ชะเอมไทย
ชะเอมไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Albizia myriophylla Benth. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[3]
สมุนไพรชะเอมไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตาลอ้อย (ตราด), อ้อยสามสวน (อุบลราชธานี), ย่านงาย เซเบี๊ยดกาชา (ตรัง), อ้อยช้าง (สงขลา, นราธิวาส), ชะเอมป่า (ภาคกลาง), ส้มป่อยหวาน (ภาคเหนือ), เพาะซูโฟ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), กอกกั๋น เป็นต้น[1],[3],[4]
ลักษณะของชะเอมไทย
- ต้นชะเอมไทย จัดเป็นไม้เถายืนต้นขนาดกลาง มีหนามทั่วไปตามลำต้นและกิ่งก้าน ลักษณะของเถาจะมีตุ่มหนามด้าน ๆ ขนาดเล็กอยู่ตามลำต้นและกิ่งก้าน เปลือกผิวมีลักษณะขรุขระและมีสีน้ำตาล เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อนและมีรสหวาน สามารถพบได้ตามป่าดงดิบเขาและป่าโปร่งทั่วไป[1],[2]
- ใบชะเอมไทย ใบมีขนาดเล็กละเอียดเป็นฝอย ๆ โดยเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น มีความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร เรียงสลับกัน ส่วนใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน มีก้านใบร่วมยาวประมาณ 17 เซนติเมตร ส่วนก้านใบหลักจะยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ที่โคนก้านใบป่องออก ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน[1]
- ดอกชะเอมไทย ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ลักษณะเป็นพู่ มีกลีบดอกสีขาวและมีกลิ่นหอม มีก้านช่อดอกยาว ดอกจะรวมกันเป็นกระจุกที่ปลายก้าน ส่วนกลีบดอกมีขนาดเล็ก เชื่อมติดกันเป็นหลอด มีเกสรตัวผู้ยาว มีสีขาว และมีจำนวนมาก[1]
- ผลชะเอมไทย ออกผลเป็นฝัก ฝักมีลักษณะแบน ปลายแหลม มีเมล็ดนูนเห็นได้ชัด ในหนึ่งฝักจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 5-6 เมล็ด ฝักมีความยาวประมาณ 12 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ส่วนก้านฝักยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีสีเหลืองถึงสีน้ำตาล ตรงฝักบริเวณที่มีเมล็ดจะมีรอยนูนขึ้นเห็นได้ชัดเจน[1]
สรรพคุณของชะเอมไทย
- เนื้อไม้ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (เนื้อไม้)[1],[3],[4]
- ช่วยบำรุงกำลัง (เนื้อไม้)[1],[4]
- ช่วยบำรุงกล้ามเนื้อให้เจริญ (เนื้อไม้)[1],[4]
- ช่วยแก้โรคตา (ต้น)[1]
- ช่วยแก้โลหิตอันเน่าในอุทรและช่วยเจริญซึ่งหทัยวาตให้สดชื่น (ราก)[1]
- ดอกแก้ดีและโลหิต (ดอก)[1],[4]
- ช่วยแก้กำเดาให้เป็นปกติ (ราก)[1]
- เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้อาการไอ โดยใช้รากชะเอมไทยยาวประมาณ 2-4 นิ้วนำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น หากอาการไม่ดีขึ้นให้รับประทานติดต่อกัน 2-4 วัน (เปลือกต้น, ราก)[1],[3]
- ช่วยขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว (เนื้อไม้, ผล, ราก)[1],[3],[4] ทำให้เสมหะงวด (ดอก)[1] โดยใช้รากชะเอมไทยยาวประมาณ 2-4 นิ้วนำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น หากอาการไม่ดีขึ้นให้รับประทานติดต่อกัน 2-4 วัน[3]
- ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ (ต้น, เนื้อไม้)[1]
- เนื้อไม้มีรสหวาน ช่วยรักษาโรคในลำคอ (เนื้อไม้)[1],[3],[4]
- ช่วยทำให้ชุ่มคอ[1],[3] แก้อาการกระหายน้ำ (ราก[1], เนื้อไม้[3])
- ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (เนื้อไม้)[1],[4]
- เนื้อไม้ช่วยแก้ลม (เนื้อไม้)[1],[4] ถ่ายลม (ต้น)[1]
- ดอกมีรสขมร้อน ช่วยในการย่อยอาหาร (ดอก)[1],[4]
- รากใช้เป็นยาระบาย (ราก)[1]
- ใบมีรสร้อนและเฝื่อน ช่วยขับโลหิตระดูของสตรี (ใบ)[1],[4]
- ลำต้นชะเอมไทยใช้เข้ากับเครือไส้ไก่ เครือตากวง และเครือหมาว้อ ใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้โรคตับ (ต้น)[1]
- ช่วยทำให้ผิวหนังสดชื่น (ต้น)[1]
- ชะเอมไทยจัดเป็นส่วนผสมในตำรับยา “พิกัดทศกุลาผล” ซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้เพื่อดีและเสมหะ ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงปอด บำรุงกำลัง บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น ช่วยแก้ไข้ แก้รัตตะปิตตะโรค ช่วยขับลมในลำไส้ แก้ลมอัมพฤกษ์และอัมพาต โดยเป็นตำรับยาที่มีการจำกัดจำนวนตัวยาในตระกูลเดียวกันทั้ง 10 อย่าง อันได้แก่ ชะเอมไทย, ชะเอมเทศ, ผักชีล้อม, ผักชี (ผักชีลา), อบเชยไทย, อบเชยเทศ, ลำพันขาว, ลำพันแดง, เร่วน้อย, เร่วใหญ่[2]
- รากชะเอมไทย มีลักษณะคล้ายกับชะเอมเทศ สามารถนำรากชะเอมไทยมาใช้ปรุงเป็นยาแทนชะเอมเทศได้ (ราก)[3],[4]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ชะเอมไทย“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [26 พ.ย. 2013].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ชะเอมไทย“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [26 พ.ย. 2013].
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ชะเอมไทย“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [26 พ.ย. 2013].
- สมุนไพรดอตคอม. “ชะเอมไทย“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com. [26 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Hai Le), www.hargarden.com, www.thaicrudedrug.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)