จิกน้ำ สรรพคุณและประโยชน์ของจิกน้ำ 19 ข้อ ! (จิกนา)

จิกน้ํา

จิกน้ำ ชื่อสามัญ Indian oak, Freshwater mangrove

จิกน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Barringtonia acutangula (L.) Gaertn. จัดอยู่ในวงศ์จิก (LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE)

สมุนไพรจิกน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จิ๊ก (กรุงเทพ), กระโดนสร้อย (พิษณุโลก), ลำไพ่ (อุตรดิตถ์), กระโดนทุ่ง กระโดนน้ำ (หนองคาย-ภาคอีสาน), ตอง ปุยสาย (ภาคเหนือ), ตอง จิกน้ำ (ภาคกลาง), จิก, จิกนา, จิกอินเดีย, จิกมุจลินท์, เป็นต้น

จิก เป็นชื่อของกลุ่มไม้ยืนต้นที่มีอยู่มากกว่า 10 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในสกุล Barringtonia ซึ่งจิกที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยกันดีก็มีแค่ 2-3 ชนิด ได้แก่

  • จิกน้ํา หรือ กระโดนสร้อย (Barringtonia acutangula (L.) Gaertn. Subsp. spicata (Bl.) Payens)
  • จิกสวน หรือ จิกบ้าน ( Barringtonia racemosa Roxb.)
  • จิกนา หรือ กระโดนทุ่ง (Barringtonia acutangula (L.) Gaertn.)

แต่ละชนิดจะมีลักษณะโดยรวมคล้ายคลึงกัน แต่จะแตกต่างกันตรงลักษณะของดอก กลีบดอก กลีบเลี้ยงดอก ขนาดของดอก สีของดอก ลักษณะใบ เป็นต้น โดยบทความนี้เราจะพูดกันถึงเรื่อง “จิกน้ำ” ซึ่งสรรพคุณและประโยชน์ส่วนใหญ่ก็จะคล้าย ๆ กัน โดยต้นจิกชนิดอื่น ๆ ที่อาจพบได้บ้างก็ได้แก่

  • จิก (Barringtonia coccinea Kostel)
  • จิกใหญ่ (Barringtonia angusta Kurz)
  • จิกเขา (Barringtonia fusifomis King)
  • จิกดง (Barringtonia pauciflor King)
  • จิกเล หรือ โดนเล (Barringtonia asiatica (L.) Kurz)
  • จิกนม หรือ จิกนุ่ม (Barringtonia macorstachys Kurz)
  • จิกนมยาน (Barringtonia macorcarpa Hassk.)

ลักษณะของจิกน้ำ

  • ต้นจิกน้ำ เป็นไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ มีความสูงประมาณ 5-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มรีหรือแผ่กว้าง มีลำต้นเป็นปุ่มปม เปลือกสีน้ำตาลแตกเป็นร่องและเป็นสันแหลมตามยาว กิ่งก้านมักคดงอ ปลายกิ่งมักลู่ลง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้และอัฟกานิสถาน ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลียในแถบรัฐควีนส์แลนด์ และสำหรับประเทศไทยบ้านเราก็จะพบต้นจิกน้ำได้ทั่วทุกภาคตามริมฝั่งน้ำ ริมคลอง ริมบึง ป่าพรุและป่าชายเลน

ต้นจิกน้ำ

รูปจิกน้ำ

  • ใบจิกน้ำ มีใบเป็นใบเดี่ยว ใบออกเวียนสลับถี่ที่บริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปหอกหรือรูปไข่หัวกลับ หรือรูปรี โคนใบแหลม ปลายใบแหลมหรือมน ขอบใบเป็นจักถี่ ๆ ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดงเข้มและมีขน ใบมีขนาดใหญ่เป็นมันสวย เมื่อเวลามีดอกจะทิ้งใบ เหลือเพียงแต่ใบอ่อนสีแดง

ใบจิกน้ำ

  • ดอกจิกน้ำ ออกดอกเป็นช่อกระจายที่ปลายกิ่ง ดอกห้อยลงมาเป็นระย้า ยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ติดทนอยู่จนเป็นผล กลีบดอกสั้น ปลายแยกเป็น 4 กลีบ มีสีแดงหรือสีชมพู หลุดร่วงได้ง่าย เมื่อบานเต็มที่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้อยู่เป็นฝอย ๆ สีชมพูหรือสีแดงจำนวนมาก เมื่อดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงมีดอกจะทิ้งใบเหลือแต่ยอดอ่อนสีแดงจัด ก็ยิ่งทำให้ดูสวยงดงามเพิ่มขึ้นไปอีก และจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม

ดอกจิกน้ำ

  • ผลจิกน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนานหรือทรงกลม มีสันเป็นเหลี่ยม 4 สัน เรียงตามความยาวของผล ในผลมีเมล็ดจิกน้ำ อยู่ 1 เมล็ด ลักษณะคล้ายรูปไข่

ผลจิกน้ำ

สรรพคุณของจิกน้ำ

  1. ใช้รักษาเยื่อนัยน์ตาอักเสบ (เมล็ด)
  2. น้ำคั้นจากเมล็ดใช้เป็นยาหยอดตาได้ (เมล็ด)
  3. เปลือกใช้เป็นยาลดไข้และใช้รักษาไข้มาลาเรีย (เปลือก)
  4. จิกน้ํามีสรรพคุณของผลช่วยแก้หวัด แก้ไอ (ผล)
  5. ช่วยแก้อาการไอในเด็ก (เมล็ด)
  1. ช่วยทำให้อาเจียน (เมล็ด,ราก)
  2. เมล็ด ใช้เป็นยาขับลม แก้อาการร้อนใน (เมล็ด)
  3. เมล็ดจิกน้ำ ใช้เข้ายาลมช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้องได้เป็นอย่างดี (เมล็ด)
  4. น้ำจากใบช่วยแก้อาการท้องเสีย (ใบ)
  5. ใบแก่ใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้อาการท้องร่วง (ใบแก่)
  6. รากใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ราก)
  7. ช่วยขับระดูขาวของสตรี (เนื้อไม้)
  8. เปลือกช่วยชะล้างบาดแผล (เปลือก)
  9. ใช้เป็นยาร้อนในการคลอดบุตร (เมล็ด)

ประโยชน์ของจิกน้ำ

  1. ดอกและยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดหรือผักจิ้มกับแจ่ว ลาบ น้ำตก และขนมจีน ให้รสชาติมันปนฝาด ช่วยเพิ่มความอร่อยได้ดีมาก
  2. เปลือกและต้นของจิกน้ำมีสรรพคุณใช้เบื่อปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิกเล จึงเป็นที่มาของชื่อภาษาอังกฤษว่า Poison fish tree ซึ่งชาวประมงนิยมนำมาใช้ในการเบื่อปลากันอย่างแพร่หลาย
  3. มักปลูกไว้เป็นไม้ประดับที่ริมน้ำริมตลิ่ง เนื่องจากมีช่อดอกที่สวยงามแปลกตา และมีความแข็งแรง ทนน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดี
  4. ไม้จิกน้ำมีเนื้อสีขาวหรือสีอมแดงเรื่อ ๆ มีเสี้ยนตรง เป็นไม้ค่อนข้างอ่อนเหมาะใช้ในร่ม สามารถนำมาทำเป็นไม้อัด ไม้บาง กระดานกรุบ่อ ใช้ทำเรือเล็ก ๆ ทำเครื่องมือเกษตรและทำเครื่องเรือนได้ ฯลฯ
  5. นอกจากจะปลูกต้นจิกน้ำเพื่อความสวยงามไว้ริมตลิ่งแล้ว ต้นจิกน้ำก็ยังช่วยยึดหน้าดินริมตลิ่งได้อีกด้วย

แหล่งอ้างอิง : ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), เว็บไซต์กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.), ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์

ภาพประกอบ : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, flickr.com (by lalithamba, SierraSunrise)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด