ชำมะนาดเล็ก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นชำมะนาดเล็ก 3 ข้อ !

ชำมะนาดเล็ก

ชำมะนาดเล็ก ชื่อสามัญ Bread flower

ชำมะนาดเล็ก ชื่อวิทยาศาสตร์ Vallaris solanacea (Roth) Kuntze (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Peltanthera solanacea Roth, Vallaris heynei Spreng.)[2] จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1],[2]

สมุนไพรชำมะนาดเล็ก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ฟูมฟูม อุมฟูม (เลย), ฟูมฟูม อุ่มฟูม (ตะวันออกเฉียงเหนือ), หญ้าช้างน้อย หญ้าช้างย้อย หางเม่นเครือ (ภาคเหนือ), ชำมะนาดเล็ก (ภาคกลาง), ชำมะนาดป่า, ชำมานาดป่า[1], เป็นต้น[2]

ลักษณะของชำมะนาดเล็ก

  • ต้นชำมะนาดเล็ก จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ลำต้นมีความสูงได้ถึง 8 เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวคล้ำ มีน้ำยางเป็นสีขาว พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่ปากีสถาน อินเดีย พม่า จีน และเวียดนาม ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นกระจายแบบห่าง ๆ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ โดยมักขึ้นในป่าดิบแล้งที่ระดับความสูงจนถึงประมาณ 350 เมตร ขึ้นตามป่าละเมาะ และตามป่าผลัดใบใกล้ลำธาร[1],[2]

ต้นชำมะนาดป่า

  • ใบชำมะนาดเล็ก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงกันเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ปลายใบแหลมเป็นติ่ง โคนใบเป็นรูปลิ่ม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 14 เซนติเมตร เนื้อใบบาง มีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 6-10 เส้น ก้านใบยาวได้ประมาณ 0.3-2 เซนติเมตร[1],[2]

ใบชำมะนาดป่า

  • ดอกชำมะนาดเล็ก ออกดอกเป็นช่อเป็นพวงที่ปลายกิ่ง หรือจะออกตามซอกใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-10 ก้านช่อยาวได้ประมาณ 3.5 เซนติเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยงตั้งตรงลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมยาวได้ประมาณ 3-7 มิลลิเมตร กลีบดอกนั้นเป็นสีขาว สีครีม สีเหลืองอ่อน หรือสีเขียวอ่อน และมีกลิ่นหอมแรง หลอดกลีบดอกยาวได้ประมาณ 6-10 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร ปลายกลม ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม มีขนรอบที่ก้านชูอับเรณูติดด้านในประมาณใต้จุดกึ่งกลางหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนอับเรณูยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ที่โคนเป็นเงี่ยง จานฐานดอกเกลี้ยงหรือมีขนขึ้นประปราย รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ก้านเกสรเพศเมียรวมยอดเกสรยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร และมีขนสั้นนุ่ม[2] เมื่อดอกบานจะกางออกและมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-25 เซนติเมตร[1]

ดอกชำมะนาดป่า

ชำมะนาดป่า

  • ผลชำมะนาดเล็ก ออกผลเป็นฝักคู่ ยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร และมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่จัดจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในมีเมล็ดมาก เรียงเป็น 2 แถว ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่หรือรูปรี แบน ยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายสุดมีกระจุกขนติดอยู่เป็นกระจุก ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร[1],[2]

สรรพคุณของชำมะนาดเล็ก

  • ยางจากต้นกัดใช้ใส่แผลเรื้อรัง (ยาง)[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของชำมะนาดเล็ก

  • ใบมีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายดิจิตาลิส ใช้แอลกอฮอล์สกัดพวก triterpenic acid และ ursolic acid[1]
  • ในเมล็ดพบมีสารไขมันซึ่งเป็นพิษ[1]

ประโยชน์ของชำมะนาดเล็ก

  • นอกจากจะใช้เป็นพืชสมุนไพรแล้ว ในประเทศอินเดียยังนำกิ่งมาใช้สานทำตะกร้าได้อีกด้วย[2]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับทั่วไป[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ชำมะนาดป่า”.  หน้า 268-270.
  2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ชำมะนาดเล็ก”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [06 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Shubhada Nikharge, Plant.Hunter)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด