ชุมเห็ดจีน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นชุมเห็ดจีน 10 ข้อ !

ชุมเห็ดจีน

ชุมเห็ดจีน ชื่อสามัญ Chinese senna, American sicklepod, Sicklepod

ชุมเห็ดจีน ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna obtusifolia (L.) H.S.Irwin & Barneby (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia obtusifolia L.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1]

สมุนไพรชุมเห็ดจีน มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า ชุมเห็ดใหญ่ (ไทย), เจี๋ยหมิงจื่อ (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของชุมเห็ดจีน

  • ต้นชุมเห็ดจีน จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม อายุประมาณ 1 ปี มีความสูงได้ประมาณ 2 เมตร ทั้งต้นมีขนขึ้นปกคลุม กิ่งก้านแข็ง[1] มีถิ่นกำเนิดในภาคใต้และภาคตะวันออกของสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และในอเมริกาเขตร้อน[2]

ต้นชุมเห็ดจีน

  • ใบชุมเห็ดจีน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ตรงกลางใบย่อยที่ติดเชื่อมเรียงคู่กันนั้นจะมีตุ่มตาร่องน้ำหนึ่งคู่แบบแหลม ๆ มีใบย่อยประมาณ 2-4 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับ ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.8-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-6.5 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม[1]

ใบชุมเห็ดจีน

  • ดอกชุมเห็ดจีน ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ ดอกเป็นสีเหลืองสด มีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ ยาวได้ประมาณ 1.2 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 1 อัน ก้านดอกยาวประมาณ 1-2.3 เซนติเมตร[1]

ดอกชุมเห็ดจีน

  • ผลชุมเห็ดจีน ผลมีลักษณะเป็นฝักยาวและเป็นเหลี่ยม มีขนาดยาวประมาณ 15-24 เซนติเมตร ก้านฝักยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ภายในฝักพบเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ขนาดประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ด้านข้างของเมล็ดมีร่อง ผิวเมล็ดเรียบเป็นมัน มีสีน้ำตาลอมเขียว[1]

ฝักชุมเห็ดจีน

เมล็ดชุมเห็ดจีน

หมายเหตุ : ชุมเห็ดจีนและชุมเห็ดไทยนั้นจะมีลักษณะของต้นที่คล้ายคลึงกัน แต่การจะดูว่าเป็นชุมเห็ดชนิดใดนั้นต้องดูที่เมล็ด ซึ่งของจีนเมล็ดจะเป็นเหลี่ยมและยาวมากกว่าของไทย ส่วนในเรื่องของสรรพคุณทางยานั้นก็ใกล้เคียงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ แต่ฤทธิ์ในการขับถ่าย ชุมเห็ดจีนจะมีฤทธิ์แรงกว่าชุมเห็ดไทย จึงควรระวังในเรื่องของปริมาณการใช้ให้มาก[1]

สรรพคุณของชุมเห็ดจีน

  1. เมล็ดมีรสขม ชุ่ม เค็ม เล็กน้อย เป็นยาเย็นเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อตับและไต ใช้เป็นยาลดความดันโลหิต ด้วยการใช้เมล็ดที่คั่วแล้วนำมาบดให้เป็นผง ใช้ครั้งละ 3 กรัม นำมาชงกับน้ำรับประทานวันละ 3 ครั้ง ส่วนอีกวิธีให้ใช้เมล็ดคั่ว 15 กรัม นำมาตำให้พอกแหลก และใช้แห่โกวเช่าอีก 10 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (เมล็ดคั่ว)[1]
  2. หากมีอาการปวดศีรษะ หรือปวดศีรษะเนื่องมาจากความดันโลหิตสูง ให้นำเมล็ดที่คั่วแล้วมาบดให้เป็นผง ใช้ครั้งละ 3 กรัม นำมาชงกับน้ำรับประทานวันละ 3 ครั้ง (เมล็ดคั่ว)[1]
  1. ใช้เป็นยาแก้ตาอักเสบ ตาแดงเป็นต้อ ให้ตาสว่าง (เมล็ดคั่ว)[1]
  2. แพทย์พื้นบ้านในเอเชียจะใช้ราก ใบ และเมล็ด เป็นยาบำรุงสายตา (ราก, ใบ, เมล็ด)[2]
  3. เมล็ดคั่วใช้เป็นยาแก้อาการท้องผูก (เมล็ดคั่ว)[1] บ้างใช้ราก ใบ และเมล็ดเป็นยาระบาย (ราก, ใบ, เมล็ด)[2]
  4. ใช้เป็นยาแก้พุงโล (เมล็ดคั่ว)[1]
  5. เมล็ดใช้เป็นยาแก้ตับอักเสบ โรคตับแข็ง (เมล็ดคั่ว)[1]
  6. ใช้รักษาฝีหนองทั้งหลายทั้งภายในและภายนอก (เมล็ดคั่ว)[1]

ขนาดและวิธีใช้ : ก่อนนำเมล็ดมาใช้ต้องคั่วให้เกรียมหรือคั่วจนกว่าเปลือกของเมล็ดจะแตกออกเสียก่อน แล้วจึงนำมาทุบให้แหลกหรือบดให้เป็นผง ใช้รับประทานครั้งละ 7-15 กรัม หรือนำมาต้มกับน้ำรับประทานก็ได้[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของชุมเห็ดจีน

  • สารที่พบ ได้แก่ Aloe-Emodin, Chrysophanol, Emodin, Obtusifolin, Totalactone, Physcion, Rhein, Rhein Kaempferol-3-diglucoside, Xanthone, Vitamin A และยังพบโปรตีนและไขมัน เป็นต้น ส่วนรากชุมเห็ดจีนพบสาร Leucopeiargondin-3-o-a-l-rhannopyranoside[1]
  • สารสกัดจากเมล็ดชุมเห็ดจีนมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตของสุนัข แมว และกระต่าย อีกทั้งยังมีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกให้บีบตัวแรงขึ้น และมีฤทธิ์เป็นยาขับถ่ายในสัตว์ทดลองได้[1]
  • สารสกัดจากเมล็ดด้วยแอลกอฮอล์ สามารถยับยั้งเชื้อ Staphelo coccus, Steptro coccus, เชื้อคอตีบ, เชื้อไทฟอยด์ และเชื้อราบริเวณผิวหนังได้[1]

ประโยชน์ของชุมเห็ดจีน

  • เมล็ดนำมาคั่วแล้วต้มในน้ำดื่มแทนชา หรือบางแห่งจะนำเมล็ดมาคั่วแล้วบดใช้แทนเมล็ดกาแฟ ส่วนยาพื้นบ้านของเกาหลีจะนำมาทำชาที่เรียกว่า gyeolmyeongja (결명자)[2]
  • คนในประเทศซูดานมักจะนำใบของชุมเห็ดจีนมาหมักเพื่อทำเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูงที่เรียกว่า “Kawal” ใช้รับประทานแทนเนื้อสัตว์[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ชุมเห็ดจีน”.  หน้า 206.
  2. บ้านสวนพอเพียง. “เล่าสู่กันฟัง..งานรวมญาติพืชวงศ์ถั่ว 5”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bansuanporpeang.com.  [05 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 영철 이, Layla Dishman, Dinesh Valke, Flora UFPB Campus I)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด