ชมพู่น้ำดอกไม้
ชมพู่น้ำดอกไม้ ชื่อสามัญ Rose Apple[2]
ชมพู่น้ำดอกไม้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium jambos (L.) Alston จัดอยู่ในวงศ์ชมพู่ (MYRTACEAE)[1]
สมุนไพรชมพู่น้ำดอกไม้ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะชมพู่ มะน้ำหอม (พายัพ), ชมพู่น้ำ ฝรั่งน้ำ (ภาคใต้), มะห้าคอกลอก (แม่ฮ่องสอน), มซามุด มะซามุต (น่าน), ยามูปะนาวา (มลายู-ยะลา) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของชมพู่น้ำดอกไม้
- ต้นชมพู่น้ำดอกไม้ เป็นชมพู่พันธุ์ดั้งเดิมของไทย มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคอินโด-มาลายัน ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค โดยจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง เช่นเดียวกับชมพู่แดง มีความสูงของต้นประมาณ 10 เมตร เปลือกต้นค่อนข้างเรียบเป็นสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชื้นพอเหมาะ ชอบแสงแดดส่องถึงแบบเต็มวัน ในปัจจุบันมีสายพันธุ์หลักอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ที่มาจากประเทศไทยผลจะเป็นสีเขียวอ่อน และพันธุ์ที่มาจากประเทศมาเลเซียผลจะเป็นสีแดง โดยจะให้ผลหลังการปลูกประมาณ 2 ปี มักขึ้นตามป่าราบทั่วไป พบปลูกกันบ้างตามสวนเพื่อรับประทานหรือขายเป็นสินค้า[1],[2]
- ใบชมพู่น้ำดอกไม้ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมใบหอกเรียวยาว ปลายใบแหลมและมีติ่งแหลม โคนใบมนรี ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-17 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเป็นสีเขียวเข้ม[1],[2]
- ดอกชมพู่น้ำดอกไม้ ออกดอกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยประมาณ 3-8 ดอก กลีบดอกบางเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ฐานรองดอกมีลักษณะเป็นรูปกรวย ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก[2]
- ผลชมพู่น้ำดอกไม้ ผลเป็นผลสดใช้รับประทานได้ ผลเป็นผลเดี่ยว มีลักษณะเกือบกลม ดูคล้ายกับลูกจันสีเหลือง ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 4 กลีบ ภายในผลกลวง ผลมีกลิ่นหอมคล้ายกับดอกนมแมว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 80-100 กรัม ผลดิบเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่สุกแล้วจะเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองทอง เนื้อด้านในบางเป็นสีขาวนวลหรือสีเขียวอ่อน ส่วนเมล็ดเป็นสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่ มีรสหวานหอมชื่นใจ โดยจะเริ่มออกผลในช่วงปลายฤดูหนาว (ประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน)[1],[2]
การปลูกชมพู่น้ำดอกไม้ ทำได้ด้วยการนำเมล็ดหรือกิ่งตอนลงปลูก เกลี่ยดินกลบ แล้วนำใบตองมาปิดบริเวณโคนต้นเพื่อช่วยเก็บความชื้น เมื่อปลูกเสร็จแล้ว ให้รดน้ำวันละ 2 ครั้ง ถ้าเป็นกิ่งตอนให้ทำไม้ปักยึดผูกกับต้นไว้ด้วย เพื่อป้องกันการโค่นล้มจากลม ส่วนการป้องกันไม่ให้ต้นเฉา ควรนำมาปลูกใกล้บริเวณริมคลอง เนื่องจากชมพู่น้ำดอกไม้เป็นไม้ผลที่ชอบน้ำ และควรปลูกให้ห่างจากตัวบ้านประมาณ 2 เมตร ทั้งนี้ ชมพู่น้ำดอกไม้เป็นไม้ปลูกง่าย โตเร็ว สามารถให้ผลได้ภายใน 2 ปี การดูแลรักษาก็ง่าย ไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง เพียงแต่ห่อผลด้วยถุงพลาสติกเพื่อป้องกันแมลง กระรอก และนกมารบกวนเท่านั้น
สรรพคุณของชมพู่น้ำดอกไม้
- ผลใช้ปรุงเป็นยาชูกำลัง (ผล)[2]
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ (ผล)[2]
- เปลือก ต้น และเมล็ด มีสรรพคุณเป็นยาแก้เบาหวาน (เปลือก, ต้น, เมล็ด)[2]
- ช่วยแก้ลมปลายไข้ (ผล)[2]
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาลดไข้ (ใบ)[3]
- ใบใช้เป็นยาแก้ตาอักเสบ (ใบ)[3]
- ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (เปลือก, ต้น, เมล็ด)[2] เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ท้องร่วงได้ดี (เปลือกต้น)[5]
- เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคบิด (เมล็ด)[5]
- ใบสดนำมาต้มกับน้ำใช้ล้างแผลสด (ใบ)[5]
- ใบสดใช้ตำพอกรักษาโรคผิวหนัง (ใบ)[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของชมพู่น้ำดอกไม้
- สารสกัดจากอะซิโตนและน้ำจากเปลือกต้นของชมพู่น้ำดอกไม้มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus, Staphylococcus cohnii, Staphylococcus hominis, Staphylococcus warneri และ Yersinia enterocolitica โดยสารสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านเชื้อ คือ สารแทนนิน ที่มีปริมาณมากในสารสกัด (คิดเป็น 83% ในสารสกัดจากอะซิโตน และ 77% ในสารสกัดจากน้ำ)[4]
ประโยชน์ของชมพู่น้ำดอกไม้
- ผลมีสีสันสวยงามใช้รับประทานได้ มีกลิ่นหอมและมีรสหวานมาก ปัจจุบันจัดเป็นพรรณไม้หายากชนิดหนึ่ง ทำให้ผลที่ขายกันมีราคาแพง[1]
- เปลือกยังสามารถนำมาสกัดเป็นสารที่ให้สีน้ำตาลได้ด้วย
คุณค่าทางโภชนาการของชมพู่น้ำดอกไม้ ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 25 กิโลแคลอรี
- น้ำ 93 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 5.7 กรัม
- ไขมัน 0.3 กรัม
- โปรตีน 0.3 กรัม
- วิตามินเอ 17 ไมโครกรัม (2%)
- วิตามินบี1 0.02 มิลลิกรัม (2%)
- วิตามินบี2 0.03 มิลลิกรัม (2%)
- วิตามินบี3 0.8 มิลลิกรัม (5%)
- วิตามินซี 22.3 มิลลิกรัม (27%)
- แคลเซียม 29 มิลลิกรัม (3%)
- ธาตุเหล็ก 0.07 มิลลิกรัม (1%)
- แมกนีเซียม 5 มิลลิกรัม (1%)
- แมงกานีส 0.029 มิลลิกรัม (1%)
- ฟอสฟอรัส 8 มิลลิกรัม (1%)
- โพแทสเซียม 123 มิลลิกรัม (3%)
- สังกะสี 0.06 มิลลิกรัม (1%)
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ชมพู่น้ําดอกไม้”. หน้า 242-243.
- พืชไม้ผล, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ชมพู่น้ำดอกไม้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/use/fruit.htm. [28 ส.ค. 2014].
- งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน, โรงเรียงสตรีนครสวรรค์. “ชมพู่น้ําดอกไม้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.sns.ac.th. [28 ส.ค. 2014].
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ต้านจุลชีพจากเปลือกต้นชมพู่น้ำดอกไม้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th. [28 ส.ค. 2014].
- ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “ชมพู่น้ำดอกไม้เพชรน้ำบุษย์ ผลทั้งปีหวานหอม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th. [28 ส.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Mauricio Mercadante, mauroguanandi, Forest and Kim Starr, Phelipi Ramos, 3Point141, Susan Ford Collins, Tatters ❀)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)