30 กรัมนำมาต้มกับน้ำแบ่งเป็น 2 ครั้งต่อวัน หากทำเป็นยาน้ำเชื่อม ให้ใช้เมล็ดแห้งนำมาบดเป็นผงหนัก 45 กรัม ผสมกับน้ำเชื่อมให้ได้ปริมาณ 100 มิลลิลิตร ใช้ดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 20 มิลลิเมตร หากทำเป็นยาเม็ด ในแต่ละเม็ดให้มีเมล็ดแห้งบดเป็นผงหนัก 2 กรัม ใช้รับประทานครั้งละ 5 เม็ด วันละ 3 ครั้ง โดยยาทั้ง 3 รูปแบบนี้ จะให้ผลการรักษาที่ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ปริมาณของเมล็ดที่ใช้ต่างหากที่มีผลต่อการรักษา เพราะหากใช้ในปริมาณน้อย เช่น การนำมาต้มรับประทานวันละ 15 กรัมทุกวันก็จะไม่เห็นผลในการรักษา[9]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของชุมเห็ดไทย

  • ทั้งต้นมีสาร -glucose, Myricyl alcohol, -mannitol, -sitosterol, tannins และมีเถ้าทั้งหมดประมาณ 10.5%[4
  • รากชุมเห็ดไทยพบว่ามีสาร leucopelargonidin-3-O-α-l-rhamonpyranoside 1,3,5-trihydroxy-6,7- dimethoxy-2-methyanthrauinone, -sitosterol และ myricyl alcohol[4]
  • ใบชุมเห็ดไทยพบว่ามีสาร Sennosides รวมทั้งหมด 0.14%, chrysophanic acid, emodin, kaenpferol-3-diglucoside, rhein caboxylic derivatives 0.11%, 1, 68, -trihydroxy-3 methyl anthraquinone[4],[6
  • ดอกชุมเห็ดไทยพบว่ามีสาร Kaempferol glycoside[4]
  • ในเมล็ดชุมเห็ดไทยพบว่ามีสารในกลุ่ม anthraquinone glycoside เช่น alaternin, aloe-emodin, aloe-emodin monoglucoside, aurantio-obtusin, cassiaside, chrysophanol, chrysophanol anthrone, chruysophanol anthrone, chryso-obrusin, chryso-obtusin 1-desmethylchryso-obtusin, chrysophanic acid-9-anthrone, emodin, emodin anthronophanol-l-l-β-gentionbioside aurantio-obtusinnorrubrofusarin glucoaerantion-obrusin, emodin chrysarobin, emodin glycoside chrysophanic acid-9-anthrone chryhydroxyanthracene derivatives, gluco-obtusifolin, obtusin 1-desmethylaurantio-obtusin, obtusin rubrofusarin, nor-Rubaofurasin, physcion diglucoside, physicone, toralactone, toralactone β-sitosterol, torachryson, torachrysone, rhein, rubrofusarin-gentiobioside, rubrofusarin-6-β-gentiobioside, วิตามินเอ, โปรตีน, ไขมัน และน้ำมัน[3],[4],[5],[6] ส่วนน้ำมันจากเมล็ดพบ linoleic acid, oleic acid, palmitic acid, stearic acid[6]
  • ฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อนั้น พบว่าสารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อจำพวก Bacillus, Diphtheria, Escherichin coli, Stdaphylococcus เชื้อไทฟอยด์และพวกพาราไทฟอยด์[4],[9]
  • สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากทั้งต้นมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส Vaccinia virus และ Ranikhet disease virus[4],[9]
  • ในเมล็ดมีกรดครัยโซเฟนิค (chrysophanic acid 9 inthrone) ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง โดยทดลองกับเชื้อรา Trichophyton rubrum,Trichophyton mentagrophytes, Microsporum canis, Microsporum gypsum และเชื้อ Geotrichum candidum[9]
  • สารสกัดที่ได้จากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อจำพวกเชื้อไทฟอยด์ คอตีบ เชื้อ Columbacillus ในลำไส้ใหญ่ และเชื้อราตามผิวหนัง[3]
  • สารสกัดหยาบจากใบชุมเห็ดไทยด้วยเมทานอล เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์การต้านเชื้อ 3 ชนิดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคผิวหนัง ได้แก่ Microsporum gypseum, Penicillium marneffei และ Trichophyton rubrum พบว่าความเข้มข้นที่สามารถช่วยยับยั้งการเจริญของเส้นใยราได้ 50% มีค่าเท่ากับ 1.8, 1.8, 1.2 มก./มล. ตามลำดับ และค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการเจริญของเส้นใยราได้ 50% ต่อการงอกของ macrocondia ของเชื้อ Microsporum gypseum มีค่าเท่ากับ 4.1 มก./มล. และจากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากใบทำให้เส้นใยรา และ macrocondia มีลักษณะผิดปกติ เหี่ยวย่น และหดตัว[7]
  • สารสกัดจากใบด้วย 90% เมทานอล ความเข้มข้น 100, 200, 300 มคก./มล. พบว่าสามารถช่วยต้านเชื้อรา T. mentagophytes ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกลากเกลื้อนได้ โดยสารสกัดใบชุมเห็ดไทยที่ความเข้มข้น 300 มคก./มล. จะให้ผลดีที่สุด[7]
  • สารสกัดจากใบและเมล็ดด้วยไดเอทิลอีเทอร์ อะซิโตน เอทิลแอลกอฮอล์ และน้ำ เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis และเชื้อ Escherichia coli ด้วยวิธี filter paper disc method พบว่าสารสกัดจากใบไม่สามารถช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งสองชนิดได้ ในขณะที่สารสกัดจากเมล็ดสามารถช่วยต้านเชื้อ Bacillus subtilis ได้ในระดับปานกลาง แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ Escherichia coli ส่วนสารสกัดน้ำจากใบที่เข้มข้น 200 มก./มล. เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Escherichia Coli ด้วยวิธี agar well diffusion method พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อดังกล่าวได้เล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับยาปฏิชีวนะ gentimicin 200 มก./มล ส่วนสารสกัดน้ำจากเมล็ด เมื่อนำมาทดสอบกับเชื้อ Escherichia Coli ที่เป็นสาเหตุทำให้ลูกหมูท้องเสีย พบว่าสามารถช่วยยับยั้งเชื้อดังกล่าวได้ที่ระดับความเข้มข้นมากกว่า 20.8 มก./มล. ส่วนสาร quinizarin จากเมล็ดที่ความเข้มข้น 1 มก./แผ่น มีฤทธิ์ในการยับยั้งอย่างแรงต่อเชื้อแบคทีเรีย Clostridium perfringens ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียเนื่องจากอาหารเป็นพิษ แต่จะไม่มีผลต่อเชื้อแบคทีเรีย Bifidobacterium adolescentis, Bifidobacterium bifidum, Bifidobacterium longum และ Lactobacillus casei ที่อยู่ในลำไส้ของคน[7]
  • สารสกัดด้วยน้ำจากเมล็ดชุมเห็ดไทย ช่วยเสริมฤทธิ์ของยานอนหลับ และช่วยทำให้สัตว์ทดลองง่วงนอน[5]
  • รายงานทางคลินิกของจีนได้ใช้ลดความดันเลือดและระดับคอเลสเตอรอลในเลือด โดยศึกษาจากคนไข้จำนวน 100 คน พบว่าคนไข้ส่วนใหญ่หลังได้รับยานี้แล้ว 2 อาทิตย์ มีจำนวน 85% ของคนไข้ที่มีความดันเลือดลดลงเป็นปกติ และหลังจากใช้ยานี้ต่อไปอีก 2 อาทิตย์ก็พบว่าจำนวนคนไข้ที่มีความดันเลือดลดลงเป็นปกติเพิ่มขึ้นอีก รวมเป็น 96% และหากใช้ยานี้เป็นประจำ จะช่วยลดความดันเลือดของคนไข้ลงสู่ระดับปกติได้ผลถึง 98% และจากการติดตามผลของคนไข้ที่ใช้ยานี้จำนวน 5 รายที่มีเหตุต้องหยุดยา จะทำให้ระดับ Sterol ในซี่รั่มของถุงน้ำดีค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และเมื่อใช้ยานี้ต่อไป ระดับของ Sterol ในซี่รั่มของถุงน้ำดีจะลดลง จึงสรุปได้ว่ายานี้สามารถช่วยลดระดับ Sterol ในซี่รั่มของถุงน้ำดีได้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ส่วนอาการข้างเคียงที่พบก็คือ คนไข้จำนวน 85% หลังจากใช้ยานี้แล้วจะมีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ และมีอาการอ่อนเพลีย และมีคนไข้จำนวน 9% มีอาการท้องเสีย ท้องอืดแน่น และใจคอไม่ค่อยสบาย แต่เมื่อใช้ต่อไปเรื่อย ๆ อาการต่าง ๆ ก็จะหายไปเอง[4],[9]
  • ฤทธิ์ในการลดความดันเลือด เมล็ดของชุมเห็ดไทยที่สกัดด้วยน้ำหรือแอลกอฮอล์ พบว่าสารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ในการลดความดันเลือดของแมว สุนัข และกระต่ายที่ทำให้สลบได้ ส่วนสารที่สกัดด้วยน้ำนั้นจะมีฤทธิ์ในการลดความดันเลือดของกระต่ายได้ไม่นานหรือได้ไม่เด่นชัดนัก ถ้าใช้ทิงเจอร์จากเมล็ดนี้ 5 มิลลิลิตร จะเห็นผลเด่นชัดและออกฤทธิ์ได้นานกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 5 มิลลิเมตรที่ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ จะทำให้ความดันเลือดลดลงเร็วกว่า แต่มีฤทธิ์สั้น และในเวลาไม่นานนักความดันเลือดก็จะกลับคืนสู่ระดับเดิม นอกจากนี้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดของสัตว์ที่นำมาทดลองหดตัวและกดหัวใจของคางคกที่แยกออกมาจากตัวได้ และถ้าหากใช้เมล็ดชุมเห็ดไทยประมาณ 2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมนำมาต้มกับน้ำดื่มทุกวัน จะไม่มีผลช่วยลดความดันเลือด[4],[5],[9]
  • สารสกัดด้วยเอทานอลจากเมล็ด สามารถช่วยลดระดับ Total cholesterol ได้ 42.07% และช่วยเพิ่มระดับไขมันดี (HDL) ได้ 6.72% ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้ 26.84% และลดระดับไขมันเลว (LDL) ได้ 69.25% (Journal of Ethnopharmacology 90 (2004) 249–252)[5]
  • สารสกัดจากเมล็ดชุมเห็ดไทยด้วยแอลกอฮอล์ สามารถช่วยลดความดันเลือดของสัตว์ทดลองได้ และยังทำให้หัวใจที่อยู่นอกร่างของคางคกมีการยับยั้งการบีบตัวของหัวใจและเส้นเลือด[3]
  • สารสกัดจากใบชุมเห็ดไทยความเข้มข้น 0.04-25.6 มก./มล. เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบลำไส้เล็กส่วน jejunum ของกระต่าย พบว่าความเข้มข้นที่มีผลทำให้มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้เล็กส่วน jejunum ได้ครึ่งหนึ่งของการบีบตัวไม่สุด มีค่าเท่ากับ 0.09 มก./มล. และเมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบลำไส้เล็กส่วน ileum ของหนูตะเภา พบว่าความเข้มข้นที่มีผลทำให้มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้เล็กส่วน ileum ได้ครึ่งหนึ่งของการบีบตัวไม่สุด มีค่าเท่ากับ 1.33 มก./มล. โดยฤทธิ์การบีบตัวของลำไส้เล็กดังกล่าวสามารถยับยั้งได้ด้วย atropine ที่ความเข้มข้น 0.04 มคก./มล.[7]
  • ชุมเห็ดไทยมีสารแอนทราควิโนนไกลโคไซด์ (Anthraquinone glycoside) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย โดยสารสกัดใบแห้งด้วย 90% เมทานอล มีสาร aloe-emodin และ 1,8-dihydroxy-3(hydroxymethyl)-anthraquinone เมื่อนำมาทดสอบในหนูขาวพบว่ามีฤทธิ์เป็นยาระบาย[7]
  • สารสกัดชุมเห็ดไทยด้วยคลอโรฟอร์มที่ความเข้มข้น 100 มคก./มล. และสาร Anthraquinone glycoside สามารถช่วยต้านเชื้อรา M. gypseum, T. granulosum, T.Mentagophytes และเชื้อรา T. rubrum ได้ แต่จะไม่มีผลต่อเชื้อ Epidermophyton floccosum[7]
  • สารสกัดจากใบด้วย 90% เมทานอลที่ความเข้มข้น 100, 200, 300 มคก./มล. พบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถต้านยีสต์ Candida albicans ได้ โดยสารสกัดจากใบชุมเห็ดไทยที่ความเข้มข้น 300 มคก./มล. จะให้ผลดีที่สุด แต่สารสกัดชุมเห็ดไทยด้วยคลอโรฟอร์มที่ความเข้มข้น 100 มคก./มล. จะไม่สามารถต้านเชื้อยีสต์ Candida albicans ได้[7]
  • ทุกส่วนของต้นมีสารในกลุ่มแอนทราควิโนน และจากการทดสอบในสัตว์ทดลองพบว่าน้ำสกัดของเมล็ดชุมเห็ดไทยมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะและมีฤทธิ์บีบมดลูก สารสกัดเบนซีนมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังในหลอดทดลอง[2],[5]
  • เมื่อปี ค.ศ. 1995 ที่ประเทศจีนได้ทำการผสมสมุนไพรหลายชนิดทำเป็นยาเม็ด โดยมีส่วนผสมของชุมเห็ดไทยอยู่ด้วย โดยผลการทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 130 คนที่มีระดับไขมันในเลือดสูง ใช้ระยะเวลาในการทดลอง 6 สัปดาห์ พบว่าระดับไขมันในเลือดลดลง[12]
  • เมื่อปี ค.ศ. 2004 ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ทำการศึกษาทดลองผลของชุมเห็ดไทยในการลดไขมันในเลือด โดยทำการทดลองกับหนูเพศผู้ (Male wistar rat) จำนวน 40 ตัว ที่มีน้ำหนักประมาณ 199-206 กรัม โดยกระตุ้นให้อ้วนโดยให้อาหารที่คอเลสเตอรอล 0.5% ผสมในอาหาร ให้สารสกัดจากใบชุมเห็ดไทยแก่หนูทดลองดังกล่าวนาน 15 วัน โดยภายหลังการทดลองได้พบว่าระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[12]
  • เมื่อปี ค.ศ. 2007 ที่ประเทศเกาหลี ได้ทำการทดลองผลของชุมเห็ดไทยในการลดไขมันในเลือด โดยทำการทดลองในหนู (Mak Sprague-Dawley rat) ที่ถูกให้อาหารที่มีไขมันสูงจนเกิดระดับไขมันในเลือดสูง โดยให้สารสกัดจากชุมเห็ดไทย 5% เป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ และได้พบว่าระดับคอเลสเตอรอลลดลง 27% โดยลดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ P<0.005[12]
  • ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของชุมเห็ดไทย นอกจากจะมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ลดความดันโลหิตสูง ออกฤทธิ์เป็นยาระบายแล้ว ยังมีฤทธิ์ในการลดการทำงานของหัวใจและต้านการชักอีกด้วย[12]
  • รายงานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่าเมล็ดชุมเห็ดไทยไม่มีพิษเฉียบพลัน[5]
  • สารสกัดจากใบชุมเห็ดไทยในขนาด 10, 100, 1,000, 1,500 และ 2,000 มก./กก. เมื่อทำการป้อนให้หนูถีบจักรกินทางปากและฉีดเข้าทางช่องท้อง และสังเกตอาการเป็นพิษภายใน 24 ชม. พบว่าในขนาดที่สูงสุด 2,000 มก./กก. เมื่อให้กินทางปาก และฉีดเข้าทางช่องท้อง ไม่พบว่ามีอาการผิดปกติใด ๆ และเมื่อฉีดสารสกัดจากเมล็ดด้วยแอลกอฮอล์ 50% เข้าช่องท้องของหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง คือ ขนาด 50 มก./กก. เมื่อผสมสารสกัดจากเมล็ดแห้งในอาหารให้หนูกิน ก็พบว่าหนูมีน้ำหนักตัวลดลง[7],[12]
  • สารสกัดจากเมล็ดชุมเห็ดไทยด้วยน้ำและเมทานอล (100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) ไม่มีผลต่อการก่อกลายพันธุ์ของเชื้อ Bacillus subtilis และ S. typphimurium สาย TA 98 และ TA 100[7]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรชุมเห็ดไทย

  • การใช้เมล็ดเป็นยาสมุนไพรอาจมีอาการข้างเคียงคือง่วงนอน[8]
  • สำหรับผู้ที่ธาตุอ่อน ท้องเสียได้ง่าย หรือผู้ที่กำลังมีอาการท้องเสีย ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้[9]
  • สำหรับผู้ที่ไตไม่ปกติ หรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับไตห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้[9]
  • การใช้เมล็ดชุมเห็ดไทยไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน ๆ เพราะอาจจะทำให้ตามัวได้[5]
  • การใช้เมล็ดชุมเห็ดไทยเป็นยาในขนาดที่สูงเกินไปอาจทำให้ไตอักเสบและทำให้ท้องเสียได้ และควรระมัดระวังในการนำมาใช้กับเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel diseases)[5]

ประโยชน์ของชุมเห็ดไทย

  1. ใบอ่อนสามารถนำมาต้มจิ้มรับประทานกับน้ำพริก หรือใช้ทำแกงเลียง แกงไตปลาได้[10] โดยส่วนของใบรวมก้านใบจะมี โปรตีน 13.29%, เส้นใยอาหาร 22.2%, ไขมัน 1.69%, คาร์โบไฮเดรต 48.54%, เถ้า 14.28%, เส้นใย ADF 24.51%, NDF 36.41% และลิกนิน 4.45%[11]
  2. ยอดอ่อนและใบชุมเห็ดไทยเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ตามธรรมชาติ สำหรับสัตว์แทะเล็มอย่างโคหรือกระบือ[11]
  3. เมล็ดชุมเห็ดไทยให้สีน้ำเงินที่ใช้สำหรับการย้อมผ้า[5]
  4. หากสัตว์เลี้ยงมีอาการเยื่อตาอักเสบเรื้อรัง ให้ใช้เมล็ดแห้งร่วมกับดอกเบญจมาศสวนแห้งอย่างละ 90 กรัม ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ให้กินครั้งเดียวหมด หากเป็นสัตว์เล็กให้กินลดลงไปตามสัดส่วน[9]
  5. หากสัตว์เลี้ยงมีอาการท้องผูก ให้ใช้เมล็ดแห้ง 180 กรัมนำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำ ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ให้กินครั้งเดียวหมด หากเป็นสัตว์เล็กให้กินลดลงไปตามสัดส่วน[9]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “ชุมเห็ดไทย (Chumhet Thai)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 109.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ชุมเห็ดไทย Foetid Cassia”.  หน้า 80.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “ชุมเห็ดไทย”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 210.
  4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ชุมเห็ดไทย”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 274-278.
  5. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ชุมเห็ดไทย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [12 มี.ค. 2014].
  6. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ชุมเห็ดไทย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [12 มี.ค. 2014].
  7. สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน, หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร ณ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ชุมเห็ดไทย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [12 มี.ค. 2014].
  8. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “ลับมึนน้อย ชุมเห็ดไทย”.  (รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.cmu.ac.th/web2553/index.php.  [12 มี.ค. 2014].
  9. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 26 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้.  “ชุมเห็ดไทย/ชุมเห็ดเทศ”.  (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [12 มี.ค. 2014].
  10. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ชุมเห็ดไทย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [12 มี.ค. 2014].
  11. กรมปศุสัตว์.  “ชุมเห็ดไทย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dld.go.th. [12 มี.ค. 2014].
  12. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  “ชุมเห็ดไทย”.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  หน้า 83.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by dinesh_valke, Ahmad Fuad Morad), www.oswaldasia.org, payer.de, esgreen.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด