การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร
การจัดฟันเป็นการรักษาที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของฟันที่ผิดปกติ กระบวนการเหล่านี้จะช่วยจัดเรียงฟันใหม่ให้เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น ซึ่งในแต่ละบุคคลก็จะมีขั้นตอนการจัดที่แตกต่างกันออกไปบ้างตามลักษณะของความผิดปกติที่เกิดขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาในการบดเคี้ยว ภาวะอักเสบที่ฟันบนและฟันล่างวางตัวไม่สม่ำเสมอกัน ไปจนถึงการช่วยเปลี่ยนแปลงความสวยงามของรูปหน้าได้อีกด้วย
การจัดฟันจึงกลายเป็นทั้งแฟชั่นและความจำเป็นสำหรับคนที่มีปัญหาจริง ส่วนใหญ่เรามักจะเคยเห็นการจัดฟันแบบทั่วไปที่ใช้กระบวนการไม่ซับซ้อนก็จะช่วยจัดเรียงฟันให้เป็นระเบียบได้ แต่สำหรับในบางกลุ่มที่มีปัญหาการเรียงตัวของฟันที่ผิดปกติอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดการเบียดตัวของเหงือก ตามมาด้วยปัญหาเรื้อรังในช่องปาก การจัดฟันแบบธรรมดาอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่จึงมีการนำเอาความรู้ด้านการผ่าตัดมาประยุกต์เข้ากับการจัดฟัน
การจัดฟันร่วมกับผ่าขากรรไกร (Orthognathic surgery) คือ ตัวช่วยแก้ปัญหาความผิดปกติของฟันอย่างรุนแรง ซึ่งมักจะมีผลกระทบต่อรูปหน้าของผู้ป่วยด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการผ่าตัดเปลี่ยนรูปกระดูกขากรรไกรเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือการจับรวมเอาวิธีจัดฟันเข้ามาร่วมกับการศัลยกรรมกระดูกขากรรไกร (Orthognathic treatment)
กระบวนการทั้งหมดที่ทำจะมีความจำเพาะเจาะจงและต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ มีขั้นตอนการทำที่ซับซ้อน ช่วยแก้ไขปัญหาในกลุ่มผู้ที่มีความผิดปกติของขากรรไกรแต่กำเนิด หรือในบางกลุ่มก็เกิดขึ้นในขณะที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต ส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านการบดเคี้ยวอาหาร พูดไม่ชัด กลืนน้ำและอาหารได้ลำบาก เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด และหากทิ้งเอาไว้นานอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบการย่อยอาหารในอนาคตได้
การจัดฟันวิธีนี้จึงเป็นตัวช่วยแก้ไขรูปทรงของกระดูกขากรรไกรให้กลับมาเข้ารูปในจุดที่เหมาะสม พร้อมปรับตำแหน่งของฟันให้เรียงตัวได้เป็นระเบียบสวยงาม สามารถใช้งานได้เป็นปกติ สภาพใบหน้าที่ผิดรูปก็จะกลับมาดีขึ้น ผู้ป่วยก็จะสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อีกครั้ง
ในกระบวนการของการผ่าตัด จะมีความแตกต่างกันออกไปตามรูปลักษณ์ของกระดูกขากรรไกรและปัญหาที่เกิดขึ้นในผู้ป่วย ซึ่งจะมีทั้งการผ่าตัดเพียงแค่ขากรรไกรด้านใดด้านหนึ่งหรืออาจจะเป็นการผ่าตัดทั้งบนและล่าง เพื่อให้ตำแหน่งของฟันกลับเข้ามาอยู่ในจุดที่ถูกต้องมากที่สุด โดยแพทย์ก็จะคำนึงถึงความสวยงามของรูปหน้าผู้ป่วยด้วยเช่นกัน
ผู้ที่จำเป็นต้องใช้วิธีจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร
กลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดจะถือว่าเป็นกลุ่มจำเพาะ ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับขากรรไกรที่ผิดรูปร่วมด้วย (Dental and Skeletal Malocclusion) ทำให้เกิดปัญหาภายในช่องปากอย่างรุนแรง โดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะดังต่อไปนี้
- มีขนาดของขากรรไกรบนหรือล่าง หรือทั้งบนและล่างไม่ได้สัดส่วนที่เหมาะสมทำให้การสบฟันผิดปกติ
- ขากรรไกรที่ผิดปกติทำให้ใบหน้าบิดเบี้ยวอย่างรุนแรง
- ผู้ที่มีปัญหาการเรียงตัวของฟันที่ผิดปกติอย่างรุนแรง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับรูปทรงขากรรไกร ทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังภายในช่องปาก
- ผู้ป่วยที่ใช้วิธีการจัดฟันแบบธรรมดาแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาภายในช่องปากได้
- ผู้ที่มีลักษณะของขากรรไกรบนยื่นออกมามาก จนไม่สามารถหุบริมฝีปากลงมาได้
- ผู้ที่มีลักษณะคางยื่นมาก เนื่องจากขากรรไกรล่างยาวกว่าปกติ
- ผู้ที่มีลักษณะคางหดสั้นมาก เนื่องจากขากรรไกรล่างสั้นกว่าปกติ
- ผู้ที่มีรูปหน้าบิดเบี้ยวผิดรูป ซึ่งเกิดขึ้นจากลักษณะของขากรรไกรที่ผิดปกติ
- ผู้ที่มีปัญหาในการยิ้ม จะเห็นส่วนของเหงือกเยอะกว่าปกติ
- ผู้ที่มีปัญหาติดขัดด้านการหายใจและกลืนอาหารลำบาก
เป้าหมายของการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรในผู้ป่วย
- ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้ดีขึ้น คนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ (Mouth Breather) ซึ่งสังเกตได้ว่าจะหายใจทางปากหรือรู้สึกหายใจติดขัด เกิดขึ้นจากความผิดปกติในส่วนของท่อทางเดินหายใจเกิดภาวะตีบตัน เมื่อมีการหายใจทางปากเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยเฉพาะคนกลุ่มเด็ก ซึ่งขากรรไกรกำลังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต ผลของมันจะทำให้ขากรรไกรผิดรูป เจริญเติบโตแบบผิดปกติ ผู้ป่วยเหล่านี้ที่พบ มักจะมีปัญหาในการสบฟันหน้าแบบไม่สนิท หรือที่เรียกว่า “การสบฟันแบบเปิด (Open Bite)” ซึ่งบางคนที่รุนแรงอาจจะทำให้ลิ้นยื่นออกมาอยู่ระหว่างกรามฟันด้านหน้าได้อีกด้วย ดังนั้นในขั้นตอนการรักษาแพทย์จะทำการผ่าตัดขากรรไกรส่วนเพดานปากให้ขยายขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายใจทางจมูกได้สะดวก จากนั้นจึงจะเริ่มเข้าสู่การจัดฟัน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้การจัดฟันมีประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดีด้วยการใช้เครื่องมือ Rapid Maxillary Expander (RME) ถือว่าเป็นการรักษาแบบเร่งด่วน ช่วยลดแรงต้านของกระดูก แต่มีข้อจำกัดอยู่ที่จะได้ผลดีในกลุ่มเด็กที่ขากรรไกรยังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต ผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไปขากรรไกรส่วนบนเชื่อมตัวกันจนกลายเป็นชิ้นเดียวแล้ว จึงไม่สามารถขยายเพิ่มได้อีก
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสบฟันให้ผู้ป่วยเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น เนื่องจากการเคี้ยวอาหารจะเป็นการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กันระหว่างฟันบนและฟันล่าง เมื่อผู้ป่วยแก้ไขให้ฟันเรียงตัวได้อย่างถูกต้องแล้ว ก็จะช่วยให้การสบฟันไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะนิ่ง (Static Occlusion) หรือในกรณีเคลื่อนไหวฟันไม่ว่าจะเป็นไปในลักษณะของการเยื้องคางไปด้านซ้าย-ขวา หรือข้างหน้า (Functional Occlusion – Protrusion – Rt. & Lt. Lateral Movement) ทุกอย่างจะต้องมีความสัมพันธ์กันด้วยดี ตั้งแต่ขากรรไกร ฟันและกล้ามเนื้อที่เชื่อมต่อกันด้วย เมื่อผู้ป่วยทำการศัลยกรรมขากรรไกรแล้วก็จะช่วยลดผลข้างเคียงจากความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการร่นของเนื้อเยื่อรอบ ๆ บริเวณสันเหงือก และผลกระทบต่อฟันและเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงให้บาดเจ็บน้อยลง ที่สำคัญยังช่วยแก้ปัญหาไม่ให้ผู้ป่วยกลืนอาหารที่มีขนาดใหญ่ลงไป เนื่องจากไม่สามารถบดเคี้ยวให้ละเอียดได้จนกลายเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและโรคกระเพาะตามมานั่นเอง
- ช่วยให้ผู้ป่วยออกเสียงได้ชัดเจนขึ้น พยัญชนะที่ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับขากรรไกรผิดรูปมักจะออกเสียงไม่ชัดคือตัว “พ” และ “ส” เป็นผลจากการที่ซี่ฟันเรียงตัวห่างจากกันหรือฟันด้านล่างไม่พอดีกับฟันบนจนเกิดการครอบกัน การรักษาด้วยกระบวนการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถออกเสียงได้ชัดเจนมากขึ้น ช่วยสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับผู้ป่วยภายหลังการรักษา และเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารให้เข้าใจได้ง่ายกว่าเดิม
- ช่วยเพิ่มความสวยงามให้รูปหน้า เนื่องจากความผิดปกติของขากรรไกร อาจจะทำให้ใบหน้าของผู้ป่วยมีรูปลักษณ์บูดเบี้ยวไปจากปกติ การแก้ไขขากรรไกรจะทำให้ใบหน้ากลับมาสวยงาม เป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการยิ้มหรือการพูด เพิ่มความเชื่อมั่นในบุคลิกของตัวเอง การรักษาในกระบวนการนี้ยังช่วยทำให้รูปหน้าเดิมของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไป สามารถมีรูปทรงที่สวยขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่มีพื้นที่เหงือกชัดเจนมากขณะยิ้ม ซึ่งเรียกว่า “Gummy Smile”, ขากรรไกรล่างยาวหรือสั้นผิดปกติ และในกรณีที่ขากรรไกรบนยาวหรือสั้นผิดปกติ จะใช้กระบวนศัลยกรรมเข้ามาช่วย ซึ่งจะมีทั้งที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มเด็กที่จะใช้เครื่องมือ Orthopedic Force เข้ามาช่วยแก้ไข แต่หากมีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป การรักษาจะมีความซับซ้อน การดึงกรามฟันยากขึ้น ดังนั้นการผ่าตัดจึงถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากกว่า
- ช่วยทำให้การรักษารวดเร็วและได้ผลมากขึ้น การผ่าตัดร่วมกับการจัดฟันจะช่วยให้การแก้ปัญหาความผิดปกติของรูปร่างฟันดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เป็นการย่นระยะเวลาให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตที่ดีได้ดังเดิมแบบไม่ต้องรอนาน จากปกติของการรักษาด้วยวิธีจัดฟันแบบธรรมดา จะช่วยย่นระยะเวลาจากเดิมได้มากเกือบ 2-4 เท่าตัว ยิ่งในบางรายที่การจัดฟันแบบธรรมดาแทบจะไม่สามารถแก้ปัญหาใด ๆ ได้เลย แพทย์จึงไม่สามารถระบุระยะเวลาการรักษาที่แน่ชัดได้ หรือแทบจะหาระยะเวลาที่สิ้นสุดของการรักษาไม่ได้เลย แบบนี้ทางเลือกของการศัลยกรรมขากรรไกรจึงช่วยทำให้แพทย์แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและระบุเวลาที่แน่ชัด ซึ่งอาจจะใช้เวลาแค่ 1-2 ปี ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้งานฟันได้ตามปกติ
- เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานหลังการรักษา แพทย์ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยเลือกวิธีผ่าตัดหากไม่จำเป็นจริง ๆ หรือบางครั้งก็เป็นการขอร้องจากผู้ป่วยเองว่าขอให้มีเพียงการจัดฟันแบบธรรมดาเท่านั้นพอ จึงส่งผลให้การรักษาไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น ภายหลังเสร็จสิ้นผลลัพธ์ที่ได้คือช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นแต่ไม่สมบูรณ์ เสถียรภาพในการสบฟันยังถือว่ามีปัญหาอยู่ ผลการรักษาที่ได้ไม่ค่อยน่าพึงพอใจ แต่ก็ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันของตัวเองได้ตามปกติ กล่าวง่าย ๆ คือ เป็นการรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งานที่ไม่มั่นคง เสี่ยงที่มันจะเกิดความผิดปกติอื่น ๆ ตามมาในภายหลังได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหารากฟัน เหงือก เนื้อเยื่อรอบฟัน ไปจนถึงส่วนของกระดูก กลายเป็นปัญหาเรื้อรังในช่องปากตามมา การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดจึงเป็นตัวแก้ปัญหาที่มั่นคงกว่าและเพิ่มประสิทธิภาพให้การใช้งานฟันหลังการรักษาได้อย่างมั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะไม่กลับไปเจอกับภาวะผิดปกติเดิม ๆ อีก แม้จะใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารมานานหลายปีแล้วก็ตาม
- ลดความเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพของปัญหาในช่องปากเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น การรักษาที่มีการศัลยกรรมช่องปากเข้ามาช่วยแก้ปัญหาร่วมกับการจัดฟัน จะช่วยให้ผลลัพธ์ภายหลังการรักษาเป็นที่น่าพึงพอใจมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความเสื่อมสภาพของระบบการเคี้ยวอาหารภายในช่องปาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่ทำความสะอาดฟันได้ยาก เมื่อเข้ารับการรักษาจัดเรียงฟันให้เป็นระเบียบแล้ว จะช่วยลดปัญหาฟันผุ ภาวะเหงือกอักเสบ ความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของขากรรไกรในอนาคต ยิ่งหากเป็นผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันปลอมด้วยแล้ว จะเป็นการช่วยลดความยุ่งยากซับซ้อน ให้สามารถใช้งานฟันปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
ขั้นตอนจัดฟันร่วมกับผ่าขากรรไกร
โดยทั่วไปก่อนที่แพทย์จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการรักษา จะต้องมีการพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันเสียก่อนว่าเหตุใดจึงจำเป็นต้องมีการผ่าตัดเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากการจัดฟันประเภทนี้จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงตามมา มีการซักประวัติ เอกซเรย์ช่องปากอย่างละเอียด ถ่ายภาพ และจากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการจำลองรูปแบบฟันของผู้ป่วย เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้ไปทำการวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ถูกต้อง พร้อมวางแผนการจัดฟันร่วมกับการทำศัลยกรรมช่องปากให้ดีที่สุด ตามปกติแล้วแพทย์จะชี้แจงผู้ป่วยออกเป็นขั้นตอนดังนี้ คือ
- ชี้แจงถึงลักษณะความผิดปกติของช่องปากที่เกิดขึ้นว่าอยู่ในระดับความรุนแรงแค่ไหน
- แนะนำแผนการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจและเป็นผู้ตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง
- บอกค่าใช้จ่ายในกระบวนการรักษาทั้งหมดคร่าว ๆ และระยะเวลาโดยประมาณในการรักษาจนจบแผนการ
- บอกถึงผลลัพธ์ภายหลังจากการรักษาทั้งข้อดีและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้
อีกทั้งกระบวนการรักษาจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์ร่วมกับตัวผู้ป่วยเอง ดังนี้
การรักษาแบบวิธีดั้งเดิม
วิธีนี้จะเริ่มต้นด้วยแผนการจัดฟันเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยการผ่าตัดและจัดฟันอีกครั้งเป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยจะมีการแบ่งระยะจัดฟันออกเป็น 4 ระยะด้วยกันคือ
- ระยะที่ 1 จัดฟันก่อนเริ่มผ่าตัด การจัดฟันจะเกิดขึ้นก่อนเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดขากรรไกรซึ่งถือว่าเป็นขั้นระยะเตรียมการก่อนการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะช่วยปรับตำแหน่งของฟันและแกนฟันให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม จะช่วยให้ฟันที่อยู่ในแต่ละขากรรไกรสามารถกลับมาสบกันได้ถูกตำแหน่งภายหลังทำการผ่าตัดขากรรไกรเรียบร้อยแล้ว แม้ในช่วงเวลาของการจัดฟัน แกนของฟันที่ถูกปรับอาจจะทำให้ปัญหาฟันสบรุนแรงมากขึ้นและอาจมีรูปหน้าที่บิดเบี้ยวได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติแพทย์จะใช้เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นเพื่อจัดฟันให้ขยับไปในตำแหน่งที่เข้ากันได้กับขากรรไกร จะใช้เวลาประมาณ 12-18 เดือน หลังจากทำการผ่าตัดขากรรไกรแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะหายไป นอกจากขั้นตอนของการจัดการกับตัวฟันให้อยู่ในตำแหน่ง แพทย์จำเป็นต้องมีการอุดฟัน รักษาโรคปริทันต์ ถอนฟันที่มีปัญหา ผ่าเอาฟันคุดออกไป และรักษาสุขภาพภายในช่องปากแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคลให้เรียบร้อยด้วย
- ระยะที่ 2 การผ่าตัดศัลยกรรมขากรรไกร หลังจากมีการจัดฟันให้แกนฟันถูกปรับอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและการรักษาปัญหาในช่องปากสมบูรณ์ด้วยดีแล้ว จะช่วยให้การผ่าตัดขากรรไกรทำได้ง่ายขึ้น ก่อนเริ่มผ่าตัดแพทย์จะมีการตรวจวิเคราะห์โครงหน้าของผู้ป่วยพร้อมกับลักษณะการสบฟันให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่งก่อน พร้อมกับการตรวจสภาพร่างกายเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเป็นอันตรายตามมาในภายหลัง ซึ่งจะทำโดยแพทย์ศัลยกรรมช่องปากที่มีความเชี่ยวชาญ ในกระบวนการนี้จะใช้วิธีผ่าตัดด้านในช่องปาก เพื่อหลีกเลี่ยงรอยแผลเป็นบริเวณใบหน้าด้านนอกที่มองเห็นได้ชัด การผ่าตัดจะให้ใช้ยาสลบกับผู้ป่วย ใช้เวลาประมาณ 2-5 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับสภาพที่ผิดปกติและขั้นตอนในการผ่าของแต่ละบุคคลบางรายอาจจะมีการใช้เฝือกสบฟันที่พิมพ์จากแบบจำลองฟัน ตัวช่วยทำให้ขากรรไกรเข้ารูปในตำแหน่งที่ถูกต้องในระหว่างที่แพทย์ลงมือผ่าตัด หลังจากผ่าเสร็จแล้วจะมีการใช้ screw หรือ bone plate ซึ่งเป็นแผ่นโลหะขนาดเล็กเป็นตัวยึดข้อต่อขากรรไกรเข้าไว้ด้วยกันเพื่อรอให้ส่วนของกระดูกเชื่อมประสาน (จะผ่าตัดนำออกเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 ปี) โดยตัวข้อต่อจะต้องอยู่ในตำแหน่งข้อต่อเดิมก่อนผ่าตัด บางกรณีจะมีการมัดขากรรไกรเข้าไว้ด้วยกัน (Fixation) ประมาณ 14 วัน หากเป็นการผ่าตัดขากรรไกรบนและล่าง ซึ่งในกรณีมีความสำคัญต่อการเชื่อมต่อกระดูกและแผล และหยุดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและเอ็นชั่วคราวผู้ป่วยจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ในห้องผู้ป่วยพิเศษ (Intensive care unit) พักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลต่อไปอีกประมาณ 2-7 วัน ในระหว่างนี้อาจจะทำให้เคี้ยวอาหารและการพูดลำบาก แพทย์จึงจำเป็นต้องทำอยู่ภายใต้ขั้นตอนที่กระทบต่อผู้ป่วยให้น้อยที่สุด ผู้ป่วยจำเป็นต้องกินอาหารอ่อนประมาณสัปดาห์แรกของการผ่าตัด เพื่อช่วยให้ไม่ต้องบดเคี้ยวอาหารมาก และลดปัญหาการทำความสะอาดช่องปากที่ไม่ค่อยสะดวกในช่วงของการผ่าตัดอาการที่พบได้ทั่วไปและไม่ควรตกใจคือภาวะบวมของใบหน้า น้ำหนักลดลง (โดยมากแล้วจะไม่เกิน 5 กิโลกรัม) แพทย์จะไม่ค่อยแนะนำให้ญาติพี่น้องเข้ามาพบผู้ป่วยมากนัก หลังจากนั้นผู้ป่วยจะสามารถกลับบ้านไปพักฟื้นต่ออีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ และกลับไปกินอาหารปกติได้ภายใน 5-8 สัปดาห์ ในช่วงเวลานี้ทีมแพทย์จะมีการทำกายภาพบำบัดให้กับผู้ป่วยเพื่อให้คุ้นชินกับการผ่าตัดขากรรไกรใหม่
- ระยะที่ 3 การจัดฟันหลังการผ่าตัดศัลยกรรมขากรรไกร หลังการผ่าตัดและพักฟื้นเรียบร้อย ผู้ป่วยจะเข้าสู่การจัดฟันอีกครั้งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งบางครั้งก็จะจัดฟันได้ภายหลัง 4-6 สัปดาห์ ซึ่งจะเป็นการจัดฟันให้เข้ากับตำแหน่งขากรรไกรใหม่ จะใช้เวลาโดยประมาณอยู่ที่ 6 เดือน ถือว่าเป็นขั้นตอนแก้ไขรายละเอียดการจัดฟันในรอบแรกให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสบฟัน การเรียงตัวของฟัน และการฝึกใช้กล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวให้เกิดความคุ้นชินซึ่งในช่วงแรกผู้ป่วยอาจจะไม่คุ้นกับระยะการสบที่เปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้การเคี้ยวอาหารมีปัญหา โดยบางรายอาจจะมีการใช้หนังยางดึงฟันร่วมด้วย เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์มากขึ้นแล้ว แพทย์ก็จะทำการถอดเครื่องช่วยจัดฟันออก จึงจำเป็นต้องเข้าพบแพทย์ทุกสัปดาห์ตามนัดอย่างมีวินัยเพื่อป้องกันไม่ให้ขากรรไกรเกิดการเคลื่อนตัวผิดตำแหน่ง
- ระยะที่ 4 ระยะช่วยคงเสถียรภาพฟันให้เข้าที่ ช่วงนี้ฟันอาจจะมีปัญหาในเรื่องการเคลื่อนตัวบนกระดูกขากรรไกรได้บ้าง แพทย์จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ยึดให้ฟันคงสภาพอยู่ในตำแหน่งเดิมที่จัดมา (Retainer) เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันเคลื่อนที่ไปในตำแหน่งก่อนการจัด ซึ่งมีทั้งชนิดถอดได้และชนิดที่ติดแน่น ใช้เวลาประมาณ 9-12 เดือน ก็จะทำให้ผู้ป่วยหายเป็นปกติได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด (หากเป็นในกลุ่มผู้ใหญ่บางรายอาจจำเป็นต้องใส่ตัวช่วยคงสภาพฟันตลอดชีวิต)
กรณีที่ผู้ป่วยมีการมัดขากรรไกรเข้าไว้ด้วยกัน (Fixation)
สำหรับคนที่จำเป็นต้องใช้วิธีมัดขากรรไกรไว้ด้วยกันแบบนี้ หลังจาก 14 วันแล้ว แพทย์จะต้องทำการ “ดึงขากรรไกร” ด้วยหนังยางดึงแบบพิเศษ (Elastics) ซึ่งเป็นวิธีที่เรียกว่า “Surgical Splints” ต่อจากนี้ไปอีก 14 วัน จะช่วยให้ผู้ป่วยกินอาหารที่มีความแข็งมากขึ้นกว่าเดิมได้ ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยกินอาหารที่ช่วยกระตุ้นการเชื่อมตัวของแผลให้หายได้เร็วขึ้น
การรักษาแบบสมัยใหม่
เนื่องจากวิธีการรักษาแบบดั้งเดิมมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลานานหลายปี ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่จึงช่วยย่นระยะเวลาและลดความเสี่ยงที่รูปร่างของฟันและกระดูกผิดปกติในระหว่างการจัดจนทำให้เกิดความรำคาญต่อผู้ป่วย กระบวนการรักษาวิธีนี้ถูกนำมาใช้ในช่วงปี ค.ศ.1960 ทำให้ระยะเวลาจากเดิมลดลงประมาณ 1 ปี โดยจะทำการข้ามขั้นตอนการจัดฟันก่อนผ่าตัดออกไป เป็นการผ่าตัดและจัดฟันเพียงสองกระบวนการเท่านั้น
ผู้ป่วยจึงไม่ต้องเสี่ยงกับการดูแลรักษาฟันในช่วงที่ทำการจัด ซึ่งมักจะทำให้เกิดปัญหาโรคปริทันต์อักเสบและฟันผุจากการที่เข้าทำความสะอาดได้ยาก ช่วยให้เห็นรูปหน้าของผู้ป่วยได้ชัดเจนมากขึ้น มีความรวดเร็วในการจัดโครงหน้าแบบไม่ต้องรอนาน และไม่ต้องทนต่อการบิดเบี้ยวของรูปหน้าของการจัดฟันก่อนการผ่าตัด
ช่วยให้การเปลี่ยนตำแหน่งของฟันไปอยู่ในจุดที่ถูกต้องบนกรามฟันได้อย่างพอดี ไม่มีการส่งผลต่อกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อรอบ ๆ ช่องปาก แม้ว่าในช่วงการรักษาจะมีการเคลื่อนตัวของขากรรไกรไปบ้าง แต่ก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้ง่ายในระหว่างการรักษา และที่สำคัญการฟื้นตัวของสภาพขากรรไกรหายได้เร็วขึ้น เนื่องจากกระบวนการไหลเวียนเลือดเป็นไปด้วยดี ทำให้ส่วนของกล้ามเนื้อและเนื้อเชื่อมประสานกันอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการเชื่อมตัวของกระดูกขากรรไกร ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องพักฟื้นนาน
ในส่วนของขั้นตอนการรักษาจะไม่แตกต่างจากวิธีดั้งเดิมมากนัก เพียงแค่ข้ามขั้นตอนการจัดฟันก่อนผ่าตัดออกไป ใช้วิธีวางแผนในการรักษาที่ต้องมีความละเอียดแม่นยำสูง เพื่อวิเคราะห์ขั้นตอนในการผ่าตัดให้ถูกต้อง ซึ่งจะมีการติดเครื่องมือจัดฟันเอาไว้ด้วยก่อนการผ่า หลังจากผ่าเสร็จก็จะทำการจัดฟันโดยยึดขากรรไกรบนและล่างไว้ด้วยกันด้วยหนังยางดึง และจะทำการเคลื่อนฟันให้เข้าตำแหน่งใหม่ที่เหมาะสมอย่างรวดเร็วเท่าที่แพทย์จะสามารถทำได้
ส่วนข้อจำกัดสำหรับวิธีนี้คือรายละเอียดในการรักษาที่ต้องมีความแม่นยำสูง ทั้งการวิเคราะห์รูปหน้า มีการวางแผนที่รัดกุมทุกขั้นตอน ให้ระยะเวลาในการรักษาสัมพันธ์กับกระบวนการจัดฟันได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นแพทย์ที่ทำหน้าที่นี้จึงจำเป็นต้องมีประสบการณ์สูง หากทายตำแหน่งของฟันที่สบกันผิดก็จะทำให้การรักษาคลาดเคลื่อนได้ วิธีนี้จึงจะถูกนำมาใช้แค่ในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น
ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลังทำการรักษา
ไม่ว่าจะเป็นการจัดฟันแบบไหนก็ล้วนทำให้เกิดความเสี่ยงในการรักษาได้ทั้งสิ้น ดังนั้นแพทย์จะมีการแจ้งให้กับผู้ป่วยได้ทราบก่อน ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งความเสี่ยงออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มความเสี่ยงที่สามารถแก้ไขให้หายได้ ในกรณีที่เกิดปัญหาภายหลังการรักษาตามมา ซึ่งอาการที่ไม่รุนแรงมักจะเป็นภาวะเหงือกอักเสบ ฟันผุ ฝีบริเวณเหงือก สบฟันกระแทกกันจนทำให้ฟันโยกคลอน เสียง “คลิก” บริเวณขากรรไกรที่เป็นส่วนของข้อต่อขณะเคลื่อนไหวปาก ฯลฯ เหล่านี้จะสามารถกลับมาแก้ไขให้ดีขึ้นได้ในภายหลัง
- กลุ่มความเสี่ยงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นกลุ่มความเสี่ยงที่หากเกิดความผิดปกติภายหลังจากการรักษาแล้วจะเป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้กลับมาหายได้อีก หรือกล่าวได้ว่าเป็นภาวะถาวรที่ผู้ป่วยต้องรับ ซึ่งที่พบได้คือการละลายตัวของรากฟันและกระดูกขากรรไกร ขนาดของฟันยาวขึ้นเนื่องจากเหงือกร่นตัวลง เกิดช่องว่างระหว่างซอกฟัน (Black Triangle) และอาจจะทำให้เกิดการสูญเสียสภาพการทำงานของฟันไป หรือที่เรียกกันว่า “ฟันตาย (non-vital discoloration)”
ข้อควรรู้สำหรับผู้ที่ต้องการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด
- ความร่วมมือของผู้ป่วย การรักษานี้จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากผู้เข้ารับการรักษาเป็นตัวเลือกว่าจะทำการผ่าตัดร่วมด้วยหรือไม่ เนื่องจากใช้ระยะเวลานาน หากผู้ป่วยไม่ยอมร่วมมือ จะทำให้ผลการรักษาคลาดเคลื่อนและไม่เป็นไปตามการวางแผน ไม่ว่าจะเป็นการนัดหมายของแพทย์ สุขลักษณะในการทำความสะอาดช่องปาก การเลือกใช้เครื่องมือตามคำแนะนำแพทย์ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ไปจนถึงความต่อเนื่องในการรักษาที่มีวินัยของผู้ป่วยด้วยว่าจะสามารถทำได้หรือไม่
- ความพร้อมของร่างกายและอายุ ผู้ที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีภาวะของโรคแทรกซ้อนที่อันตราย และขากรรไกรไม่เจริญเติบโตต่อไปแล้ว ดังนั้นกลุ่มอายุที่เหมาะสมคือช่วง 19-24 ปี แต่ในปัจจุบันแพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 10-60 ปี แต่จะได้ผลดีในกลุ่มแรกมากกว่า ถึงกระนั้นไม่ว่าจะช่วงอายุไหน ผู้ป่วยก็จะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ไม่เป็นอุปสรรคต่อการรักษา และเข้าใจถึงกระบวนการดูแลตัวเองได้เป็นอย่างดี จะช่วยให้ผลลัพธ์ที่ออกมามีประสิทธิภาพได้มากที่สุด
- ความผิดปกติของขากรรไกร ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความผิดปกติของขากรรไกรมาก่อน อย่างเสียง “คลิก” เมื่ออ้าและหุบปาก แพทย์จำเป็นต้องรักษาปัญหาจุดนี้ก่อนจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปได้ เพื่อช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายตามมา
- ความเสี่ยงในกระบวนการรักษา ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องทราบเสียก่อนว่าในขั้นตอนการศัลยกรรมขากรรไกรจะมีความเสี่ยงร่วมด้วยเสมอ แพทย์จึงจำเป็นต้องบอกให้ผู้ป่วยรับทราบและตกลงพร้อมที่จะรับผลที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัดด้วยความยินยอมเสียก่อนจึงจะลงมือทำการผ่าตัดให้ ในการรักษาจะไม่มีการรับรองผลที่ออกมาว่าสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากผลที่ออกมาอาจจะทำให้ฟันเปลี่ยนตำแหน่ง หรือขากรรไกรเปลี่ยนทิศทางคืนตัวไปในตำแหน่งเดิมได้ ซึ่งแม้จะมีวิธีการรักษาที่ดีที่สุด ทว่าด้วยความแตกต่างของแต่ละคนจึงทำให้สามารถเกิดความเสี่ยงได้ ดังนั้นการรักษาเหล่านี้จึงจำเป็นต้องใช้แพทย์ที่มีประสบการณ์สูง มีความแม่นยำและเชี่ยวชาญในการจัดฟันและศัลยกรรมขากรรไกรและใบหน้าเป็นอย่างดี เพื่อให้ผลของการรักษาแม้จะไม่ได้ดีที่สุดแต่ก็ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากเดิม
- ระยะเวลาในการรักษา ระยะเวลาในแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของความผิดปกติรวมไปถึงการวางแผนการรักษาของทีมแพทย์ ซึ่งบางคนอาจจะใช้เวลาน้อยสุดเพียงแค่ 12 เดือน แต่ในบางคนอาจจำเป็นต้องรักษายาวนานถึง 24 เดือนเลยก็เป็นได้ นอกจากนี้ในกระบวนการจัดฟันก่อนการผ่าตัด อาจมีภาวะ “Decompensation” หรือความผิดปกติของรูปหน้าเกิดขึ้น ทำให้ใบหน้าดูแย่ลงจากเดิมไปจนถึงความผิดปกติของการสบฟันอย่างรุนแรง การเตรียมการในช่วงเวลานี้อาจนานถึง 20 เดือน เพื่อให้ฟันพร้อมสำหรับการผ่าตัด
- การวางแผนชีวิตประจำวัน เนื่องจากกระบวนการรักษาที่ยาวนาน ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกับการรักษาเพื่อช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในระหว่างที่เข้ารับการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดจะต้องเข้าพบแพทย์ให้ตรงตามนัดทุก ๆ ครั้ง ไม่มีการหยุดผ่อนผันระหว่างการรักษา แพทย์ที่รักษาจะต้องเป็นทีมเดียวกันตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เพราะหากไม่ทำตามแผนที่วางไว้อาจจะส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ที่ออกมา และกลายเป็นการเพิ่มระยะเวลาการรักษาที่นานมากขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้ การวางแผนเหล่านี้ยังเกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ ผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ควรให้เลยระยะนี้ไปประมาณ 2-3 ปี เพราะการตั้งครรภ์ในระหว่างรักษาจะทำให้เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อแม่และเด็ก แพทย์จะทำการหยุดรักษาในทันทีที่ทราบ
- เลือกแพทย์ที่มีความเชื่อถือได้ ผู้ที่เข้ารับการรักษาไม่ควรตัดสินใจเลือกการรักษาจากราคา แต่ควรเลือกที่ความเชี่ยวชาญของแพทย์เป็นหลัก เพราะด้วยขั้นตอนรักษาที่ซับซ้อนและเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบได้ง่าย ดังนั้นในการผ่าตัดขากรรไกรจึงจำเป็นต้องใช้แพทย์ที่มีประสบการณ์ มีความแม่นยำมากพอที่จะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการที่ขากรรไกรกลับตัวไปในทิศทางเดิมน้อยที่สุด มิเช่นนั้นอาจจะทำให้ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหม่อีกครั้งได้
- เข้าใจถึงผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยต้องเข้าใจก่อนว่าผลลัพธ์ที่ได้ออกมา แม้จะใช้เทคนิคในการรักษาแบบเดียวกัน ทว่าผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเหมือนกันเสมอไป เพราะบางคนมีการทำงานของเนื้อเยื่อและกระดูกเชื่อมต่อกันช้ากว่า อีกทั้งระดับความผิดปกติที่แตกต่างกันและอายุก็เป็นตัวที่ทำให้ผลออกมาต่างกัน การรักษาจึงเป็นการวิเคราะห์แบบเฉพาะเจาะจงในผู้ป่วยแต่ละราย การเปลี่ยนแปลงของรูปหน้าในแต่ละคนจึงมีลักษณะที่ดีขึ้นแตกต่างกัน จึงไม่ควรตั้งความหวังการผลลัพธ์ที่ได้มากจนเกินไป เพราะเป็นเพียงการศัลยกรรมกระดูกขากรรไกร ไม่ใช่การศัลยกรรมเพื่อเปลี่ยนรูปใบหน้าอย่างที่หลายคนเข้าใจ
จะเห็นได้ว่าในกระบวนการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดเช่นนี้จะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล จำเป็นต้องใช้แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสูง อีกทั้งผู้ป่วยจะต้องมีระเบียบวินัยเป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นการรักษาที่มีความซับซ้อน แต่สามารถแก้ไขปัญหาความผิดปกติของฟันและขากรรไกรได้เป็นอย่างดี ก่อนเข้ารับการรักษาผู้ป่วยจึงต้องพิจารณา ศึกษาข้อมูล และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาให้ดีเสียก่อน เพื่อความสมบูรณ์ในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
รีวิวการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดศัลยกรรมขากรรไกร
การจัดฟันเป็นวิธีแก้ปัญหาความผิดปกติภายในช่องปาก ซึ่งส่วนมากเกิดขึ้นจากการเรียงตัวของฟันที่ไม่เป็นระเบียบ ส่งผลต่อการบดเคี้ยวอาหาร การพูด ไปจนถึงภาวะอักเสบที่เกิดจากการสบฟันไม่เท่ากัน มีตั้งแต่การจัดฟันแบบธรรมดาไปจนถึงการจัดฟันที่มีความซับซ้อนโดยจะมีการนำเอาการทำศัลยกรรมขากรรไกรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะพบในกลุ่มที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับขากรรไกรผิดรูป ซึ่งจำเป็นต้องจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด หนึ่งในรีวิวนี้เป็นเคสตัวอย่างที่มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดฟันที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดร่วมด้วย
เคสนี้มีปัญหาในเรื่องของ “ขากรรไกรบนคร่อมขากรรไกรล่าง” ภาพใบหน้าที่ออกมาจึงเหมือนคนที่มีฟันเหยิน แต่จริง ๆ แล้วเป็นความผิดปกติของตัวขากรรไกรด้านบนที่ยื่นตัวออกมายาวกว่าปกติ ส่วนขากรรไกรล่างสั้นกว่า ทำให้ฟันบนคร่อมลงมาที่ฟันล่าง ปัญหาที่ตามมาคือไม่สามารถใช้ฟันหน้ากัดอะไรได้ อีกทั้งยังเกิดปัญหาที่เรียกว่า Gummy Smile หรือการยิ้มที่เห็นเหงือกมากกว่าปกติ
ลักษณะที่เห็นตามเคสของคุณอีฟคือมีลักษณะของฟันหน้าที่ยื่นออกมา คางเบี้ยวทำให้รูปหน้าไม่สมมาตรกัน เมื่อมองจากด้านข้างจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่ากรามด้านล่างสั้นกว่ากรามบน หลังจากที่ทำการตัดสินใจเข้ารับการรักษาด้วยวิธีจัดฟัน มีการเอกซเรย์เพื่อเตรียมแบบจำลองฟัน สิ่งที่ทันตแพทย์พบก็คือปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวฟัน แต่อยู่ที่ขากรรไกร ดังนั้นการจัดฟันเพียงอย่างเดียวจึงไม่ช่วยให้ฟันหายเหยินได้ แต่จะต้องมีการผ่าตัดขากรรไกรร่วมด้วย
ซึ่งแพทย์ยื่นข้อเสนอให้กับทางคุณอีฟว่าในช่วงวัยเด็กแบบนี้ปัญหาเรื่องใบหน้ายังไม่รุนแรง พออายุมากแล้วจึงจะเริ่มมีปัญหา หากไม่ทำการผ่าตัดและยังคงยืนยันว่าต้องการจัดฟันเพียงอย่างเดียว สามารถทำได้ 3 ตัวเลือกคือ
- จัดฟันแบบไม่ถอนฟัน วิธีนี้ช่วยเพียงแค่ให้ฟันที่ซ้อนเกกันดีขึ้น แต่ไม่ช่วยให้โครงหน้าที่ไม่สมมาตรดีขึ้นได้
- จัดฟันด้วยการถอนฟัน (แบบไม่ผ่าตัด) วิธีนี้ดีกว่าแบบแรก ฟันจะถูกดึงกลับเข้าไป แต่ยังมีส่วนของเหงือกที่ยื่นออกมาเหมือนเดิม ส่วนของปากยังอูม และที่สำคัญหากเลือกประเภทนี้แล้วก็จะไม่สามารถจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดได้อีกเพราะได้มีการถอนซี่ฟันบางส่วนออกไปแล้ว
- จัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร นี่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่แพทย์แนะนำ ซึ่งปัญหาทั้งหมดที่คุณอีฟมีมาจะถูกกำจัดหมดไป ตั้งแต่ขากรรไกรที่เปลี่ยนรูป โครงหน้าที่กลับมาสวยขึ้น เหงือกไม่เป็น Gummy Smile และช่วยให้การสบฟันดีขึ้น
ในช่วงแรกคุณอีฟเลือกที่จะจัดแบบไม่ถอนฟันไปก่อน เนื่องจากราคาค่าผ่าตัดที่แพงมาก ครั้งแรกกับการจัดฟันของคุณอีฟตั้งแต่ ม.6 จนเข้าปีที่ 3 ของรั้วมหาวิทยาลัยรวมเป็น 4 ปี ซึ่งภาพที่เห็นคือการเปลี่ยนแปลงที่แทบจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย
หลังจากถอดเหล็กดัดฟันออกไป สิ่งที่ตามมาภายหลังจากนั้นก็คือความผิดปกติของขากรรไกรเกิดขึ้น คือเกิดภาวะขากรรไกรค้าง มีอาการปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกรในช่วงที่ต้องอ้าปากกว้าง อ้าปากหาวหรืออ้าปากกินข้าว มีเสียงเกิดขึ้นบริเวณหูขณะเคลื่อนไหว ด้วยเหตุนี้คุณอีฟจึงตัดสินใจหาข้อมูลและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งแพทย์ก็ให้คำแนะนำไม่ต่างกันคือยิ่งอายุมากขึ้น ปัญหาขากรรไกรก็จะมากขึ้นตามมาเรื่อยๆ
ขั้นตอนการรักษาของโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายโดยประมาณ
- คิวการรักษามีแบบนอกเวลาและในเวลา ข้อดีของในเวลาคือถูกกว่าแต่คิวนานกว่า ส่วนนอกเวลาไม่ต้องรอนาน แต่ค่าใช้จ่ายก็จะแพงตามมา ซึ่งคุณอีฟเน้นความสะดวกเลือกไปที่การรักษานอกเวลา
- ค่าใช้จ่ายในการจัดฟันทั้งหมดเบ็ดเสร็จ 50,000 บาท มีการแบ่งจ่าย 2 ครั้งแรก รอบละ 7,600 บาท และรอบต่อ ๆ ไปครั้งละ 1,200 บาท
- รอคิวเพื่อรับการเอกซเรย์ฟันและพิมพ์ฟัน โดยจะมีทีมแพทย์ที่เป็นทันตแพทย์จัดฟันกับแพทย์ที่ทำหน้าที่ศัลยกรรมขากรรไกรทำหน้าที่ปรึกษากันเพื่อวางแผนการรักษาให้ถูกต้องมากที่สุด
- หลังจากนั้นก็จะมีการเคลียร์ช่องปาก คือการทำช่องปากให้สะอาดก่อนเพื่อเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนติดเหล็กดัดฟันต่อไป
กระบวนการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรของคุณอีฟ
- เดือนมีนาคม 2557 – ติดเหล็กดัดฟันทั้งฟันบนและฟันล่างครั้งแรก
- เดือนมิถุนายน 2557 – ฟันที่ติดเหล็กเข้าตำแหน่งที่เหมาะสม หมอผ่าตัดลงความเห็นว่าพร้อมสำหรับการผ่าแล้ว (ระยะเวลาในการจัดฟันของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งของคุณอีฟระยะเวลาสั้นกว่าเนื่องจากเคยมีการจัดฟันครั้งแรกมาก่อนหน้านี้แล้ว) ส่วนด้านล่างคือภาพการจัดฟันของคุณอีฟประมาณ 3 เดือน
- เดือนกรกฎาคม 2557 – จองคิวเพื่อรับการผ่าตัด ซึ่งคุณอีฟขอจองในช่วงปีต้นปี 2558 รวมค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดทั้งหมดอยู่ที่ 200,000 บาท เป็นการผ่าตัด 2 ขากรรไกร ในระหว่างเวลาที่รอคิวก็จะมีการจัดฟันเปลี่ยนลวดไปเรื่อย ๆ ตามนัดหมายของแพทย์ เป็นการใช้เส้นลวดพันสลับไปมา คิวผ่าตัดเป็นช่วงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558 โดยแพทย์นัดหมายให้เข้ามาทำการพิมพ์โมเดลฟัน วัดระยะฟัน เตรียมพร้อมสำหรับการผ่าตัด มีการส่งตัวเพื่อตรวจเช็กสภาพความพร้อมของร่างกายต่อที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ทำการจองเลือดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ปกติหากคนที่มีร่างกายแข็งแรงอยู่แล้วก็จะสามารถเก็บเลือดของตัวเองเอาไว้ใช้ได้ ส่วนคุณอีฟมีน้ำหนักตัวไม่ถึงเกณฑ์จึงจำเป็นต้องจองเลือดของคนอื่นแทน หลังจากที่จะถึงวันผ่าตัดคุณอีฟต้องเตรียมความพร้อมของร่างกายให้แข็งแรงมากที่สุด ต้องห้ามเจ็บป่วยทุกชนิด แม้กระทั่งไข้หวัดธรรมดา มิเช่นนั้นทีมแพทย์ก็จะทำการเลื่อนระยะเวลาในการผ่าตัดออกไปอีก ส่วนด้านล่างคือภาพโมเดลพิมพ์ฟันของคุณอีฟ
- 20 กุมภาพันธ์ 2558 – เข้า admit ในโรงพยาบาลทันตกรรมประมาณ 16.00 น. คุณอีฟจองห้องพิเศษอีกคืนละ 2,000 บาท ด้านล่างคือภาพบรรยากาศภายในห้องพิเศษ หลังจากที่เข้าห้องพิเศษเพื่อเตรียมตัว จะมีพยาบาลเข้ามาให้คำแนะนำและอธิบายทำความเข้าใจทุกอย่างที่จำเป็นต้องทราบ ไปจนถึงอาการภายหลังจากการผ่าตัดที่จะเกิดขึ้น ซึ่งทั้งคุณอีฟและตัวญาติเองด้วยที่ต้องมาทำความเข้าใจในส่วนนี้เพื่อไม่ให้เกิดความตกใจเมื่อเห็นสภาพของผู้เข้ารับการรักษา ในคืนก่อนผ่าตัดคุณอีฟสามารถกินอาหารได้ถึง 23.00 น. หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการควบคุมตัวอย่างเต็มรูปแบบก่อนผ่าตัด งดน้ำและอาหาร เตรียมพร้อมด้วยการอาบน้ำสระผมให้สะอาดมากที่สุด เพราะหลังผ่าจะไม่สามารถทำได้ ส่วนด้านล่างคือภาพหลังจากเปลี่ยนชุดเป็นของโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว และแพทย์ได้ให้ยานอนหลับครึ่งเม็ดเพื่อลดความตื่นเต้นและให้นอนหลับได้สบาย
- 21 กุมภาพันธ์ 2558 – พยาบาลปลุกตอน 6.30 น. เพื่ออาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดสีเขียวเตรียมเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งจะไม่มีการสวมใส่เสื้อใด ๆ ทั้งสิ้น รวมไปถึงเครื่องประดับ ชุดที่ให้ใส่จะเป็นของที่ทางพยาบาลเตรียมเอาไว้ให้เท่านั้น และได้ยานอนหลับมาอีกครึ่งเม็ดจนกระทั่งเวลา 7.30 น. คุณอีฟต้องขึ้นนอนบนเตียงคนไข้ พยาบาลทายาชาบริเวณมือเพื่อไม่ให้เจ็บขณะเจาะสายน้ำเกลือ จากนั้นรถก็ถูกเข็นเข้าสู่ห้องผ่าตัดหลังเจาะสายน้ำเกลือเรียบร้อย แพทย์ก็เข้าสู่การให้ดมยาสลบด้วยหน้ากาก การผ่าตัดเสร็จสิ้น ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ตั้งแต่ 8.00 น.-14.00 น. ในห้องผ่าตัด ในช่วงแรกที่ยาสลบยังไม่หมดฤทธิ์คุณอีฟยังรู้สึกสะลึมสะลือและง่วงนอน เมื่อพยาบาลสังเกตว่าคุณอีฟตื่นแล้วก็พาตัวกลับเข้าห้องพัก ภาพของคุณอีฟหลังจากถูกย้ายมาที่ห้องพิเศษ ยังอยู่ในอาการง่วงแต่ไม่หลับ สามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ สามารถลืมตาขึ้นมามองการเคลื่อนไหวรอบตัวเป็นระยะ ๆสภาพภายหลังการผ่าตัดผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงและฟื้นจากยาสลบแล้ว ส่วนที่เห็นบนใบหน้าคือหน้าและปากบวมมากขึ้น ส่วนของสายที่โยงออกมาจากปากทั้ง 2 เส้นคือ “สายเดรนเลือด” ซึ่งทำหน้าที่ดูดเอาเลือดที่ยังไม่สนิทจากแผลให้ไหลมาเก็บไว้ในถุงกลม ๆ ลักษณะคล้ายลูกบอลที่วางเอาไว้ข้างลำตัวซึ่งในสภาพนี้คุณอีฟยังสามารถพูดคุยได้ตามปกติ เพียงแต่ว่าไม่สามารถออกเสียงได้ชัด ในช่วงที่หิวน้ำพยาบาลจะใช้ไซริงฉีดเข้าปาก เพราะไม่สามารถดื่มจากแก้วหรือดูดได้เอง ในช่วงนี้บางคนที่กลืนน้ำลายหรือน้ำอาจจะรู้สึกเจ็บคอได้จากการใช้ท่อช่วยหายใจขณะผ่าตัด แต่สำหรับคุณอีฟไม่มีอาการเหล่านี้ อาหารที่ได้รับในช่วงมื้อเย็นของวันคืออาหารที่เป็นน้ำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นน้ำซุปใส น้ำข้าว น้ำตะไคร้และนม ซึ่งพยาบาลก็แนะนำว่าในวันแรกของการผ่าตัดยังไม่อยากให้กินอะไรเข้าไปมาก จึงจำเป็นต้องดื่มแค่น้ำเปล่าเท่านั้น
อาการข้างเคียงที่คุณอีฟพบหลังผ่าตัด
อาการแรกที่พบคืออาเจียนเป็นเลือดออกมาทุกครั้งที่ดื่มน้ำ เป็นลักษณะของลิ่มเลือดที่ไหลลงกระเพาะอาหารในช่วงที่ผ่าตัด ประมาณ 5-6 รอบ ลิ่มเลือดจึงค่อย ๆ หมดไป ส่วนอาการเจ็บของแผลสำหรับคุณอีฟจะเป็นอาการชา ไม่มีอาการเจ็บ เนื่องจากในช่วงที่ผ่าส่วนของเส้นประสาทได้รับการกระทบกระเทือน
ซึ่งอาการชาที่เกิดขึ้นก็จะแตกต่างกันออกไปตามระดับการกระทบกระเทือนของเส้นประสาทที่เกิดขึ้น โดยส่วนมากจะมีอาการชาที่ปากและคาง หรือบางคนก็ชาตั้งแต่ใต้ดวงตาลงมา สำหรับคุณอีฟมีอาการชาบริเวณเหงือกเพียงอย่างเดียว ในระหว่างนั้นก็จะมีพยาบาลคอยมาถามระดับอาการปวดเป็นคะแนน 0-10 ซึ่ง 0 คือไม่ปวดเลย ส่วน 10 คือปวดอย่างรุนแรงมากที่สุด
หลังจากที่พยาบาลเข้ามาเช็ดตัวทำความสะอาดให้คุณอีฟ อาการปวดก็เริ่มปรากฏเนื่องจากจะต้องขยับตัว โดยเฉพาะส่วนของคางที่รู้สึกปวดอย่างรุนแรงทันทีที่พยาบาลใช้ผ้าชุบน้ำสัมผัสไปโดน และในแถบที่แพทย์ทำการผ่าตัดบริเวณมุมกรามต่างๆ
ผลข้างเคียงอีกส่วนหนึ่งที่พบได้บ่อยก็คืออาการคัดจมูกในเวลากลางคืน ในช่วงแรกคุณอีฟรู้สึกหายใจไม่ออกเพียงแค่รูเดียว แต่พอสักพักอาการคัดจมูกเกิดขึ้นทั้งสองด้าน จึงมีการใช้ยาหยอดจากพยาบาลเพื่อให้สามารถหายใจโล่งได้อีกครั้ง และคืนแรกของการผ่าตัดก็ผ่านพ้นไป
วันที่ 2 หลังการผ่าตัด
ภาพวันที่ 2 หลังการผ่าตัด ลักษณะของหน้าบวมมากขึ้น มีผ้าสีม่วงคลุมเอาไว้ ซึ่งเป็นเจลเย็นอยู่ด้านในที่ช่วยลดอาการบวม ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่บวมมากที่สุด ภายหลังจากนี้ก็จะค่อย ๆ ยุบลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ
ในวันนี้พยาบาลอนุญาตให้กินอาหารได้โดยการใช้ไซริงฉีดเข้าปากด้วยตัวเอง หลังกินอาหารเสร็จทุกครั้งคุณอีฟจะต้องใช้น้ำยาบ้วนปากผสมน้ำเพื่อทำความสะอาดภายในช่องปาก และตามด้วยน้ำเกลือ Normal Saline เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ
วันที่ 3 หลังการผ่าตัด
ภาพวันที่ 3 อาการบวมลดลง
หลังจากแพทย์มาทำการดูแผลแล้ว ไม่มีเลือดออกมาอีก จึงได้ถอดสายเดรนออกด้วยวิธีการดึง ซึ่งจะทำให้รู้สึกเจ็บจี๊ดเล็กน้อย ส่วนด้านล่างคือสภาพใบหน้าหลังถอดสายเดรนออกแล้ว
จะสังเกตว่ามีแผลบริเวณมุมปาก ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงผ่าตัด เป็นแผลฉีกที่ต้องใช้เครื่องถ่างปากเป็นเวลานานกว่า 6 ชั่วโมง แผลในส่วนนี้อาจจะทำให้รู้สึกเจ็บทรมาน (คำแนะนำบางส่วนของผู้ที่มีประสบการณ์หลังผ่าตัดแล้วให้ทาวาสลีนและยาไตรโนโลนเป็นตัวช่วยบรรเทาอาการ หรือตามคำแนะนำของคุณอีฟคือใช้ลิป Medex ของ Blistex แทน ซึ่งช่วยให้แผลเย็น บรรเทาอาการแสบให้น้อยลงได้)
วันที่ 4 หลังการผ่าตัด
แพทย์เข้ามาถามเรื่องการให้เลือดว่าต้องการเลือดเพิ่มหรือไม่ ซึ่งจะสังเกตจากสภาพของตัวเองว่าเหนื่อยง่ายหรือมีอาการหอบเหนื่อยเนื่องจากเลือดไม่พอ ก็จะมีการให้เลือดเพื่อเพิ่มออกซิเจนได้ ซึ่งคุณอีฟไม่มีอาการดังกล่าว แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ ส่วนด้านล่างคือภาพใบหน้าของวันที่ 4 สามารถอาบน้ำ สระผมได้ตามปกติ ลักษณะของใบหน้ายังมีอาการบวมอยู่อย่างเห็นได้ชัด ส่วนปากมีขนาดเล็กลงมา
รวมค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จทั้งส่วนของค่าผ่าตัดและค่าห้อง ทั้งหมดประมาณ 158,000 บาท !!
ลักษณะการผ่าตัดของคุณอีฟจากคำอธิบายของแพทย์
เคสของคุณอีฟถือว่าเป็นเคสที่มีความยากในการผ่าตัด เนื่องจากต้องมีขั้นตอนในการผ่าเยอะ ซึ่งแบ่งการผ่าขากรรไกรส่วนบนออกเป็น 3 ชิ้น ยกชั้น 8 มิลลิเมตร ถอยเข้า 4 มิลลิเมตร ส่วนขากรรไกรที่มีปัญหาการเอียงตัว แพทย์ยกส่วนของขากรรไกรซ้ายให้มากขึ้นกว่าด้านขวา ตัดขากรรไกรล่างแบ่งเป็น 3 ชิ้น จากนั้นเลื่อนเข้าหากันให้พอดีสัมพันธ์กับส่วนของขากรรไกรบน ช่วยให้ใบหน้าสั้นลงกว่าเดิม ซึ่งในขั้นตอนนี้ทำให้ใบหน้ากลมขึ้น อีกทั้งคุณอีฟมีส่วนของคางที่สั้น แพทย์จึงตัดเอาส่วนของกระดูกมุมกรามมาต่อเสริมเป็นคางให้ ส่วนการบิดเบี้ยวของใบหน้าที่ไม่สมมาตรมาจากสภาพของขากรรไกรที่โตผิดปกติอยู่แล้ว ทำให้ส่วนของจมูกและคางเบี้ยวตาม ส่วนด้านล่างคือภาพเอกซเรย์ก่อนและหลังผ่าตัด (ภาพซ้ายหลังผ่าตัด 3 วัน – ภาพขวาก่อนผ่าตัด)
การดูแลตัวเองในช่วงพักฟื้นที่บ้าน
ในช่วงนี้แพทย์จะมีการแนะนำให้คุณอีฟยังคงต้องดูแลตัวเองเหมือนตอนที่พักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล มีการดูแลความสะอาดภายในช่องปากเหมือนเช่นเคยทุกครั้งหลังกินอาหาร ส่วนอาการข้างเคียงที่คุณอีฟพบคือรู้สึกปวดหูในช่วงกลางคืน (แก้ไขให้อาการทุเลาลงได้ด้วยการใช้เจลประคบเย็นร่วมกับการกินยาแก้ปวด) อาการที่เกิดขึ้นจะหายไปภายใน 3-4 วัน อีกทั้งในช่วงเวลานี้แพทย์จะห้ามเคี้ยวอาหารเป็นระยะเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ให้กินอาหารที่มีความเหลวใสเท่านั้น หลังจาก 2 สัปดาห์แพทย์นัดตัดไหม ก็จะสามารถกินอาหารเหลวได้
เลยจาก 6 สัปดาห์ไปแล้วสามารถเคี้ยวอาหารอ่อน ๆ ได้ แต่ยังอยู่ในช่วงห้ามเคี้ยวอาหารที่มีความเหนียวหรือแข็ง เพื่อรอให้ส่วนของกระดูกขากรรไกรประสานตัวกันได้ดีเสียก่อน ซึ่งอาจจะทำให้น้ำหนักตัวลดลงไปได้บ้าง (คุณอีฟน้ำหนักลดลงไปประมาณ 5 กิโลกรัม) ถือว่าเป็นเรื่องปกติ และด้านล่างนี้คือพัฒนาการเปลี่ยนแปลงใบหน้าของคุณอีฟตั้งแต่ก่อนผ่าตัดไปจนถึงหลังผ่าตัด 3 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของใบหน้าลดอาการบวมลงในช่วงเดือนที่ 6 จะกลายเป็นสภาพโครงหน้าจริง
หลังจากการผ่าตัดแล้วคุณอีฟยังมีการจัดฟันตัดเพื่อให้ตัวฟันเข้าที่สัมพันธ์กับขากรรไกร ส่วนของ plate ที่ยึดกระดูกจะถูกผ่าออกไปเมื่อกระดูกสมานตัวกันได้ดีแล้ว ส่วนตัวฟันที่จัดหากเข้าที่ดีแล้วก็จะทำการถอดเหล็กออกและใส่เป็นตัว Retainer แทน
การเปลี่ยนแปลงหลังการผ่าตัดของคุณอีฟ
- การบดเคี้ยวอาหารทำได้ดีขึ้น สามารถหุบปากได้เวลาเคี้ยว
- ไม่มีเสียงลั่นของขากรรไกรเกิดขึ้นอีก
- ใบหน้าสวยได้รูปมากกว่าเดิม ส่วนของเหงือกไม่มีปัญหาเรื่อง Gummy Smile อีก
อย่างไรก็ตาม สำหรับสิ่งที่คุณอีฟฝากไว้เป็นประสบการณ์ก็คือ ใบหน้าที่สวยขึ้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แม้จะเป็นการศัลยกรรมทำให้รูปหน้าเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่การผ่าตัดขากรรไกรมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับสภาพความผิดปกติที่เป็นปัญหาให้ดีขึ้นกว่าเดิม และใบหน้าที่เกิดขึ้นใหม่คือใบหน้าที่ควรจะเป็นจริง ๆ เนื่องจากขากรรไกรอยู่ในทิศทางที่เป็นปกติ
ซึ่งผู้ที่ต้องการเข้ารับการรักษาจะต้องทำความเข้าใจกับขั้นตอนเหล่านี้ให้ดี พร้อมกับการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง เนื่องจากในการรักษาจะไม่ใช่การทำหน้าที่ของทันตแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่จะมีหมอศัลยกรรมกระดูกขากรรไกรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทางที่ดีที่คุณอีฟแนะนำคือการปรึกษาแพทย์หลาย ๆ คนก่อนตัดสินใจ เพื่อให้ได้ผู้ที่เชี่ยวชาญไว้ใจได้ เพื่อให้ผลลัพธ์ของการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง ส่วนใครอยากจะเข้าไปชมรีวิวฉบับเต็มของคุณอีฟ สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://pantip.com/topic/33857762 หรือที่บล็อกส่วนตัว abcdeve.bloggang.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)